จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา ซึ่งมีผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่ม 10 อันดับสูงสุดของประเทศ
นอกจากต้องระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อแล้ว ยังมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้แรงงานถูกเลิกจ้าง ต้องเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา ข้อมูลระบุว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แรงงานไทยในต่างประเทศเดินทางกลับมาราว 20,000 – 30,000 คน
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ “กลุ่มลูกเหรียง” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานอยู่ในพื้นที่มาร่วม 20 ปี ได้เข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดยะลาและปัตตานี ภายใต้ โครงการพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ พัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาสในแต่ละท้องถิ่น
จากประสบการณ์ทำงานของกลุ่ม พบว่าคนในชุมชนต้องการทำงานจากต้นทุนชุมชนที่มีอยู่แล้ว เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ หรือความต้องการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และส่วนใหญ่หากมีทางเลือกก็อยากทำงานอยู่ในพื้นที่ อยู่กับครอบครัวมากกว่าออกไปทำงานนอกชุมชน
กลายเป็นโจทย์ตั้งต้นที่กลุ่มลูกเหรียงใช้พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นแรงงานตกงานที่กลับมาอยู่ในพื้นที่ และส่วนหนึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อายุยังน้อย นำมาสู่ผลลัพธ์การสนับสนุนอาชีพ 2 รูปแบบ ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตท้องถิ่น ได้แก่ ลูกหยี และการนวดแผนไทยกับสปา ควบคู่ไปกับการอบรมเรื่องการตลาด การหาลูกค้า และการเจาะกลุ่มเป้าหมาย
จึงต้องตั้งโจทย์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างการรับรู้ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนารสชาติให้ได้มาตรฐานทุกครั้ง การออกแบบแพ็คเกจที่แข็งแรงและทันสมัย คิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ลูกหยีจี๊ดจ๊าด รวมถึงการกระจายผลิตภัณฑ์ออกนอกชุมชน ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย เพิ่มเติมจากการออกบูธขายสินค้า เช่น การไลฟ์สดและการทำเนื้อหานำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดใจ
รวมถึงการเปิดช่องทางให้กลุ่มชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในโครงการ เช่น การนำลูกหยีที่ปลูกมาขาย การรับจ้างปอกเปลือก แกะเมล็ด และตากลูกหยี จนเกิดเป็นเศรษฐกิจฐานชุมชน
ส่วนธุรกิจแพทย์แผนไทยตอบโจทย์เรื่องความต้องการผู้บริโภคกลุ่มเมืองเป็นหลัก ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 15 คน ได้เข้าเรียนหลักสูตรการนวดแผนไทย 330 ชั่วโมง ต่อเนื่องกว่า 2 เดือน จนได้ใบประกอบวิชาชีพนวดแผนไทยอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ยังนำน้ำมันนวดสูตรลังกาสุกะ ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมาใช้ในโครงการ และอบรมแนวคิดเรื่องการตลาดด้วย ทำให้สามารถนำเอาการเดลิเวอรี่มาปรับใช้กับการนวดแผนไทยได้เป็นอย่างดี แถมยังเหมาะสมกับสถานการณ์การเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องออกไปพบเจอคนหมู่มากอีกด้วย
ความสำเร็จของโครงการจากการสนับสนุนอาชีพทั้ง 2 รูปแบบ คงไม่ใช่แค่เรื่องรายได้เท่านั้น แต่คือการสร้างโอกาสในภาวะวิกฤต ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ ยืนหยัดด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการคิด วิเคราะห์ และต่อยอดจากต้นทุนและศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชน