แม่ฮ่องสอน สำรวจรอยยิ้มแกล้ม “มื้อเช้า” ของเด็กๆ

แม่ฮ่องสอน สำรวจรอยยิ้มแกล้ม “มื้อเช้า” ของเด็กๆ

การทำงานของ กสศ.นั้นเน้นเรื่อง “ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา” (Social Protection in Education System) หนึ่งในนั้นคือ “เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร” ซึ่งเป็นวิกฤตที่รอวันปะทุ ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น จากที่เด็กนักเรียนต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านพร้อมกับปัญหาความยากจน

หากเด็กได้กินอาหารเช้าก่อนเข้าเรียน เด็กจะมีสมาธิในการเรียน เนื่องจากร่างกายได้รับสารอาหารที่พร้อมจะนำไปใช้ ด้วยเหตุนี้ กสศ. จึงร่วมมือกับภาคีจัดทำโครงการอาหารเช้าขึ้น เพื่อให้เด็กนักเรียนได้กินอาหารเช้าก่อนเข้าเรียน 

วันนี้…เราจะพามาสำรวจพื้นที่ “แม่ฮ่องสอน” ว่าเด็กๆ จะมีรอยยิ้มกันแค่ไหน

อาหารเช้า : จุดเริ่มต้นของการลดความเหลื่อมล้ำ

โชติพัชร์ สมบุญตนนท์ (ฮันนาห์)
ผู้ชำนาญการพิเศษด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

อธิบายให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำโครงการอาหารเช้าที่แม่ฮ่องสอน 

“ในช่วงแรกสิ่งที่เราทำคือ คัดเลือกโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนยากจนพิเศษค่อนข้างสูง ความพร้อมของโรงเรียนเรื่องทรัพยากรบุคคล รวมถึงความพร้อมของชุมชน จากนั้นก็สร้างความเข้าใจกับทางฝ่ายบริหารของโรงเรียน เรายังพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต. นักวิชาการศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และคณะกรรมการ อสม. เพื่อหาทางร่วมมือ สานต่อโครงการนี้

“ทางมูลนิธิได้ทำงานกับโรงเรียน วางแผนร่วมกันว่าอาหารเช้าแต่ละเดือนจะทำอะไร โรงเรียนแต่ละแห่งก็ส่งรายการอาหารให้กัน และประชุมสร้างความเข้าใจกับคุณครูที่รับผิดชอบโครงการว่าต้องทำอะไรอย่างไร นอกจากเรื่องงบประมาณ เราดึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง คนในชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงสนับสนุนการทำอาหารและวัตถุดิบประกอบอาหาร ทุกเดือนพูดคุยสะท้อนผลว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงแชร์สิ่งที่ทำเพื่อประยุกต์ใช้ระหว่างโรงเรียน”

“ตอนนี้ปิดโรงเรียนเพราะโควิด เราวางแผนสำรองไว้ มีสองแบบ กรณีที่ต้องปิดหมู่บ้านเลย เราก็แจกถุงยังชีพ ในถุงนั้นจะเน้นโปรตีนเป็นหลัก ไข่ นม ปลากกระป๋อง ข้าวสาร ในกรณีที่ไม่ได้ปิดหมู่บ้าน คุณครูก็จะทำอาหารแล้วให้เด็กมารับที่โรงเรียนพร้อมกับใบงาน”

“หลังจากนี้ทางมูลนิธิมีแผนอบรมให้ความรู้ สร้างทัศนคติทักษะให้กับคุณครู ผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองทำอาหารเช้าให้เด็กกินที่บ้าน ทางมูลนิธิอยากให้เรื่องอาหารเช้าเป็นนโยบายระดับประเทศ ถ้าเด็กท้องอิ่มก็จะส่งผลต่อการเรียน เพราะต้องยอมรับว่ามีหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ ที่ผู้ปกครองต้องรีบไปทำงาน หรือไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจัดสรรอาหารให้เด็กทั้งสามมื้อ ดังนั้น การมีโครงการอาหารเช้านับเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้ามีการผลักดันไปสู่นโยบายได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ในชีวิตเด็กด้วย”

สำรวจความสุขของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

นายอนันต์ ตระหง่านไพร (ครูจา)
โรงเรียนบ้านแม่หาด

“โรงเรียนบ้านแม่หาดเป็นพื้นที่บนดอย ทำอาหารเช้าให้เด็กนักเรียนกินที่โรงเรียน โดยมีแม่ครัวมาทำให้ครับ นักเรียนอยากกินอะไรก็บอกมา เมนูที่เด็กๆ ชอบคือ ผัดกะเพรา ก๋วยเตี๋ยว ”

“ต้องขอขอบคุณทาง กสศ.ที่จัดสรรงบให้กับโรงเรียน เพราะสำคัญต่อเด็ก เมื่อก่อนถามเด็กว่ากินข้าวกับอะไร คำตอบก็เป็นน้ำพริก พอมีโครงการอาหารเช้า ก็ทำให้เด็กได้กินดีขึ้น ถ้ามีต่อไปก็น่าจะดีครับ”


นางสาวกนกวรรณ ทองสุข (ครูอ๋อม)
ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านแม่จ๊าง

“วัตถุดิบที่แจกให้เด็กไปทำกิน เราแจกสัปดาห์ละครั้ง ในถุงจะมีพวกไข่ เคยแจกไก่สด แต่เมื่อเด็กได้ไปก็ต้องทำกินเลย เพราะไม่มีตู้เย็น เดี๋ยวนี้เลยเน้นอาหารแห้ง พวกวุ้นเส้น ไข่ ผลตอบรับดีมาก เด็กๆ ชอบ เพราะได้กินอาหารที่หลากหลายขึ้น บริบทของโรงเรียนอยู่บนพื้นที่สูง ส่วนมากอาหารที่เด็กกินที่บ้านจะเป็นผัก มาม่า น้ำพริก ไม่ค่อยจะมีโปรตีนเนื้อสัตว์ ถ้ามากินที่โรงเรียนจะได้สารอาหารครบ เมนูที่เด็กๆ ชื่นชอบคือของทอด อย่างน่องไก่ทอด”


นายจิรพงศ์ กำแพงแก้ว (ครูเจมส์)
โรงเรียนบ้านห้วยปลากั้ง

“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนก็คือพฤติกรรมของเด็ก ไม่ใช่แค่มากินอาหารเช้าที่โรงเรียนอย่างเดียว เด็กมีการเตรียมพร้อมในเรื่องการทำอาหาร โรงเรียนให้เด็กคิดเมนูว่าอยากกินอะไร โดยเป็นอาหารที่ทำได้ไม่ยากเกินไป ก็แบ่งเวรทำอาหาร ชั้นเรียนละสัปดาห์ น้องๆ จะมีหน้าที่หยิบจับ คอยช่วยพี่ๆ คุณครูก็คอยดู กำกับการปรุง เด็กจะได้เรียนรู้ทุกเมนูที่ทำ”

“เด็กทุกคนก็กระตือรือร้น อยากกินอะไรก็เขียนเมนูแล้วมาคัดสรรกันในห้องเรียน มีการโหวตกัน เด็กยังมาโรงเรียนเช้าขึ้นเพราะเรานัดประมาณเจ็ดโมงสิบห้าถึงเจ็ดโมงครึ่ง ให้มากินอาหารเช้าที่โรงเรียน ทำให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กบางคนที่พ่อแม่ต้องไปสวนไปไร่แต่เช้า ทำให้บางครั้งไม่ได้กินข้าว”

“ช่วงที่โควิดระบาด เราเปลี่ยนจากเรียนออนไซต์เป็นออนแฮนด์แทน ก็ให้เด็กมารับกับข้าวไปกินที่บ้านพร้อมกับใบงานไปทำ เพื่อลดความเสี่ยงในโรงเรียน ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นแจกถุงยังชีพให้เด็กทุกคน เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำ”


นางสาวรัตนาภรณ์ วงค์เรือง (ครูก้อย)
โรงเรียนบ้านดงกู่

“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ นักเรียนมาโรงเรียนเช้าขึ้น เพราะทางโรงเรียนจะให้นักเรียนกินอาหารเช้าตอนเจ็ดโมงถึงเจ็ดโมงครึ่ง หลังจากนั้นจะทำเวรก่อนเข้าแถว เด็กมีเปอร์เซ็นต์ขาดเรียนน้อยมากตั้งแต่มีโครงการอาหารเช้า”

“ผลตอบรับจากผู้ปกครองก็ดีค่ะ แบ่งเบาภาระเขาด้วย ตอนเช้าผู้ปกครองไม่ต้องเจียดเวลามาทำอาหารให้ลูก โรงเรียนทำให้เขาก็โอเค และก็มีผู้ปกครองมาถามว่าเมนูนี้ทำอย่างไร ใช้อะไรบ้าง จะได้ไปทำกินที่บ้าน”


“ตอนประชุมผู้ปกครองรอบก่อน ครูก็ถามว่าปีงบประมาณหน้าอาจไม่มีกองทุนสนับสนุนอาหารเช้าแล้ว พร้อมเสนอว่าจะตั้งกองทุนวันละบาท เดือนละสามสิบบาท ให้เด็กออมวันละบาท ตั้งเป็นกองทุนอาหารเช้าในเทอมหน้า อยากขอบคุณจากใจจริงๆ ที่ กสศ.และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างมูลนิธิศุภนิมิต ที่ได้มอบโอกาสดีๆ แบบนี้ให้กับโรงเรียนค่ะ”

นายธนาพศิษฐ์ สุกศิริเมธีกุล (ครูนุ้ย)
โรงเรียนบ้านแม่จ๊าง ส.บ้านดงหลวง-ดงน้อย

“เด็กที่นี่ครอบครัวค่อนข้างยากจน เป็นเด็กบนดอย อาหารก็จะเป็นน้ำพริกเอย หน่อไม้ ตามที่เก็บได้บนภูเขา อาจไม่ค่อยมีโปรตีนเท่าไหร่ เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองด้วย พอเราทำอาหารให้นักเรียนกินตอนเจ็ดโมงเช้า เด็กก็ชอบ มีความสุข มีระเบียบวินัยมากขึ้น มาโรงเรียนกันแต่เช้า”

“เด็กชั้น ป.4 – 6 ตีห้าครึ่งก็มาช่วยทำอาหาร แล้วเขาก็ช่วยเตรียมอาหารในตอนเย็นด้วย เมนูที่เด็กๆ ชอบคือ ผัดกะเพราะ ไข่พะโล้ ต้มยำขาหมู”

“ทางโรงเรียนยังขาดอุปกรณ์ทำอาหารอยู่ ตอนนี้เรายังใช้ฟืนทำอาหาร ตอนหน้าฝนจะลำบาก เราก็นำเงินตรงนี้ไปซื้อแก๊สเพื่อให้สะดวกขึ้น เราจะได้ทำอาหารเช้ากับกลางวันสองมื้อเลย”

“ขอขอบคุณแทนเด็กๆ ด้วย ผู้ปกครองก็ดีใจที่ลูกหลานของตัวเองมีน้ำหนักและส่วนสูงที่ดีขึ้น ในระยะยาวน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้น น่าจะสานต่อโครงการดีๆ อย่างนี้ต่อไปครับ”