ด่านหน้าช่วยเหลือเด็กติดโควิด-19 เป็นอย่างไร? ชวนคุยกับคุณหมอมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล

ด่านหน้าช่วยเหลือเด็กติดโควิด-19 เป็นอย่างไร? ชวนคุยกับคุณหมอมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล

ไทยกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ระลอกที่สาม คุณหมอและคุณพยาบาลกำลังทำงานหนัก เนื่องจากจำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน จนเตียงในโรงพยาบาลปกติไม่เพียงพอ ต้องสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่ม  

แล้วสถานการณ์เด็กที่ป่วยติดโควิดล่ะมีจำนวนเท่าไหร่ สถานที่รองรับดูแลรักษาเด็กเป็นอย่างไร 

กสศ. มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณหมอมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เกี่ยวกับประเด็นข้างต้น

สถานการณ์เด็กติดโควิด-19

ตอนนี้สถานการณ์เด็กติดโควิด-19 10% จากตัวเลขคนไทยติดวันนี้ (25 กรกฎาคม  2564) 1.5 หมื่นคน เราก็คิดไปเลย 10% ติดไปถึงเด็กแล้ว จำนวนเด็กติดโควิดเดือนมิถุนายนคือ 11% พอช่วงปลายเดือนมิถุนายน แค่สัปดาห์เดียวก็เพิ่มเป็น 12.9%  ถ้าดูเดือนกรกฎาคม อาทิตย์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งกระฉูดเป็นวันละหมื่น เราก็ตีว่า 10% คือจำนวนเด็กที่ติดโควิด และอาจเพิ่มขึ้นจนเกือบถึง 20% ได้  เชื้อตอนนี้เป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเด็กเองก็ต้านทานไม่ได้ ไม่เหมือนอัลฟ่าตอนแรกๆ เด็กเองจะโดนแยกจากพ่อแม่ แต่ตอนนี้คือ เด็กติด พ่อแม่ติด ติดในครอบครัวมากขึ้น

วิธีการทางกุมารแพทย์และจิตแพทย์แนะนำว่า ไม่ควรแยกพ่อแม่กับเด็กออกจากกัน เพราะการแยกเด็กจะมีปัญหาเยอะกว่า พอติดเชื้อเดลต้า อัตราการเสียชีวิตของพ่อแม่ ปู่ย่าตายายจะเยอะขึ้น ขณะที่เด็กเองยังมีภูมิต้านทานกับตัวเชื้อนี้อยู่ เพราะฉะนั้นเด็กส่วนมากที่ติดมักจะรอด ขณะที่ผู้ใหญ่ติดแล้วมักจะไม่รอด เกิดปัญหาเรื่องการสูญเสียขึ้นค่อนข้างเยอะ

แต่ตัวเด็กเองการสูญเสียเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เยอะ เท่าที่รวบรวมมาตั้งแต่ระบาดเดลต้า มีเด็กเสียชีวิต 5 คนในจำนวน 16,000 คน เด็กที่เสียชีวิตเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว ถ้าเป็นเด็กปกติมักจะติดแล้วหายได้เอง ก็ไม่ค่อยน่าห่วงนัก

วิธีการดูแลเด็กติดโควิด-19

ที่สถาบันราชานุกูล เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปีลงมา มีทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษ เขาจะมาพร้อมกันคือ พ่อ แม่ และลูก ส่วนมากพ่อแม่มีอาการเยอะกว่า เราก็ต้องส่งต่อ เช่น เชื้อลงปอด Oxygen sat (ค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือด) ต่ำกว่า 97 แต่เด็กยังแข็งแรงดีอยู่ ยังไม่ค่อยมีปัญหา 

ตอนนี้เด็กติดเชื้อจากคนในครอบครัว มิใช่ติดเชื้อจากภายนอก คือพ่อแม่เป็นแล้วก็มาติดเด็ก เด็กส่วนมากอาการจะไม่ค่อยดร็อป เพราะเรามอนิเตอร์ด้วยการเอกซเรย์และ Oxygen sat

ที่โรงพยาบาลเด็ก เวลาเด็กมาแอดมิตก็ต้องมีคนดูแล หมอเคยมีกรณีหนึ่ง คือ เอาเจ้าหน้าที่ไปอยู่กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ เพราะเด็กดูแลตนเองไม่ได้ ทำให้เราต้องเสียกำลังคนพอสมควร ฉะนั้นการผลัดเวรของจิตอาสาก็สำคัญ การดูแลเด็กเป็นเรื่องต้องใช้เวลา เขาจะมา 3 วันทีไม่ได้ แต่ต้องอยู่กับเด็ก 14 วันเลย จิตอาสามาดูแลก็ต้องขึ้นเวรเหมือนกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่า ถ้าเราดูแลเด็ก เด็กจะไม่ค่อยเสียชีวิต ดังนั้นเราจะไม่ท้อไม่ล้า

ศูนย์ Community isolation สำหรับเด็ก

สำหรับศูนย์พักคอย Community isolation มีเพียงพอสำหรับเด็กปกติ ตอนนี้เรามีโรงพยาบาลราชวิถีเป็นพี่เลี้ยงใหญ่ มีโรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลเด็กโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งน่าจะช่วยทำให้เด็กติดโควิดดีขึ้น 

แต่เด็กที่เปราะบาง มีความพิการซ้ำซ้อน ถ้าเรารวมกลุ่มเด็กประเภทนี้ได้ น่าจะมีสักที่หนึ่งเป็นศูนย์กลาง ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ไปจับมือกับโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เพราะเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กสติปัญญาบกพร่อง เด็กพิการ ที่นี่มีพี่เลี้ยงคอยดูแล ซึ่งพี่เลี้ยงทุกคนได้รับวัคซีนหมดแล้ว เขาจะได้เป็นอาสาสมัครที่ปลอดภัยด้วย

ถ้าจะตั้งเป็น Community isolation อยากให้เป็นลักษณะของครอบครัวมากกว่าที่จะแยกเด็กมาดูแลเอง เรามีประสบการณ์ตอนที่ตั้ง Community isolation ที่ศูนย์นิมิบุตร เมื่อประมาณหกเดือนที่ผ่านมาทางชุมชนคลองเตยมีการระบาด มีคุณครูที่ให้แยกผู้ใหญ่กักตัวอยู่ที่ศูนย์นิมิบุตร ในส่วนเด็กตอนนั้นอัตราติดเชื้อยังไม่ถึง 10% ก็แยกเด็กมาดูแลโดยมีคนใกล้ชิดอยู่ด้วย สิ่งสำคัญคือ ต้องมีคนที่เด็กเชื่อใจไว้วางใจอยู่ด้วย ตอนนั้นมีเด็กประมาณเกินครึ่งร้องตามพ่อแม่ ขอไปอยู่ศูนย์นิมิบุตรด้วย ประมาณ 1 ใน 10 ก็เป็นคนไข้ของหมอด้วย คือเป็นผู้พิการทางสติปัญญา เขาไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าได้  

คุณหมอมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล

อย่างไรก็ตาม ในศูนย์ฯ ก็ต้องยกการ์ดให้ดีๆ ต้องใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงจิตอาสาที่จะเข้าดูแลในกรณีที่พ่อแม่อยู่กับลูกไม่ได้ คือ เปลี่ยนระดับจากเขียวกลายเป็นเหลือง เป็นแดง ต้องไปอยู่โรงพยาบาล ก็ต้องมีจิตอาสาคอยดูแลเด็ก ซึ่งจิตอาสาต้องเป็นผู้ได้รับวัคซีนแล้วเพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง เราจะไม่รับจิตอาสาที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน

เด็กจะต้องมีโอกาสในการเรียนรู้

เวลาอยู่ในศูนย์ Community isolation เด็กไม่ได้ต้องการพ่อแม่อย่างเดียว เด็กจะต้องมีโอกาสในการเรียนรู้ โรงเรียนเดิมก็เป็นส่วนหนึ่ง กิจกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำให้กับเด็กตามอายุ 

หมอมีประสบการณ์ดูแลเด็กที่ศูนย์ตลาดกลางกุ้ง ตอนระบาดรอบแรกก็จัดกิจกรรมให้เด็กแบ่งเป็นระดับ 0-3 ปี ทำเรื่องของพัฒนาการ โดยสอนแกนนำกลุ่มอาสาสมัครว่าจะกระตุ้นเรื่องพัฒนาการเด็กอย่างไร เพราะเวลาที่ขยับไปแต่ละวันเป็นเวลาทองของเด็ก เราสอนอาสาสมัครเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ส่วนมากเป็นเรื่องพัฒนาการด้านร่างกาย ไม่ได้เน้นเรื่องเขียนอ่านมากนัก แต่จะเน้นเรื่องการเล่น

พอมาถึงเด็กวัยเรียน ก็สอนให้เขารู้จักคำว่าสิทธิต่างๆ เพราะที่ตลาดกลางกุ้ง เด็กอยู่กับคนแปลกหน้าหมด เพราะพ่อแม่โดนกัก เด็กก็ได้อยู่กับเพื่อนบ้าน และเด็กสมัยนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วมาก ตั้งแต่ 4 ขวบถึง 13 ปี เราจะสอนให้เขารู้เรื่องของสิทธิ เรื่องของ self มีกิจกรรมให้เขารู้ว่าคนอื่นมาละเมิดตัวเด็กไม่ได้นะ ก็สอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องเหล่านี้  สำหรับเด็กโตขึ้นไป ก็จะมีวิธีการให้เขาเรียนรู้ที่จะต้องดูแลน้องๆ ในศูนย์ฯ เพราะฉะนั้นด้วยวิธีการแบบนี้จะทำให้เด็กอยู่ที่ศูนย์ฯ 14 วันได้อย่างมีความสุข 

ส่วนเรื่องสิ่งของจำเป็นในศูนย์ Community isolation เด็กยังต้องการหนังสือ หนังสือยังเป็นเพื่อนที่ดีกับเด็กอยู่ ซึ่งทาง สสส. ทำหนังสือพร้อมแจกที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละวัย แต่ก็ต้องผ่านอาสาสมัครที่อ่านให้เด็กเล็ก  ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการมีค่ามากเลย  เราก็อาศัยผู้มีจิตศรัทธาบริจาคซื้อของเล่นให้กับเด็ก 

เรื่องอาหารให้เด็ก นมยังเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ค่อนข้างดี จริงๆ เอกชนเขาก็อยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยอะไร ก็ช่วยสนับสนุนนม น้ำ หนังสือ  สามอย่างที่ต้องการมากๆ หนังสือถือเป็นของเล่นที่สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

หนึ่ง ในเรื่องของวิชาชีพ เราจะยึดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือจะยึดเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ตอนนี้หมอหลายคนยังต้านเรื่อง Antigen test kit ที่เป็น rapid test อยู่ ทุกเคสที่แอดมิตต้องทำในเรื่องของสวอปใหญ่ ซึ่งตอนนี้งานจะไปโหลดที่เทคนิคการแพทย์พอสมควร  ในช่วงที่เกิดสงครามทางชีวภาพแบบนี้ อาจต้องลดมาตรฐานลงเพื่อให้อยู่รอด 

สอง ต้องเร่งเรื่องกระจายวัคซีนให้มากที่สุด โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา  ซึ่งสามารถฉีดในเด็กตั้งแต่สิบสองขวบขึ้นไปได้ การกระจายวัคซีนต้องมีความโปร่งใสพอสมควร 

สาม ตอนนี้คนที่สูญเสียคนในครอบครัวเพราะโควิดจะเยียวยาอย่างไร  พ่อแม่  ปู่ย่าตายายมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าเด็ก เด็กจะอยู่รอดไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย ตรงนี้ก็ยังเป็นช่องว่างอยู่ว่าเราจะทำอย่างไรกัน

สี่ เด็กเปราะบาง หมายถึงเด็กที่พิการทางสายตา หู ทางสังคมด้วย มีปัญหาว่าโรงพยาบาลหลายแห่งไม่กล้ารับ มีเสียงจากสมาคมผู้พิการมาพอสมควรว่า อยากตั้งโรงพยาบาลสนามให้เด็กกลุ่มนี้ 

หมอเสนอว่า ถ้าจะตั้งจริงๆ อาจตั้งเฉพาะกลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่ เพราะว่าในกรณีเด็กอยู่กับครอบครัวก็สามารถอยู่ในศูนย์ Community isolation ต่างๆ ของกรุงเทพมหานครได้  ซึ่งในวันที่ 31 กรกฎาคม นี้จะมีศูนย์ Community isolation ครบทุกเขต อย่างที่เขตดินแดงซึ่งเป็นพื้นที่ที่สถาบันราชานุกูลอยู่ ทางโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ก็จะเป็น Community isolationให้ 

เพราะการดูแลเด็กเฉพาะที่พิการ เขาไปโรงพยาบาลปกติก็ไม่ได้ ไปศูนย์พักคอยปกติก็ไม่ได้ เขาเจอคนแปลกหน้าก็มีปัญหา  หมออยากให้เรื่องของเด็กปกติเป็นเรื่องของเขต ยกให้ทาง กทม. ดูแล แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐช่วยเติมเต็มตรงส่วนนี้ จะดีมากถ้าเราหาช่องทางคอยดูแลให้ทุกอย่างเรียบร้อยได้ ซึ่งกระทรวง พม. มีส่วนช่วยได้เพราะมีงบสำหรับเด็กด้อยโอกาส ถ้ามีศูนย์นี้ในการดูแลเด็ก เราจะจัดกิจกรรมแบ่งตามอายุตามที่หมอบอกไปได้  ที่สถาบันราชานุกูล เรามีสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ที่คอยดูแลศูนย์นิมิตบุตร เรามีประสบการณ์การดูแลเด็กที่ตลาดกลางกุ้ง เรามีหลักสูตรแพ็คเกจการดูแลเด็ก สามารถเทรนอาสาสมัครได้ แต่เราไม่สามารถไปได้ทุกที่  แล้วตอนนี้มีการเทรนอาสาสมัครเป็นระบบออนไลน์แล้ว ถ้าเราสามารถช่วยเทรนอาสาสมัครได้ เราก็ยินดีค่ะ

ฝากถึงพ่อแม่

ตอนนี้เป็นช่วงที่ reunion ทุกคนทำงานจากที่บ้าน ก็ขอให้ลดความเครียดลง ทำงานจากที่บ้านทำให้คุณปลอดภัย เพราะลดการสัมผัสเชื้อ แต่ความเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ขอฝากถึงผู้ปกครองว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่เป็นมากกว่าคุณพ่อคุณแม่ แต่เป็น Super mom Super dad ค่ะ คือต้องเป็นครูให้กับลูกด้วย โดยเฉพาะเด็กชั้นประถม เด็กเองต้องการการเรียนรู้และต้องการเวลา อยากให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เราค่อยๆ ปรับตัว ไม่อยากให้เด็กๆ เสียเวลา เพราะโควิดก็อยู่กับเรามาเกือบสองปีแล้ว

เรื่องที่ภาครัฐทำได้คือ ปรับปริมาณการเรียนให้ลดน้อยลง และการเรียนออนไลน์นั้นควรเพิ่มกิจกรรมที่ไม่ใช่นั่งเรียนอย่างเดียว วิชาพละที่หายไปก็ต้องประยุกต์ของใช้ในบ้านเพื่อที่จะออกกำลังกายได้ เพราะว่าตอนนี้ต้องเล่นคนเดียว เด็กที่มีน้ำหนักเยอะ เมื่อติดโควิดจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ หมออยากให้มีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของเด็ก

เป็นกำลังใจให้กันและกัน

อยากให้กำลังใจพ่อแม่ทุกคน รวมถึงอาสาสมัครด้วย ปฏิกิริยาของเด็กเวลาที่แยกจากผู้ปกครอง ไม่ว่าจะแยกเป็นหรือแยกเพราะเสียชีวิต เด็กจะมีความรู้สึกกลัวคนแปลกหน้า ขอให้คนดูแลอย่าท้อ ถ้าเด็กจะหันหลังใส่เรา จะร้องไห้โวยวายใส่เรา เพราะด้วยความรัก ด้วยกิจกรรม เด็กจะค่อยๆ ขยับเข้ามาในกลุ่ม ให้เวลาเด็กปรับตัวหน่อย

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ เราผูกพัน เรารักกันมากขึ้น หลังจากที่ได้ช่วยให้คนไข้ผ่านพ้นวิกฤต และสิ่งที่อาสาสมัครจะได้เมื่อมีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นก็คือ ความอิ่มเอมใจค่ะ