ทุกวันตอนตี 3 แม่ของตอเละจะออกจากบ้านไปรับจ้างกรีดยาง 7 โมงเช้าจึงกลับมารับตอเละกับน้อง ๆ ขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปส่งโรงเรียน แล้วกลับมาทำงานบ้านจิปาถะ ระหว่างนั้นถ้ามีงานรับจ้างรายวันเข้ามาก็ออกไปทำ บ่ายสามได้เวลาไปรับลูกกลับบ้าน เตรียมอาหารเย็น เก็บกวาด ล้างจาน ทำทุกอย่างเรียบร้อยค่อยเข้านอน จนใกล้ตี 3 ก็ลุกขึ้นอีกครั้ง…
วันของเธอดำเนินซ้ำไปเช่นนี้ ด้วยความหวังเดียวว่าลูกทุกคนจะได้เรียนอย่างน้อยที่สุดต้องให้จบ ม.3 และโดยเฉพาะกับเด็กชาย ‘ตอเละ’ พี่คนโตของครอบครัว ที่วันนี้เรียนอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านบาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ซึ่งให้สัญญากับเธอไว้ว่า วันหนึ่งเรียนจบมีงานทำแล้วเขาจะคอยดูแลแม่และน้อง ๆ ทุกคนให้มีความสุข
แม่เล่าว่าตอเละเป็นเด็กดี ทำงานบ้านสารพัด ช่วยเลี้ยงน้องตอนแม่ไปทำงาน ตอเละเคยบอกแม่ว่าถ้าเขาโตกว่านี้จะออกจากบ้านไปช่วยแม่ทำงาน แต่สำหรับแม่ เธอบอกลูกชายคนโตว่ายังทำงานไหว ถึงจะนอนน้อยหน่อย เหนื่อยบ้าง แต่ขอแค่ตอเละได้พักผ่อน ได้ตั้งใจเรียนจนจบ เพื่อพบกับ ‘โอกาส’ ดี ๆ ที่จะเข้ามา
“แม่อยากให้เขาเรียนจบ ช่วยดูแลน้อง ๆ ส่วนเรื่องงานตอนนี้ให้เป็นหน้าที่ของเรา ที่ผ่านมาช่วงโควิด บ้านเราไม่มีงาน ไม่มีเงิน ตอเละไม่ได้ไปโรงเรียนจนเกือบไม่จบ ป.6 เรากลัวว่าเขาต้องออกมาทำงานเหมือนแม่ แต่วันนี้เขาได้กลับไปเรียนต่อแล้ว เราดีใจกับเขามาก
“สำหรับคนเป็นแม่ พรประการเดียวที่จะให้ลูกคือขอให้เขาได้เรียนต่อสูง ๆ ได้ไปเรียนทุกวันไม่ต้องหยุด จบแล้วมีงานดี ๆ ทำ เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงน้อง เป็นความหวังของครอบครัวได้ในวันหน้า”
ส่วนตอเละบอกว่า เขาอยากทำงานเลี้ยงดูทุกคน อยากให้แม่สบายกว่านี้ เขาเคยเสียใจที่ต้องหยุดเรียนเพราะบ้านไม่มีเงิน แต่เทอมนี้ตอเละได้ไปเรียนหนังสือทุกวันแล้ว“ถ้าให้คิดถึงแม่ ผมคิดถึงทุกวันที่แม่ไปกรีดยาง ที่แม่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งทุกเช้า คิดถึงผัดเผ็ดไก่ของแม่ อร่อยที่สุด วันแม่นี้ผมรู้สึกดีใจที่มีแม่คอยทำทุกอย่างให้ ผมสัญญาว่าจะตั้งใจเรียน จะช่วยแม่ดูแลน้อง จะทำให้แม่เหนื่อยน้อยลงครับ”
‘ความหวังจากหัวใจ’ ของ ‘แม่’ ผู้มีแต่ ‘ให้’
“บิ๊กเรียนกับเราตั้งแต่ชั้นประถม แต่มาสนิทกับเขาจริง ๆ ก็ ม.1 เห็นเขาเงียบ ๆ ไม่เคยเห็นเขายิ้ม ไม่เคยเห็นแสดงอารมณ์เลย เลยพยายามเข้าหา คุยกับเขา จนรู้ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง เราก็อยากช่วยให้เขาได้มีความสุขบ้าง”
นูรียา กาซอ โรงเรียนยะลาบำรุงผดุงประชา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ‘ครู’ ที่ติดตามดูแลบิ๊กมาตลอด 5 ปี ตั้งแต่ชั้น ม.1 ผ่านช่วงเวลาที่บิ๊กเสี่ยงหลุดจากโรงเรียนกลางคันก็หลายครั้ง ก่อนจบ ม.ต้น จนถึงวันที่จบและมีทีท่าว่าจะไม่ได้เรียนต่อ ทั้งยังขาดรายได้เพราะต้องหยุดงานช่วงโควิด
แม้จะพ้นจากความรับผิดชอบในฐานะครูที่โรงเรียนแล้ว แต่หน้าที่ของครูนูรียา ที่บอกว่าบิ๊กเองก็เปรียบเสมือน ‘ลูก’ ของเธอคนหนึ่ง การติดตามช่วยเหลือน้องให้พ้นจากอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ จึงยังคงดำเนินต่อไป
“5 ปีที่ดูแลกันมา เราเห็นเขาตลอด เลยปล่อยกันไม่ได้แล้ว ถึงจบไปก็ยังติดต่อกันเสมอ พอรู้ว่าเขาจบ ม.3 แล้วจะไม่ได้เรียนต่อก็พยายามหาทางช่วย จนตอนนี้เขาได้เรียนวิทยาลัยเทคนิค เริ่มเห็นที่เห็นทาง เห็นอนาคตของตัวเอง
“ส่วนเรื่องงาน เรารู้ว่าเขาอาศัยในโรงไม้ ทำงานที่นั่นเพื่อเลี้ยงตัวเองกับยายไปด้วย พอโควิดทำงานไม่ได้ ก็มาหาทางช่วยกัน ขาดเครื่องใช้ของกินก็เอาไปให้ หางานเสริมให้ จนผ่านมาได้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีกับบิ๊กมาก ๆ คือ จะลำบากยังไง เขาไม่เคยหยุดตั้งใจเรียน”
ครูนูรียากล่าวเนื่องในโอกาสวันแม่ปีนี้ว่า “วันนี้เราภูมิใจที่เห็นเขายิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะของเขา เห็นเขามีเพื่อน ได้ใช้ชีวิตตามวัย แววตาสดใสกว่าเดิม ได้เปลี่ยนจากเด็กอมทุกข์มารู้จักความสุข จากนี้ขอแค่ให้เขาประคองชีวิตจนเรียนจบ มีงานทำ พาตัวเองกับยายไปอยู่ในบ้านที่สบายขึ้น แค่นั้นเราภูมิใจที่สุดแล้ว”
กับ ‘คุณยาย’ ที่เปรียบเสมือน ‘แม่’ อีกคนของบิ๊ก ผู้ดูแลน้องบิ๊กเพียงลำพังมาตั้งแต่ยังตัวเล็ก ๆ บอกว่า ขอเพียงบิ๊กยังคงตั้งมั่นในสิ่งที่ทำ ยายก็ดีใจที่สุดแล้ว สำหรับยายไม่หวังอะไรมาก แค่บิ๊กได้กลับมาเรียนหนังสือ และเรียนไปจนจบได้ก็พอ
“ทุกวันยายจะไปส่งบิ๊กหน้าบ้าน ให้พรเขาซ้ำ ๆ ว่าบิ๊กตั้งใจเรียนนะลูก ขอให้หนูได้ดี ยายรักหนูนะ ยายจะเตือนเขาอย่างนี้ทุกวัน เตือนให้เขารู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ว่ายังไงเขายังมียาย เราจะอยู่กันไปสองคน ขอแค่ให้หนูทำทุกวันให้ดีที่สุด”
ด้าน ‘บิ๊ก’ กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ผมรักยายครับ อยากให้ยายมีสุขภาพแข็งแรง ผมโตมาทุกวันนี้ได้ก็เพราะยาย แล้วสิ่งที่ผมทำทุกวันนี้ก็เพื่อยาย อยากให้ยายมีความสุข อยู่กับผมไปนาน ๆ ผมจะเก็บเงินให้ได้มาก ๆ เอามาให้ยาย เอามาให้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น
“ส่วนครูนูรียาท่านเป็นคนที่มาเปลี่ยนแปลงชีวิตผม เหมือนแม่ผู้ให้โอกาส คอยดูแลใกล้ชิด ทุกวันนี้ถึงไม่ได้เรียนกับครูแล้ว แต่ครูยังมาหาตลอด โทรถามผมว่ามีเงินไหม มีข้าวกินไหม ไม่ว่าขาดเหลืออะไรครูเป็นคนแรกเสมอที่ช่วยผม ผมตั้งใจว่าจะเรียนให้จบ ทำงานดี ๆ เพื่อให้ครูเห็นว่าสิ่งที่ท่านทำลงไปไม่เหนื่อยเปล่าครับ”
สองเรื่องราวความรักความผูกพันใน ‘วันแม่’ จาก 3 แม่ ใน 2 ครอบครัว ของน้อง ๆ เด็กเยาวชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จังหวัดยะลา ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของ ‘แม่’ ในความหมายที่มิได้เป็นเพียงเรื่องของความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น แต่ก็ยอมเป็นผู้เหน็ดเหนื่อยในวันนี้ เพื่อให้ ‘ลูก’ ของเธอได้รับการศึกษา และมีชีวิตที่ดีขึ้นในวันหน้า