หลังเปิดเทอมแบบออนไซต์ (on-site) แม้เด็กหลายคนจะหัวใจพองฟูที่ได้กลับมาเจอเพื่อนๆ และครูอีกครั้ง แต่ตลอดช่วงวิกฤตระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เด็กต้องห่างจากโรงเรียนไปนาน ทำให้เด็กบางคนเจอภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) ครั้นพอเปิดเทอม ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน เกิดปรากฏการณ์ “ช่องว่างการเรียนรู้” หรือ Learning Gap
ประเด็น “ช่องว่างการเรียนรู้” หรือ Learning Gap นั้น ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เคยกล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ปิด Gap ห้องเรียนยุคโควิด-19 ครั้งที่ 1” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่า ช่องว่างการเรียนรู้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยมานานและมากกว่าที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 แต่หลายฝ่ายไม่รู้ตัว เป็นช่องว่างที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาโดยใช่เหตุ ไม่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ชี้ให้เห็นว่า นักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ถ้าไม่ระวังจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และไม่ได้รับการดูแล เป็นช่องว่างที่ต้องปิด เพื่อทำให้อย่างน้อยนักเรียนทุกคนต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นต่ำ
ทว่า “การปิดช่องว่างการเรียนรู้” นั้นต้องทำอย่างไร หลายคนคงมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในใจ
ในต่างประเทศนั้น มีปรากฏการณ์ “ช่องว่างการเรียนรู้” เกิดขึ้นในหมู่เด็กนักเรียนมายาวนานเช่นกัน แน่นอนว่าอาจมีวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ช่องว่างกว้างขึ้น แต่ตลอดช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามของหลายประเทศ ในการออกนโยบายด้านการศึกษามาเพื่อ “ปิด” หรือ “ลดช่องว่างการเรียนรู้”
บทความนี้จะชวนมาร่วมถอดบทเรียนจาก 3 นโยบายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เวลส์ และอเมริกา
ทั้งนี้ในอังกฤษและเวลส์นั้น นโยบายที่เกิดขึ้นเป็นนโยบายในระดับชาติ ส่วนอเมริกานั้นมีข้อเสนอจากฝั่งเอกชน โดยโรงเรียนรัฐจำนวนไม่น้อยนำข้อเสนอแนะนั้นไปต่อยอดและปรับใช้
มาดูกันว่า ทั้ง 3 ประเทศรับมือและบรรเทา “ช่องว่างการเรียนรู้” ที่เกิดในหมู่นักเรียนอย่างไร
1. อังกฤษ : ก่อตั้งกองทุน 1 พันล้านปอนด์ “educational catch-up initiatives” เพื่อฟื้นฟูนักเรียนเต็มศักยภาพ
สำหรับประเทศที่มีงบประมาณจำนวนมากอย่างอังกฤษ รัฐบาลตัดสินใจตั้งกองทุนงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ชื่อ educational catch-up initiatives เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ให้มั่นใจว่านักเรียนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้
นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดให้มีโครงการ National Tutoring Programme โดยโรงเรียนสามารถจ้างติวเตอร์เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีช่องว่างการเรียนรู้ มีการจัด in-house mentor ให้กับกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งผู้มาเป็น mentor จะต้องผ่านการอบรมเป็นการเฉพาะ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่กำลังอบรมเพื่อรับใบอนุญาตการสอน
2.เวลส์: รับสมัครครูและผู้ช่วยสอนเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักเรียนทุกกลุ่มอายุ
เวลส์ได้ออกนโยบายระดับชาติ โดยประกาศรับสมัครครูเพิ่มขึ้นจำนวน 600 คน และผู้ช่วยสอนจำนวน 300 คน ในปี 2020-2021 เพื่อช่วยเหลือนักเรียน รวมทั้งนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส เปราะบางในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะแก่กลุ่มนักเรียนที่กำลังต้องสอบในช่วงจบการศึกษาในปี 2021 นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรทรัพยากรในด้านการเรียนแก่ครูประจำการ และครูที่กำลังเข้ามาใหม่อีกด้วย
3.สหรัฐอเมริกา: โปรแกรมฟื้นฟูการศึกษาแบบติวเข้มข้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
ปลายปี 2020 บริษัท McKinsey ได้เผยแพร่รายงานด้านการศึกษา ที่มาพร้อมข้อเสนอแนะในการลด Learning Gap โดยใช้โปรแกรมฟื้นฟูการศึกษาแบบเข้มข้น 2 รูปแบบ ทั้งนี้หลังรายงานได้เผยแพร่ออกไป มีโรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกานำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการฟื้นฟูการศึกษาแบบเข้มข้นไปปรับใช้ โดยโปรแกรมฟื้นฟูที่ McKinsey เสนอแนะเพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ ได้แก่
3.1) Acceleration Academies : ฟื้นฟูเข้มข้นภายใน 2 สัปดาห์
McKinsey ได้วิจัยและค้นคว้ากรณีศึกษาต่างๆ จนพบว่า หากโรงเรียนจัดทำ Acceleration Academies หรือหลักสูตรฟื้นฟูเข้มข้นภายใน 2 สัปดาห์ นั้น จะสามารถช่วยฟื้นฟูและเสริมความรู้ให้แก่นักเรียนได้ในอัตราที่เทียบเท่าระยะการเรียนเดิม 6 เดือนเลยทีเดียว
หลักสูตร “Acceleration Academies” ที่ McKinsey เสนอแนะ ประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
-จัดการเรียนการสอนต่อเนื่องกัน 2 สัปดาห์
-ตลอดหลักสูตรใช้เวลาราว 25 ชั่วโมง โดยโฟกัสการสอนไปที่วิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น คณิตศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ (การอ่านเขียน)
-นักเรียนที่เข้าร่วมควรเป็นกลุ่มเล็ก ระหว่าง 8-12 คน
-งบประมาณที่รัฐต้องจ่ายต่อเด็ก 1 คน คือประมาณ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้หากต้องการนำหลักสูตรไปดำเนินการฟื้นฟูแก่เด็กนักเรียนครึ่งหนึ่งของประเทศ จะใช้เงินราว 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
3.2) High-intensity tutoring : ติวเสริมเข้มข้นแบบกลุ่มเล็ก
การติวเสริมให้แก่เด็กนักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อน นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางฟื้นฟูการศึกษาที่มีหลายตัวอย่างยืนยันว่าได้ผล โดยผลสำรวจพบว่า เด็กที่ผ่านการติวเสริมสม่ำเสมอระยะ 1 ปี จะได้รับความรู้ในอัตราที่เทียบเท่าระยะการเรียนเดิม 1-2 ปีเลยทีเดียว
ทั้งนี้ McKinsey ได้เสนอแนะว่า การติวเสริมที่ได้ผลนั้น มักมีองค์ประกอบดังนี้
-ติวแบบกลุ่มเล็ก นักเรียน 2 คนต่อครู 1 คน
-ควรต้องใช้ครูมืออาชีพ หรือนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ผ่านการฝึกสอนมาแล้ว
-ชั้นเรียนติวเสริมที่ดำเนินการในช่วงเวลาเรียน จะได้ผลกว่าชั้นเรียนที่ติวเสริมนอกเวลาเรียน
-งบประมาณที่รัฐต้องจ่ายต่อเด็ก 1 คน คือประมาณ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้หากต้องการนำหลักสูตรไปดำเนินการฟื้นฟูแก่เด็กนักเรียนครึ่งหนึ่งของประเทศ จะใช้เงินราว 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง :