สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นับเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีพันธกิจจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สอดรับกับวิสัยทัศน์ “คนไทยได้รับโอกาสการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัยสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีทักษะจำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21”
การทำงานที่ผ่านมานั้น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ กศน.ได้ร่วมมือกันพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในหลายพื้นที่
ล่าสุดจากการลงพื้นที่ดูงาน “เรียนรู้ตลอดชีวิต แนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” จังหวัดสกลนคร-นครพนม เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2564
ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน.ระบุว่า จากการลงพื้นที่พบว่า กศน.และ กสศ.มีเป้าหมายเดียวกันคือ กลุ่มเด็กเปราะบางหรือเยาวชนที่มีความผิดพลาด จนหลุดจากระบบการศึกษาไปอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ปัจจุบัน กศน.ปักหมุดเรื่องคนพิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่ใช่แค่พิการ แต่ยังรวมถึงกลุ่มด้อยโอกาส เร่ร่อน กลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การดำเนินการของ กสศ.ที่เข้าไปให้โอกาส คืนสิทธิ์ คืนความสุข ให้เขากลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้อีกครั้ง
“ตรงนี้ชื่นชมสิ่งที่ กสศ.ทำ เมื่อวานไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถดูแลเด็กให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ กศน.อยากสนับสนุนเด็กเหล่านี้ อย่างที่ อ.สมพงษ์ จิตระดับ ระบุว่าเด็กบางคนจบ ม.2 ครึ่ง ม.1 ครึ่ง แต่ติดระเบียบเรื่องอายุทำให้ไม่ได้เรียน กศน. ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็จะนำเรียนปรึกษาทางผู้ใหญ่ ทั้งท่านเลขาธิการ กศน. และท่านปลัด ว่าจะมีวิธีให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 เข้าสู่การศึกษานอกระบบได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เขาเสียโอกาส”
ปลดล็อกระเบียบ สร้างโอกาสการศึกษา
การจัดการศึกษาให้กับกลุ่มที่พลาดโอกาสทางการศึกษาเพราะความยากจน หากสามารถปลดล็อกระเบียบบางอย่างได้ ก็จะทำให้เกิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้น
ปัจจุบันถ้าจะเรียน ม.ต้น อายุต้องไม่ต่ำกว่า 15 ปี ถึงจะเข้าหลักสูตร กศน.ได้ โดยการเรียน ม.ต้นใช้เวลา 2 ปี ม.ปลายใช้เวลา 2 ปี รวม 4 ปี จนบางคนกลัวว่าถ้าไม่จำกัดอายุ จะทำให้มีคนบางกลุ่มออกมาเรียนนอกระบบในชั้นมัธยม เพราะใช้เวลาแค่ 4 ปี จากเดิมที่จะต้องใช้เวลา 6 ปี แต่ขณะเดียวกันการจำกัดอายุก็ทำให้เด็กบางส่วนขาดโอกาสไป
รองเลขาธิการ กศน.กล่าวว่า จากที่ได้ไปดูงานที่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายของ กศน. หากเป็นไปได้ก็อยากให้ กสศ.สนับสนุนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะ กสศ. มีการวิจัยและพัฒนา ฝึกอาชีพชาวบ้าน
กศน.ก็ทำเรื่องนี้เช่นกันที่จังหวัดบึงกาฬ โดยร่วมกันพัฒนากับชาวบ้าน จนสามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากต้นกก ผือ กระทั่งบางชิ้นมีราคาถึง 1,000-2,000 บาท
นอกจากนี้กลุ่มเปราะบาง เด็กออกกลางคัน เด็กที่มีปัญหาในชีวิตช่วงวัยรุ่น ทำอย่างไรที่เราจะกู้เขากลับขึ้นมาให้ได้
พัฒนาต้นแบบ หลักสูตรระยะสั้นพร้อมเงินทุนเริ่มต้นอาชีพ
สำหรับโมเดลต้นแบบของการทำงาน กำลังคิดเรื่องหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้เขาประกอบอาชีพ แต่ปัญหาคือชาวบ้านไม่มีต้นทุน คำถามคือจะต่อยอดหลังจบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างไร เช่น เมื่อจบหลักสูตรที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้การรับรองหลักสูตร จะสามารถกู้เงินมาลงทุน เช่น งานฝีมือ นวดแผนไทย โดยขณะนี้กำลังประสานกับทางธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ในส่วนของความร่วมมือระหว่าง กศน.และ กสศ. นั้น ดร.ภูมิพัทธกล่าวว่า
“กสศ.เองก็ทำงานเชิงพื้นที่ มองภาพเรื่องของการทำวิจัย คุณภาพชีวิตของประชาชน อยากให้มีหน่วยงานราชการมาดูแลกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ ต่อยอดการพัฒนา ตอนนี้อาจจะยังเป็นการจับมือหลวมๆ วันนี้ กศน.มีศูนย์ฝึกตามแนวชายแดนอยู่ 8 ศูนย์ฝึก เป็นโครงการตามพระราชดำริ เกิดขึ้นเพื่อดูแลชีวิตประชาชนตามแนวชายแดน ซึ่งน่าจะสามารถร่วมมือกันได้
“ถ้า กสศ.ทำเหมือนที่จังหวัดบึงกาฬ หรือที่ตำบลเชียงเครือ คือใช้ know-how มาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และ กศน.ก็มีการทำหลักสูตรตำบลระยะสั้น ก็น่าจะมาร่วมมือกันสร้างการเรียนรู้ คือทำทั้งเรื่องเด็กเยาวชนและคุณภาพชีวิตประชาชน โดย กศน.เป็นหน่วยงานที่รับนักศึกษาทั้งประเทศ ไม่ได้ปักหมุดเฉพาะคนพิการ แต่จัดการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อน เด็กบนที่สูง ไปจนถึงชาวเล ชาวเกาะ ทั้งหมดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้นผมอยากให้มีหน่วยงานการศึกษาเข้าไปรับไม้ต่อจาก กสศ.ทำให้เกิดมรรคผล ประชาชนได้อานิสงส์จากการทำงานของพวกเรา”