“งานของ กสศ.คือการแสวงหาความร่วมมือเพื่อช่วยให้เด็กๆ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา เป็นความพยายามที่อยากให้คนไทยทุกภาคส่วนเข้าไปสนับสนุนในส่วนใดก็ได้ เพราะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาชน ผู้นำทางความคิด จะมาร่วมเป็นเครือข่ายทางสังคมที่แน่นแฟ้น เอาชนะอุปสรรคไปด้วยกัน โดยทาง กสศ.จะพยายามทำทุกทางเพื่อนำข้อมูลที่มีมาใช้ประสานให้เกิดเป็นเครือข่าย สร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในการทำงานทุกระดับ” – ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
4.3 หมื่นคน คือตัวเลขที่ กสศ.และ สพฐ.สำรวจพบเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงเทอม 1 ปีการศึกษา 2564 ตามแนวทางการสร้าง ‘ระบบป้องกันและช่วยเหลือเด็กหลุดออกนอกระบบ’ โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชนที่หายไปจากระบบในช่วงรอยต่อช่วงชั้น
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบให้จำนวนเด็กเยาวชนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กสศ.ได้ร่วมกับเครือข่ายคณะทำงานทุกระดับ มุ่งค้นหาและวางแนวทางช่วยเหลือผลักดันให้น้องๆ กลุ่มนี้ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม การค้นพบและนำพาเด็กเยาวชนคนหนึ่งที่หลุดไปจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่รั้วโรงเรียน หรือกระบวนการพัฒนาทักษะ ยังไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายของการทำงานที่แท้จริง
ชวนฟังนานาทรรศนะจากคนทำงานด่านหน้า มาร่วมแง้ม ‘อุปสรรค-ปัจจัย’ ต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้น้องๆ ประคองตัวอยู่ในระบบการศึกษาได้ไม่สุดทาง
กำแพงกฎระเบียบ/หลักสูตรไม่ตอบโจทย์
“ประการแรกสุด ทุกฝ่ายต้องมีเป้าหมายร่วมกันก่อนว่า ถ้าเจอตัวเด็กแล้วเขามีความพร้อม เราต้องช่วยพากลับโรงเรียนได้ทันที ดังนั้นทุกโรงเรียนต้องรับรู้ร่วมกันว่า ปราการที่แข็งแรงของกฎระเบียบ เช่น การไม่สามารถรับเด็กเข้ากลางเทอมได้ คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดมือเราไป เพราะแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนของการรอรอบปฏิทินการศึกษา แต่สำหรับน้องๆ ที่พ้นจากรั้วโรงเรียนไปแล้ว วิถีชีวิตทุกวันที่ผ่านไปของเขาจะยิ่งเบนออกไปจากการศึกษา ทำให้รู้สึกหมดไฟกับการเรียนลงทุกที
“นอกจากนี้ การพาเด็กกลับสู่ระบบการศึกษาต้องมีมาตรการรองรับในทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรานำเด็กมาเชื่อมเข้ากับโรงเรียนแล้วถือเป็นอันสิ้นสุด แต่สิ่งที่จะช่วยให้เขารักษาเป้าหมายและคงความพยายามไว้ได้ต่อไป คือระบบรองรับที่ช่วยดูแลรอบด้าน ทั้งการเรียน สังคม อารมณ์ จิตใจ สำคัญคือต้องมีหลักสูตรการเรียนที่ตอบโจทย์กับความสนใจและความจำเป็นในชีวิตของเขา เพราะท้ายสุดถ้าการศึกษาไม่ช่วยให้เขาพัฒนาชีวิตได้จริงๆ วันหนึ่งเขาจะหมดความสนใจแล้วหลุดออกไปอีก”
ขาดโรงเรียนที่พอเพียง/คุณภาพครูที่เพียงพอ
“ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ปัญหาการคมนาคมคืออุปสรรคที่ไม่ได้เพียงลดทอนกำลังใจของเด็กเท่านั้น แต่ในเชิงรูปธรรมแล้ว มันได้ตัดขาดเด็กๆ ออกจากโรงเรียนในหลายช่วงเวลาของปี เนื่องจากบนดอยสูง ในป่าเขา หรือเกาะห่างไกล พวกเขาต้องเดินเท้าเป็นระยะทางไกล ต่อสู้กับภัยธรรมชาติทั้งน้ำหลาก ดินถล่ม นานามรสุม หรือกระทั่งความเสี่ยงจากสัตว์ร้าย การขาดแคลนโรงเรียนคุณภาพที่กระจายอยู่ไม่พอเพียงในหลายพื้นที่ จึงเป็นปัจจัยต้นๆ ที่ทำให้เด็กหลายคนหลุดออกไป หรือส่วนหนึ่งที่ฝ่าฟันจนจบ ป.6 หรือ ม.3 ได้ ก็หมดหนทางไปต่อในช่วงชั้นที่สูงขึ้น เพราะไม่มีโรงเรียนใกล้บ้านรองรับ
“ว่าด้วยเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากจะหมายถึงความทั่วถึงของโรงเรียนแล้ว เรื่องของคุณภาพชีวิตบุคลากรทางการศึกษาก็ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่อยู่มาก แล้วในอนาคตก็จะยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก ด้วยวงรอบของครูคนหนึ่ง ที่เขาบรรจุครั้งแรกในถิ่นทุรกันดาร พอพัฒนาความสามารถถึงระดับหนึ่ง ก็ไม่ลังเลที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง ผลคือ ครูเก่งๆ ก็ไปกระจุกกันไม่กี่ที่ ซึ่งตรงนี้เราต้องไม่ลืมว่านั่นคือสิทธิ์ของเขาที่จะทำได้ ในการพาตัวเองไปหาความก้าวหน้าในชีวิต แต่ผลที่ตามมาคือ โรงเรียนเล็กๆ ต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ เวียนวนกับการขาดช่วงการทำงาน และที่สำคัญคือ โรงเรียนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองได้ว่า สุดท้ายแล้วเมื่อเขาส่งลูกหลานมาเรียนแล้วจะช่วยพัฒนาความสามารถหรือยกระดับชีวิตได้ เขาก็ดึงเด็กออกจากการศึกษาไปเพราะมองว่าไม่จำเป็น”
ขาดที่ปรึกษาช่วยชี้ทาง/ผลลัพธ์ทางการศึกษาไม่สร้างแรงจูงใจ
“แม้ว่าภูมิหลังของเด็กที่ออกนอกระบบส่วนใหญ่จะมาจากความยากจน แต่หากเราส่องลึกลงไปภายในแก่นแกนของปัญหา จะเห็นว่าความเปราะบางในใจเด็ก ถือว่ามีส่วนอย่างมากที่จะช่วยรั้งเขาไว้ในระบบหรือผลักให้หลุดออกไป การรับเด็กเข้ามาสู่ระบบการศึกษา ไม่ว่าในหรือนอกโรงเรียน จึงต้องมี Case Manager ที่ดูแลเด็กได้เป็นรายคน และเป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวของเขาได้ด้วย การมีที่ปรึกษาใกล้ชิด จะทำให้เด็กอุ่นใจ เชื่อมั่นว่ามีคนที่เข้าใจและให้คำแนะนำได้กับการตัดสินใจในทุกทางแยกสุ่มเสี่ยงของชีวิต โดยการทำงานกับเด็กบางกลุ่ม ที่ปรึกษาจำเป็นต้องมีความสามารถด้านภาษาถิ่น เข้าใจบริบทวัฒนธรรมความเชื่อต่าง ๆ เพื่อการทำงานที่ลงลึกในเชิงคุณภาพ พร้อมเข้าไปประคองเด็กได้ในทุกช่วงเวลาเพื่อไม่ให้เขาหลุดออกไป
“อีกประการหนึ่งคือการสร้างแรงจูงใจในการศึกษา เด็กบางคนแม้โอกาสผ่านมาถึงแต่เขาเลือกปฏิเสธ เพราะมองไม่เห็นว่าการเรียนจะพาเขาไปไหนได้ บ้างมองว่าแม้จบ ป.ตรี ก็มีรายได้ไม่มากไปกว่างานที่มีอยู่รอบตัว มันคือเรื่องของแนวคิดและมุมมองต่อโลกการศึกษาที่เด็กเขายังเห็นไม่กว้าง จึงต้องมีการถ่ายทอดทัศนคติ แรงจูงใจ และผลักดันให้เขาได้ค้นพบ-มีประสบการณ์ในงานที่สนใจหรือถนัด จนเขารู้ว่าปลายทางของการศึกษาพัฒนาตนเองจะช่วยเปิดโอกาสในชีวิตได้มากแค่ไหน แล้วความสำเร็จที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ นั้นเองที่จะปลุกพลังในตัวให้เขามีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นต่อไป”
‘One Size Fit All’ …เสื้อตัวเดียวไม่ได้ใส่ได้กับทุกคน
“การศึกษาที่จัดการเชิงเดี่ยวแบบครอบทั้งหมดรวมศูนย์ หรือตัดเสื้อตัวเดียวสำหรับสวมใส่ทุกพื้นที่ คือการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เสมอภาคที่ทำให้เด็กหลุดไปจากระบบ หรือแม้ว่าเรานำเขากลับเข้ามา ก็ไม่แน่ว่าเด็กจะอยู่กับระบบการศึกษาไปได้จนถึงปลายทาง
“ประเทศเรามีความแตกต่างของภูมิภาคทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ มีบริบทพื้นที่ชายแดน มีโรงเรียนหลายรูปแบบที่นโยบายเดียวไม่อาจจัดการได้ทั้งหมด ถ้ากล่าวถึงเฉพาะเด็กหลุดจากระบบ เรามีอย่างน้อย 15 ประเด็นปัญหาที่ซับซ้อนและเปราะบาง โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่าเรามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีเด็กพื้นที่ห่างไกลที่ขาดพื้นฐานด้านการใช้ภาษาและวัฒนธรรมจากส่วนกลาง เด็กบางคนอยู่ในสภาพแวดล้อมป่าเขา หรือยังมีเด็กที่ก้าวพลาดต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ
“จากประเด็นที่แตกต่าง แม้เราจะมีการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้และสภาวการณ์ที่เด็กเผชิญจริงๆ เช่น เด็กในกระบวนการยุติธรรม เมื่อเขากลับออกมาก็ไม่มีกระบวนการรองรับทั้งในการเรียนและการพัฒนาทักษะวิชาชีพ หรือในการเรียน กศน. เองก็ยังไม่ได้มีการยอมรับให้เข้าเรียนต่อระดับชั้นสูงขึ้นได้ในทุกโรงเรียน กลายเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบตรงช่วงรอยต่อ และท้ายที่สุดเขาก็กลับเข้าไปสู่วงจรเดิมอีกครั้ง”
ตะเข็บรอยต่อโรงเรียนต่างพื้นที่/ขาดความพร้อมในการเรียนช่วงโรงเรียนปิดเพราะสถานการณ์โรคระบาด
“ผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีครอบครัวที่สูญเสียงาน ต้องอพยพย้ายถิ่นไปทำงานในพื้นที่อื่น หรือตัดสินใจกลับภูมิลำเนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงโจทย์สำคัญว่า เมื่อเด็กและเยาวชนต้องย้ายถิ่นตามผู้ปกครองไป เด็กจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เขาจะเข้าศึกษาต่อได้อย่างไร เพราะบางคนอาจต้องย้ายไปช่วงกลางปีการศึกษา หรือจบ ป.6 หรือ ม.3 แล้วขาดความพร้อมในการเรียนต่อ ตรงนี้จำเป็นต้องมีระบบช่วยเหลือและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ไปถึงผู้ปกครอง เพื่อไม่ให้เด็กต้องหลุดไปเพราะเข้าไม่ถึงความรู้ในขั้นตอนการพาลูกหลานเข้าโรงเรียน หรือโรงเรียนปลายทางไม่มีระบบรองรับนักเรียนกลางเทอม
“อีกปัญหาหนึ่งคือขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ พื้นที่ และผู้อำนวยความรู้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้เด็กมีโอกาสหลุดจากการศึกษาเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่คนที่ตามกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้แล้วก็ยังเสี่ยงที่จะหลุดไปอีก ประเด็นเหล่านี้เราไม่สามารถโยนภาระการดูแลแก้ไขให้หน่วยงานใดหนึ่งได้ แต่ต้องเชื่อมร้อย-ประสานชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน เพราะคนที่รู้สถานการณ์หรือตัวเลขต่างๆ คือหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ ดังนั้นถ้ามีการส่งต่อข้อมูลเพื่อออกแบบการทำงานตามความถนัดของแต่ละหน่วยได้ เราจะสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่ส่งต่อถึงกันได้หมด แล้วถ้ามีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันที่ กทม. เมื่อเขาไปอยู่ที่อื่นก็จะยังเข้าเรียนต่อได้โดยไม่ต้องหลุดจากการศึกษาไปเงียบๆ”