ย้อนหลังไปไม่กี่ปี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เคยเฟื่องฟูชนิดที่ผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการของตลาด แต่หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ที่เคยมีกลับกลายเป็นศูนย์ และย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ มีหนี้สินเกือบล้านบาท
ทางกลุ่มเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยการสนับสนุนทุนพัฒนาอาชีพ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วยหวังว่าจะสามารถพลิก ‘วิกฤต’ เป็น ‘โอกาส’ ต่อเติมความหวังให้กับคนในชุมชนได้
นอกจากจะเป็นการพัฒนายกระดับคุณภาพการทอ และส่งเสริมให้กลุ่มคนเปราะบางได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ ทั้งผู้สูงอายุ คนว่างงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากการลดเวลาการทำงาน และผู้พิการแล้ว ยังถือเป็นการยกระดับทักษะ (Upskill – Reskill) คนในชุมชน ให้พร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ
จุดเด่นของผ้าฝ้ายเชิงดอย คือเป็นผ้าย้อมหินสีจากธรรมชาติ ให้สีโทนพาสเทล ได้แก่ สีเทาอมฟ้า สีชมพู ม่วงอมขาว และใช้เทคนิคการทอสี่ตะกอ หรือการทอยกดอกเป็นลายดอกกวัก ดอกแก้ว ทำให้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่สวยงาม
เดิมทีปัญหาของกลุ่มคือต้องซื้อวัตถุดิบ โดยเฉพาะฝ้ายจากแหล่งอื่น เพราะในพื้นที่ผลิตไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาคือการส่งเสริมการปลูกเพื่อซื้อวัตถุดิบในพื้นที่ กลุ่มคนเปราะบางในชุมชนต้องการความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทอผ้า เพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมในกรณีที่มีงานทำอยู่แล้ว และสร้างรายได้เพื่อความอยู่รอดในกลุ่มผู้ว่างงาน จึงนำไปสู่กิจกรรมอบรมให้ความรู้ในเรื่องการปลูกฝ้าย ปลูกคราม ปั่นฝ้าย กลิ้งฝ้าย การย้อมคราม ย้อมหิน กลุ่มอีด (กระบวนการทำเส้นฝ้าย) การทอขั้นพื้นฐาน
กลุ่มที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและต้องการยกระดับทักษะ จะได้รับการฝึกการทอกี่ตะกอ และผ้าทอจกล้านนา ซึ่งต้องฝึกเทคนิคการปั่นฝ้ายสองเส้น เทคนิคการทำเกลียวเส้นด้ายให้พอดี
สำหรับการอบรมให้ความรู้แต่ละกิจกรรมใช้เวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งหากอยู่ในสถานการณ์ปกติคงเป็นไปได้ยาก แต่ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ชาวบ้านใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ได้มีเวลาเรียนรู้อย่างเต็มที่ ส่วนทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยเองก็มีเวลาสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องผ้า อาทิ ผ้าทอจกล้านนา ซึ่งเคยเป็นลวดลายในวิถีชีวิต เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เริ่มหายไป ได้รื้อฟื้นและนำเทคนิคการทอและลวดลายกลับมาอีกครั้ง รวมถึงมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย
เมื่อโครงการสิ้นสุดลงยังพบว่าหลายคนมีศักยภาพในการเป็นครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้า นอกจากนี้ยังเกิดกลุ่มผู้ปลูกคราม ปลูกฝ้าย ซึ่งในอนาคตเมื่อได้ผลผลิตแล้ว สามารถนำวัตถุดิบส่งขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยอีกด้วย
หลังจากนี้เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การซื้อขายและการท่องเที่ยวกลับคืนสู่สภาวะปกติ ผลลัพธ์จากความร่วมแรงร่วมใจนี้จะทำให้กลุ่มกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง สามารถกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปได้อย่างทั่วถึงมากกว่าเดิม ด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งการผลิตวัตถุดิบ ทักษะการทอผ้า ในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน
ทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ ‘วิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย’ และเป็นความภาคภูมิใจของคนที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สำคัญคือการสร้างสายใยให้เชื่อมร้อยคนในชุมชนอีกครั้ง