“เดี๋ยวครูจะขอวัดแววนิดหนึ่งนะ ไหนลองบอกยี่ห้อรถยนต์มาสัก 2 ยี่ห้อ”
“เฟอร์รารีกับลัมโบร์กินีครับ” น้ำเสียงทุ้มของเด็กหนุ่มตอบกลับมาแทบจะในทันที แหวกบรรยากาศเงียบ ๆ ในหมู่บ้านไทใหญ่จนหลายคนประหลาดใจ
จบประโยค มีเสียงฮือเบา ๆ จากในวงเพราะได้รับคำตอบที่ไม่คาดคิด แต่ที่มากไปกว่านั้นคือน้ำเสียงที่ดูมั่นใจจากเด็กวัย 15 ปี หนึ่งในตัวแทนผู้สมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้สังเกตการณ์อย่างเราที่ตื่นตี 5 ขับรถขึ้นเขาตามกระบะมาถึงกับตาตื่น พร้อมกระซิบกระซาบกันว่า ‘น้องยังไม่ได้ทุน แต่เราน่าจะได้บทความ’ ไปลงไว้ในคลังของ กสศ.
เวลาราว 11 โมง ใน ระยะทาง 200 กิโลเมตรห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มคนราว 9 คนกำลังนั่งอยู่ในบ้านกึ่งไม้ไผ่กึ่งปูนขนาดเล็ก แดดฉาบพื้นปูนด้านนอกแต่อากาศไม่ร้อน หมู่บ้านสงบ มีครูในชุดเสื้อคลุมเขียนว่า “ครูช่างเชื่อมโลหะ ภาคเหนือ” 3 คน เด็กผู้ชายที่เป็นเพื่อนเขาราว 2-3 คน และหญิงชาวไทใหญ่วัยกลางคน เจ้าของบ้านที่กำลังนั่งอยู่ในท่าทางเรียบร้อย เปรม อนุชิต จอมสง เด็กผู้ชายในยูนิฟอร์มสีฟ้าของโรงเรียนบ้านเมืองนะ อำเภอเชียงดาว กำลังนั่งขัดสมาธิอยู่ที่พื้น อธิบายเรื่องพื้นเพของที่บ้าน และรับฟังเรื่องเกณฑ์การคัดกรองเด็กนักเรียนที่มีสิทธิสมัครเข้ารับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทุนให้เปล่าจาก กสศ. ที่หวังสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศจาก ครูเปีย ปรียานุช คำเย็น ครูสาวจากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ที่วันนี้ต้องเดินทางอีกหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อไปคัดกรองเด็กรวม 12 คน
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่ไม่ได้มีทุนและขาดโอกาส ซึ่งสถานศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมก็ต้องร่วมคัดเลือกอย่างเคร่งครัด แต่ละสถานศึกษามีคาแรคเตอร์และเด็กที่ต้องการสมัครเข้ามาแตกต่างกัน เมื่อโครงการดำเนินการมาจนถึงปีที่ 5 นี้ จึงไม่แปลกที่ครูเปียจะบอกเราตอนเช้ามืดราวตี 5 ก่อนขึ้นรถกระบะว่า “เป็นเจ้าของโครงการค่ะ เลยโหดสักหน่อย”
ปัจจุบัน กสศ. มีจำนวนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สะสมทั้งหมด 9,614 คน ซึ่งเป็นเด็กพิการ 300 กว่าคน มีเด็กที่จบไปแล้วทั้งหมด 3,056 คน
จากปากคำครู ๆ จากวิทยาลัยฯ ทั้งหลายพบว่า จำนวนเด็กที่สมัครเข้าโครงการเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วแต่สาขา ส่วนใหญ่แล้วเป็นการแนะนำบอกต่อจากรุ่นพี่ในบ้านเดียวกัน
เราถึงได้รู้ว่ามีขั้นตอนตั้งแต่การคัดกรองเด็กนักเรียนทุน เป็นไปอย่างเข้มข้นเพราะครูลงพื้นที่เองทุกคน บางพื้นที่ต้องไต่รถกระบะขึ้นเขาไปบนดอยสูงที่ไม่มีสัญญาณ ค่ำไหนนอนนั่น เพื่อสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้า นั่นคือการสำรวจบ้านของเด็ก อธิบายเกณฑ์และความเป็นไปได้กับผู้ปกครอง วัดแววของเด็กที่สมัครเข้ามา และไปต่อบ้านอื่น ๆ เป็นเวลาหลายเดือน
“แม่ นี่เป็นทุนที่จะให้น้องได้เรียนต่อจนจบเลย ถ้าน้องติดนะ”
จบประโยคทั้งครูและแม่ยิ้มน้อย ๆ ออกมาอย่างอารมณ์ดี และหลังจากจบคำว่าลัมโบร์กินี เราจึงชิงตัวเปรมมาสัมภาษณ์ เพราะ หนึ่ง คือเขาเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับทุน แต่กระซิบถามแล้วครูบอกว่ามีโอกาสที่จะได้เกินครึ่ง เพราะคุณสมบัติส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์การคัดกรอง สอง มุมมองการเป็นผู้ประกอบการสะท้อนออกมาชัดเจนจากการตอบคำถามเพียงไม่กี่ข้อ และสาม คือ ทัศนคติที่เขามีต่อการศึกษาและชีวิตต่อไปในอนาคต อาจทำให้เราเห็นแง่มุมของเด็กที่ขาดแคลนต้นทุนมองตัวเองผ่านการศึกษาในอีกหนึ่งมิติ
ผมอยากผลิตรถยนต์ของตัวเอง
“ไปคุยที่โรงเรียนแล้วกันครับ”
เปรมสตาร์ตรถมอเตอร์ไซค์แล้วขับนำไปที่โรงเรียนบ้านเมืองนะ เดินผ่านกลุ่มเด็กนักเรียนที่กำลังจับกลุ่มเล่นกัน บางกลุ่มเปิดวงทำอาหารย่อม ๆ ไปที่ตึกด้านหลัง โรงเรียนมีขนาดใหญ่พอสมควร รับเด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ราว 600-700 คน เพราะเด็กที่มาเรียนมาจากหมู่บ้านที่มี 3 ชาติพันธุ์ นั่นคือลาหู่ ไทใหญ่ และจีน เปรมสรุปเป็นสัดส่วนให้ฟังว่าเด็กชาวไทใหญ่มีประมาณร้อยละ 60 ชาวจีนร้อยละ 35 และอีกร้อยละ 5 เป็นชาวลาหู่
ขณะที่กำลังเดินขึ้นชั้นสองบรรยากาศจอแจค่อย ๆ เงียบลง เรานั่งลงที่โต๊ะตัวหลังสุดของห้องเรียน
“ชีวิตผมตั้งแต่ที่เริ่มจำความได้ ผมอายุประมาณ 5 ขวบ ปกติคนอื่นจะนอนอยู่บ้าน แต่ผมจะได้ไปไร่ไปสวนกับพ่อ ตากับยายเสียชีวิตตั้งแต่พ่อยังเด็ก ผมไปไร่ไปสวนจนอายุประมาณ 7 ปี จน ป.1 เริ่มได้อยู่บ้าน ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ เดือนหนึ่งจะได้อยู่บ้านครั้งหนึ่ง เพราะพี่ชายจะกลับมา
พอผมอยู่ประถม ผมเรียนอยู่โรงเรียนบ้านเมืองนะ ก็ไปช่วยแม่ทำไร่ทำสวนปกติ แต่พอประมาณ ป.6 พ่อผมเริ่มมีอาการไม่ดี คือพ่อเขาทรุดด้วยเหล้า พอผมอยู่ ม.1 ประมาณปลายกุมภาฯ พ่อก็เสีย ผมต้องเริ่มช่วยงานแม่ที่บ้าน ภาระก็เริ่มหนักขึ้น ตอนนั้นพี่ชายไปเป็นทหาร ก็เลยต้องอยู่บ้านกับแม่สองคน ช่วยแม่ จากที่ไม่ค่อยได้ไปสวนก็ไปสวนเพิ่มขึ้น เสาร์-อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยอยู่บ้าน”
ประวัติชีวิตคร่าว ๆ ของเปรมก็คล้าย ๆ กับเด็กไทใหญ่ในหมู่บ้าน คือต้องเรียนไปด้วยทำงานสวนไปด้วย บางครั้งออกไปรับจ้างถอนกระเทียมหรือรับจ้างงานเดียวกันกับพ่อแม่เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
พื้นที่การเดินทางของเขาประจำการอยู่ที่บ้าน โรงเรียน และไร่สวน ไม่ค่อยได้มีโอกาสลงมาในเมือง ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือค่าใช้จ่าย ตอนช่วงเทศกาลวันหยุดก็ต้องช่วยงานแม่ปลูกข้าวโพดกับข้าว บางครั้งก็ไปเรียนในสวน ถ้าไม่เรียนก็ช่วยแม่ทำงาน
“ก็ตั้ง Zoom ไว้ที่กระท่อมในสวนครับ นั่งเรียนไป พอเรียนเสร็จก็ไปช่วยแม่ ผมชอบเรียนแต่ขี้เกียจเวลาทำงานส่งครู แต่ก็เรียนเก่งพอใช้ได้ ไม่ได้เก่งมาก ชอบเรียนวิทย์ คณิตฯ ก็ได้อยู่ครับ”
ท่าทางสีหน้าในการตอบของเขาไม่ได้มีลักษณะโอ้อวด เป็นการตอบตามความจริง เปรมเล่าต่อว่า การทำงานช่วยแม่และการเรียนไม่ได้ทับซ้อนซึ่งกันและกัน ไม่มีความรับผิดชอบไหนที่เบียดบังเวลา เพราะเขาจะวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนตลอด
“ถ้าเกิดอยากทำอะไร ผมต้องหาข้อมูล อย่างแรกผมจะไม่เริ่มเพราะผมอยากทำอย่างเดียว ต้องหาข้อมูลก่อนว่าที่นี่เปิดเรียน ผมค่อยเริ่มวางแผน
ปีที่แล้วผมวางไว้ว่าผมต้องทำอะไรบ้าง ผมจะวางแผนเรื่อย ๆ คิดไว้ล่วงหน้า ปกติจะคิดล่วงหน้าไว้หนึ่งปี ถ้าเจอเหตุการณ์อะไรผมก็ต้องพยายามแก้ไขให้เร็วที่สุด แล้วผมจะคิดล่วงหน้าไว้ 1 เดือนว่าผมจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ต้องวางแผนว่าวันนี้ผมต้องไปที่นี่ ถ้าผมต้องทำการบ้านผมจะบอกแม่ว่าวันนี้ผมไม่ว่าง แต่มันก็มีเหตุการณ์ที่อยู่ ๆ ต้องเปลี่ยนเแผนหมด แผนของผมในหัวก็ต้องเปลี่ยน ผมกำลังคิดว่าจะเข้าเทคนิคช่าง ตอนนี้ก็เหลือแค่อายุเพิ่มขึ้น และรับทุนจาก กสศ. เพื่อการเรียนต่อตามความฝันของผมครับ”
อย่างเรื่องสอบชิงทุนฯ เราก็วางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วหรือเปล่า
“วางแผนครับ ผมคิดว่าภายใน 5 ปีผมต้องเก็บเงินได้ 200,000 บาท เพราะว่าผมได้ตังค์จากทุนอยู่ทุกเดือน ผมจะเปิดบัญชีไว้ให้แม่และโอนตังค์เข้าบัญชีแม่ ถ้าแม่จำเป็นก็สามารถใช้ได้ หรือผมจำเป็นก็สามารถใช้ได้ ผมจะได้ประหยัดเพื่ออนาคตของผม ถ้าสมมติผมอยากได้บ้าน ผมก็เอาเงินตัวนี้ไปวางได้แล้วผ่อนต่อได้ครับ”
เปรมได้ข่าวเรื่องทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจากรุ่นพี่หลายคนที่ส่งข่าว เขายังไม่ค่อยมีข้อมูลเชิงลึกว่าวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่มีหลักสูตรอะไรบ้าง แต่มีความฝันชัดเจนตั้งแต่ที่เราเริ่มต้นบทสนทนา
“ผมอยากมีธุรกิจของตัวเอง ทำเครื่องยนต์ อยากผลิตรถยนต์เป็นของตัวเองครับ”
ในวัยเด็ก เขามีประสบการณ์ดูพ่อซ่อมเครื่องพ่นยากำจัดศัตรูพืชเองโดยที่ไม่ต้องไปอู่ซ่อม เขามักจะไปสังเกตการณ์และจดจำวิธีการซ่อมมาจากพ่อ พอเติบโตมาก็ใช้เวลาไปกับการศึกษาเรื่องเครื่องยนตร์ต่าง ๆ จากในอินเทอร์เน็ต ในช่วงโควิดก็ไปเรียนรู้จากอู่ซ่อมใกล้บ้านอยู่ราวเดือนหนึ่ง ซึ่งเป็นแค่อู่ซ่อมรถยนต์แห่งเดียวในหมู่บ้าน
แต่เมื่อถามว่า เขาอยากกลับมาเปิดอู่ของตัวเองหรือไม่ เปรมตอบว่า
“ผมอยากเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ อยากเป็นเจ้าของรถ แบรนด์รถครับ หรือไม่ก็อาจจะไป collab กับพวกรถในเมืองไทย collab ให้สร้างเป็นแบบเฉพาะของมันเอง แบรนด์อื่นทำไม่ได้
รถที่ชอบที่สุดในความฝันของผมคือ GTR เป็นรถแบรนด์ญี่ปุ่น ราคาไม่สูงเท่าไหร่ และรูปทรงมันสวยดี อย่างถ้ารถในเมืองไทยผมชอบอีซูซุ เริ่มแรกเราก็ต้องสร้างเครื่องยนต์ทดลองใช้ก่อนแล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ต้องศึกษาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่เราจะผลิตขึ้น สินค้าและอุปกรณ์เครื่องยนต์ ก็คือชิ้นส่วนเครื่องยนต์ว่าราคาเป็นยังไง คุณภาพเป็นยังไง
ความคิดของผมอยากได้เหมือนเทสลา คือเป็นรถไฟฟ้า จะได้ประหยัด ลดโลกร้อน ไฟฟ้ามันช่วยลดโลกร้อน อยากพัฒนาให้เมืองไทยมันก้าวหน้า ต่างประเทศ เขามีที่ชาร์จทั่วทั้งประเทศ เราก็อยากให้เมืองไทยเป็นอย่างนั้นบ้าง
ถ้ารถไฟฟ้าขับในเมืองจะสบาย แต่ถ้ารถปกติ รถที่ใช้น้ำมัน ถ้าเขาไปขึ้นดอย รถไฟฟ้าจะสู้แรงไม่ได้ ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ แต่ถ้าขับในเมืองมันขับสะดวก”
แต่ก่อนที่จะได้เป็นผู้ประกอบการคงมีข้อจำกัดมากมายที่เปรมต้องแก้ เขาเล่าว่าอาชีพก่อนหน้านั้นคือการเป็นช่างยนต์ ดังนั้นการที่เด็กชายอายุ 15 ปีจะเติบโตไปเป็นช่างยนต์ได้ จึงต้องอาศัยความพยายาม วิสัยทัศน์ และความตั้งใจหาความรู้หลายด้าน และการศึกษาจะเป็นสิ่งพื้นฐานที่ต่อยอดให้เขาเดินทางสู่ฝัน
“ผมจะไปหางานที่เป็นพวกงานช่างนี่แหละครับ ไปหาตามพวกบริษัท แล้วก็ดูว่าเแผนการงานเขาเป็นยังไง ทำยังไงถึงจะได้แบบเขา พยายามหาจากบริษัทที่เล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยขยายตัวไปที่ใหญ่ ๆ ผมจะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ส่งเงินให้แม่อย่างนี้ ถึงมันจะลำบากแต่ผมก็จะพยายามทำมันให้ได้”
ความจน ความฝัน และการศึกษา
เปรมยังไม่เคยได้ทุนมาก่อน
เขาได้สิทธิเรียนฟรี โรงเรียนบ้านเมืองนะเก็บค่าบำรุงไม่กี่ร้อยบาทต่อปี จึงยังพอเก็บเงินและจ่ายได้ ทั้งอุปกรณ์การเรียนและยูนิฟอร์มเบื้องต้นก็ได้รับมาทุกปี แต่เงินเก็บก็ยังถือว่าไม่พอที่จะต่อยอดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ เช่น ถ้าจะเดินทางไปในตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เงินราว 200 บาททั้งขาไปและกลับ เขาก็ต้องเก็บเงิน ทุนการศึกษาจึงสำคัญกับเขาในแง่นี้ด้วย เพราะมันจะทำให้เขามีเงินเก็บมากพอที่จะทำอะไรก็ตามที่วางแผนไว้ให้สำเร็จ
รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยประจำปี 2564 ระบุไว้ว่า กลุ่มประชากรที่มีการศึกษาน้อยมีปัญหาความยากจนมากที่สุด โดยสัดส่วนของกลุ่มที่มีระดับการศึกษาสูงหรือระดับอุดมศึกษาขึ้นไป มีสัดส่วนคนจนต่ำกว่าร้อยละ 1.0
ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้ แต่ต้องมีการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น การกระจายโอกาสทางการศึกษา หรือการสนับสนุนทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประเมินว่า เราจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยในระบบการศึกษา และข้อเสนอสำคัญคือการปรับเงินอุดหนุนให้ครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ และปรับเพิ่มให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ โดยเฉพาะในระดับ ม.ต้น ซึ่งเป็นช่วงชั้นรอยต่อที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ขณะที่เงินอุดหนุนในระดับ ม.ปลาย จะช่วยดึงเด็กไว้ให้อยู่ในระบบจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะทำให้มาตรการการจัดสรรเงินอุดหนุนเกิดความคุ้มค่าในระยะยาวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 ของ กสศ. เองก็นำเสนอแนวโน้มที่เป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน
แต่การได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว อาจไม่ทำให้ครัวเรือนหลุดพ้นจากความยากจนได้ เพราะเด็กมีค่าใช้จ่ายด้านอื่น ที่อาจจะสูงพอ ๆ กันกับค่าเล่าเรียน เช่น ค่าเดินทาง ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า สัดส่วนค่าเดินทางของเด็กยากจนในระดับประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายสูงกว่าค่าเล่าเรียนเสียอีก จึงต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ ให้คนยากจนสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย
สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า เด็กยากจนที่อายุระหว่าง 3 – 21 ปีมีจำนวน 1.32 ล้านคน มีอัตราการเข้าเรียนต่ำลงตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยระดับประถมศึกษา มีอัตราการเข้ารียนสุทธิร้อยละ 71.52 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 40.32 และลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.75 ในระดับปริญญาตรี ซึ่งสะท้อนว่าเด็กยากจนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงที่ต่ำมาก
เด็ก 1 คนมีค่าใช้จ่ายถึง 21,657 บาทต่อเดือนของครัวเรือนยากจนในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นภาระความรับผิดชอบนี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ครัวเรือนยากจนต้องแบกรับหากต้องการศึกษาต่อ
“ถึงได้ทุนผมก็จะทำงานอยู่แล้วครับ แม่จะได้ไม่ต้องส่งผมเรียน ไม่ลำบาก มีเงินเก็บเป็นของตัวเอง ผมจะใช้ชีวิตแบบปกติ เป็นคนจนปกติ แต่ก็จะเก็บตังค์ให้มากขึ้น พยายามปรับตัวให้ตัวเองใช้ตังค์แบบประหยัด ส่งที่บ้านบ้าง เพราะแม่ลำบากมากครับ
ถ้าจบ ปวส. ผมก็อยากเรียนต่อ ป.ตรี ถ้าเป็นสายอาชีพผมอยากเรียนจบช่างยนต์ให้สูงไปเลย แต่ถ้าสมมติผมไม่ได้ทุน ผมก็มีแผน 2 คือถ้าแม่ผมส่งเรียนที่เชียงใหม่ไม่ได้ ผมจะเรียนที่โรงเรียนในอำเภอ เรียนห้องวิทย์ – คณิต พอผมเรียนจบ ม. 6 แล้วอาจจะต่อนิติศาสตร์ เรียนต่อทางด้านกฎหมาย ถ้าสมมติว่าแม่ส่งไม่ไหว ไม่ได้ทุน ก็จะเรียนของอำเภอ”
คำว่านิติศาสตร์ของเขาทำให้เราตกใจเล็กน้อย เพราะแผน 2 ที่วางไว้แตกต่างจากแผนผู้ประกอบการพอสมควร ส่วนอีกความรู้สึกหนึ่งคือ ความเสียดายทรัพยากรที่มีวิสัยทัศน์เกินอายุ 15 ปี เรานั่งคุยกันในห้องเรียนโล่งที่ปราศจากการสอน แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า เปรมอาจจะกำลังเรียนรู้แนวทางการเป็นผู้บริหารในบริษัทยานยนต์สักบริษัท
“แต่มันคือแผน 2 ของผมครับ แผนแรกคือการไปเรียนที่เทคนิคฯ อยู่แล้ว”
เขาพูดต่อ สีหน้าดูไม่หวั่นใจอะไรนัก
คำว่า ‘จนปกติ’ ที่ออกมาจากปากของเขา ทำให้เราสงสัย และถามข้อคิดเห็นต่อในเรื่องกระบวนการการคัดเลือกเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ว่าเขาคิดเห็นอย่างไรเรื่องความจนของตัวเองกับการเข้าถึงการศึกษา
“ผมว่าผมจนแล้วใช่ไหม แต่ผมก็ยังคิดว่ามีคนที่จนกว่าผมอีกครับ ควรให้เขาดีกว่า เพราะผมยังมีข้าวกินอยู่ แต่บางคนลำบาก ต้องแบ่งข้าวแบ่งน้ำ พี่น้องเขาอาจมีหลายคน อาจจะลำบากจริง ๆ ผมก็ไม่ใช่ว่าไม่ลำบาก ก็ลำบาก แต่ผมก็ยังพอมีข้าวกิน
เรื่องระบบการคัดกรอง ถ้าครูคัดกรองเองผมมั่นใจว่าผมก็ได้ ผมอยากให้เขาลงมาดูเอง ให้ครูมาเยี่ยมบ้านแล้วให้ระบบตรวจกลับมา มาถ่ายรูปบ้านจริง ๆ ไปเลยครับ ถ้ามีคนที่เหมาะสมที่จะได้มากกว่าเรา ก็โอเค พร้อมที่จะให้เขา”
เราไม่ได้คิดว่าการที่มีคนฐานะยากจนกว่าได้ทุนไป เป็นปัญหาใช่ไหม
“ถ้าเป็นแบบนั้นผมว่าเกี่ยวกับการเรียนด้วยครับ ถ้าผมจน แต่การเรียนไม่ดีไม่ตั้งใจเรียน อย่างนี้มันก็ไม่ดี มันก็ไม่เหมาะสมกันอยู่แล้ว เราให้คนที่จนและตั้งใจเรียนดีกว่า เพราะถ้าคิดว่าเรียนผ่าน ๆ ไปอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์ครับ
จริง ๆ ให้ทุนการศึกษากับทุกคนก็ดี เพราะบางคนไม่มีเงินจริง ๆ แต่ถ้าคนสมัครเยอะ แล้วค่อยสอบวัดกันดีกว่า ก็คือให้ทุนคนที่อยากเรียน แต่ถ้าคนอยากได้ล้น ก็สอบคัดเลือกครับ”
หากมองผ่านแว่นของโลกแบบคร่าว ๆ เราอาจจะต้องวัดคนจนจาก Poverty Line หรือ เส้นความยากจนสากลที่จะระบุได้ถึงค่าใช้จ่ายมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่หล่อเลี้ยงบุคคลให้อยู่ในสังคมได้ ดังนั้นคนจนก็คือคนที่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตต่ำกว่าเส้นนี้ ในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างหลากหลายกันไปในรายละเอียด
หากมองผ่านแว่นของนักวิชาการ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวไว้ในปาฐกถานำว่าด้วยเรื่อง ความจน คนจน ตั้งแต่ 2540 ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เรื่องนิยามของความจนนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อมันนิยามได้ยากเข้า เราจึงปล่อยให้นักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้นิยาม นักเศรษฐศาสตร์ก็นิยามเรื่องของความยากจนอย่างหยาบ ๆ ซึ่งมันหยาบมากเท่าที่จะหยาบได้โดยเอาตัวรายได้มาเป็นตัววัด หรือมิฉะนั้นก็เอาตัวทรัพย์ที่ขายในตลาดได้มาเป็นตัววัด เพราะฉะนั้น โดยวิธีการวัดแบบนักเศรษฐศาสตร์นั้น พระภิกษุที่ดีที่สุดในประเทศไทยคือ”คนที่จนที่สุด” แล้วก็ไม่เคยเดินขบวนไปไหนเลย เพราะว่าความเป็นจริงแล้ว ความจนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์พยายามนิยาม
ผมอยากจะขอพูดในที่นี้ว่า ผมอยากจะให้นิยาม “ความยากจน” บ้าง แต่ผมคิดว่ามันก็ยังหยาบอยู่ดี ผมคิดว่า “ความจน” อันที่หนึ่งก็คือ “การไม่มีทางเลือก””
ในแง่มุมของทุนการศึกษา อาจต้องยอมรับว่า กว่าที่ทางเลือกนั้นจะมาถึง ประเทศไทยและสังคม รวมถึงหน่วยงานด้านการศึกษาต้องพยายามผลักดันนโยบาย ขับเคลื่อนให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาที่สุด
ในแง่ของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คะแนนความยากจน (Proxy Mean Test : PMT) จึงถูกออกแบบมาเพื่อจัดการคัดกรองที่ชัดเจนและมีมาตรฐาน โดยคำนวณจากรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยที่น้อยกว่า 3,000 บาท เป็นนักเรียนที่มีภาระพึ่งพิง ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มียานพาหนะ และไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งคุณครูจะทำหน้าที่ลงพื้นที่คัดกรอง พูดคุยสื่อสารกับผู้ปกครองและตัวเด็กเองอย่างชัดเจน ชี้แจงเรื่องเอกสาร และที่มาที่ไป รวมถึงให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่าเด็กแต่ละคนมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิได้ทุนฯ
เราจึงได้เห็นการทำงานที่บากบั่นของครูในแต่ละวิทยาลัย แววตา และรอยยิ้มที่มีความหวังของพ่อ แม่ และเด็กในแต่ละบ้าน นักเรียน ที่จับกลุ่มกันขี่มอเตอร์ไซค์พาครูไปที่บ้านเพื่อน และการกรอกข้อมูลพร้อมตอบคำถามอย่างตั้งใจ เหมือนที่เราได้เห็นแววการเป็นผู้ประกอบการจากการคำตอบของเปรมบนพื้นบ้านขนาดจิ๋ว พร้อมกับแม่ ผู้นำคนเดียวของบ้านที่นั่งยิ้มน้อย ๆ อยู่ข้าง ๆ
สาเหตุหลักที่เปรมอยากได้ทุนเพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคตของเขา คือโอกาสและทางเลือกที่จะได้พบเจอลู่ทางในการประสบความสำเร็จ ระหว่างทางที่ลองออกแบบรถยนต์ไปให้เพื่อน ๆ ดู เขาก็มักจะได้รับคอมเมนต์ว่าอะไรดีหรือไม่ดี แก้ไขและทดลองต่อไปเรื่อย ๆ
เราถามต่อว่าความฝันของเพื่อนคนอื่น ๆ เหมือนกับฝันของเขาไหม
“ไม่ครับ เพื่อนจะแตกต่างจากผม จากที่ถามเพื่อน มีแค่ผมคนเดียวที่คิดแบบนี้ เด็กที่นี่อยากเรียนต่อประมาณ 98% คือจะมีแค่คนสองคนที่ไม่เรียนต่อ คือคนที่ที่บ้านส่งไม่ไหวจริง ๆ บางคนก็มีแม่ทำงานแค่คนเดียว พ่อไม่ค่อยทำกิน กินเหล้าอย่างเดียวครับ”
แล้วส่วนใหญ่เพื่อน ๆ เลือกเรียนอาชีวะหรือสายสามัญมากกว่ากัน
“สายอาชีพน่าจะประมาณ 60-40% ครับ เพราะว่ามันหางานได้เร็ว มีประสบการณ์จริง สายสามัญต้องเรียนต่อถึงปี 3 ถึงจะได้ฝึกงาน ถ้าผมจำไม่ผิด แต่อันนี้ ปวส. 2 ปีกว่า ๆ ก็ได้ฝึกงานแล้ว มันจบเร็วกว่าด้วย นี่เป็นความคิดผม”
อาจจะเป็นเพราะว่า การเรียนจบเร็ว ได้ทำงานเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จะได้มีลู่ทางหาเงินได้
“อยู่ที่คณะด้วยครับ แต่จากคนในห้องผมไปเรียนสามัญ เขาจะชอบเป็นข้าราชการ ผมก็อยากเป็นนิดหนึ่งแต่ก็ไม่ได้อยากเป็นขนาดนั้น อยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่า ความคิดมันมาด้านนี้ ผมก็ต้องอยู่ด้านนี้ ไปให้สุด ถ้ามันจะล้มก็ให้แบบลุกไม่ได้ ถ้าผมล้มจนลุกไม่ได้ผมก็จะพอตรงนั้น แต่ถ้าผมล้มแล้วยังลุกได้ผมก็จะไปอยู่เรื่อย ๆ”
เราแซวเขาว่า ถ้ายังมีความคิดแบบนี้อยู่ก็คงจะยากที่จะถึงวันที่ลุกไม่ได้ เขาเพียงยิ้มรับน้อย ๆ
และที่สำคัญคือเขาไม่เคยบอกครู หรือบอกใครว่าอยากจะเป็นผู้ประกอบการ
“ผมอยากเก็บไว้คนเดียว พอประสบความสำเร็จค่อยบอกดีกว่าครับ ถ้าเราไม่บอกใครคำดูถูกก็จะไม่มี เราก็จะได้สร้างไปเรื่อย ๆ เคยมีเพื่อนโดนดูถูก ประมาณว่าทำไม่สำเร็จหรอก ดูถูกไว้ก่อนแล้ว เรายังไม่ได้เริ่มเลย กำลังใจก็จะหมดก่อน ผมเก็บไว้ดีกว่าครับ ถ้าเราประสบความสำเร็จ เราก็สำเร็จ”
เราออกมาจากโรงเรียน เปรมสตาร์ตรถมอเตอร์ไซค์และเอ่ยขอบคุณ แต่เราต่างหาก ที่ควรจะขอบคุณเขาที่ทำให้เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่ไปไกลกว่าการศึกษา นั่นคือการพัฒนาคุณค่าของมนุษย์
*ปัจจุบัน กสศ. เปิดรับสมัครผู้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2566 เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและอื่น ๆ ที่เปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. อนุปริญญา และ ประกาศนียบัตร 116 แห่ง ใน 44 จังหวัด รวมกว่า 30 สาขา สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานระดับประเทศและท้องถิ่น เช่น สาขาเครื่องกล สาขาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาเทคนิคการผลิต สาขาคอมพิวเตอร์กราฟฟิก สาขาอุตสาหกรรมเกษตรศาสตร์ และมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา
วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่เป็นสถานการศึกษาสายอาชีพที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในการเข้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงปี 2566 ประเภททุน 5 ปี (ปวช. ต่อเนื่อง ปวส.) และประเภททุน 2 ปี ( ปวส. /อนุปริญญา)
ประกาศทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.eef.or.th/notice/career-capital-271022/