“ในห้องจะนั่งเรียงตามเลขที่ค่ะ หนูเลยได้นั่งหลังห้อง แต่มองกระดานไม่เห็น มันจะเบลอ ๆ ก็เลยลุกเดินไปดูหน้ากระดานเลยถึงจะชัด จนคุณครูบางวิชาจะให้สลับที่นั่งกับเพื่อน แต่เพื่อนของหนูมองไม่เห็นยิ่งกว่าหนูอีกนะคะ ต้องเดินไปติดด้านหน้าเลย”
‘น้องแพท’ ปรีณาพรรณ จันทร์เกษม นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนสองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในเด็กหลายแสนคน ที่มีโอกาสได้ตรวจวัดสายตา และได้รับแว่นสายตาจากโครงการ “แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี”
แต่ก่อนหน้าที่ได้รับการตรวจสายตา น้องแพทได้ไปเล่าอาการดังกล่าวให้คุณยายฟัง และขอให้ยายซื้อแว่นให้ แต่ด้วยครอบครัวที่มีฐานะยากจนจึงไม่สามารถทำได้ ทำให้โลกผ่านสายตาของน้องแพทจึงยังไม่ชัดเจนต่อไป
“ตอนหลานมาขอให้ซื้อแว่นให้ก็ยังถามอยู่เลยว่าตัวแค่นี้สายตาไม่ดีแล้วหรอ เราดูไม่รู้หรอกว่าหลานเป็นอะไร แต่ก็บอกหลานให้ทนอีกหน่อย เพราะเราคนเดียวต้องเลี้ยงหลานถึง 3 คน ก็ยังไม่มีเงิน”
ผ่านไปเป็นเดือนจึงมีข่าวดีมาถึงบ้าน เจ้าหน้าที่ อสม.มาเยี่ยมบ้านเพื่อไถ่ถามอาการของน้องแพท และแนะนำให้ไปตรวจที่โรงเรียน
โดยทางโรงเรียนสองคลอง และ อบต. สองคลอง ร่วมกับ รพ.สต.แสมขาว และ รพ.สต.สองคลอง ช่วยกันค้นหาเด็กสายตาผิดปกติ ผ่านเจ้าหน้าที่ อสม. ของ 10 หมู่บ้าน พบมีประมาณ 1,300 คน จากนั้นได้ให้จักษุแพทย์ เข้ามาช่วยตรวจวัดสายตาเด็กๆอีกครั้ง ก่อนพาไปตัดแว่นตา
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่าได้จัดชุดสิทธิประโยชน์สนับสนุนค่าแว่นตาให้กับหน่วยบริการที่ตรวจวัดค่าสายตา และสั่งตัดแว่นตาให้กับเด็กที่มีสายตาผิดปกติทุกสิทธิการรักษา เพื่อสนับสนุนให้เด็กอายุ 3-14 ปีทุกคนที่มีสายตาผิดปกติ สามารถเข้าถึงแว่นตาได้
“ตอนนี้ได้เจรจากับหน่วยงานที่ตัดแว่นให้คิดในราคาเดียวกันหมด ไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตาเอียง หรือใช้เลนน์แบบไหนก็ตาม โดยขอให้จักษุแพทย์ตรวจให้ชัดเจน แล้วส่งไปที่ร้านตัดแว่น พร้อมแนะนำว่าเด็กๆควรเข้ารับการตรวจวัดสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง ไม่ใช่วัดครั้งนี้แล้วจบเลย ปีหน้าก็ต้องมาวัดใหม่ คุณหมอก็ต้องมาตรวจใหม่ ทั้งนี้ต้องขอบคุณทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ที่ระดมจักษุแพทย์ทั่วประเทศมาช่วยกัน”
สำหรับโครงการนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สปสช. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการขยายการเข้าถึงสิทธิและบริการตามชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องการดูแลสุขภาพของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสไปพร้อมกัน ซึ่งคาดว่ามีเด็กประมาณ 50,000-70,000 คนทั่วประเทศที่ต้องตัดแว่นอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยให้เด็กๆกลุ่มนี้ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่ยากลำบาก ซึ่งมี 15% ของทั้งประเทศ เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาสายตาไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น จนอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาศักยภาพในระยะยาว
โดย กสศ.ให้ความสำคัญกับการในการช่วยเหลือนักเรียนและวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดเป็นรายบุคคล โดยเน้นการทำงานแบบ Area Based Education ร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ขณะเดียวกัน กสศ.ยังใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือระบบ iSEE ซึ่งเป็นฐานขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ครอบคลุมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เพื่อการค้นหาและแก้ไขปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการ เรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพได้ต่อไป
วันนี้ภาพวาดฝีมือของน้องแพทชัดเจนขึ้น โลกแห่งจินตนาการจึงถูกเติมแต่งสีสันได้อย่างเต็มที่ แว่นตาได้เข้ามาเปลี่ยนโลกของเด็กหญิงตัวน้อย และจะเปลี่ยนโลกของเด็กไทยอีกหลายแสนคนให้ชัดเจนได้เช่นกัน