“PISA ไม่ได้มีแค่ข้อสอบ คะแนน และการจัดอันดับ แต่ยังเต็มไปด้วยข้อมูลและบทวิเคราะห์จากแบบสอบถามนักเรียน และโรงเรียนที่เผยข้อมูลเชิงลึกด้านสุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อความพร้อมในการเรียนรู้ และการทดสอบสมรรถนะผู้เรียนตามกรอบมาตรฐานต่าง ๆ PISA 2022 จึงมีความสำคัญมากต่อการตรวจสุขภาวะการศึกษาไทย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์หลังปิดโรงเรียนยาวนานด้วยผลกระทบจากโควิด-19
“…นอกจากผลคะแนนทดสอบที่ปรากฏอยู่ตามรายงาน และสื่อต่าง ๆ ในช่วงต้นธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว อยากชวนเงี่ยหูฟังเสียงของเด็ก ๆ และคุณครู ที่สะท้อนอยู่ในรายงานและฐานข้อมูลของ OECD ผู้จัดสอบ PISA กันว่าในปี 2022 พวกเขากำลังเผชิญกับอุปสรรคใดบ้างในการเรียนรู้ อะไรที่เป็นปัญหาเดิมที่เคยส่งเสียงแล้วเมื่อปี 2018 อะไรที่พวกเราจะช่วยอุดช่องว่างเหล่านั้น และนำบทเรียนจากข้อมูลเหล่านี้มาค้นหาแนวทางร่วมกัน ว่าจะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงเพื่อเตรียมสอบ PISA 2025 แต่เพื่ออนาคตการศึกษาไทยที่ไปได้ไกลกว่านั้นอีกมาก”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยมุมมองต่อผลทดสอบ PISA 2022 หรือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ที่ระบุว่าเด็กนักเรียนไทยได้คะแนนต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี โดยชี้ประเด็นว่า แม้รายงานจะบ่งชี้ถึงคะแนนการประเมินทักษะสำคัญต่าง ๆ ของเด็กเมื่อเทียบกับระดับนานาชาติแล้ว ผลทดสอบของเด็กไทยในภาพรวมยังจัดอยู่ในลำดับที่ห่างจากค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรฉุกคิดและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากกว่า ‘อันดับ’ หรือ ‘คะแนน’ คือ เรื่อง “ความพร้อม” ของเด็กเยาวชนไทยในการเข้ารับการทดสอบ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กที่บ้าน และที่โรงเรียน ซึ่งมีทั้งมิติความเหลื่อมล้ำ และความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนการศึกษารอบตัวแทนนักเรียนไทยที่เข้าร่วมครั้งนี้
ด้วยเหตุนี้ รายงานผลคะแนน PISA 2022 จึงเป็นวาระสำคัญที่แวดวงการศึกษาและผู้มีส่วนกำหนดนโยบายของประเทศต้องมาขบคิดไปด้วยกันว่า นับจากนี้ระบบการศึกษาไทยควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยไม่เพียงมุ่งเป้ายกระดับผลลัพธ์ในการทดสอบครั้งต่อไปในปี 2025 หากต้องเป็นการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาของประเทศที่ชัดเจน และเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในระยะยาว สามารถลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพระดับสากล และทำให้โรงเรียนทั้งประเทศมีความเสมอภาคกันในด้านคุณภาพการจัดการศึกษา
PISA ไม่ใช่เวทีวัดความเป็นเลิศ แต่คือเครื่องมือวัดชีพจรการศึกษา
Programme for International Student Assessment หรือ PISA คือการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล ที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เพื่อทดสอบกลุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี จากทั่วโลกในทุก ๆ 3 ปี โดยประเมินจากทักษะ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งทักษะเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) และเป็นทักษะที่ประชากรจำเป็นต้องมี เพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ PISA จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ในฐานะตัวชี้วัดด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) ที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาในหลายประเทศ
สำหรับประเทศไทยที่เข้าร่วม PISA อย่างต่อเนื่อง และในการทดสอบครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา (PISA 2022) ประเทศไทยมีกลุ่มตัวอย่างนักเรียนเข้าร่วมประเมินรวม 8,495 คน จาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา ร่วมกับนักเรียนจากประเทศอื่น ๆ ราว 690,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก
ดร.ไกรยส กล่าวว่า PISA จะประเมินทักษะ 3 ด้านของนักเรียนไปพร้อมกัน โดยจะเน้นด้านใดด้านหนึ่งราว 60% ในแต่ละรอบการประเมิน สำหรับครั้งล่าสุดคือเน้นที่ทักษะคณิตศาสตร์ ซึ่งหากกล่าวในเชิงหนทางชิงความเป็นเลิศ พูดได้ว่าประเทศไทยมีผลงานที่ไม่ด้อยไปกว่าชาติใด โดยมีเด็กเยาวชนที่เป็นตัวแทนของประเทศสามารถคว้าเหรียญรางวัลคณิตศาสตร์โอลิมปิกได้อย่างต่อเนื่องแทบทุกครั้งที่มีการจัดสอบ รวมถึงในการแข่งขันทางวิชาการสำคัญ ๆ อีกมากมาย
“ระบบการศึกษาไทยส่งเด็กไปสร้างชื่อเสียงในเวทีนานาชาติมาตลอด ภายใต้ข้อแม้ที่เราคัดเลือกเด็กเยาวชน 4-5 คนที่มีความสามารถระดับสูงที่สุดไปแข่งขัน ซึ่งตัวแทนเหล่านี้สามารถทำผลงานในระดับต้น ๆ ได้เสมอ ไม่ว่าคู่แข่งขันจะมาจากชาติใดก็ตาม แต่เมื่อพูดถึง PISA เราต้องมองผลลัพธ์ด้วยสายตาที่ต่างไป เพราะการทดสอบไม่ได้มีไว้เพื่อคัดคนที่ดีที่สุดไปแข่งขัน ในทางกลับกัน เรากำลังสุ่มเอาเด็ก 8,000 กว่าคน ไปวัดประเมินทักษะ ในภาพรวมจึงมีทั้งคนที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดี ซึ่งก็ได้ผลตรงกันว่าในประเทศไทยมีเด็กอายุ 15 ปีราว 1 ใน 100 คนที่ทำคะแนนได้ไม่แพ้ใครในโลกจริง ๆ แต่ประเทศไทยก็มีนักเรียนไทยอีกราว 7 ใน 10 คนที่ยังไม่ผ่านการประเมินขั้นพื้นฐานของ PISA ด้านคณิตศาสตร์
“สิ่งสำคัญนอกเหนือจากนั้นคือ แบบทดสอบที่สำรวจเกี่ยวกับสุขภาวะ การจัดการเรียนการสอน ความพร้อมของครูและโรงเรียน ซึ่งเปรียบได้กับการ ‘ตรวจเช็กสุขภาพการเรียนรู้’ ทุก 3 ปี เพื่อดูค่าเฉลี่ยเด็กทั้งประเทศแล้วนำข้อมูลมาเรียนรู้เพื่อ ปรับปรุงข้อบกพร่องให้ดีขึ้น โดยแนวทางที่ต้องหาให้พบคือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ ที่จะช่วยให้ค่ามาตรฐานของเด็กทุกคนเขยิบเข้าไปใกล้เด็กเยาวชน 4-5 คนที่เป็นตัวแทนของประเทศให้ได้มากที่สุด”
“เรียกขวัญ” ด้านการเรียนรู้ของเด็กไทย ให้คืนกลับมา
ดร.ไกรยส เผยว่า PISA 2022 ได้ทำการทดสอบในช่วงปีการศึกษาที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ผลจากแบบสอบถามที่เคียงคู่มากับผลสอบ จึงพิเศษตรงที่ทำให้เห็นฉากทัศน์หลังวิกฤต ว่ามีเหตุปัจจัยใดที่ส่งผลให้สถานการณ์การศึกษาไทยตกลงไปอยู่ในจุดต่ำที่สุด นับตั้งแต่เข้าร่วมประเมิน PISA ครั้งแรกเมื่อปี 2543
ผลการสำรวจตัวแทนเด็กไทยที่เข้าสอบ PISA 2022 พบว่านักเรียนจำนวนมากยังมีความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยเมื่ออยู่ในโรงเรียน โดยในช่วงการทดสอบ หลายโรงเรียนยังไม่เปิดเรียนเต็มตัว บางโรงเรียนต้องเปิดแล้วปิดตามแต่สถานการณ์ เด็กส่วนใหญ่จึงยังอยู่ในภาวะ ‘ขวัญหาย’ จากช่วงวิกฤตโควิดอันยาวนาน ซึ่งมูลเหตุเหล่านี้สัมพันธ์กับสิ่งที่แบบสอบถามและคะแนนสอบ PISA รายงานไว้ชัดเจน ว่าข้อเท็จจริงคือเด็กไม่มีความพร้อม ไม่มีความมั่นใจ ยังไปโรงเรียนด้วยความเครียด กังวล และยังไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ซึ่งหากพิจารณาลำดับของทั้ง 81 ระบบการศึกษาที่เข้าร่วม PISA 2022 จะพบว่าระบบการศึกษาของไทยถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับท้ายสุดของระบบการศึกษาที่นักเรียนมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน
“การสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอีกประเด็นที่ต้องพูดถึง โดยแบบทดสอบชี้ว่าเด็กจำนวนไม่น้อยรู้สึกว้าเหว่ เพราะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ยิ่งหลังสถานการณ์โควิด ประชากรส่วนใหญ่ต้องโยกย้ายไปทำงานนอกพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลคัดกรองของ กสศ. ที่สำรวจผ่านครูกว่า 400,000 คนทั่วประเทศว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีผู้ปกครองที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดไม่เกิน ป.6 ทำให้เด็กไม่มีคนใกล้ตัวไว้พูดคุย หรือสามารถช่วยเหลือดูแลเรื่องการเรียนได้ แล้วเมื่อเด็กต้องแบกรับความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้และนำติดตัวไปที่โรงเรียน ก็ยิ่งทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่พร้อมมีส่วนร่วมกับเพื่อน ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ภาวะขาดขวัญกำลังใจนี้เองที่อาจส่งผลต่อการเรียนรู้และแสดงผลออกมาผ่านแบบทดสอบ PISA”
นอกจากนั้นข้อมูลจากแบบสอบถามของ PISA ชี้ให้เห็นว่า มีนักเรียนส่วนหนึ่งคิดว่า ‘เวลาที่ใช้ในโรงเรียน’ กับ ‘เวลาในการเรียนรู้’ ไม่สัมพันธ์กัน หมายถึงสิ่งที่เด็กได้รับจากการไปโรงเรียนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป แม้ว่าระบบการศึกษาไทยจะเป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่นักเรียนใช้เวลาเรียนสูงในระดับนานาชาติแล้ว แต่นักเรียนไทยอาจยังไม่เป็นความเชื่อมโยงระหว่างเวลาที่ใช้ไปในการเรียนในโรงเรียน กับประโยชน์ที่จะได้รับต่อตนเองในอนาคตมากเท่าที่ควร
ทั้งนี้ นักเเรียนไทยใช้เวลาเรียนมากถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่กลับมีผลคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์เพียง 394 คะแนน นั่นหมายถึงการเรียน 1 ชั่วโมง ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์เท่ากับคะแนนเพียง 11.31 คะแนนเท่านั้น เทียบกับประเทศที่มีจำนวนชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์ใกล้เคียงกับไทย กลับมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่า เช่น เกาหลีใต้ (15.1 คะแนน/ชั่วโมง) และฝรั่งเศส (13.5 คะแนน/ชั่วโมง) หรือแม้แต่บางประเทศที่มีระยะเวลาเรียนน้อยกว่า กลับได้ผลสัมฤทธิ์การเรียนต่อชั่วโมงที่สูงกว่าไทย เช่น สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ เป็นต้น
เด็กทุกคนคือ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’
ดร.ไกรยส เสนอว่า การเชื่อมโยงผลทดสอบ PISA สู่การผลักดันให้เกิดทิศทางการพัฒนาการศึกษาที่ถูกจุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยการปฏิรูปการศึกษาต้องทำไปพร้อมกัน ทั้งคนที่อยู่หน้างาน ร่วมกับฝ่ายนโยบาย นักวิชาการ ภาคส่วนการศึกษาต่าง ๆ ที่ต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาทางออกร่วมกัน เพื่อ ‘เรียกขวัญ’ ของเด็ก ๆ ให้คืนกลับ
“เราเรียนรู้จาก PISA 2022 ได้อีกมาก ว่าจากนี้ไปจะทำอย่างไรให้เด็กอยากตื่นเช้าไปโรงเรียน และใช้เวลาที่โรงเรียนอย่างมีความหมายและคุณค่า โดยอาจตั้งต้นจากคำถามว่า ถ้าเด็กไม่มีความสุขจะเรียนดีได้อย่างไร แล้วโรงเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถโอบรับหรือสนับสนุนเติมเต็มส่วนที่ขาดหายในตัวเด็กได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้สำคัญที่สุด ถ้าเราทำให้สำเร็จหรือดีขึ้นได้ สิ่งอื่น ๆ จะตามมาเอง ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่ตรงกับบทวิเคราะห์ที่ได้จาก PISA 2022 นี้ หากนโยบายดังกล่าวจะถูกแปลงลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของระบบการศึกษาไทยอย่างชัดเจนในอนาคต
“การเรียนรู้นั้นไม่ได้มีปลายทางอยู่ที่การสอบแข่งขัน หรือเพื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงด้วยว่า เด็กทุกคนคือ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ที่กำลังเติบโตและต่อสู้เพื่อผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ และทุกคนล้วนมีเบื้องลึกต่างกัน อันเป็นเหตุปัจจัยที่กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้และการประสบความสำเร็จ ครูหรือคนทำงานด้านการศึกษาจึงต้องใช้มากกว่าองค์ความรู้และเทคนิควิธี ในการตรวจจับรับรู้จิตใจ โอบกอด และถ่ายทอดพลังเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนจากภายใน หากเราทำให้เด็กเยาวชนมีสุขภาวะดีขึ้น ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีจึงจะเกิดขึ้นได้”
ยิ่งเมื่อโลกกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งเร็วขึ้น สังคมซับซ้อนด้วยสิ่งเร้าซึ่งมีหน้าตาต่างไปจากเดิม ทั้งอันตรายจากมุมมืดของ Social Network ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) หรือปัญหาโภชนาการที่รายงานระบุว่า มีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่ยังได้รับอาหารไม่เหมาะสมและไม่ครบมื้อ การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จะเป็นสารตั้งต้นให้เรามองเด็กเป็นรายคนได้อย่างเป็นองค์รวม แล้วสามารถพัฒนาเครื่องมือบูรณาการการจัดการเรียนรู้ กระบวนการ หรือการประเมิน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นส่วนประกอบของระบบการศึกษาที่ส่งเสริมเด็กเยาวชนให้มีทักษะแห่งอนาคต และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ
จาก Summative Assessment สู่ Formative Assessment
การจะวัดว่าเราก้าวหน้าจากเมื่อวานแค่ไหน มีอะไรพัฒนาได้อีก หรือจะดูแลแก้ไข ซ่อมแซม และยกระดับต่อไปอย่างไร จำเป็นต้องมีการ ‘ประเมิน’ ซึ่งการทดสอบ PISA ทำให้เห็นผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ของนักเรียน ทุก 3-4 ปี ซึ่งอาจจะนานเกินไปหากต้องการนำผลการประเมินนั้นมาใช้พัฒนานักเรียน 8,000 กว่าคนที่เข้าสอบได้ ทำอย่างไรที่ระบบการศึกษาไทยจะมีผลประเมินการเรียนรู้ที่ “ทันใช้งาน” เพื่อพัฒนาเด็ก และพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูได้อย่างต่อเนื่อง เครื่องมืออย่าง PISA ซึ่งถือเป็นเครื่องมือ Summative Assessment เหมือนอย่าง O-NET หรือ ข้อสอบปลายปีต่าง ๆ อาจไม่ใช่เครื่องมือประเมินที่สามารถสนับสนุนพัฒนาการของผู้เรียน และครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือประเมินความก้าวหน้า ในชั้นเรียน ( Formative Assessment) ที่ช่วยให้ทั้งคุณครูและนักเรียน “มองเห็นการเรียนรู้” และสามารถนำมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการทางการเรียนรู้ของนักเรียน และปรับการเรียนการสอนของครูได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีการศึกษา ด้วยวงจรการเรียนรู้ต่อเนื่องเช่นนี้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการประเมิน Summative Assement ผู้เรียนทุกคนก็จะมีความพร้อมในการเข้ารับการประเมิน และสามารถแสดงพัฒนาการของตนเองที่ได้ทำงานร่วมกับคุณครูอย่างมั่นใจ
ดังนั้นระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือประเมินความก้าวหน้าในชั้นเรียน (Formative Assessment) ให้คุณครูและนักเรียนได้ใช้งานกันอย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยควรเปิดโอกาสให้คุณครูและศึกษานิเทศก์ได้มีโอกาสพัฒนาเครื่องมือนี้ในเชิงนวัตกรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเป็นชุมชนนวัตกรเพื่อการเรียนรู้ในระยะยาว
ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’ คือหัวใจสำคัญของการพัฒนา
“ข้อมูลหนึ่งในรายงาน PISA ที่ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญคือ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ‘บ้าน’ กับ ‘โรงเรียน’ เนื่องจากสองฟากฝั่งนี้คือส่วนละครึ่งของชีวิตเด็ก การทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียนจึงเป็นหัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งหลายโรงเรียนมองเห็นคุณค่าและดำเนินแนวทางการทำงานไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว โดยมีครูเป็นสื่อกลางที่เชื่อมร้อยระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก และเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ว่าสถาบันครอบครัวต้องเป็นหลักในการดูแลเด็กเรื่องการศึกษา แล้วการศึกษาถึงจะแสดงให้เห็นภาพปลายทาง ว่าเด็กจะเติบโตเปลี่ยนผ่านและช่วยครอบครัวให้พ้นจากความยากจนได้อย่างไร
“ถ้าโรงเรียนกับบ้านอยู่บนกระดาษแผ่นเดียวกัน ตามสำนวน ‘on the same page’ หมายถึง ครูและผู้ปกครองรู้จักเด็ก ๆ ผ่านข้อมูลเดียวกันและได้สื่อสารอัปเดตความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราจะค้นพบวิธีการดูแลช่วยเหลือเด็กที่ตรงตามลักษณะปัญหา แล้วเด็กจะมีความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ ว่าเขามีที่พึ่ง ไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง”
จะเห็นว่ามีสิ่งละอันพันละน้อยที่ซุกซ่อนอยู่ในฉากหลังของการที่เด็กคนหนึ่งปรากฏตัวในโรงเรียน ซึ่งความอบอุ่นใกล้ชิดจากครอบครัว และจิตวิญญาณของความเป็นครูจะเป็นพลังในการเข้าไปช่วยดูแลแก้ปัญหา ซึ่งเป้าหมายสำคัญที่สุดไม่ใช่เพื่อผลคะแนนสอบ แต่ทั้งหมดคือการมองไปยังเด็ก ๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เพราะการดูแล ‘เด็กคนหนึ่ง’ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 12-15 ปี อันเป็นเวลาที่ภาคนโยบายจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปหลายต่อหลายครั้ง ระบบการศึกษาจึงต้องสามารถเป็นหลักประกันหรือสร้าง ‘จุดวางใจ’ ได้ว่า แม้จะผ่านความเปลี่ยนแปลงสักกี่ครั้ง บ้านและโรงเรียนจะยังเป็นหลักพิงพักที่แข็งแรง ในฐานะพื้นที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้และประเมินผลที่ยึดโยงชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถ้าทำสำเร็จจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นโดยมีกรอบความคิดในการพัฒนาตนได้ (growth mindset) เขาจะเลือกเส้นทางเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศักยภาพของตน และมีใจใฝ่รู้ด้วยความเชื่อมั่น ว่าการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญในการวาดภาพอนาคตของเขา
ถึงเวลาดูแลร่างกายจิตใจ เปลี่ยนผลลัพธ์การศึกษาอย่างยั่งยืน
ดร.ไกรยส กล่าวว่า จากวิกฤตโควิด-19 มาจนถึงผลคะแนน PISA ล้วนเผยให้เห็นความตื้นลึกหนาบางของสถานการณ์ด้านการศึกษาที่ไม่ได้สิ้นสุดแค่การทำข้อสอบ หากรากของความเหลื่อมล้ำซึ่งถ่างกว้างและหยั่งลึกนั้นมีมิติมากกว่าปัญหาความยากจน แต่คือ ‘ตัวตน’ ของเด็ก ที่ยังต้องการโอกาสและความช่วยเหลือดูแลในการพัฒนาตนเอง ขณะที่ช่องว่างระหว่างโรงเรียนก็ยังต้องการการเติมเต็มทรัพยากรที่เสมอภาคมากขึ้น
การพินิจวิเคราะห์ PISA 2022 จึงควรเป็นวาระสำคัญของการ ‘ตรวจวัดสุขภาพเด็กเยาวชน’ ผ่านการศึกษา เพราะเมื่อมีผลสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องขาดแคลนของเด็ก หรืออาจเป็นชนวนที่จะลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ก็ต้องกลับมาดูกันว่า เมื่อผลลัพธ์ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลตัวเลขที่ชวนให้ตระหนกเช่นนี้แล้ว เราจะลุกขึ้นมาในเช้าวันใหม่ด้วยกิจวัตรเดิม ๆ หรือหาทางแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลง
กสศ. อยากชวนทุกคนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไทย ร่วมกันมองว่า PISA 2022 ช่วยทำให้รู้จักเด็กของเราและระบบการศึกษาของเราดีขึ้นและเข้าใจหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน Beyond PISA ได้อย่างไร ทั้งในด้านความเสมอภาคทางการศึกษา และความเป็นเลิศในทางวิชาการอย่างยั่งยืนในระยะยาว”