บ้านแซววิทยาคม โรงเรียน 3 ชายแดน
โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นโรงเรียนที่ได้รับการขนานนามว่า โรงเรียน 3 ชายแดน หนึ่งเป็นชายแดนประเทศติดกับแม่น้ำโขงตรงข้ามฝั่งลาว สองอยู่ชายแดนจังหวัด และสุดท้ายเป็นชายแดนอำเภอ เป็นโรงเรียนที่อยู่ตรงกลางระหว่างอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ เป็นโรงเรียนประจำตำบลขนาดกลาง เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมทั้งหมดราว 300 คน และมีบริบทที่พิเศษแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปคือการเป็นโรงเรียนที่มีความหลากหลายสูง แต่โดยรวมแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ นักเรียนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างเช่น ชนเผ่าม้ง กับกลุ่มนักเรียนคนเมืองที่พูดภาษาเหนือท้องถิ่น จึงทำให้มีการแบ่งแยก และการล้อเลียนกันอยู่บ้างในนักเรียนสองกลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาสำคัญอะไร จึงถูกมองข้ามไป
อย่างไรก็ตาม เมล็ดพันธุ์แห่งความไม่เข้าใจ แม้เป็นเรื่องเล็กๆ ในวันนี้ แต่หากปล่อยไว้ให้เติบใหญ่ ก็ไม่แน่ว่า นี่อาจเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องตามไปแก้ไขในอนาคต และถ้ารอถึงเวลานั้นเมื่อไหร่ก็อาจเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเดิมในการเปลี่ยนแปลง
PISA for Schools กระจกสะท้อน ผลลัพธ์ทางการศึกษา
ในปีที่ผ่านมา ‘โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม’ เข้าร่วมการประเมิน PISA for Schools กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี ครูชนาธิป โหตรภวานนท์ ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดูแลประสานงานเพื่อคัดเลือกนักเรียนที่อายุเข้าเกณฑ์เข้ารับการทดสอบ
ผลทดสอบที่ออกมา ปรากฏว่า เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านแซวฯ ได้คะแนนในส่วนของการอ่านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับประเทศ ส่วนวิทยาศาสตร์ยังขาดทักษะสำคัญบางด้าน เพราะนักเรียนไม่ได้ทำการทดลองอย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการเรียนการสอน แต่ในมุมวิทยาศาสตร์เช่นกันก็ทำให้เห็นว่า เด็กๆ ของที่นี่มีความสามารถในการตั้งสมมติฐานที่มีค่าเฉลี่ยสูงในระดับประเทศ ขณะที่ด้านคณิตศาสตร์เด็กยังขาดความสามารถในการตีความโจทย์ ภายหลังการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่าอาจเป็นเพราะเด็กส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ทำให้ต้องใช้กระบวนการคิดสองชั้น จึงมีความซับซ้อนมากขึ้นและยากขึ้นในการทำความเข้าใจกับโจทย์ปัญหา
ส่วนผล PISA for Schools ในมิติของนักเรียนต่อนักเรียน หรือสถานการณ์ต่างๆ ภายในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการ Bully การกีดกัน การล้อเลียนกัน เรื่องเป็นตัวที่บอกถึงความสุขในโรงเรียน หรือสภาพที่นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ข้อค้นพบเรื่องนี้เป็นที่น่าสบายใจว่า ในโรงเรียนมีการกลั่นแกล้งที่ค่อนข้างน้อย คืออยู่ต่ำกว่า 20% และมีการกีดกันค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันกลับมีการล้อเลียนที่สูง ส่วนในด้านของการคุกคาม การหยิบฉวย การทำลายข้าวของ การรังแก หรือการแพร่กระจายข่าวลือ ยังอยู่ในระดับต่ำ
“หมายความว่าสิ่งที่ทางโรงเรียนที่ดำเนินการมาค่อนข้างที่จะถูกทางแล้ว แต่ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาคือการล้อเลียน” ครูชนาธิป กล่าวพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า
“ผลทดสอบการประเมินของ PISA for Schools ทำให้รู้ว่าโรงเรียนอยู่ที่จุดไหน ไม่ใช่แค่ในด้านวิชาการ แต่เป็นด้านสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ทำให้เห็นบรรยากาศโดยรวมว่า เด็กนักเรียนมีความรู้สึกต่อตนเอง มีความรู้สึกต่อเพื่อนรอบๆ ตัว ต่อคุณครูผู้สอน ต่อโรงเรียน ต่อสังคม หรือสภาพแวดล้อมที่ตนเองเป็นอยู่อย่างไรบ้าง
“คือเรื่องพวกนี้ เดิมเราตั้งสมมติฐานว่าอาจจะรู้ได้จากการเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งครูโรงเรียนบ้านแซวไปเยี่ยมบ้านเด็กทุกคนอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง เรื่องบางเรื่อง เด็กก็ไม่กล้าที่จะบอกครู เรื่องบางเรื่องเด็กก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผย หรือพูดออกมาด้วยตัวของตัวเองหรือพูดกับครู เหมือนยังมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ แต่หากเป็นคนนอกเข้ามาสำรวจ หรือคนนอกเข้ามาสอบถาม เด็กจะกล้าพูดมากกว่า ในขณะที่ถ้าเป็นครู เด็กจะมีความรู้สึกเกรงใจไม่กล้าพูด ไม่กล้าเล่า”
การที่ได้ผล PISA for Schools ออกมา จึงทำให้โรงเรียนบ้านแซวฯ รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเด็กๆ มากขึ้น และทำให้รู้ถึงสิ่งที่โรงเรียนต้องทำต่อไปในอนาคต เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาไปตามตัวตนของเขา สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่เขาจะต้องอยู่ต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งจะถือว่าเป็นการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
PISA for Schools สู่ แบบแผนการเรียนที่ถูกจุด
ครูชนาธิป เล่าต่อไปว่า เมื่อได้ผลประเมินจาก PISA for Schools ทางผู้บริหารโรงเรียนบ้านแซวฯ และครูในโรงเรียนทุกคนได้ช่วยกันนำผลมาวิเคราะห์ และร่วมกันออกแบบการเรียนการสอนใหม่ เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เรียกว่า Thinking school ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ระดับสากลยอมรับกันอยู่แล้ว
“Thinking school คือการที่ครูผู้สอนมีหน้าที่เข้าไปกระตุ้นพัฒนาการทางความคิดของผู้เรียน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและผู้เรียนหรือผู้เรียนด้วยกันเองให้สามารถคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ และสังเคราะห์ ซึ่งทำให้เด็กมีความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ในทุกสาระการเรียนรู้ โดยหลักๆ จะมีการดึงความสนใจ มีการตั้งเป้าหมายในชั้นเรียน มีการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้การพูดคุย และนักเรียนได้สะท้อนสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ในคาบนั้นออกมา
“การเรียนการสอนแบบ Thinking school จะทำให้นักเรียนเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น เพราะจะมีขั้นตอนการสอนอย่างหนึ่ง ที่นักเรียนจะต้องแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ได้เรียน สะท้อนกลับมายังครูผู้สอน หรือสะท้อนกลับไปยังกลุ่มเพื่อน เลยทำให้นักเรียนมีความสบายใจที่จะได้แสดงสิ่งที่ตัวเองคิดออกไป เพราะไม่ถูกปิดกั้น ทำให้บรรยากาศภายในโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความคิด หรือตัวตน
“ส่วนของผมเองที่เอามาปรับ จะเน้นกระบวนการสอนที่จะให้เด็กระบุปัญหา คือทักษะด้านวิทยาศาสตร์ของบ้านแซวฯ ยังขาดทักษะด้านการระบุปัญหา และการอภิปรายกระบวนการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ผมเอาจุดด้อยมาออกแบบกิจกรรมใหม่ เช่นพาเด็กๆ ไปสำรวจมากขึ้น พาออกไปข้างนอกห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือทำการทดลองบางอย่างด้วยตัวเองมากขึ้น แม้เราจะขาดอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่เราสามารถออกแบบจากสิ่งที่เรามีได้ เมื่อเรารู้โจทย์ของตัวเองที่ชัดขึ้น”
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากและเคยมองข้ามไปก่อนหน้านี้ ทางโรงเรียนได้เอาผลจาก PISA for Schools มาวิเคราะห์ว่า มีสาเหตุจากอะไรบ้างที่ทำให้เด็กนักเรียนมีการแบ่งแยกและการล้อเลียนกันอยู่ จากนั้นจึงนำไปสู่การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจกันและสร้างความภูมิใจในตัวเอง
“กิจกรรมที่เพิ่มขึ้นจะพยายามส่งเสริมให้เด็กชาติพันธุ์ได้แสดงตัวตนที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของเขา ขณะเดียวกันในกลุ่มเด็กเมืองก็จัดกิจกรรมที่เป็นวัฒนธรรมของล้านนาควบคู่กันไปด้วย ตัวตนที่แสดงออกมาอย่างภูมิใจจะสร้างความเข้าใจในความแตกต่างกัน และยอมรับในกันและกันว่าอีกฝ่ายก็มีความสามารถ ส่งผลให้ความรู้สึกแบ่งแยกและการล้อเลียนลดลง เพราะว่านักเรียนเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างกันได้มากขึ้น
“จากบริบทที่มีนักเรียนที่เป็นชนเผ่าและนักเรียนทั่วไปอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดการตั้งกลุ่มและกีดกันจากสังคมของแต่ละกลุ่มนำไปสู่การล้อเลียน อาจเป็นเรื่องเล็กๆ ตอนเริ่มต้น แต่ก็อาจบานปลายได้ เราจึงพยายามหากิจกรรมที่จะนำนักเรียนทั้งสองกลุ่มเข้ามาทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกันและพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาแบบ Thinking school เราพบว่า ถ้าเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดคุย ได้เปิดใจในสิ่งที่ตัวเองคิดและรับฟังคนอื่นมากขึ้น เด็กจะมีการยอมรับคนอื่นมากขึ้น และจะลดในส่วนของการล้อเลียนลง”
ในข้อแนะนำ ครูจากโรงเรียนบ้านแซว กล่าวว่า เขาหวังให้ในอนาคตมีการประเมินในลักษณะนี้ มีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่โรงเรียนสามารถทำได้เอง โดยไม่ต้องรอการทดสอบจากทาง OECD หรือ กสศ. การที่ให้โรงเรียนมีเครื่องมือเสมือนมีกระจกในการสะท้อนตนเอง จะสามารถนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาด้วยตนเองได้อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อเพิ่มคุณภาพและความเท่าเทียมกันทางการศึกษาของเด็กทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่แบบใดหรือห่างไกลจากความเจริญเพียงไหนก็ตาม
รู้จัก PISA for Schools ?
PISA for Schools คือ เครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาชั้นเรียนและสถานศึกษาที่เข้ารับการทดสอบ ทั้งยังสามารถขยายผลเพื่อพัฒนาโรงเรียนอื่นที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกันได้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศจากทั่วโลกที่มีโอกาสร่วมวิจัยพัฒนาเครื่องมือ PISA-based Test for Schools ร่วมกับ OECD เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลจากการประเมินดังกล่าว
ปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. เพื่อเป็นโจทย์วิจัย ได้มีการทดลองใช้ PISA for schools ใน 66 โรงเรียน ครอบคลุมนักเรียน 2,459 คน พบว่า แม้เป็นนักเรียนจากครัวเรือนยากจนที่มีรายได้น้อยที่สุด 25% ของประเทศ แต่ก็สามารถทำคะแนนให้อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 25% บนของประเทศ ซึ่งจากนักเรียนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยพบว่า จะมีคุณลักษณะด้านหนึ่งที่มีเหมือนกัน นั่นคือมีกระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์สังคม (Social and Emotional Learning) หรือ SEL ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 ประเภท หรือเรียกว่า Big Five Model ได้แก่ 1.ความรับผิดชอบต่องาน 2.ทักษะทางอารมณ์ 3.ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 4.การเปิดรับประสบการณ์ 5.ทักษะสังคมและการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น
มีรายงานการศึกษาจากในหลายประเทศ พบว่า SEL เป็นทักษะสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้ทางวิชาการมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีด้วย และผลจากการวิจัย PISA for Schools ในกลุ่มโรงเรียนที่ใช้กระบวนการเรียนแบบ Thinking school และ Active Learning พบว่า มีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิด SEL ในการเรียนรู้ของเด็กๆ