“โรงเรียนหยุดแต่ไม่หยุดเรียน” ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 จากครูใน สปป.ลาว และเวียดนาม

“โรงเรียนหยุดแต่ไม่หยุดเรียน” ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 จากครูใน สปป.ลาว และเวียดนาม

ภาพบันทึกการสอนในเฟซบุ๊กของโรงเรียนประถมศึกษาทองคัง นครหลวงเวียงจันทน์ นำเสนอโดย ครูคุนวิไล เคนกิติสัก  ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง นครหลวงเวียงจันทน์

ครูคุนวิไล เคนกิติสัก ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560
ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง นครหลวงเวียงจันทน์

โรงเรียนมีมาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้

  1. ส่งต่อข่าวสารโควิด-19 ให้ครูและนักเรียน
  2. ครูปลอดภัย เด็กปลอดภัย ด้วยการฉีดวัคซีนครบให้คุณครูทุกท่าน
  3. โรงเรียนสะอาด ถูกสุขลักษณะ นักเรียนพร้อมมาเรียน

อย่างไรก็ตาม การปิดโรงเรียนได้สร้างความลำบากต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เด็กนักเรียนประถมที่เคยเล่น เคยมีความสุขกับเพื่อนๆ ก็ต้องปิดเรียนไป ทางโรงเรียนจึงจัดการเรียนการสอนด้วยการตั้งกลุ่มเรียนออนไลน์ขึ้นมา โดยครูจะสั่งงานทางออนไลน์  แล้วให้ผู้ปกครองถ่ายรูปหรือวิดีโอของนักเรียนคู่กับงานที่ทำเพื่อเป็นการส่งการบ้าน ทั้งยังมีการสอนออนแอร์ผ่านโทรทัศน์ให้กับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต  ในส่วนของครูเอง ก็มีการฝึกอบรมการจัดการเรียนรู้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุณครูสามารถนำใช้เทคโนโลยีกับการศึกษาได้

ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562
ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ แขวงหลวงพระบาง

การระบาดโควิด-19 รอบนี้ ทำให้โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Facebook และ YouTube ของโรงเรียน โดยเน้นเฉพาะบทเรียนที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการสอนออนแอร์ทางโทรทัศน์สำหรับนักเรียนระดับชั้น ม.4 – ม.7

ในโรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 2,960 คน มีทั้งเรียนนอนประจำในโรงเรียน 90 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากหลากหลายชนเผ่าที่ยากจนแต่เรียนดี ส่งผลให้นักเรียนมีพื้นฐานการใช้ชีวิตที่ต่างกัน โรงเรียนจึงเน้นการเรียนการสอนที่ฝึกให้นักเรียนเกิดความสามัคคี เช่น ให้นักเรียนที่มีพรสวรรค์ช่วยติวให้เพื่อน หรือที่เราเรียกว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น

ภาพกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ร่วมกับผู้อื่นของโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ แขวงหลวงพระบาง

ครูคำซ้อย วงสัมพัน ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558 
ที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ นครหลวงเวียงจันทน์

ได้นำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้

  1. ฝึกอบรมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น Zoom, Google Meet, Google Form สำหรับการเรียนการสอน และตั้งกลุ่มห้องเรียนในแอปพลิเคชัน WhatsApp เพื่อประสานงานและสมทบกับผู้ปกครอง 
  2. ติดตามการเรียนของนักเรียน ม.4 และ ม.7 ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายของการศึกษาชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย 
  3. บันทึกการเข้าเรียนของนักเรียนให้ละเอียด เพื่อป้องกันและตรวจสอบว่ามีนักเรียนตกหล่นหรือไม่
  4. บันทึกการสอนของครูในเว็บไซต์ของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถย้อนดูบทเรียนได้ตลอดเวลา

ความท้าทายในช่วงเวลานี้คือเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจของครูจำนวนหนึ่งก็ไม่ค่อยดีนัก การฝึกอบรมเพื่อเตรียมการเรียนการสอนออนไลน์อาจจะกระทบกับเวลาของครูบางท่านที่มีภาระหน้าที่ด้านครอบครัว แต่พวกเราก็ได้ทำการช่วยฝึกให้ครูท่านนั้นโดยเฉพาะ ทั้งยังให้กำลังใจเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน 

ภาพบรรยากาศการเรียนออนไลน์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ นครหลวงเวียงจันทน์

ครูเลอ ทัน เลียม ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562
ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมัธยมชนเผ่า ฮิมลาม เมืองเฮ่ายาง

ครูเลียมผู้เป็นนักนวัตกรรมและครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การย้ายการสอนจากสภาพเดิมไปยังระบบดิจิทัลเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้สอนและผู้เรียนเสมอ ครูบางท่านที่ยังไม่สันทัดในการใช้เทคโนโลยีก็ต้องฝึกตนเองให้พร้อมกับการสอนออนไลน์ และคอยให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนผ่านออนไลน์ได้ เช่น การมอบโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตให้กับนักเรียน ประสานงานกับผู้ปกครอง หรือผู้มีจิตศรัทธาในการสนับสนุนอุปกรณ์ เป็นต้น

โดยปรับเปลี่ยนวิธีการสอนภายใต้คำขวัญ “โรงเรียนหยุด แต่ไม่หยุดเรียน

  1. ใช้แนวทางการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ เป็นการดำเนินการทั่วทั้งประเทศ และพบว่าได้ผลในเบื้องต้น 
  2. การดำเนินการเรียนรู้ทางไกลในสถานที่ที่มีโรคระบาดและมีความเสี่ยงสูง ในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโทรทัศน์ ก็จะมีการเข้าพื้นที่เพื่อเข้าถึงนักเรียนหรือทำงานใกล้ชิดกับผู้ปกครองในการส่งเนื้อหาบทเรียนให้กับเด็ก 
  3. สำหรับการสอนทางโทรทัศน์ บางจังหวัดจะมีคำบรรยายบทเรียนสำหรับเด็กโต เช่น ม.3  หรือ ม.6 ให้นักเรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และจะมีการประสานกับผู้ปกครองในการให้คำแนะนำการดูแลเด็กด้วย

เรื่องสำคัญในการเรียนออนไลน์

  1. การลดความกดดันให้กับนักเรียน เนื่องจากนักเรียนมักจะเกิดความกดดันอย่างมากหากผู้ปกครองนั่งอยู่ด้วยในเวลาเรียน ดังนั้นในการเรียนออนไลน์ ครูและผู้ปกครองจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กและอ่อนโยนกับเด็กมากที่สุด 
  2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
  3. ลดเนื้อหาที่เกินความจำเป็น ไม่ควรตรวจสอบประเมินเนื้อหาที่ยังไม่ได้สอน แต่ควรโน้มน้าวให้นักเรียนอ่านเพิ่มเติมเอง

ครูฟาน ถิ หนือ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560 
ที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาความสามารถพิเศษ เจียน เล กวี๋ โดน

ความลำบากหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ

ทางสำนักงานการศึกษาจังหวัดได้ประสานงานกับบริษัท Microsoft Office ประเทศเวียดนาม เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการสนับสนุนการใช้ Microsoft Office 365 ให้กับครูและนักเรียน เพื่อให้การเรียนออนไลน์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การใช้ Microsoft Office 365 ทำให้ค่าใช้จ่ายการในเรียนการสอนลดลงอย่างมาก ครูสามารถบันทึกการสอนและคำบรรยายลงในแพลตฟอร์ม ส่งผลให้โรงเรียนมีแหล่งรวมข้อมูลการสอนอย่างเป็นระบบ กระตุ้นให้ครูกระตือรือร้นในการเตรียมการสอน และนักเรียนก็สามารถเข้าดูเนื้อหาเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนได้ 

ครูหนือยังกล่าวอีกว่า การบริหารจัดการการศึกษาในครั้งนี้ต้องมีการผสมผสาน การทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน จึงจะสามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบและประสบผลสำเร็จ

ภาพการใช้แพลตฟอร์ม Microsoft Office 365 ในการจัดเก็บข้อมูลการเรียนการสอน

ครูตรัน ถิ ถี่ ยุง  ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558
ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดหล่าวกาย

ได้กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ในจังหวัดหล่าวกาย ซึ่งมีบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดประมาณสาม 30,000 คน และมีนักเรียนชนเผ่าถึง 2,000 คน ที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ 

จังหวัดหล่าวกายมีการจัดการเรียนการสอนคล้ายกับพื้นที่อื่นๆ คือใช้การสอนทางออนไลน์ โดยแบ่งเป็น 3 แพลตฟอร์ม

  1. ใช้โปรแกรมต่างๆ  เช่น Zoom, Google classroom และ Microsoft Office 365
  2. นำใช้ YouTube เพื่อฝากไฟล์ให้ผู้ปกครองของนักเรียนระดับอนุบาล ป.1 – ป.3 ช่วยกำกับดูแลนักเรียนระหว่างเรียน 
  3. ทำคู่มือการเรียนสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้

ครูยุงเห็นด้วยว่า นอกจากการเรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว การปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับพื้นที่และการลดเนื้อหาบทเรียนที่เกินความจำเป็น ก็มีส่วนช่วยให้การเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพ และป้องกันปัญหาเด็กเรียนไม่ทันก่อนปิดภาคเรียน 

ประสบการณ์ของครูจาก สปป. ลาว และเวียดนาม  ทำให้เห็นว่าทุกประเทศต่างมีความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการออกแบบการเรียนรู้ออนไลน์ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของนักเรียนมากที่สุด 

ทั้งยังเห็นได้ชัดว่า การได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์วิกฤตอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

เรียบเรียงจากเสวนา “ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ ในปี 2021 ท่ามกลางสถานการณ์ โควิด-19 : ประสบการณ์จากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศ สปป.ลาว และเวียดนาม” 

วันที่ 19 มิถุนายน 2564 

ทางเว็บไซต์ YouTube ช่องมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCAF Channel)

ครูผู้เข้าร่วมเสวนา


ประเทศ สปป.ลาว
– ครูคำซ้อย วงสัมพัน PMCA 2015 ที่ปรึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ นครหลวงเวียงจันทน์
– ครูคุนวิไล เคนกิติสัก PMCA 2017 ครูใหญ่ โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง กรุงเวียงจันทน์
– ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด PMCA 2019 โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ แขวงหลวงพระบาง

ประเทศเวียดนาม
– ครูตรัน ถิ ถี่ ยุง PMCA 2015 ผู้อำนวยการ สำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดหล่าวกาย
– ครูฟาน ถิ หนือ PMCA 2017 ทำงานงานสังคมด้านเด็กยากจน และที่ปรึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาความสามารถพิเศษ เจียน เล กวี๋ โดน
– ครูเลอ ทัน เลียม PMCA 2019 ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมัธยมชนเผ่า ฮิมลาม เมืองเฮ่ายาง

คุณสรรชัย หนองตรุด สถาบันรามจิตติ ผู้ดำเนินรายการสถาบันรามจิตติ
คุณสุรชัย ดิ่งสวัสดิ์ (ประสานงาน/ล่ามภาษา)