สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากำลังทวีความรุนแรง แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไรล่ะ
กระนั้น สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้นักขับเคลื่อนอย่างเธอหมดหวัง อ้อ-วรกมล ด่านประดิษฐ์ จาก Change Lab สูดหายใจเข้าและพูดอย่างมีความหวังว่า แม้การสร้างความเปลี่ยนแปลงจะยังไม่เห็นผลในเร็ววัน แต่ความเป็น changemakers ก็ยังอยู่ในตัวเธอ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและทำงานในส่วนอื่นต่อไป
นี่คือส่วนหนึ่งในงาน ‘Problem Discovery Workshop’ กิจกรรมสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพัฒนาครูและสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาการสนับสนุนการเรียนรู้และฝึกทักษะอาชีพของเด็กนอกระบบเชิงพื้นที่ จัดโดย School of Changemakers ร่วมกับ Change Lab, TK Park และ Equity Lab ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ภาพรวมความเหลื่อมล้ำ ปัญหาที่ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสีย
ในช่วงต้นของการเวิร์กช็อป อ้อ-วรกมล ด่านประดิษฐ์ และ ฟ้า-รุ่งนภา นาคดี กระบวนกรจาก Change Lab สรุปภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่นำไปสู่ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ก่อนอธิบายถึงอุปสรรคและเครื่องมือที่ผู้เข้าร่วมกิจกกรรมจะนำไปใช้ในอนาคต
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ในอันดับ 3 ของโลก โดยพบว่า คนยากจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ล่าง มีเพียง 5 ใน 100 คน ที่มีโอกกาสได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งนำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ หากมีวุฒิการศึกษา ม.6 จะมีรายได้เฉลี่ย 13,118 บาท/เดือน ขณะที่ผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีจะมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาท/เดือน หรือต่างกันกว่า 197 เปอร์เซ็นต์
ในช่วงปี 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 1.3 ล้านคน ขณะเดียวกัน ผู้รับทุนนักเรียนยากจน (ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 1,300 บาท/เดือน) มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 131,500 บาท
นอกเหนือจากความยากจนแล้ว เด็กที่เป็นผู้พิการ อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงเรียน และมีปัญหาครอบครัว ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเหล่านั้นเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ คิดเป็นจำนวนถึง 2.5 ล้านคน จากทั้งหมด 7.3 ล้านคน
ปัจจุบัน มีเด็กนอกระบบทั้งหมด 1.4 ล้านคน และกว่า 7 ใน 10 คน ไม่กลับไปเรียนต่อ ไม่ทำงานหรือฝึกอาชีพ เพราะขาดระบบสนุบสนันที่เพียงพอ ขาดเป้าหมาย ขาดกำลังใจ นำไปสู่วงจร ‘จน’ และ ‘เจ็บ’ ต่อไป
นี่จึงเป็นโจทย์สำหรับผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมเสมอมา แล้วอุปสรรคสำคัญคืออะไร มีเครื่องมือใดบ้างที่ช่วยแก้ไขปัญหา
วรกมลและรุ่งนภา สรุปอุปสรรคที่พบบ่อยในการแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง-สังคมยังไม่มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง สอง-ระบบให้ความสำคัญกับครูหรือพี่เลี้ยง/ผู้ดูแลเด็ก น้อยเกินไป สาม-‘One size fits all’ การศึกษาในระบบบีบให้เด็กหลุดออกจากระบบ โดยไม่คำนึงถึงความหลากหลาย สี่-คนใกล้ตัวเด็กยากจนมักไม่ได้เรียน จึงยากที่จะมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้จากการศึกษา
ช่วงท้ายของการเวิร์กช็อปภาคทฤษฎี สองกระบวนกรกล่าวถึงกลยุทธ์ที่นักเปลี่ยนแปลงใช้ในการแก้ไขปัญหา (design principle) ก่อนแจกโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมได้ปฏิบัติและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
ทั้งนี้ หลักการของกลยุทธ์ดังกล่าว มีใจความสำคัญคือ การออกแบบให้คนได้เห็นภาพปัญหาและเห็นตัวเองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างโอกาสที่เอื้อให้คนหลายภาคส่วนแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ร่วมกัน ให้เจ้าของปัญหาเป็นคนหลักในการทำและเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความเสมอภาคที่ยั่งยืนพึ่งพาตัวเองได้
สนับสนุนนวัตกรให้สามารถทำงานเพื่อสังคมได้อย่างยั่งยืน
วรกมล เผยว่า Change Lab เป็นเสมือนผู้จัดเตรียมเครื่องมือ (tools provider) สำหรับผู้ที่ต้องการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม จัดทำข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล แล้วให้นักสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social changemakers) เลือกหยิบใช้ได้
“เป้าหมายของเราคือ อยากกระจายข้อเท็จจริงให้คนที่สนใจได้รับทราบ และอยากเสนอเรื่องเล่าที่สะท้อนความจริง เราไม่ได้บอกว่าเด็กยากจนน่าสงสาร น่าเห็นใจ แต่เราพยายามสื่อสารว่าเขาถูกบีบโดยระบบที่ไม่รองรับเขามากกว่า” วรกมลเล่าถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน Problem Discovery Workshop
“ครั้งนี้เราตั้งเป้าหมายว่า จะไม่นำคนในพื้นที่มาสัมภาษณ์ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเติบโตมาจากระบบการศึกษา บางคนมี privilege (สิทธิพิเศษ) และบางคนถูกเอาเปรียบ เพราะฉะนั้นทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง และสามารถนำเรื่องของตัวเองมาศึกษาแลกเปลี่ยนกัน”
วรกมลอธิบายว่า กระบวนการวันนี้มี 2 ช่วงหลัก ช่วงแรกคือการพูดถึงข้อมูลภาพรวมปัญหา ขณะที่ช่วงหลังจะเป็นกระบวนการที่แยกผู้เข้าร่วมออกจากมุมของตัวเอง โดยนำจุดแข็งของแต่ละคนผสมผสานกับปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น ออกแบบกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจเด็กที่ถูกตีตราว่ามีปัญหา จากนั้นให้ถกกันหาไอเดียที่สร้างการเปลี่ยนแปลง แบ่งปันกับเพื่อน พร้อมกฎเหล็กว่า ทุกคนต้องเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทำได้จริง และทำได้เลย
“โปรเจกต์นี้เหมือนสนามให้เขาได้ทดลองไอเดีย ว่าฉันชอบจริงๆ รึเปล่า ฉันอินจริงๆ ไหม ถ้าไม่อินก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยคุณได้รู้จักเครื่องมือ คุณก็อาจนำไปปรับใช้กับอย่างอื่นได้ ถ้ามันเกิดขึ้นได้ก็ดี ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้น มันก็คงจะเกิดขึ้นสักวัน” วรกมลทิ้งท้าย
วงศธร ชุณหะวัณ จาก Equity Lab เน้นย้ำว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เกิดจากระบบที่ไม่ได้สนับสนุนครู แม้ครูจะใกล้ชิดและควรเป็นคนช่วยเหลือเด็ก แต่การขาดการสนับสนุนจากฐานทรัพยากรที่กระจายไม่ทั่วถึง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบได้โดยง่าย
“ส่วนเด็กและคนรอบข้างก็ต้องเผชิญมายาคติที่ว่า การศึกษาอาจไม่สำคัญ เพราะหากออกมาทำงานก็จะได้เงิน แบ่งเบาภาระครอบครัวได้”
วงศธรยืนยันว่า กุญแจสำคัญคือการเปลี่ยนให้เด็กและคนรอบข้างมองการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพ
อย่างไรก็ดี ภายในงานเวิร์กช็อปครั้งนี้ มีคนจากหลากหลายอาชีพ วงศธรสังเกตว่า จุดร่วมของคนที่เข้าร่วมคือ มุมมองที่ว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ไม่ยั่งยืน เพราะเสมือนการทุ่มเงินเท่านั้น ผู้เข้าร่วมจึงอยากเข้าใจข้อมูลเชิงลึก เพื่อทำงานขับเคลื่อนสังคมต่อไป และเป็นสัญญาณที่ดีของการสร้างความเปลี่ยนแปลง
ลดความเหลื่อมล้ำผ่านแว่นของนักการศึกษาในอนาคต
ฟลุค นักศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรม สาขาจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป อธิบายว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษามีความหลากหลายในตัวเอง แม้แต่นักเรียนที่เข้าไปเรียนในระบบก็มีความหลากหลายเช่นกัน ฉะนั้น จึงเกิดคำถามว่าการศึกษาตอบโจทย์นักเรียนบ้างหรือไม่ และการเรียนรู้ในปัจจุบันเพียงพอต่อการพัฒนาตัวเองในประเทศนี้หรือเปล่า
“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด มาจากโรงเรียนขยายโอกาสที่พยายามทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา แต่พอเราเข้าไปเรียนจริงๆ กลับพบว่า การศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์อย่างแท้จริง” ฟลุคเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนพบ ก่อนยกตัวอย่างวิชาภาษาอังกฤษที่มีปัญหาไม่น้อย
“โรงเรียนพยายามให้เราเรียนเพื่อเอาไปสอบ แต่ไม่ได้สอนให้เรานำไปใช้ได้จริง กลายเป็นว่าเมื่อเจอชาวต่างชาติ เรากลับไม่กล้าที่จะพูด ไม่กล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษ
“ระบบการศึกษาตอนนี้เหมือนสอนให้ลิงไปว่ายน้ำ สอนปลาไปปีนต้นไม้ ทั้งที่เด็กแต่ละคนต่างกัน ฉะนั้น การศึกษาควรจะเป็นแบบไหน กระทรวงการศึกษาควรจะตอบโจทย์นั้น รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลก็ควรจะสอดคล้องกัน” ฟลุคสรุปความ
เบว นักศึกษาสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยว่า เธอสนใจปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นทุนเดิม ชอบการเมืองและศึกษาเรื่องเด็ก จึงสนใจปัญหาเกี่ยวกับเด็กโดยปริยาย
“ประเทศไทยไม่ค่อยมีพื้นที่ให้กับเด็กๆ เราต่างก็เคยเป็นเด็กกันทุกคน แต่เราไม่มีวิธีเข้าหาเด็กได้จริงๆ” เบวกล่าวต่อไปว่า ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งมักมีทัศนคติเชิงลบต่อเด็ก เช่น ตนเคยฝึกงานและพบว่า หลายครั้งปัญหาเกิดจากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จริงๆ ว่าควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร
จากประสบการณ์ฝึกงาน เบวกล่าวว่า เงินทุนการศึกษาที่กระจายไป ไม่ได้ไปสู่คนที่ต้องการจริงๆ เธอจึงเสนอว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขความเหลื่อมล้ำ อยู่ที่ความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐ
อีกหนึ่งนักศึกษาสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กมลเล่าว่า เธอมีประสบการณ์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ นับตั้งแต่สอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอพบว่า โรงเรียนรัฐสอนเด็กไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อสอบ ONET หรือ GAT/PAT ครูจะให้เอกสารมาอ่าน แล้วบอกว่าอยากได้คะแนนแค่ไหนก็อ่านแค่นั้น แต่เพื่อนจากต่างจังหวัดต้องอ่านทุกอย่างเพื่อเอาคะแนน
“เรารู้สึกว่าครูไม่ได้สร้างความภูมิใจให้กับเด็ก พอเด็กไม่มีความภูมิใจ เขาก็จะหลุดจากระบบได้ง่าย แต่ขึ้นอยู่กับปัญหาส่วนตัวและเงื่อนไขชีวิตของเขาด้วย ถ้าเขาไม่มั่นใจในตัวเองเลย นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายเขามากที่สุด
“เราต้องอยู่กับเด็กเพื่อจะเข้าใจว่า ปัญหาของเขาคืออะไร เขาต้องการอะไร ทำตัวเป็นเพื่อนเขา ไม่ใช่การสั่งสอนเขา เราจึงรู้สึกว่าการเปิดใจคุยกันหรือสร้างความไว้ใจระหว่างครูกับเด็กเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดความไว้ใจ อย่างอื่นก็จะตามมา” กมลทิ้งท้าย
กิจกรรมเวิร์กช็อปครั้งนี้เต็มไปด้วยผู้เข้าร่วมหลากหลายกลุ่ม ทั้งพ่อแม่ หน่วยงานรัฐ นักศึกษาและเยาวชน ทุกคนล้วนมาเพื่อหาคำตอบของคำถามที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง และเชื่อได้ว่าการตั้งวงพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเช่นนี้ จะทำให้พบบางคำตอบได้ไม่มากก็น้อย