พ่อแม่ก็สอน “จิตศึกษา” เด็กที่บ้านได้ วิธีการเล่นที่ช่วยส่งเสริมการกำกับอารมณ์ของเด็ก

พ่อแม่ก็สอน “จิตศึกษา” เด็กที่บ้านได้ วิธีการเล่นที่ช่วยส่งเสริมการกำกับอารมณ์ของเด็ก

โดย เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาประจำ Starfish Education

เคยมีบ้างไหมคะ ที่ลูกของเราแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น แม่บอกให้หยุดเล่นเกม ลูกก็ทำหน้ามุ่ย ไม่พอใจ เดินกระทืบเท้าเสียงดัง ปิดประตูห้องดังปัง หรือบางทีลูกขอให้พ่อซื้อของให้เพราะอยากได้ แต่พอพ่อถามเยอะหน่อย ลูกก็เริ่มถอนหายใจดังเฮือก คิ้วเริ่มชนกัน แล้วพูดขึ้นมาว่า “โอ๊ย ก็อยากได้อ่า” ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ดีนัก 

หรือบางครั้งเราบอกให้ลูกเก็บของเล่น แต่ลูกก็ไม่ฟัง แถมยังเดินเตะของเล่นเหมือนจะท้าทายเราอีก หรือเวลาไปเดินห้างแล้วเราไม่ซื้อของให้ ไม่ให้กินอาหารร้านโปรด ลูกก็ร้องไห้ อย่างไม่สนใจอะไร และอื่นๆ อีกมากมายที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะพบเจอแล้วรู้สึกว่า ลูกเรามีอารมณ์ที่รุนแรง และคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ 

ต้องบอกคุณพ่อคุณแม่แบบนี้ก่อนนะคะว่า หากลูกเรามีพฤติกรรมแบบนี้ ที่คุมตนเองไม่ได้เวลาหัวร้อนหรือไม่พอใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจ พฤติกรรมแบบนี้เราสามารถแก้ไขได้ค่ะ เพราะเด็กๆ เขาเพียงแค่ขาดการกำกับอารมณ์ของตนเองเท่านั้น 

การกำกับอารมณ์ของตนเองคือ การที่เราเข้าใจตนเองว่า ตอนนี้ฉันรู้สึกอย่างไร และแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญมากๆ นะคะ และเป็นส่วนหนึ่งของ “จิตศึกษา” เลยค่ะ

ทำไมเด็กๆ บางคนถึงไม่สามารถกำกับอารมณ์ของตนเองได้

  1. เด็กๆ ไม่เข้าใจว่า ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นกับอารมณ์ของเขา อะไรที่ทำให้เขาไม่พอใจ 
  2. เด็กๆ ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ที่ตนเองมีอยู่ได้ คือเด็กก็รู้ว่าตนเองโกรธนะ แต่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไรดี

เราสามารถช่วยเด็กๆ ผ่านการสอนได้ แต่ถ้าหากเรามาสอนเด็กๆ เหมือนกับการให้อ่านหนังสือเรียน ทำการบ้าน เด็กๆ ก็คงรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ และไม่น่าสนใจ ดังนั้น นีทจึงมีวิธีการเล่นที่ผสมผสานระหว่าง การสอนเรื่องอารมณ์และความสนุกสนานมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ โดยนีทขอเรียกว่า 2+2 วิธีการเล่น

วิธีการเล่นเพื่อเสริมสร้างให้เด็กสามารถเข้าใจอารมณ์ของตนเองได้ดีมากขึ้น

ชุดนิทานบทบาทสมมติ คือ การที่คุณพ่อคุณแม่หาหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับอารมณ์มาเล่าให้เด็กๆ ฟัง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะหาซื้อจากร้านหนังสือทั่วไป หรือแต่งขึ้นมาเองก็ได้นะคะ โดยในขณะที่เล่า เราต้องสร้างบทบาทสมมติแห่งอารมณ์ให้เด็กได้ลองทำ คือ

  1. ให้เด็กทำท่าทาง อารมณ์ต่างๆ ตามตัวละคร เช่น ถ้าตัวละครกำลังเศร้า ก็ลองให้เด็กๆ ทำหน้าเศร้า หรือ ทำท่าร้องไห้ดู ถ้าตัวละครมีความสุขก็ให้ทำหน้ายิ้ม ถ้าตัวละครโกรธ อาจจะทำหน้าบึ้งและเอามือเท้าเอว ถ้าจะให้ดีเราควรมีกระจกเพื่อส่องให้เด็กดูใบหน้าตนเองขณะกำลังแสดงสีหน้านะคะ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจอารมณ์ผ่านสีหน้าค่ะ ว่าถ้าฉันมีสีหน้าประมาณนี้ ทำท่าแบบนี้ ฉันกำลังรู้สึกอะไรอยู่ค่ะ
  2. เวลาที่เราเล่าเรื่อง เราต้องพยายามถามเด็ก เพื่อเช็กให้ชัวร์ว่าตอนนี้ตัวละครรู้สึกอะไร และเพราะอะไรถึงรู้สึกเช่นนี้ค่ะ   

ป.ล. นอกเหนือจากนิทาน เราอาจจะหาเพลงเกี่ยวกับอารมณ์มาเปิดและให้เด็กๆ ทำท่าตามเพลง ก็เป็นการเรียนรู้เรื่องอารมณ์เช่นกันค่ะ

เช่น เพลง If You’re Happy

วิธีการเล่นเพื่อเสริมสร้างให้เด็กสามารถเข้าใจอารมณ์ของตนเองได้ดีมากขึ้น

เกมทายอารมณ์ คือ เกมที่เราจะมาทายกันว่า ถ้าหากเราแสดงพฤติกรรมแบบนี้ มันแปลว่าเรารู้สึกอย่างไรค่ะ โดยโจทย์ของการทายก็มีหลายรูปแบบเลยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น 

ทายผ่านสีหน้าและท่าทาง: เราอาจจะทำปากให้เหมือนอมลูกมะนาวอยู่ แล้วค่อยๆ ปล่อยลมออกมา พร้อมมีเสียงเฮ้อ, เราอาจจะเอามือเท้าเอวแล้วกระดิกเท้า, เราอาจจะทำท่าหาวหลายๆ รอบ เป็นต้น 

ทายจากเหตุการณ์: ฉันกำลังนั่งเรียนอยู่ดีๆ แต่ก็โดนเพื่อนดึงผมเปีย ฉันจะรู้สึกอย่างไร, ฉันตกบันได ฉันจะรู้สึกอย่างไร, วันนี้ฉันไปเจอคุณลุงหน้าตาน่ากลัวมากมาถามทาง ตอนนั้นฉันจะรู้สึกอย่างไร เป็นต้น 

ข้อดีของการเล่นเกมนี้ จะช่วยทำให้เด็กๆ สามารถเชื่อมโยงอารมณ์กับสถานการณ์ เชื่อมโยงอารมณ์กับท่าทางได้ ซึ่งการที่เด็กเชื่อมโยงได้ ก็หมายความว่าเด็กๆ เริ่มเข้าใจอารมณ์มากขึ้น รู้ถึงสาเหตุ ที่มาของอารมณ์มากขึ้นค่ะ

วิธีการเล่นเพื่อเสริมสร้างให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีมากขึ้น

Act & Stop คือ การเล่นที่เราจะมีโจทย์ (ที่คุณพ่อคุณแม่คิดเอง) มาให้เด็กแสดงอารมณ์ จากนั้น หากเราพูดคำว่า หยุด (stop) เด็กจะต้องหยุดท่าทางทันที ประโยชน์ของเกมนี้คือ การฝึกให้เด็กหัดหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมันจะช่วยในสถานการณ์จริง ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วย calm down ลดอารมณ์ของเด็ก เขาก็จะกำกับอารมณ์และหยุดอารมณ์/พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น 

เริ่มต้น เราอ่านโจทย์ว่า “ฉันโกรธมากเลยที่โดนเพื่อนล้อว่าฉันอ้วน” พอเราอ่านโจทย์เสร็จ เด็กก็จะทำท่าทางโกรธ (ขมวดคิ้ว กำมือแน่น กระทืบเท้า เป็นต้น) โดยเด็กจะทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราสั่งให้ “หยุด” เด็กก็จะต้องยืนตัวนิ่งให้ได้ หรือบางทีเพื่อความสนุกมากขึ้น เราอาจจะออกแบบท่าหยุดให้เป็นมากกว่าการยืนนิ่งๆ อาจจะเป็นให้ยืนกระต๋ายขาเดียว หรือทำท่านอน เป็นต้น  โดยเกมนี้สามารถเล่นสลับกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับเด็กๆ ได้เลยนะคะ

วิธีการเล่นเพื่อเสริมสร้างให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีมากขึ้น

Help Me A or B คือ เกมที่เราจะสอนเด็กๆ ผ่านสถานการณ์สมมติว่า หากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ฉันควรจะรับมือ หรือทำอย่างไร โดยเราจะมีโจทย์ พร้อมกับตัวเลือกมาให้เด็กๆ เลือก เป็น A กับ B (ในตัวเลือกจะมีวิธีที่ถูกและผิด) แต่ว่า ถ้าให้แค่ถามตอบอย่างเดียวเด็กๆ ก็อาจจะเบื่อ ดังนั้น เกมนี้เราจะมีคะแนนเข้าไปด้วยค่ะว่า หากใครได้ 5 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะ นั่นหมายความว่าเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมผ่านรางวัลที่เรียกว่าคะแนน เพราะเขาต้องเลือกตัวเลือกที่ถูกเท่านั้น เขาจึงจะได้คะแนน 

โจทย์สมมติ วันนี้พ่อไม่ยอมให้ฉันเล่นเกม ฉันโกรธมาก ฉันจะ 

A : กระทืบเท้า
B : ควบคุมความโกรธโดยการเป่าลมออก (การทำ relax เช่น เป่าลมออก, กำมือ-แบมือ) แล้วคุยกับพ่อดีๆ 

ซึ่งถ้าใครตอบข้อ B ก็จะได้คะแนนไป หลังจากการตอบเสร็จ เราควรชวนเด็กๆ มาเล่นบทบาทสมมติในโจทย์นี้ด้วยนะคะ โดยเราจะเป็นพ่อ แล้วให้เด็กเป็นลูก แสดงตั้งแต่ทำท่าโกรธ relax ตนเอง และคุยกับพ่อดีๆ ค่ะ

2+2 วิธีการเล่นก็น่าจะเป็นตัวอย่างการเล่นที่ส่งเสริมให้เด็กๆ กำกับอารมณ์ได้ดีขึ้นนะคะ นีทก็อยากชวนให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำวิธีเหล่านี้ไปเล่นกับเด็กๆ ดูค่ะ และเมื่อถึงสถานการณ์จริง หากเขายังกำกับอารมณ์ตนเองได้ไม่ดีนัก นีทอยากจะขอให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ ช่วยเขากำกับอารมณ์นะคะ เช่น การถามเขาว่า ตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร, ไหนลองเป่าลมเอาความโกรธออกไปซิ, มาคุยกันดีๆ ไม่ร้องไห้นะ เขาก็จะกำกับอารมณ์ได้ดีมากขึ้นค่ะ เรามาช่วยเด็กๆ ให้มีการกำกับอารมณ์ที่ดีกันนะคะ

อ้างอิง :