ศูนย์การเรียนที่ออกแบบการศึกษาบนเงื่อนไขชีวิตของเด็กๆ ในพื้นที่ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไร่ส้มเด็กๆ สามารถพาน้องมาเลี้ยงและมาเรียนด้วยได้
กลุ่มเป้าหมาย : เป็นเด็กกลุ่มเปราะบาง เหมือนไม่มีตัวตนในสังคม ไม่ได้รับสวัสดิการอะไรจากภาครัฐ
สลายปมในและนอกระบบ | ตอบโจทย์ชีวิตจริง | เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ |
-ผสมผสานทั้งการเรียนรู้นอกระบบและตามอัธยาศัย | -เน้นทักษะชีวิตเป็นหลัก โดยมีกิจกรรมต่างๆ ถึง 9 ชมรมให้เรียนรู้ เด็กมีอิสระที่จะเลือกในสิ่งถนัดและสนใจ ทั้งยังนำไปประกอบอาชีพได้ด้วย เช่น การทำขนม ที่จะอิงกับผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ซึ่งเป็นไร่ส้ม อาทิ แยมส้ม เค้กส้ม ขนมปังส้ม | – การเรียนรู้ที่สนุก มีความสุข ทำให้เด็กอยากมาเรียน-มองว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ -ไม่ดุเด็กหรือใช้ความรุนแรง เพราะจะปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็ก |
วีระ อยู่รัม
ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
ถ้ารัฐไม่สามารถดูแลเด็กทุกคนให้เรียนจบภาคบังคับ เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วจะไปอยู่ตรงไหน เด็กที่ไม่จบการศึกษา ไปทำงานไม่ได้เพราะไม่มีวุฒิ กลายเป็นการส่งมอบความจนเป็นมรดกให้กับลูกหลาน การศึกษารูปแบบศูนย์การเรียนที่เราทำอยู่นั้นเราพยายามให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ จึงไม่มีค่าใช้จ่าย
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีมานานแล้ว เรามีนโยบายเรียนฟรีแต่ค่าใช้จ่ายที่จะไปเรียนในแต่ละวันมากพอสมควร คนที่เข้าถึงระบบการศึกษาส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไป คนที่ไม่มีต้นทุนที่จะไปต่อก็จะมาเรียนรู้ตามธรรมชาติ หรืออาจจะได้ยินคำว่า “ป่าชุมชน” ซึ่งเป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ บางคนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ แต่ไม่เคยเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง โรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ถ้าไม่สอนเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ แล้วเด็กจะนำกลับมาใช้ได้อย่างไร ถ้าไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงก็แค่ไปเรียนเพื่อให้มันผ่านๆ แต่ถ้ามาเรียนในสิ่งใกล้ตัว เช่น การรักษาพื้นที่ป่า เด็กจะเรียนรู้ว่าพอเขาเกิดมา ผู้ใหญ่จะนำสะดือไปฝังอยู่ใต้ต้นไม้ และต้นไม้ต้นนั้นจะไม่โดนตัดเลย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมความเชื่อ
ทลายกรอบระบบการศึกษา
ศูนย์การเรียนไร่ส้มเปิดมาได้ 5 ปี การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมที่เห็นได้ชัดคืออารมณ์กับพฤติกรรมของเด็ก หลายคนบอกว่าเด็กที่นี่ไม่เครียด ดูมีความสุขกับการเรียน เด็กเข้าหาทุกคนแบบไม่กลัวใคร กล้าที่จะสื่อสารและนำเสนอสิ่งที่คิด
เด็กที่นี่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานแรงงานเคลื่อนย้ายและเป็นแรงงานนอกระบบ เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบางและเหมือนไม่มีตัวตนในสังคม ไม่ได้รับสวัสดิการอะไรจากภาครัฐ นอกจากนี้เด็กยังมีความหลากหลายทางอายุ การนำเด็กอายุต่างกันมาเรียนรวมกันจึงเป็นเรื่องยาก เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องความยากจนที่ส่งต่อกัน มีภาระต้องดูแลน้อง ไม่สามารถมาเรียนได้ เราจึงต้องหาวิธีดึงเด็กเข้าระบบ เช่น อนุญาตให้พาน้องมาเรียนด้วย เด็กบางคนต้องย้ายตามพ่อแม่ไปอีกจังหวัด เราก็มีหน้าที่ส่งต่อให้เด็กเข้าสู่ระบบ เพราะถ้าไม่ทำเด็กจะหลุดจากระบบการศึกษาทันที
ที่นี่ทลายกรอบตั้งแต่เราเป็นการเรียนรู้นอกระบบและตามอัธยาศัย เราพยายามทำโรงเรียนเพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงได้ จึงไม่มีค่าใช้จ่าย ประการต่อมาเป็นการเรียนรู้ที่สนุก เรียนแล้วเด็กสามารถที่จะคิดเองได้ ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน
คำว่าสนุกคือเราพยายามออกแบบการเรียนที่สามารถออกนอกห้องเรียนได้ จะเป็นการนั่งเรียนนอนเรียนก็ได้ ภายนอกห้องเรียนมีพื้นที่เป็นทุ่งนา แปลงผัก ให้เด็กทำกิจกรรม สนุกและเรียนรู้ไปด้วยกัน จะไม่กดดันให้เด็กต้องมานั่งท่องจำอย่างเดียว เด็กยังสามารถมีทักษะชีวิตเพื่อใช้ในอนาคตได้ ไม่ใช่เพียงแค่ทลายกรอบความเหลื่อมล้ำของเด็กที่มีต้นทุนน้อยเท่านั้น แต่ยังทลายกรอบระบบการศึกษาเดิม ถือว่าเป็นการศึกษาทางเลือกที่แท้จริง เราให้การศึกษาทางเลือกใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา เพิ่มโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้
ทลายกรอบความเป็นครู
นอกจากเรื่องการศึกษา ครูของเรายังช่วยเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตของนักเรียนด้วย มีเด็กคนหนึ่งเป็นเด็กพิเศษ เข้ามาเรียนตั้งแต่อนุบาล ตอนนี้ก็ยังพูดไม่เป็นคำแต่เราพยายามให้สื่อสารได้ เด็กคนนี้ยังไม่มีสัญชาติ พ่อแม่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เราจึงช่วยดำเนินเรื่องกับอำเภอเพื่อขอยื่นการได้สัญชาติไทยแล้วก็พาไปขึ้นทะเบียนผู้พิการ เพื่อจะได้สิทธิรับเบี้ยผู้พิการรายเดือน กรณีนี้คือการช่วยเหลือเด็กนอกเหนือจากเรื่องการศึกษาเพื่อที่เขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่สถานะที่ดีกว่าในอนาคต
ทลายกรอบความคิดของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองบางคนคาดหวังว่าเด็กเข้ามาเรียนศูนย์การเรียนแล้วจะได้ใส่ชุดนักเรียน มีหนังสือเรียน แต่พอเจอเด็กไม่มีชุดนักเรียน เขารู้สึกว่าทำไมลูกไม่เหมือนเด็กที่เรียนโรงเรียนอื่น หรือคิดว่าโรงเรียนนี้ทำไมมีแต่การเล่น ไม่มีการสอน ซึ่งจริงๆ แล้วเราอยากให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยของเขา
เราใช้วิธีชวนผู้ปกครองมาทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน เช่น กิจกรรมดำนา กิจกรรมเกี่ยวข้าว กิจกรรมหาปลา เราจะเชิญผู้ปกครองมาโรงเรียนแล้วให้เด็กทำอาหาร จะได้เห็นว่าลูกทำอาหารเป็นแล้ว กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ อะไรที่เห็นแล้วจับต้องได้ เขาก็จะมีความเชื่อมากขึ้น เราค่อยๆดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเหล่านี้ พยายามออกแบบกิจกรรมระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียนร่วมกัน
ความท้าทายของการจัดการเรียนการสอน
1. ขาดแคลนงบประมาณ รัฐอนุญาตให้จัดตั้งศูนย์การเรียน แต่ไม่มีงบประมาณหรือสวัสดิการให้เลย จึงต้องหาทุนเองทั้งหมด ต้องจัดการเรียนการสอนบนข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ
2. เด็กที่อายุต่างกันมาเรียนชั้นเดียวกัน เช่น ป.1 มีเด็กอายุ 7 -15 ปี ซึ่งเด็กเล็กกับเด็กโตพัฒนาการจะต่างกัน ต้องออกแบบหลักสูตรใหม่อีกครั้งเพื่อให้การเรียนมีประสิทธิภาพที่สุด
3. ข้อจำกัดเรื่องภาษา เด็กบางคนพูดภาษาไทยไม่ได้เลย เพราะว่าภาษาไทยไม่ใช่ภาษาแม่ของเขา พอพูดและอ่านไม่ได้ เขาก็ไม่อยากเรียนแล้ว ครูสอนอะไรก็ไม่เข้าใจ ต้องพัฒนาการสอนเรื่องภาษาไทยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต
4. บริบทของครอบครัวเด็ก เราทำงานกับลูกหลานแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ บางคนมาเรียนเทอมเดียวก็ต้องย้ายตามครอบครัวไป เราต้องมาดูว่าเด็กกลุ่มไหนมีความเสี่ยงที่จะไปก่อน และออกแบบการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มนี้ให้เหมาะสม