รวมภาคีเครือข่าย ร่วมแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

รวมภาคีเครือข่าย ร่วมแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

เป้าหมายในการพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ให้ได้รับการเสริมศักยภาพการอ่านการเขียนภาษาไทยเพิ่มเติมจากการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตคือสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำ จนเกิดโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้สำหรับเด็กที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ พร้อมช่วยพัฒนาครูและโรงเรียน ตชด. ยกระดับศักยภาพบุคลากร หลักสูตร อุปกรณ์การเรียนการสอน และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการศึกษา

หน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิ สภากาชาดไทยองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.), มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี, คณะศึกษาศาสตร์และผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียน ตชด. ตะโกปิดทอง และ โรงเรียน ตชด. บ้านถ้ำหิน อันเป็นโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อศึกษาการดำเนินงานโครงการ และร่วมกันแลกเปลี่ยนหาวิธีการสร้างระบบช่วยเหลือในระยะยาวยั่งยืน

นายกฤษฎา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัด

นายกฤษฎา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเยาวชนในถิ่นทุรกันดารว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งขาดเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ภาษาไทย 2.กลุ่มเด็กที่ใช้ภาษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นภาษาหลักในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังสามารถเข้าถึงสื่อที่ช่วยส่งเสริมให้เรียนรู้ภาษาไทยด้วยตนเองได้ และ 3.กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องระดมหน่วยงานที่มีองค์ความรู้เฉพาะทางและครูผู้มีจิตอาสาเข้ามาช่วยพัฒนาส่งเสริมการสอนภาษาไทยในโรงเรียน รวมถึงเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาในพื้นที่มาช่วยสนับสนุน เพื่อมองไปถึงการวางระบบสอนภาษาไทยที่ไม่ใช่เพียงในช่วงระยะเวลาที่จัดทำโครงการ แต่จะต้องตอบโจทย์รองรับเด็กกลุ่มนี้ในอนาคตได้ด้วย

 

ขาดครูผู้ชำนาญด้านการสอนภาษาไทยโดยตรง

                                                                     นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี 

ทางด้าน  นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นำเสนอแนวทางการดำเนินงานว่า ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในพื้นที่เป็นผลสืบเนื่องจากการขาดครูผู้สอนที่ชำนาญด้านการสอนภาษาไทยโดยตรง การพัฒนาเด็กกลุ่มนี้จึงต้องอาศัยครูที่มีทักษะการสอนที่ดี ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ในเวลาสั้น ๆ และควรต้องเป็นครูอาสาที่อยู่ในพื้นที่ หรือครูภาษาไทยที่เกษียณอายุแล้ว ที่สำคัญคือโครงการต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง มีการประเมินผลในทุก 1-2 เดือน ว่าเด็กมีพัฒนาการการอ่านเขียนดีขึ้นอย่างไร

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คณะกรรมการสภากาชาดไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คณะกรรมการสภากาชาดไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ประสานงานของโครงการ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการระดมบุคลากรด้านการศึกษาจากหลากหลายหน่วยงานมาร่วมสำรวจพื้นที่ ติดตามโครงการ และช่วยขับเคลื่อนขยายผลโครงการในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยคณะทำงานต้องคำนึงถึงบริบทพื้นที่ และสร้างรูปแบบที่เหมาะสมในการวางหลักสูตร จัดหาครูอาสาหรือเสริมศักยภาพของครูประจำโรงเรียน เพื่อให้งานเดินต่อไปได้เอง ขณะที่โครงการฯจะช่วยในเรื่องการเสริมสมรรถนะและเติมเต็มในส่วนที่พื้นที่ขาดแคลน

 

สร้างรูปแบบการพัฒนาโรงเรียน ตชด. ทั้งระบบ

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กสศ. ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสห่างไกล
ให้ได้รับการศึกษาและการพัฒนาตัวเองที่เหมาะสม ได้สร้างรูปแบบการพัฒนาโรงเรียน ตชด. ทั้งระบบ และได้ดำเนินงานมาแล้วเป็นเวลา 2-3 ปี โดยทดลองกับโรงเรียน ตชด. 50 โรงเรียน ซึ่งได้มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในพื้นที่

ทั้งนี้ การดำเนินงานของแต่ละโรงเรียนจะออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่แท้จริง และให้อิสระกับครูในโรงเรียนในการช่วยคิดวิธีการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยมีทีมพี่เลี้ยงเป็นฝ่ายช่วยสนับสนุน ขณะที่นอกจากพัฒนาเด็กและหลักสูตรแล้ว หลักการทำงานของโครงการฯคือจะต้องส่งเสริมให้ครูพัฒนาตนเอง เช่น ศึกษาเพิ่มเติมให้ได้วุฒิการศึกษา หรือจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสอนหรือการใช้เทคโนโลยี

“การทำงานของ กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง แบ่งเป็น 3 ส่วน คือประสานงานกับทีมพี่เลี้ยง พัฒนาโรงเรียน และพัฒนาครู ซึ่งเรามีแผนในการจัดทำหลักสูตรพิเศษให้ครูโรงเรียน ตชด. ได้เข้าเรียนกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันกับครูในสังกัดอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนให้ครูได้เรียนถึงระดับปริญญาตรี สอบใบประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งตอนนี้เราทำอยู่ใน 50 โรงเรียน และมี 6 มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค” ดร.อุดม กล่าว

 

หลังโครงการ ‘อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แก้ง่ายนิดเดียว’ นักเรียนส่วนใหญ่มีพัฒนาการอ่านเขียนดีขึ้น

ขณะที่ ร.ต.ต.ชนินทร์ ถนนกลาง ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. ตะโกปิดทอง และ ด.ต.หญิง มาลินนา สังข์แก้ว ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. บ้านถ้ำหิน ได้รายงานสถานการณ์ถึงประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการ ฯ ว่า หลังจากที่ กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จัดการพัฒนาการเรียนการสอนในชื่อโครงการ ‘อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แก้ง่ายนิดเดียว’ โดยมี 2 โรงเรียน ตชด. ใน อ.สวนผึ้ง เป็นโรงเรียนนำร่อง ด้วยหลักสูตรการสอนเสริมการอ่านการเขียนภาษาไทย ในระดับชั้น ป.2-ป.6 เป็นเวลา 90 ชั่วโมง ในระยะเวลา 4 เดือน

เบื้องต้นทางโรงเรียนได้คัดเลือกครูประจำโรงเรียนที่มีทักษะภาษาไทยที่ดีในระดับหนึ่ง มาเป็นครูอาสาแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยจัดการเรียนการสอนให้กับกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่านเขียนต่ำกว่าเกณฑ์ วันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งผลปรากฏว่า หลังผ่านกระบวนการมาได้ครึ่งทางนักเรียนส่วนใหญ่มีพัฒนาการอ่านเขียนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังพบข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ ครูอาสายังมีทักษะความรู้และเทคนิคการสอนภาษาไทยไม่เพียงพอ หรือการใช้วิธีโยกครูประจำมาสอนเสริมภาษาไทยให้เด็กกลุ่มนี้ ทำให้ชั้นเรียนอื่นต้องขาดครูไป นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การรวมกลุ่มเด็ก ๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลให้โครงการยังบรรลุไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ 100% เต็มที่