สอนตั้งแต่เกิด-มัธยมศึกษา วิชา “ถนนปลอดภัย” ในห้องเรียนฟินแลนด์
โดย ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

สอนตั้งแต่เกิด-มัธยมศึกษา วิชา “ถนนปลอดภัย” ในห้องเรียนฟินแลนด์

อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทยสูงลิ่วจนแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว ด้วยตัวเลขและข่าวใหญ่ในสัปดาห์นี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะฉายภาพตัวอย่างการให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ และกิจกรรมต่างๆ ว่าด้วยเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับจราจร

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ถือว่าอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนต่ออัตราประชากร 100,000 คนต่อปี คือ 5 คน หมายความว่า ถ้าฟินแลนด์มีประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน หนึ่งปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 275 คน ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทยที่มีอัตราการเสียชีวิตถึง 32.7 คนต่อประชากร 100,000 คน จากจำนวนประชากรประเทศไทยคือ 69.8 ล้านคน จะมีผู้เสียชีวิตจากการจราจรถึงปีละ 22,825 คน 

แต่ทว่าฟินแลนด์ไม่ได้มีสถิติการเสียชีวิตที่ต่ำมาตั้งแต่แรก ซ้ำยังเป็นประเทศที่เกือบจะเป็นจุดด่างพร้อยของสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของยุโรป เพราะในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ฟินแลนด์มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนถึง 1,200 รายต่อปี ซึ่งมากกว่าปัจจุบันถึง 4 เท่า จนต้องตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยการจราจร และองค์กรอย่างสภาด้านความปลอดภัยบนท้องถนนเพื่อทำงานเรื่องนี้ และแน่นอนว่านี่รวมถึงงานด้านการศึกษาด้วย

หลักการจัดการเกี่ยวกับการทำงานด้านความปลอดภัยทางจราจรผ่านการศึกษาคือ การใช้วิธีออกแบบที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  เน้นการปฏิบัติและผู้เรียนได้ประเมินตนเองโดยเริ่มตั้งแต่เด็กวัย 0 ขวบเป็นต้นไป

แรกเกิด-3 ปี – โดยสารปลอดภัย

ศูนย์อนามัยมารดาจะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับความรู้และข้อมูลของการดูแลเด็กเมื่ออยู่ภายในยานพานะ โดยเจ้าหน้าที่ในอนามัยจะได้รับการฝึกอบรมให้ใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอคลิป สไลด์ และข้อเขียนต่างๆ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อให้กับบรรดาคุณแม่ที่มาฝากครรภ์ และเมื่อเข้าไปเยี่ยมแม่ลูกอ่อนที่บ้าน หัวข้อของการฝึกอบรม เช่น

  • จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อเด็กเล็กเป็นผู้โดยสารอยู่ในยานพาหนะและเกิดอุบัติเหตุ
  • การขับขี่อย่างปลอดภัยเมื่อมีเด็กเล็กอยู่ในรถ
  • วิธีการใช้คาร์ซีทที่ถูกต้อง
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขับรถเมื่อมีเด็กโดยสาร

4-7 ขวบต้องไปโรงเรียนแล้วสิ

เมื่อเด็กต้องเริ่มเดินทางไปโรงเรียน โครงการเด็กกับการจราจรจึงเริ่มต้นขึ้น โครงการนี้พัฒนาด้วยความเชื่อว่าพ่อแม่ยังมีบทบาทสำคัญมากในชีวิตลูกวัยนี้ เนื้อหาจึงเป็นการพัฒนาร่วมกันผ่านองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยจราจรและการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน พ่อแม่จะได้รับหนังสือแนะนำเกี่ยวกับ

  • ความสามารถของเด็กแต่ละช่วงวัยในเรื่องพฤติกรรมเกี่ยวกับการจราจร
  • วิธีการเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อฝึกให้ลูกมีพฤติกรรมที่ปลอดภัยบนท้องถนน
  • ตัวอย่างว่าเด็กๆ ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่ออยู่บนท้องถนน
  • สิ่งที่ต้องทำและปัญหาที่พบสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย 

เด็กๆ วัยนี้จะเริ่มทำกิจกรรมได้บ้างแล้ว ดังนั้นสมุดกิจกรรมของเด็กในโครงการนี้จึงถูกออกแบบมาช่วยเด็กๆ ให้พัฒนาทั้งความรู้และทักษะเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

  • การวาดรูประบายสีเพื่อฝึกสังเกตสิ่งต่างๆ
  • เรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์จราจรรูปแบบต่างๆ
  • กิจกรรมเกี่ยวกับการใช้หมวกกันน็อกขี่จักรยานอย่างถูกต้อง
  • ลักษณะพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย

ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนจะสามารถขอสื่อต่างๆ เหล่านี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนั้นยังมีสัปดาห์เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนที่จะจัดกิจกรรมขึ้นโดยศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรทางการศึกษาและพ่อแม่ในการสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก

ประถมศึกษา

การศึกษาภาคบังคับของฟินแลนด์ระบุเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นหนึ่งในหัวข้อที่โรงเรียนทุกโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน ทำผ่านสมรรถนะ “การดูแลตนเอง” จึงทำให้สามารถบูรณาการวิชาอันหลากหลายได้ เด็กวัยเริ่มเข้าโรงเรียน (7-8 ปี) ยังควรเน้นย้ำถึงความปลอดภัยจากสิ่งรอบตัวเด็กๆ เช่น การใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยทั้งเวลาที่เดินเท้าและเวลาที่ปั่นจักรยาน เมื่อโตขึ้น (9-12 ปี) จะเน้นที่การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการขี่จักรยานให้ปลอดภัย มีการสอนทักษะเกี่ยวกับการใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น การสอนให้รู้จักสัญลักษณ์ต่างๆ บนท้องถนน

โครงการเกี่ยวกับการฝึกอบรมเรื่องการจราจรที่มีโรงเรียนประถมและมัธยมเข้าร่วมถึง 850 แห่งได้ฝึกอบรมให้ครูสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แยกตามอายุของนักเรียนได้ โดยหัวข้อและวิธีจัดกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับการออกแบบของครูแต่ละคน โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  • บทเรียนที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับมุมมอง การแสดงความเห็นต่อพฤติกรรมการขับขี่ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตบนท้องถนนในหมู่เด็กและวัยรุ่น
  • การจำลองสถานการณ์จากชีวิตจริงเรื่อง “ฉันจะตกลงนั่งรถไปกับคนขับที่เมาอยู่ดีไหม”
  • ทำลายมายาคติเกี่ยวกับพฤติกรรมบนท้องถนนด้วยการสำรวจเชิงความเห็น
  • การสาธิตให้เห็นถึงประโยชน์ของ reflector หรืออุปกรณ์เรืองแสงติดตัวและหมวกกันน็อกจักรยาน
  • การวิเคราะห์เรื่องจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน

มัธยมศึกษา

เมื่อเข้าสู่วัยมัธยม นักเรียนต้องเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบและพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติเพื่อให้ตนเองและผู้ที่อยู่ร่วมกันบนท้องถนนปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มขี่จักรยานยนต์ขนาดเล็กที่ทำความเร็วสูงสุดได้ 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือ Moped ซึ่งเป็นที่นิยมในนักเรียนวันนี้ โดยนักเรียนต้องเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ และการไม่ขับขี่เมื่อมีอาการมึนเมา 

การขับขี่ Moped นั้นผู้ขับขี่ต้องเข้าอบรม 6 ชั่วโมงเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ในการขับขี่และการจราจร การใช้อุปกรณ์ที่จำเป็น การขับขี่ข้ามแยก (2 ชั่วโมง) และอีก 3 ชั่วโมงที่ต้องฝึกขับจริง สุดท้ายต้องทดสอบก่อนได้มาซึ่งใบอนุญาตขับขี่ Moped ในโรงเรียนจึงต้องจัดกิจกรรมบูรณาการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับขี่ Moped ด้วย

นอกจากนั้นยังมีโครงการชอล์กสีแดงที่จะเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ผลที่ตามมา และพฤติกรรมที่ปลอดภัย การทำงานจะร่วมกันระหว่างโรงเรียนสภาด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เทศบาล ตำรวจ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจราจร โดยใช้วิดีโอคลิปที่นำเสนอสาเหตุต่างๆ ของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับตำรวจ เจ้าหน้าที่กู้ภัย และสรุปโดยการแลกเปลี่ยนกับครูผู้รับผิดชอบโครงการ

ชัดเจนมากๆ ว่าห้องเรียนถนนปลอดภัยของฟินแลนด์อยู่ทุกที่ทั้งในบ้าน โรงเรียน ในชุมชน ผ่านความร่วมมือขององค์กรอันหลากหลายเพื่อทำให้สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลง

อ้างอิง : Report: Trafrfic Education and Information Campaigns in Finland by Antero Lammi (Finnish Road Safety) and Mika Hatakka (Research and Training Huumani Ltd.)