โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) จังหวัดสมุทรสาคร เป็นอีกโรงเรียนต้นแบบของ “สมุทรสาครโมเดล” ซึ่งแม้จะต้องปิดเรียนช่วงล็อกดาวน์ยาวนานกว่าโรงเรียนในจังหวัดอื่น แต่ผลคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนจากการสอบ NT และ O-NET ปีล่าสุด กลับออกมาสูงกว่าระดับคะแนนเฉลี่ยของทั้งประเทศ
ไม่เพียงแค่รูปแบบการเรียนการสอน ทั้งออนไลน์ ออนแฮนด์ ออนดีมานด์ ที่พยายามดึงเด็กให้กลับมาสนใจการเรียนในระบบทางไกลที่มีอุปสรรคข้อจำกัดมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งยังมีระบบติดตามดูแลเด็ก ทำให้คุณครูเข้าใจถึงสภาพปัญหาและเข้าไปช่วยแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
“ผลสอบออกมาเราก็โล่งใจ ตอนแรกก็คิดแค่ขอให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ส่วนเป้าหมายไม่ได้มองไปถึงผลสัมฤทธิ์ระดับชาติ แต่สิ่งที่ออกมาก็เป็นผลพวงที่เราทุ่มเทไปจนเด็กได้คะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ และเด็กสอบเข้า ม.1 ในโรงเรียนมีชื่อเสียงระดับจังหวัดได้”
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า หากเราใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงเด็กๆ ย่อมทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่ในช่วงล็อกดาวน์ที่ต้องเรียนออนไลน์เป็นหลัก
สอนแบบ Makerspace และ STEAM Design Process
หยุดยาวนานช่วงล็อกดาวน์แต่ผลการเรียนดีขึ้น
โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กองทุนเพื่อความเสมอภาค (กสศ.) โดยมีทีมโค้ชจากมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมมาเป็นพี่เลี้ยง นำกลไก Makerspace และ STEAM Design Process มาใช้เสริมการเรียนการสอน
ครูมิน-มินตรา กะลินตา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ เล่าให้ฟังว่า ช่วงล็อกดาวน์ทางโรงเรียนต้องออกแบบการเรียนทางไกลทุกรูปแบบ
“จากเดิมที่เด็กจะต้องเรียนตามที่ครูกำหนด แต่ตอนนี้เด็กๆ จะสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียนผ่านฐาน Makerspace ทุกวันอังคารตอนบ่ายสามชั่วโมง ทั้งดนตรี ศิลปะ ทำอาหาร ประดิษฐ์ หากเรียนแล้วไม่ชอบก็เปลี่ยนได้ไม่จำกัด ตรงนี้จะทำให้เขาได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ไม่ใช่ถูกบังคับให้เรียน”
อีกด้านหนึ่งในวิชาพื้นฐาน เช่น อังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ก็จะใช้ STEAM Design Process ให้เด็กได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง ได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ ทำงานเป็นทีม ครูจะทำหน้าที่เป็นคนคอยชี้แนะ ไม่ใช่คนบอกให้เขาท่องจำอีกต่อไป
“สิ่งที่เกิดกับเด็กคือ เขาจะสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง เพราะความรู้ไม่อยู่แค่ในห้องเรียน หรือแค่มาจากครู แต่เขาสามารถหาความรู้จากทุกที่ จากอินเทอร์เน็ต จากยูทูบ จากเกมที่เขาเล่น ครูเองก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจากที่เขียนกระดานหน้าห้องมาเป็นการวางแผนกิจกรรม ว่าจะสอนอะไร ด้วยรูปแบบใดที่แตกต่างกัน บางห้องมีเด็กพิเศษจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคุณครูที่จะออกแบบออกแรงมากขึ้น” ครูมินกล่าว
เด็กที่เรียนออนไลน์ไม่ได้ก็จะมีออนแฮนด์เป็นใบงานแบบฝึก กล่อง “เลิร์นนิ่งบ็อกซ์” และออนดีมานด์ที่ครูอัดคลิปการสอนให้นักเรียนที่มีอุปกรณ์ แต่ไม่สามารถเข้าเรียนตอนนั้นให้สามารถมาดูย้อนหลังได้
ทั้งหมดไม่มีรูปแบบตายตัว เป็นอิสระของคุณครูที่จะออกแบบการเรียนการสอนของตัวเอง โดยมีผู้อำนวยการคอยติดตามนิเทศ ดูว่าใช้สื่ออะไร ผลออกมาอย่างไร และคอยให้คำแนะนำปรับปรุง
ล่าสุดโรงเรียนเริ่มเปิดกลับมาสอนปกติ มีบางส่วนมาเรียนออนไซต์ แต่บางส่วนยังเรียนออนไลน์ ทำให้ครูก็ต้องสอนทั้งออนไซต์ ออนไลน์ ออนดีมานด์ ออนแฮนด์
“เรียนออนไลน์เด็กสนใจน้อยอยู่แล้ว เพราะนักเรียนไม่อยู่ที่เดียวกัน ต่างคนต่างอยู่กันคนละที่ ช่วงแรกของการจัดการเรียนออนไลน์โรงเรียนกลัวเด็กเครียดแล้วจะไม่เข้ามาเรียน ครูก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร โดยเน้นการสอนให้แอคทีฟ ให้เด็กได้คิดหาคำตอบ ต่อยอดจาก STEAM Design Process
อีกทั้งหากให้เด็กทำใบงานเยอะๆ เขาก็จะทำไม่ทัน แล้วก็ไม่ส่งเลย เราก็ปรับมาเป็นกิจกรรมออนไลน์บ้าง ในห้องไลน์บ้าง ให้เขาตอบคำถาม เล่นเกม ให้เขาสนุก มีส่วนร่วม ก็จะไม่หายไปไหน”
ติดตามดึงนักเรียนที่หลุดหายกลับมาสู่ระบบอย่างใกล้ชิด
บางคนไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์ ครูก็จะใช้ระบบออนแฮนด์ ให้ใบงาน หรือมี “เลิร์นนิ่งบอกซ์” ใส่อุปกรณ์ ให้ไปทำกิจกรรมที่บ้าน บางคนมีอุปกรณ์ แต่ต้องรอผู้ปกครองกลับจากทำงานก่อนถึงจะได้เรียน แต่ถ้าวันไหนกลับดึกก็ไม่ได้เรียน ครูก็จะอัดเป็นคลิปเสริมเป็นออนดีมานด์ ให้เด็กได้ดูย้อนหลังได้
สิ่งสำคัญคือ ทั้งครูประจำชั้น ครูประจำวิชาจะคอยสังเกตว่านักเรียนคนไหนหายไป ไม่เข้าเรียน ก็จะสอบถามไปยังผู้ปกครอง ทั้งโทรศัพท์ไปสอบถาม หรือไลน์ไปหา ยิ่งช่วงเรียนออนไลน์นี่หายง่าย ต้องติดตามใกล้ชิดว่าใครไม่เข้าเรียน บางสัปดาห์หายไป 3-4 วัน ครูประจำชั้นก็จะต้องตามกับผู้ปกครองว่าหายไปไหน
ปัจจุบันโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดตามปกติ มีนักเรียนบางส่วนเริ่มกลับมาเรียนออนไซต์ ทางโรงเรียนได้ติดตามพบว่านักเรียนส่วนใหญ่กลับมาเรียนเกือบครบ
และนี่คืออีกเรื่องราวความสำเร็จจาก “สมุทรสาครโมเดล”