การเรียน “ออนไลน์” และ “ออนแฮนด์” ช่วงหยุดล็อคดาวน์หลายเดือนที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของความรู้ถดถอย ระเบียบวินัย ตลอดจนพฤติกรรมการเข้าสังคม
ปัญหานี้ถือโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางแก้ไขในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดยังคงคงกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ และมีหลายโรงเรียนที่ยังไม่อาจเปิดทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ตามปกติ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าปัญหานี้จะลุกลามบานปลายส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่
กลัวเด็กไม่ได้ “เรียนรู้” มากกว่ากลัว “โควิด”
โรงเรียนบ้านหนองกุลา จ.พิษณุโลก เป็นอีกหนึ่งในโรงเรียนที่เผชิญกับสภาพปัญหาดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทั้งผู้บริหาร คุณครูและฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้พร้อมใจกันเข้ามาช่วยกันวางแผนการทำงานจนเกิดเป็น Sandbox ทดลองเปิดเรียนออนไซต์อีกครั้งเพื่อเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็ก ๆ
“โควิดก็กลัวแต่กลัวเด็กไม่เกิดการเรียนรู้มากกว่า เพราะโควิดเรายังมีมาตรการป้องกันได้ แต่จากช่วงปิดเรียนเทอมหนึ่งเด็กต้องไปเรียนออนไลน์ทั้งเทอม พอกลับมาเปิดเรียนเราพบเด็กความรู้ถดถอยไปมาก เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวเพราะเล่นเกมเยอะ ดื้อ เด็กป. 1 ป.2. ยังสะกดคำไม่ได้ ไม่อยากเรียนรู้ พอเทอมสองเปิดได้สักพักก็ต้องมาปิดใหม่อีกรอบเพราะพื้นที่ห่างออกไปสัก 4 กิโลเมตรพบผู้ติดเชื้อ แต่ทางโรงเรียนประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่ายังสามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้และจะเป็นประโยชน์กับตัวนักเรียนมากกว่าการปิดโรงเรียนอีกครั้ง
โจทย์ใหญ่ คือสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นความปลอดภัย
ดร.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองกุลา อธิบายว่า ทางจังหวัดส่งต่อให้การตัดสินใจเปิดปิดโรงเรียนเป็นเรื่องของทางพื้นที่ ซึ่งบางโรงเรียนก็ปิดเพราะไม่อยากไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยไม่อยากให้ลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนเพราะกว่าจะเสี่ยงติดเชื้อกลับไป ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วโรงเรียนสามารถวางแผนการจัดการเปิดเรียนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ แต่เรื่องใหญ่คือการต้องไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เขามั่นมั่นใจ
”ลึก ๆ แล้วผู้ปกครองเขาก็อยากให้ลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียน แต่ยังมีความรู้สึกกลัวเพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทางโรงเรียนจึงจัดแซนด์บอกซ์เปิดโรงเรียนให้เด็กกลับมาเรียนออนไซต์อย่างปลอดภัย เริ่มจากการวางแผนที่ได้รับความร่วมมือจากทางสาธารณสุข รพสต.ที่ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนมีคุณหมอมาร่วมประชุมกับทั้งกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ครู จนออกมาเป็นมาตรการที่มีความเข้มแข็งพอจะเปิดเรียนได้อีกครั้ง ทั้งมาตรการคัดกรองประเมินความเสี่ยงและแนวทางปฏิบัติที่เป็นระบบชัดเจนปลอดภัย”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมวางมาตรการปฏิบัติเคร่งครัด
ที่สำคัญคือบุคลากรในโรงเรียนฉีดวัคซีนกัน 100% เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีด 99% แล้ว ขณะที่ห้องเรียนก็ปรับขนาดมาเป็นห้องเรียนที่มีเด็กไม่เกิน 25 คนต่อห้องเพื่อการเรียนรู้เชิงรุกทางวิชาการตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ปลอดภัยต่อการจัดห้องเรียนตามมาตรการระยะห่างทางสังคม ต่างจากโรงเรียนอื่นที่เขามีนักเรียนห้องละ 30-40 คน
การจัดการเรียนการสอนแต่ละห้องก็จะจัดตามมาตรการความปลอดภัย มีการเฝ้าระวัง ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือ รักษาระยะห่างในการเรียน ซึ่งทั้งหมดมีหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขมาร่วมออกให้คำแนะนำจึงมั่นใจได้ว่าจะเกิดความปลอดภัยกับเด็ก ๆ
วางแผนรับมือกรณีฉุกเฉิน ปิดเฝ้าระวังเฉพาะห้องเรียนที่พบความเสี่ยง
นอกจากนี้ยังมาตรการที่กำหนดไว้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ครอบคลุมไปถึงกรณีที่พบนักเรียนที่มีความเสี่ยงก็จะให้ไปตรวจหาเชื้อในทันที หากผลออกมาไม่ติดเชื้อก็ยังให้นักเรียนห้องนั้น ๆ หยุดเรียน 2 สัปดาห์ไปเฝ้าติดตามอาการ เมื่อครบกำหนดก็จะตรวจเชื้อ ATK อีกครั้งก่อนจะกลับมาเรียนตามปกติ โดยไม่ต้องปิดเรียนทั้งโรงเรียน
“ความสำเร็จของมาตรการนี้อยู่ที่ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยกันสอดส่องดูแลกันและเพื่อให้เกิดความมั่นใจของทุกฝ่าย เช่นคนในครอบครัวมีใครเสี่ยงก็จะคอยรายงานในกรุ๊ปไลน์ที่จะมีทั้งครูผู้บริหาร กรรมการสถารศึกษา ที่คอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาคอยให้ความช่วยเหลือ หากเจอเคสไหนมีความเสี่ยงผู้ปกครองก็จะมารับเด็กกลับบ้านได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ชม.ทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว”
ติดตามสอนเสริมเด็กที่ไม่ได้มาเรียนออนไซต์ที่โรงเรียน
ผอ.วรรณลักษณ์ มองว่า ปัจจัยการทำงานที่ยากที่สุดคือการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพราะบางคนถูกทำให้เกิดความกลัวในช่วงแรก ๆ พอเกิดการระบาดในพื้นที่อื่นก็กลัวไม่อยากพาลูกเข้ามาเรียน หรือเห็นโรงเรียนอื่นเขามีคำสั่งปิดเรียน ก็ให้ลูกหยุดเรียนอยู่กับบ้านบ้าง ทั้งที่สถานการณ์และบริบทของโรงเรียนแต่ละแห่งแตกต่างกัน ผลสุดท้ายการหยุดอยู่บ้านนาน ๆ ก็ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์การเรียนรู้ถดถอยรุนแรงมากขึ้นทางโรงเรียนก็ต้องคอยไปชี้แจงกับผู้ปกครองเพื่อให้เกิดความมั่นใจและพาบุตรหลานกลับมาเรียน
แต่ในกรณีที่ผู้ปกครองให้นักเรียนหยุดอยู่บ้าน ทางโรงเรียนก็ไม่ได้ทิ้ง แต่ยังมีมาตรการสอนเสริมทั้งออนไลน์และออนแฮนด์ให้ใบงานกลับไปทำที่บ้านเพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางการเรียนรู้
ทั้งหมดเป็นความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่มีเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กเกิดการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ที่ไม่รู้ว่าจะลากยาวต่อเนื่องไปถึงเมื่อไหร่