ต้นปี 2565 ศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จังหวัดยะลา พบ ‘บิ๊ก’ ผ่านข้อมูลจาก ครูนูรียา กาซอ โรงเรียนยะลาบำรุงผดุงประชา ผู้คอยติดตามช่วยเหลือบิ๊กตั้งแต่ชั้น ม.1 จนน้องจบ ม.ต้นต่อ ปวช. แล้ว ความใกล้ชิดผูกพันระหว่างกันก็มิได้ห่างหายไป ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือครั้งสำคัญ ในท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ครอบครัวของบิ๊กขาดรายได้ รวมถึงตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษากลางทางอีกครั้ง

ทบทวนเรื่องราวของบิ๊กได้ที่ : ในวงจรความเสี่ยง ‘ความฝันพลัดหล่นหายไป’ บนถนนการศึกษาที่ขรุขระด้วยรอยต่อ
ตอนที่ศูนย์ช่วยเหลือ ฯ พบกับบิ๊ก น้องเรียนอยู่ชั้น ปวช.1 สาขาช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์ ที่วิทยาลัยเทคนิคยะลา เขาใช้เวลาตลอดหลายเดือนของปีการศึกษา 2464 นั่งเรียนออนไลน์ทุกวัน ในห้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โรงไม้’ โดยที่นั่นเป็นทั้ง ‘บ้าน’ และ ‘ที่ทำงาน’ ของบิ๊ก

ขมวดเรื่องตามคำบอกเล่าของครูนูรียา: บิ๊กอาศัยลำพังกับยาย เป็นเด็กเงียบขรึม เก็บงำ พูดน้อย แววตาเศร้ากังวล ไม่เคยแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านใบหน้าให้ใครเห็น
นับแต่เจอบิ๊กตอน ม.1 สิ่งที่ครูเห็นคือบิ๊กขาดความพร้อมเรื่องการเรียน เพราะเขาเป็นเสาหลักทำงานดูแลครอบครัว ทำงานโรงไม้ และอยู่ในคณะวัฒนธรรมออกแสดงการเชิดมังกรทอง สิงโต เองกอ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในบ้าน และเก็บไว้ใช้เกี่ยวกับการศึกษา ช่วงไหนงานน้อยการเงินในบ้านจึงขัดสน อย่างไรก็ตาม ครูนูรียาได้คอยช่วยเหลือบิ๊กมาตลอด กระทั่งผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ มาได้ จนหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญมาถึง คือวันที่จบ ม.3 ต้องข้ามสู่ช่วงชั้นถัดไป

“ปีที่เขาจะจบ ม.3 โควิดระบาดหนัก บิ๊กเจอผลกระทบรุนแรงมาก ทำงานไม่ได้ เงินเก็บไม่เหลือ ไม่มีเครื่องมือเรียนออนไลน์ ครูก็หาทางช่วยเขาเต็มที่ เอางาน การบ้าน หนังสือ เอาของกินของใช้ไปให้ที่บ้าน พอให้ประทังชีวิตได้อยู่ แต่กับเรื่องเรียนค่อนข้างยาก เพราะในโรงไม้ที่เขาอยู่ เสียงเครื่องจักรจะดังทั้งวัน บิ๊กบอกว่าเขาชินแล้ว เรียนรู้เรื่องไม่รู้เรื่องบ้าง ตอนนั้นต่างคนต่างพยายามช่วยกัน ดันให้จบ ม.3 ไปก่อน”
จนบิ๊กจบ ม.ต้น เวลาล่วงเลยไปมาก เทอมการศึกษาใหม่มาถึงแล้ว เขายังหาที่เรียนต่อไม่ได้ ครูนูรียารู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าปล่อยให้บิ๊กหลุดเพียงหนึ่งเทอม อาจหมายถึงหลายปีจากนี้ที่เขาจะกลายเป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกสักเท่าไหร่เพื่อพากลับมา
กลับมาได้ด้วย ‘โมเดลห้องเรียนฉุกเฉิน’
ก่อนส่งต่อ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’
ครูนูรียารู้ว่าบิ๊กอยากเรียนสายอาชีพ แต่ตอนนั้นเทอมใหม่เริ่มเปิดเรียนแล้ว ยากมากที่จะมีที่ไหนรับ เป็นจังหวะเดียวกับที่ครูมีข้อมูลว่าเครือข่ายจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา กำลังสร้างโมเดลต้นแบบ Emergency Classroom หรือ ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ คอยเฝ้าระวังเด็กหลุด พร้อมรับ-ส่งต่อเคสเยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนให้ได้ไปต่อ
ไม่นานหลังเรื่องถึงเครือข่าย ฯ คณะทำงานจึงรีบลงพื้นที่พบบิ๊ก จากนั้นพาเข้าหารือกับผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคยะลา ซึ่งตัดสินใจรับเข้าเรียนทันที บิ๊กจึงได้เรียนต่อชั้น ปวช. ไม่หลุดไปตรงช่วงรอยต่อระหว่างช่วงชั้นการศึกษา

หากสถานการณ์โควิด-19 ยังดำเนินต่อเนื่อง แม้ขึ้นชั้น ปวช.1 แล้ว บิ๊กยังต้องเรียนออนไลน์ในห้องที่โรงไม้ มีงานบ้าง ไม่มีบ้าง และแน่นอนว่าทั้งหมดล้วนอยู่ในสายตาของครูนูรียา ที่ทราบดีว่าความสุ่มเสี่ยงของบิ๊กไม่ได้หายไปไหน นำมาสู่การติดตามต่อเนื่อง โดยขยับการดูแลช่วยเหลือไปยังโครงการ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ ซึ่งเครือข่ายจังหวัดยะลา ร่วมมือกับ กสศ. ในการ ‘ช้อนรับ’ และ ‘ประคับประคอง’ ให้บิ๊ก และเยาวชนกลุ่มเสี่ยงอีก 83 คน ไปต่อได้ไม่หลุดซ้ำบนเส้นทางการศึกษา ทั้งประทังความเดือดร้อนของครอบครัวน้องให้เบาลง
“ที่สุดของผลตอบแทนคือได้เห็นรอยยิ้มของเขา”
หลังอยู่ในความดูแลของศูนย์ช่วยเหลือ ฯ มากว่าครึ่งปี วันนี้เรากลับมาพบครูนูรียาและบิ๊กอีกครั้ง จากวันนั้น วิกฤตโควิด-19 ในจังหวัดยะลาค่อย ๆ คลี่คลาย โรงเรียนหลายพื้นที่เปิดสอนออนไซต์เต็มรูปแบบในเทอมการศึกษาใหม่นี้ รวมถึงที่วิทยาลัยเทคนิค ฯ ซึ่งบิ๊กได้กลับไปเรียนเต็มเวลา ขณะที่งานก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ คือออกงานกับคณะวัฒนธรรม ฯ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง รับค่าจ้างเฉลี่ยครั้งละ 300 บาท ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็ยังคงทำงานในโรงไม้เต็มวัน ได้เงินวันละ 160 บาท

กว่าจะถึงตรงนี้ได้ ครูนูรียาบอกว่า ภายใต้การดูแลช่วยเหลือของศูนย์ ฯ ที่เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จนถึงสถาบันการศึกษา นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บิ๊ก และเด็กเยาวชนอีกจำนวนมาก สามารถรอดผ่านภาวะฉุกเฉินของชีวิต ทั้งยังพ้นผ่านอุปสรรคทางการศึกษาไปได้อีกเปลาะหนึ่ง
ตอนนี้บิ๊กได้อยู่บนเส้นทางที่ราบเรียบขึ้นกว่าเดิม ได้เรียนสาขาที่สนใจ มีทุนการศึกษาจากเครือข่ายจังหวัดคอยดูแลไม่ขาด นอกจากนั้นยังได้ทำกิจกรรมที่ชอบ มีรายได้ แต่สิ่งที่ทำให้ครูนูรียาดีใจเป็นพิเศษ คือการที่บิ๊กได้กลับมาซ้อมและออกแสดงกับคณะวัฒนธรรม ฯ ทุกวันที่โรงเรียนเก่า ทำให้ครูได้ดูแลและเห็นพัฒนาการของบิ๊กอย่างใกล้ชิดต่อไป
“ครูภูมิใจที่ได้ดูแล ได้เห็นบิ๊กตั้งแต่ตอนที่เขาขี้อาย ไม่ค่อยพูด ถามอะไรก็เงียบ เหมือนเขาแบกปัญหาความทุกข์ทุกอย่างไว้กับตัวคนเดียว แต่วันนี้ ผ่านมาห้าปีที่รู้จักกัน ความเฉยเมยของเขามลายหายไปแล้ว ภายนอกก็ดูมีน้ำมีนวลขึ้น มีแววตาที่เจือความสุข ความหวัง ความฝัน กล้าคิดถึงอนาคต และเหนืออะไรทั้งหมดคือเราได้เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของเขา ซึ่งนี่คือผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก ๆ กับงานที่ครูทำ รวมถึงคณะทำงานท่านอื่น ๆ ทั้งหมดที่ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจมาจนวันนี้”
‘มองไปข้างหน้า’ ออมไว้เพื่อ ‘ย่า’ และต่อยอดการศึกษาในอนาคต
บิ๊กมีวินัยการใช้เงินที่เคร่งครัด คือจะใช้จ่ายค่ากินอยู่ประจำวันของเขากับยายจากรายได้ที่ทำงานประจำสัปดาห์ แล้วจะพยายามไม่แตะต้องเงินช่วยเหลือที่ได้มาจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นคลังเล็ก ๆ สำหรับต่อยอดการเรียนในอนาคต พร้อมเป็นทุนสำรองของครอบครัวยามจำเป็น

“เก็บไปเรื่อย ๆ ครับ ไม่อยากเอามาใช้ กลัวหมด ตอนนี้พอทำงานได้ หามาใช้ไป ยังไหวอยู่ นึกย้อนไปช่วงโควิดหนัก ๆ ก็อยากมีทุนสำรองไว้สำหรับการเรียน และเผื่อไว้สำหรับยายด้วยครับ คือถ้าจำเป็นต้องใช้เมื่อไหร่ เช่นยายไม่สบายขึ้นมา ผมอยากแน่ใจว่าจะมีทุนพอในสถานการณ์นั้น
“ผมเคยไม่แน่ใจว่าจะได้เรียนถึงแค่ไหน แต่ตอนนี้เริ่มเห็นทางชัดขึ้น ก็จะตั้งใจให้เต็มที่ที่สุด อีกสิ่งหนึ่งที่หวังคืออยากให้ยายแข็งแรง อยู่กับผมไปนาน ๆ ดังนั้นผมจะทำงานเก็บเงินให้ได้มาก ๆ ไว้เรียน ไว้ให้ยายใช้ ดีใจครับที่มีวันนี้ วันที่เชื่อว่ามีอนาคตที่ดีกว่ารออยู่ในวันถัด ๆ ไป”
และนี่คือเรื่องราวจากการติดตามต่อเนื่อง โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จ.ยะลา และ กสศ. ซึ่งเริ่มต้นจากโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สู่การจุดประกายให้จังหวัดยะลาจัดตั้ง ‘สภาการศึกษาจังหวัด’ และ ‘กองทุนเพื่อการศึกษาเด็กเยาวชนด้อยโอกาส’ ที่จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของ ‘บิ๊ก’ และเด็กเยาวชนคนอื่น ๆ ต่อไป