“ครูให้หนู ครูให้หนู ของหนู” เสียงเล็ก ๆ ของเด็กชายวัย 3 ขวบ พร่ำบอกไม่หยุดด้วยความตื่นเต้น หลังเปิดกล่องใบใหญ่ที่บรรจุนิทาน ดินสอสี แป้งโดว์ รวมถึงอาหารและขนมจำนวนหนึ่ง ดวงตาเปล่งประกายจากความสุขที่เอ่อล้นออกมาทำให้เรามองเห็นรอยยิ้มกว้างชัดเจนแม้จะมีหน้ากากอนามัยบดบังอยู่
สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องอยู่ในภาวะยากลำบาก นี่คือช่วงเวลามหัศจรรย์ สมกับที่เด็กชายคนนี้ตั้งชื่อกล่องใบใหญ่นี้ว่า “กล่องมหัศจรรย์”
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด ทำให้มีเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสในชุมชนแออัดกลางเมืองมากมายต้องแบกรับภาระทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างหนัก ตั้งแต่ด้านโภชนาการ การเรียนรู้ถดถอย สภาวะเครียดกังวลใจที่มีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลานาน
เราจะ “เติมยิ้ม” ให้น้องและบอกพวกเขาว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาดำเนินงานในด้านการหนุนเสริมการทำงานสร้างโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังมีการระบาดอย่างหนัก และมีเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางอยู่เป็นจำนวนมาก
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคประชาสังคม) ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้เข้าไปทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมชนแออัดทั่ว กทม. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 รอบแรก จนถึงวิกฤตครั้งล่าสุดนี้ สิ่งหนึ่งที่ได้ค้นพบคือ “เสียงของความเครียดเงียบงันที่อยู่ภายในตัวเด็ก ๆ”
“หมายถึงเราต้องพยายามฟังเสียงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาวะจำยอม หรือการเก็บกักตัวเองที่ระบายออกมาไม่ได้ จนกลายเป็นภาวะ ‘เครียดเงียบ’ ให้ได้ยิน เพื่อหาทางเยียวยาเขา
“หนึ่งปีเต็มที่ กสศ. ทำงานร่วมกับครูของเด็กนอกระบบจากเครือข่ายประชาสังคมที่เปรียบเสมือนอาสาสมัครการศึกษาราว 100 คนพัฒนาพื้นที่ทดลองระบบการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้ได้รับการเรียนรู้เต็มศักยภาพและความต้องการภายใต้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดและมีส่วนร่วม
“จากการรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ทำให้พบ 4 ประเด็นปัญหาใหญ่ของเด็ก ๆ จากภาวะวิกฤต อย่างแรกคือ ภาวะ ‘เครียดเงียบ’ อันเป็นผลจากห่วงโซ่ความรุนแรงของโควิด-19 ที่ทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับปัญหาเข้าไปในจิตใจ ทั้งเรื่องครอบครัวต้องขาดรายได้ สภาพแวดล้อมใกล้ตัวที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรอบตัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด หรือการที่ต้องกักตัว ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ ทั้งที่ธรรมชาติตามวัยจำเป็นต้องได้วิ่งเล่นสนุกสนาน สิ่งเดียวที่เด็กตอบสนองได้มีเพียงความเงียบ ซึ่งสังเกตได้ผ่านสายตาที่เศร้ากังวลของเด็ก ๆ ในชุมชนแออัดทุกที่
“สองคือ การปิดโรงเรียนทำให้ภาวะการเรียนรู้ของเด็กถดถอยกว่าปกติราว 2 – 5 เดือน ซึ่งยิ่งทำให้คุณภาพการเรียนรู้ในภาพรวมตกต่ำลงไปกว่าเดิมอีกมาก สามคือ ภาวะทุพโภชนาการจากการกินไม่ครบมื้อ บางมื้อไม่ได้กินอิ่มเต็มที่ หรือได้สารอาหารไม่ครบหมวดหมู่ และสี่คือ ประเด็นที่ติดตามมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ เด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากหลายครอบครัวขาดรายได้ จึงไม่มีกำลังส่งเสียบุตรหลาน
“ปัจจัยทั้ง 4 ด้านนี้คือข้อบ่งชี้ว่า แม้จะยังไม่เป็นผู้ติดเชื้อ แต่เด็กและเยาวชนในชุมชนแออัดทุกแห่งล้วนสูญเสียสิทธิในทุกด้าน มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง พัฒนาการถดถอย ขาดความคุ้มครอง ไม่มีส่วนร่วม นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มเปราะบางและขาดโอกาสในสังคมของเรา”
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากล่องการเรียนรู้ “เติมยิ้ม” เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการเรียนรู้ที่ถดถอยในภาวะวิกฤต และช่วยเติมความสุข เติมรอยยิ้ม ตลอดจนส่งต่อการเรียนรู้ไปถึงเด็ก ๆ ในทุกที่ทุกเวลา เพื่อไม่ให้พัฒนาการต้องหยุดชะงักลง ถือเป็นเครื่องมือการทำงานของคุณครูนอกระบบซึ่งเป็นเสมือนอาสาสมัครการศึกษาของชุมชน เพื่อประคับประคองให้เด็ก ๆ ผ่านพ้นวิกฤต และเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการช่วยเหลือที่ยั่งยืนต่อไป
โดยพื้นที่นำร่องของการส่งมอบกล่องการเรียนรู้เติมยิ้มไปถึงเด็ก ๆ จะเริ่มจากชุมชนในพื้นที่ทดลองของ กสศ. ได้แก่ ชุมชนโรงหมู ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ชุมชนแฟลต 23/24/25 และชุมชนบ้านมั่นคง รวม 802 หลังคาเรือน มีจำนวนเด็กราว 1,455 คน รวมไปถึงบางพื้นที่ในชุมชนริมทางรถไฟ เช่น โค้งรถไฟยมราช ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนไซต์ก่อสร้าง ซึ่งครูจิ๋ว – ทองพูลบัวศรี แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กดูแลอยู่
“เราได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านของ สสส. เข้ามาช่วยคัดเลือกหนังสือนิทานที่เหมาะสมตามช่วงวัยของเด็ก ๆ แบ่งเป็นช่วงวัย 0 – 4 ปี 5 – 9 ปี และ 10 – 12 ปี ภายในกล่องการเรียนรู้นี้ กสศ. ได้คำนึงถึงสิ่งของจำเป็นทั้งด้านสุขอนามัย เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ อาหาร นม ขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงของเล่นเพื่อการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก ๆ”
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายภาคเอกชนร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมสมทบความช่วยเหลือ อาทิ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบริจาค 1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกล่องการเรียนรู้เติมยิ้มบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI บริจาคอุปกรณ์และสิ่งของจำเป็นมูลค่ารวม 300,000 บาท เช่น ชุด PPE นม น้ำดื่ม มุ้ง ผ้าขนหนู กระดาษทิชชู ภาชนะใส่อาหาร และถุงขยะ MK Restaurant Group บริจาคนม 540,000 กล่อง สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต บริจาคชุดยาสามัญสำหรับเด็ก หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ขนม และของเล่น
“เราคาดหวังว่ากล่องเติมยิ้มจะช่วยทำให้เด็ก ๆ มีรอยยิ้มหรือแววตาที่มีประกายความสุขแวบขึ้นมาบ้าง เราอยากให้เขารู้ว่าพวกเขามีตัวตน ยังมีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ สามารถต่อสู้กับสถานการณ์ได้อย่างไม่ต้องจมอยู่แต่ในความเครียดความทุกข์ได้
“กล่องนี้จึงไม่ใช่แค่เติมยิ้ม แต่ใจความสำคัญที่สุดคือการเติมสิทธิให้เขา และยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจของคนจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ว่าผู้ใหญ่ทุกคนยังพร้อมเอาใจใส่ดูแลเขาและเพื่อให้ทุกคนในสังคมผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปด้วยกันให้ได้ในที่สุด” คณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว
เด็กในพื้นที่ชุมชนแออัดหรือเด็กด้อยโอกาสได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในสังคมมากที่สุด
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ การแสดงออกทางอารมณ์ของเด็ก ๆ หากไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออาจส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว
รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ระบุว่า แม้แต่เด็กทารกก็สามารถซึมซับและสัมผัสความเครียดกังวลจากสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านผู้ใหญ่ในครอบครัว แม้จะไม่มีการแสดงออกตรง ๆ ก็ตาม เพราะความเครียดคืออาการที่สามารถส่งต่อกันได้ ผ่านสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และอารมณ์ที่อยู่ภายในของผู้ปกครอง
ผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้เราแบ่งออกได้ตามช่วงอายุ คือ ในวัยเด็กปฐมวัยที่ยังไม่เข้าโรงเรียนหรือเด็กอนุบาล กลุ่มนี้คุ้นเคยกับการอยู่บ้าน หรือศูนย์เลี้ยงเด็ก เขาจะมีความคุ้นเคยกับคนค่อนข้างเยอะ เมื่อสังคมพลิกกลับด้วยสถานการณ์โควิด-19 ต้องมีการเว้นระยะห่าง บางบ้านที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาอาจใช้จอโทรศัพท์ช่วยเลี้ยงเด็กมากขึ้น แน่นอนว่าความสามารถในการปฏิสัมพันธ์หรือพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเขาจะถดถอยลง
ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ต้องปรับเปลี่ยนมาเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี แต่ในวัยที่ต่ำกว่า ป.4 ลงมาหรือประถมศึกษาตอนต้นเขาจะไม่คุ้นกับการเรียนออนไลน์ จำเป็นต้องได้รับการเรียนรู้ผ่านการเล่น เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการ การเรียนออนไลน์จึงทำให้เด็กถูกปิดกั้นและมีพัฒนาการที่ด้อยลงเมื่อเทียบกับการเรียนรู้ในระบบปกติ
กลุ่มถัดมาคือ ประถมศึกษาตอนปลาย ที่ในปัจจุบันก้าวสู่วัยหนุ่มสาวเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน มีงานวิจัยจากองค์การยูนิเซฟที่สำรวจเด็กในช่วงเวลาโควิด-19 เมื่อปีก่อนระบุว่า การใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้จะพ่วงมากับชั่วโมงในการเล่นโซเชียลมีเดีย ซึ่งนำมาสู่อัตราการเพิ่มสูงขึ้นของปัญหาการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) และการถูกล่วงละเมิดในลักษณะต่าง ๆ (Child Abuse or Child Maltreatment)
สุดท้ายคือ กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในระดับชั้นมัธยมต้นถึงมหาวิทยาลัย กลุ่มนี้มีการปรับตัวได้ดีที่สุด เราจะเห็นว่ามีความสนใจในการทำงานจิตอาสาเพื่อสังคมมากขึ้นในวัยนี้ มีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้คน อยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง นี่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่หลังการมาถึงของโควิด-19 ว่าเด็กกลุ่มนี้อยู่กับสังคมยุค New Normal ได้ดีกว่าคนวัยอื่น ๆ
“ขณะที่เมื่อมองไปยังกลุ่มเด็กในพื้นที่ชุมชนแออัดหรือเด็กด้อยโอกาส เด็กกลุ่มนี้ถือว่าต้องรับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในสังคมมากที่สุด พวกเขายังขาดสิทธิและได้รับความช่วยเหลือดูแลที่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้รับรู้คือ เด็กส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีมาก พวกเขาหลายคนลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาเพื่อชุมชนของตัวเอง มีการล็อกดาวน์ตัวเองในพื้นที่ พยายามดูแลกันเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการมองเห็นและแรงสนับสนุนจากภายนอก ทั้งปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ด้านสาธารณสุข ยารักษาโรค อาหาร น้ำดื่ม และที่สำคัญคือหนังสือ อุปกรณ์การเรียนรู้ ขนม หรือของเล่น ที่จะทำให้พัฒนาการการเรียนรู้ของเขายังเดินต่อไปได้แม้ในช่วงเวลาที่สังคมหยุดชะงัก ที่สำคัญคือ เราต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานของเด็กทุกวัยจำเป็นต้องได้รับการสื่อสารทางสังคม ดังนั้นการที่มีคนจากภายนอกหยิบยื่นโอกาสเข้าไปให้จะทำให้เขารู้สึกว่าไม่โดนละทิ้ง เป็นการเติมความเข้มแข็งทางใจให้เด็ก ๆ มีแรงต่อสู้กับปัญหาได้ต่อไป” ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าว
หนังสือนิทานคือเครื่องมือในการพูดคุยกับเด็ก ๆ
สุดใจ พรหมเกิด ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ผู้จัดการแผนยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ระลอกล่าสุดมีผลที่สะเทือนลงไปถึงกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ทั้งในด้านสุขภาพร่างกายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อมากขึ้น หรือในทางจิตใจที่ต้องแบกรับความเครียดกังวลจากสถานการณ์
งานวิจัยจากองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ว่า เมื่อไหร่ที่เด็กต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน โอกาสที่พัฒนาการการเรียนรู้ขาดช่วงจะมีมากขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และหากเป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก 4 เท่า ในกรณีนี้ OECD จึงพยายามเรียกร้องเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จัดหาหนังสือและเครื่องมือเสริมทักษะการเรียนรู้มาแจกจ่ายให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มด้อยโอกาส
งานวิจัยยังระบุว่า “หนังสือ” คือสื่อสำคัญที่ทำให้เด็กสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งที่ดำเนินไปในสังคมภายใต้สภาวะวิกฤตเป็นอย่างไร และต้องมีการปรับตัวในเรื่องใดบ้าง ด้วยวิธีนี้เด็กจะเข้าใจได้ง่าย และหากมีการโยงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นหนังสือภาพหรือนิทาน การสื่อสารข้อมูลที่จำเป็นก็จะไปถึงเด็กได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
“เป็นที่มาของการจัดทำสื่อเสริมพัฒนาการที่มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านทำขึ้นร่วมกับ กสศ. เพราะเราทราบดีว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการเครื่องมือในการสื่อสารกับเด็ก ๆ และเสริมสร้างพัฒนาการของเขา โดยเราได้เชิญผู้มีชื่อเสียงในแวดวงการพัฒนาหนังสือเด็ก อาทิ ครูชีวัน วิสาสะ หรือครูแต้ว – ระพีพรรณ พัฒนเวช และอีกหลายท่านเข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์หนังสือเด็ก เริ่มตั้งแต่ที่มีการระบาดรอบแรก โดยเชื่อมโยงเนื้อหาที่เกี่ยวกับโควิด-19 มาสร้างเป็นชุดนิทาน ซึ่งมีเผยแพร่ทางออนไลน์ที่ www.happyreading.in.th พร้อมเทคนิคการใช้หนังสือ ขณะที่ในท้ายหนังสือแต่ละเล่มจะมีกิจกรรมและข้อมูลเสริมเกี่ยวกับโควิด-19 ว่าเด็กควรจะป้องกันตนเองอย่างไร รวมถึงมีกิจกรรมเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ
“สำหรับเด็กเล็ก ๆ เขาต้องการการเรียนรู้ที่ได้หยิบจับ สัมผัส เปิดดูซ้ำหลายครั้งด้วยตนเองได้ ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อเราได้รับคำชวนจาก กสศ. ก็เตรียมพร้อมทันทีในการจัดทำชุดหนังสือเพื่อนำไปมอบให้กับเด็ก ๆ ที่ขาดแคลนโอกาสในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เรายินดีที่จะสนับสนุน และดีใจที่ กสศ. ไม่ได้คำนึงถึงเพียงความปลอดภัยของเด็ก ๆ แต่ยังมองไปถึงการส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ ตลอดจนส่งมอบความสุข รอยยิ้ม และความเพลิดเพลินให้กับเด็ก ๆ ตามที่เขาควรได้รับในช่วงวัยของตนเอง” ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกล่าว
สื่อการเรียนรู้ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครองใช้เวลาร่วมกับเด็กได้
ศิริพร พรมวงศ์ หรือ “ครูแอ๋ม” ผู้รับผิดชอบโครงการ “Freeform Learning Project” หรือ “โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย” ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ความช่วยเหลือทุกอย่างที่เกี่ยวกับเด็กคือเรื่องจำเป็นมาก โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นในพื้นที่คลองเตยที่ทุกฝ่ายมุ่งความสำคัญไปที่การตรวจคัดกรองโรค หรือมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค ขณะที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ถูกมองเห็น
การทำงานในพื้นที่ทำให้พบว่ามีหลายครอบครัวที่สูญเสียงาน ขาดรายได้ แต่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของเด็กในครอบครัวเป็นจำนวนค่อนข้างสูง เช่น ค่านมหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป รวมไปถึงของใช้อย่างสบู่ แป้ง ที่เด็กไม่สามารถใช้ร่วมกับผู้ใหญ่ได้ ที่สำคัญคือ ตอนนี้เด็กอยู่กับผู้ปกครองเต็มเวลา คนนอกเข้าออกพื้นที่ไม่ได้ เขาจึงจำเป็นต้องได้สื่อเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ โดยเฉพาะสื่อที่ทำให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับเด็กได้
“ทีแรกเรายังไม่ได้คิดว่าเครื่องมือหรือสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ มีความจำเป็นแค่ไหน แต่ ณ ตอนนี้เราได้ทำข้อมูลเด็กในหลายชุมชน พบว่ามีเด็กในช่วงวัย 0 – 12 ปี จำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ทั้งการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายต่อคน ต่อครอบครัว และสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้พัฒนาการของเด็กไม่ขาดช่วง
“แน่นอนว่าสื่อการสอนที่นำเข้าไปให้เด็กยามนี้อาจช่วยเรื่องพัฒนาการไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนการไปโรงเรียน แต่อย่างน้อยที่สุดความเครียดกังวลหรืออาการติดจอโทรศัพท์จำเป็นต้องได้รับการบรรเทา แล้วเครื่องมือที่จะนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์จริง ๆ จะต้องสามารถสร้างกิจกรรมระหว่างผู้ปกครองกับเด็กได้ เพราะถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมืออุปกรณ์ให้เด็กมากมายแค่ไหน แต่การที่เด็กอยู่บ้าน เขายังเล่นคนเดียวไม่ได้ ฉะนั้นการส่งเสริมพัฒนาการโดยให้พ่อแม่สามารถเล่นกับลูกด้วยเครื่องมือที่เราส่งไปให้ จะเป็นการช่วยทั้งเรื่องสมาธิและความสัมพันธ์ครอบครัว”
ครูแอ๋มกล่าวว่า การที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้เล่นกับลูกจะส่งผลดีในเรื่องการลดความเครียดกังวลได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก
“สิ่งที่เราต้องทำควบคู่กันไปคือ มอบสื่อการเรียนการสอนและอาหารสำหรับช่วงวิกฤต พยายามสร้างเวลา สร้างแรงจูงใจให้ครอบครัวได้ใช้ด้วยกัน และต้องมองถึงการสร้างอาชีพให้พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูก อาจเป็นงานง่าย ๆ ที่เขาเอากลับไปทำที่บ้านได้และมีเวลาเล่นกับลูกด้วย คือทำเพียงมิติเดียวไม่ได้ เพราะอย่างไรก็ตาม ในระยะยาวทุกครอบครัวก็มีภาระทางเศรษฐกิจที่ต้องแบกรับ” ครูแอ๋มกล่าว