รอยต่อการเริ่มกลับมาเรียนที่โรงเรียนหลังปิด lock down มายาวนานหลายเดือน คือโจทย์ใหญ่ของห้องเรียนทุกห้อง ทั้งความรู้ที่ต้องประเมิน ทักษะสังคมที่อาจพร่องไปบ้าง ความเครียดสะสมที่นักเรียนแสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบ
ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การตั้งคำถามถึงทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมาในห้องเรียนมีมานานมากแล้ว
ทักษะทางอารมณ์และสังคมที่มีสำคัญต่อนักเรียนทุกคนจะช่วยให้นพวกเขาฟื้นฟูตัวเองจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไรบ้าง ติดตามอ่านงานวิจัยกรณีศึกษาจากเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กันค่ะ
ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Skills) คืออะไร?
ทักษะสองอย่างนี้คือความสามารถและคุณลักษณะที่สำคัญต่อความสำเร็จด้านวิชาการ การจ้างงาน การเป็นพลเมือง และสุขภาพกายและใจที่ดี การฝึกฝนและส่งเสริมสมรรถนะชุดนี้ช่วยพัฒนาทักษะทางปัญญา หรือทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) แม้จะมีความสำคัญทั้งในแง่การส่งเสริมเด็กๆ ทั้งด้านวิชาการและกระบวนการคิด แต่ทักษะทางอารมรณ์และสังคมนี้เองคือรากฐานสำคัญของสุขภาพจิตที่ดีและความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง เป้าหมายนี้จะช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งดำรงชีวิตได้ราบรื่นขึ้น
OECD จึงพัฒนาแบบสอบถามซึ่งกล่าวถึงทักษะทางอารมณ์และสังคม 17 ด้าน เช่น
หากจะวิเคราะห์ว่านักเรียนเปิดใจ เปิดกว้างรับประสบการณ์ใหม่ๆ (Open-mindedness) นั้นต้องวิเคราะห์ว่าพวกเขามีทักษะเกี่ยวกับ
- ความใคร่รู้ (Curiosity) เขาสนใจอยากเรียนรู้ อยากตั้งคำถาม และสำรวจสิ่งต่างๆ มากน้อยเพียงใด
- ความอดกลั้น (Tolerance) เขาเปิดรับมุมมองใหม่ ความหลากหลาย และยอมรับในวัฒนธรรมของคนต่างชาติต่างภาษามากน้อยเพียงใด
- ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เขาหาวิธีใหม่เพื่อทำสิ่งเดิม หรือมีการคิดผ่านการสำรวจ เรียนรู้จากความผิดพลาด และมีวิสัยทัศน์มากน้อยเพียงใด
วิเคราะห์อย่างไร?
เมืองเฮลซิงกิได้เข้าร่วมงานวิจัยชุดนี้จาก OECD โดยวิเคราะห์ทักษะทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนอายุ 10 และ 15 ปี โดยหลักสูตรแกนกลางของประเทศฟินแลนด์ได้ให้ความสำคัญกับทักษะเหล่านี้ แต่ไม่ได้ออกแบบวิชาเฉพาะเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝน แต่ออกแบบสมรรถนะต่างๆ ที่ได้เพิ่มทักษะทั้งสองเข้าไปเพื่อให้ครูได้นำไปปรับใช้กับทุกวิชา ตามหลักการที่ว่า “นักเรียนต้องดูแลจัดการชีวิตประจำวันของตนเองได้” และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้านนี้ในนักเรียนน้อยมาก งานวิจัยชุดนี้จึงช่วยไขข้อกังขาหลายประการต่อความสำคัญของทักษะชุดนี้ได้
ผลการวิจัยจากนักเรียนในเมืองเฮลซิงกิ
ทักษะทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนในเฮลซิงกินั้นน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น
- นักเรียนในเฮลซิงกิมีทักษะด้านนี้สูงกว่านักเรียนวัยเดียวกันในประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมวิจัยชุดนี้
- นักเรียนชายวัย 15 ปีมีทักษะเกี่ยวกับการความคุมอารมณ์ (การจัดการความเครียด การมองโลกเชิงบวก การจัดการอารมณ์) รวมถึงทักษะเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (ทักษะการเข้าสังคม ความแน่วแน่ และพลังในการทำสิ่งต่างๆ) มากกว่าเด็กชายวัยเดียวกันในเมืองอื่น
- นักเรียนหญิงวัย 15 ปีมีทักษะโดดเด่นด้านความรับผิดชอบ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความร่วมมือกับผู้อื่น และความร่วมมือกับผู้อื่น
- นักเรียนวัย 15 ปีมีทักษะทางอารมณ์และสังคมต่ำกว่านักเรียนวัย 10 ปี และเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันทุกเมืองที่ทำวิจัย
จะเห็นได้ว่านักเรียนหญิงและนักเรียนชายมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป และยิ่งอายุมากขึ้น ทักษะบางอย่างจะลดต่ำลง เช่น ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ซึ่งนักเรียนวัย 10 ปีมีมากกว่า และสูงกว่าในกลุ่มนักเรียนชาย แต่กลับกันในทักษะด้านความใคร่รู้ที่
ประสิทธิภาพในการเรียน การประสบความสำเร็จในการเรียนสัมพันธ์กับทักษะทางอารมณ์และสังคม ในกลุ่มนักเรียนอายุ 15 ปี ความมานะพยายาม ความเชื่อใจ ความใคร่รู้ สัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการเรียนรู้ กล่าวคือ ถ้ามีทักษะทางอารมณ์และสังคมดีเท่าไหร่ ประสิทธิภาพการเรียนรู้ก็ยิ่งดีขึ้นตาม
การโดนกลั่นแกล้งทำให้ทักษะทางอารมณ์และสังคมถดถอย
นักเรียนวัย 10 ปีในเมืองเฮลซิงกิรายงานประสบการณ์โดนกลั่นแกล้ง (bully) ถึงร้อยละ 17 โดยรายงานว่าโดนกลั่นแกล้งเดือนละ 2-3 ครั้ง ซึ่งสัดส่วนนี้ลดลงในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี เหลือร้อยละ 14 ซึ่งประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งของนักเรียนวัย 15 ปีนั้นทั้งหญิงและชายโดนล้อเลียนมากที่สุด และนักเรียนชายโดนนักเรียนคนอื่นผลักมากกว่านักเรียนหญิงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งอย่างการถูกขโมยและทำลายของใช้ส่วนตัว และการถูกข่มขู่ก็มีรายงานจากนักเรียนชายมากกว่า
ถ้ามีประสบการณ์การณ์โดนกลั่นแกล้ง ทักษะด้านนี้ก็จะลดลง โดยทักษะกลุ่มที่จะเป็นปัญหามากที่สุดได้แก่ทักษะด้านการควบคุมอารมณ์ ทั้งการจัดการความเครียด การมองโลกแง่บวก และการจัดการอารมณ์ รองลงมาคือทักษะที่เกี่ยวกับแรงจูงใจในการประสบความสำเร็จและความเชื่อว่าตนเองจะสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ เหล่านี้คือผลกระทบที่ตามมาจากการโดนกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนวัย 15 ปี ซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาว
ส่วนนักเรียนอายุ 10 ปีนั้นรายงานว่าถูกกลั่นแกล้งมากกว่าวัย 15 ปีเล็กน้อย แต่พบการโดนล้อเลียนในหมู่นักเรียนชายและนักเรียนหญิงมากที่สุด รองลงมาคือการผลักกัน โดยนักเรียนชายพบเจอประสบการณ์เช่นนี้มากกว่า
ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อทักษะทางอารมณ์และสังคม
นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวดีมักมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่สูงนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวย่ำแย่ โดยนักเรียนในครอบครัวฐานะดีจะมีความเปิดกว้างสูงกว่านักเรียนที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะแย่กว่า
นักเรียนที่ทำกิจกรรมด้านกีฬาและศิลปะมีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และความใคร่รู้สูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้ทำกิจกรรมด้านนี้ นั่นหมายความว่า หากโอกาสการเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ทั้งในและนอกห้องเรียนแตกต่างกันย่อมส่งผลต่อทักษะทางอารมณ์และสังคมของเด็กไม่มากก็น้อย
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียนช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม
ทักษะด้านความเพียรพยายาม การมองโลกแง่บวก ความร่วมมือ ความใคร่รู้ แรงจูงใจในการประสบความสำเร็จและความเชื่อว่าตนเองจะสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ จะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหากครูและนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนวัย 15 ปี
ความกดดันจากผู้ปกครองส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตนักเรียน
ความพอใจในชีวิตนักเรียนวัย 10 ปี สูงกว่าวัย 15 ปีอย่างชัดเจน โดยแม้ว่าจะเจอความกดดันจากผู้ปกครองและครู นักเรียนวัยนี้กลับยังมี well-being ที่สูงอยู่อยู่เมื่อเทียบกับนักเรียนวัย 15 ปี
นักเรียนกลุ่มอายุ 15 ปี ที่อยู่บรรยากาศโรงเรียนแข่งขันสูง ถูกผู้ปกครองกดดัน และถูกคาดหวังจากครู รายงานความพอใจในชีวิตติดลบจากการถูกผู้ปกครองกดดันมากที่สุด ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวที่นักเรียนรายงานความพึงพอใจในชีวิตต่ำจนติดลบและมี well-being จากความกดดันประเภทนี้ต่ำที่สุด
อ้างอิง : Survey on Social and Emotional Skills (SSES) 2021: Helsinki (Finland) OECD