Soft Power นโยบายหนุนพื้นที่ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) บนฐานทุนทางวัฒนธรรม สร้างอาชีพ รายได้ของชุมชน
โดย : วริฎฐา แก้วเกตุ นักวิชาการจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ.

Soft Power นโยบายหนุนพื้นที่ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) บนฐานทุนทางวัฒนธรรม สร้างอาชีพ รายได้ของชุมชน

นโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา

คณะรัฐมนตรีได้เสนอนโยบายสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะ ทุนมนุษย์ สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์  คือ นโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้  รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม 

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างงานสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม “1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power”  ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) หรืองานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก  โดยรัฐบาลจะร่วมมือกับภาคธุรกิจในการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของการจัดงานแสดงต่างๆ ในภูมิภาคนี้ 

เมื่อฝั่งนโยบายรัฐกำลังเปิดประตูเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่พร้อมกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ควบคู่ไปกับการสร้าง Soft Power ที่ลงไปถึงระดับครัวเรือน  คำถามคือ ฝั่งพื้นที่พร้อมแล้วหรือยังสำหรับการพัฒนาทักษะคน สร้างงาน สร้างรายได้บนพื้นฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างพลังอำนาจละมุน ในการโน้มน้าวดึงดูดให้ผู้คนภายนอกท้องถิ่นเข้ามาอุดหนุน สร้างเม็ดเงินให้กับผู้คนในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ  

บทความเรื่องนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จัก “Soft Power” ทั้งแนวคิดสากล ไทย รวมถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างเท่าทันสถานการณ์  

จาก ลิซ่า BLACKPINK และ มิลลิ สู่ศัพท์ฮิต “Soft Power”

หากยังจำกันได้ถึงกระแสความโด่งดังของนักร้อง ลิซ่า วง BLACKPINK สวมชฎาใส่ชุดไทยในมิวสิกวิดีโอ ‘LALISA’  เมื่อปี ค.ศ. 2021 มาจนถึงปรากฏการณ์ “ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์”ของมิลลิ นักร้องแรปเปอร์ชาวไทย ที่แจ้งเกิดบนเวทีดนตรีระดับโลก ‘Coachella 2022’  คำว่า “Soft Power” หรือ “อำนาจละมุน” กลายเป็นคำฮิตของสังคม 

รัฐบาลในยุคนั้นก็ออกมาส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อน Soft Power ด้านแวดวงวิชาการเกิดการวิพากษ์เรื่องนี้กันมากขึ้น แม้กระทั่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  ยังได้เผยแพร่บทความเรื่อง “Soft Power ไทย เหตุใดจึงยังไม่เวิร์ค” (พนธกร วรภมร และ  นณริฏ พิศลยบุตร, 19 เมษายน 2565 )  เนื่องจากมีหลายกรณี เช่น ท่ารำไทยในเกมผีดิจิทัล ขนมอะลัวรูปพระเครื่อง เป็นต้น  ที่หน่วยงานภาครัฐออกนโยบายสั่งห้ามไม่ให้กระทำ หรือการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมแสดงความคิดเห็นเชิงลบ ไม่เพียงแต่จำกัดการสร้างสรรค์วัฒนธรรมให้งอกเงย หรือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

ประเด็นเหล่านี้เป็นที่มาว่าเหตุใด เราควรต้องทำความเข้าใจมโนทัศน์คำว่า Soft Power กันอย่างแท้จริงเสียที

1. ดร.โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ได้ระบุถึงคำว่า Soft Power ในหนังสือ Bound to Lead: The Changing Nature of American Power ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1990 นับจากนั้นคำนี้ก็เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลาย

ในไทยนั้น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB ได้แปลคำนิยามจากต้นฉบับของ ดร.โจเซฟ เนย์ ไว้ว่า “Soft Power” หรือ “อำนาจละมุน” หมายถึง ความสามารถในการทำให้ผู้อื่น “ต้องการ” และ “ยอมรับ” ในสิ่งที่คุณต้องการ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดึงดูดความต้องการของผู้อื่นให้พวกเขาเกิดการยอมรับด้วยความ “เต็มใจ” ปราศจากการบังคับ ขู่เข็ญ เพราะเมื่อไม่มองสิ่งแปลกใหม่ว่าเป็นศัตรูแล้ว มนุษย์มีแนวโน้มจะลดอาการต่อต้าน และเปิดใจยอมรับมากกว่าโดยสัญชาตญาณ เหตุนี้ Soft Power จึงไม่ใช่การเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างที่หลายคนเข้าใจ 

นอกจากนี้ TCEB ได้อ้างอิงถึง ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิชาการด้านภาพยนตร์ในมิติความบันเทิงและความมั่นคง โดย ดร.ฐณยศ ได้ให้ความเห็นว่า Soft Power เป็นอำนาจการโน้มน้าวแบบหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลยุทธ์เท่านั้น

2. ทางด้านนักวิชาการ TDRI โดย พนธกร วรภมร และนณริฏ พิศลยบุตร ก็ได้อ้างอิงคำนิยามของ เนย์ ด้วยเช่นกัน โดยกล่าวสนับสนุนว่า ข้อคิดสำคัญของอำนาจละมุนที่ต่างจากอำนาจกระด้าง คือ “ความเต็มใจที่จะทำการ” ของผู้ถูกกระทำจากอำนาจ ซึ่งมีลักษณะของการ “ดึงดูด” (Pull) ผู้ถูกกระทำเข้าหาอำนาจจากความดึงดูด (Attraction) ในสิ่งซึ่งอำนาจนั้นได้เป็น มิใช่การผลักใส (Push) อำนาจสู่ผู้ถูกกระทำ  แนวคิดของ เนย์ ด้านหนึ่งได้ถูกนำมาใช้อธิบายสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำโลก ว่าเกิดจากความดึงดูดทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารเท่านั้น เห็นได้จากวัฒนธรรมป๊อปอย่าง ภาพยนตร์ฮอลลีวูด เพลง สินค้าแบรนด์เนม หรือทุนการศึกษา เป็นต้น

 ในฝั่งทวีปเอเชีย คนไทยก็ถูกดึงดูดด้วย Soft Power ของประเทศเกาหลีใต้ ผ่านสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นจากฐานวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น หนัง ซีรีส์ ดนตรีเคป๊อป อาหาร ธุรกิจสุขภาพความงาม สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น  นักวิชาการ TDRI ได้เน้นย้ำไว้ว่า การทำงานของ Soft Power ที่ประสบความสำเร็จ จะเกิดขึ้นได้จากการดึงดูดผู้คนรอบข้างเข้าหา มิใช่การผลักดันสิ่งต่างๆ เข้าสู่ผู้คน  

ศักยภาพ Soft Power ของไทย : เราอยู่ตรงไหนในระดับสากล?

ในระดับสากล มีดัชนีสำรวจศักยภาพทางด้าน Soft Power ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวน 121 ประเทศ ซึ่งจัดทำโดยบริษัทด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ Brand Finance

ผลสำรวจและการอันดับล่าสุด Global Soft Power Index 2023 ซึ่งมีองค์ประกอบย่อยของการวัดระดับของ Soft Power รวม 8 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจและการค้า การเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรมและมรดก สื่อและการสื่อสาร การศึกษาและวิทยาศาสตร์ ผู้คนและค่านิยม และอนาคตที่ยั่งยืน พบว่า ประเทศที่ขับเคลื่อน Soft Power ที่มีคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รองลงมา เป็นประเทศอังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 21 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 39  ไทยอยู่อันดับที่ 41 ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2022) ไทยเคยอยู่อันดับที่ 39 ส่วนอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 45 และเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 69   

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีศักยภาพด้าน Soft Power สูง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางการศึกษา รวมไปถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)  ซึ่งในประเทศเหล่านี้มีหลายเมืองที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ( UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC)  

หากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของประเทศกลุ่มอาเซียน จะพบสิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าประเทศเวียดนามจะมีศักยภาพด้านการศึกษาสูงแบบก้าวกระโดดรองจากสิงคโปร์ (วัดจากคะแนน PISA) แต่เมื่อวัดด้านศักยภาพ Soft Power ไทยจะสูงกว่าเวียดนาม โดยในช่วงเวลาทองของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของนานาประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 และความตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลก ในฝั่งอาเซียน ไทยยังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากเร่งพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาคุณภาพคนให้เป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญ ไปพร้อมๆ กับการยกระดับศักยภาพด้าน Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีกทั้งไทยยังมีจุดเด่นด้านสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่มีคุณภาพและมาตรฐานดึงดูดนักเรียน นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของภูมิภาคได้ในหลายๆ ด้าน  

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) อยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่  เราจะยิ่งมองเห็นโอกาสอย่างเด่นชัด เมื่อมองไปที่ทุนศักยภาพในพื้นที่ ระดับกลุ่มจังหวัด จังหวัด อำเภอ และตำบล หรือจำแนกตามย่านทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น ลุ่มน้ำ พื้นที่สูง ชายแดน เป็นต้น 

ทั้งนี้สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) ซึ่งมีคุณค่า เต็มไปด้วยเสน่ห์ มีความหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ   หากได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งงานที่สร้างอาชีพและรายได้ ย่อมจะดึงดูดคนในพื้นที่ให้สามารถทำมาหากินอยู่ในบ้านเกิดถิ่นฐานของตนเองได้  อีกทั้งยังดึงดูดคนนอกพื้นที่ให้เข้ามาเที่ยว มาลงทุนทำกิจการต่างๆ ดึงดูดแรงงานทักษะสูงคนต่างชาติที่เก่งๆ เข้ามาทำงานอยู่อาศัยในเมืองอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน  

แนวทางการพัฒนาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ที่ลุกขึ้นมาจากจัดการตนเอง และสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นให้โดดเด่น

การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำแนวคิด Soft Power มาใช้พัฒนางานได้

เช่น เริ่มต้นจากการรู้จักตัวตน โดยสำรวจทุนที่มีอยู่ของพื้นที่ผ่านกระบวนการจัดทำงานท้องถิ่นศึกษา การพัฒนาแหล่งเรียนรู้โดยใช้ฐานทุนวัฒนธรรม การพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เป็นต้น  

ทั้งนี้มีกรณีตัวอย่างของพื้นที่นำร่องที่เข้าร่วมพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ฯ ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 2023 – 2024 เช่น เทศบาลนครยะลาใช้พหุวัฒนธรรม พัฒนาธุรกิจผ้าท้องถิ่น “ปากายัน มลายู” จัดแฟชั่นดึงดูดลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากประเทศที่อยู่ใกล้ๆ มีการส่งเสริมด้านการดนตรีให้แก่เด็กและเยาวชน จัดคอนเสิร์ตออร์เคสต้าประจำปี จัดงานวิ่งเพื่อระดมทุนการศึกษา รวมไปถึงการสร้างเมืองสีเขียว มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติป่าไม้กลางเมือง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนา Smart City เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงาน มาอยู่อาศัยช่วยพัฒนาเมืองให้เจริญเติบโต

ส่วนเทศบาลลำพูน ใช้วัฒนธรรมภูมิปัญญาเรื่องโคมไฟ พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา จัดเทศกาลโคมไฟล้านนาและโคมไฟจีน พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวที่ต่อมาจากเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น 

เมื่อเมืองมีชีวิตชีวา เกิดเป็นแหล่งโอกาสใหม่ๆ ย่อมจะช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

การแปลงนโยบายรัฐบาล  “1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power”  ไปสู่การปฏิบัติ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคชุมชน/ประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน หากเข้าใจคุณค่าและความหมายของ Soft Power ที่แท้จริงแล้ว การออกแบบงานจะไม่จบแค่ที่การจัดอบรม พัฒนาทักษะแรงงาน ครอบครัวในชุมชน หรือให้ทุนผลิตสิ่งของมาค้าขายเพียงเท่านั้น  

แต่ทุกฝ่ายจะช่วยสร้างพลังแห่งการดึงดูดคนจากภายนอก ให้เข้ามาสร้างประโยชน์ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละเมือง สามารถสร้างเสน่ห์ในแบบฉบับของตนเองขึ้นมาได้ โดยมีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งในนั้น 

การพัฒนาบนรากฐานวัฒนธรรมที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาบนฐานของความดี ความงาม และความจริง 

ความดีในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนร่วม

ความงาม หมายถึง การสร้างคุณค่าร่วม มีชีวิตชีวา 

และความจริง หมายถึง เป็นสิ่งที่ทำได้จริงตามศักยภาพของตนเอง ทำอยู่บนฐานวิชาการองค์ความรู้ และเห็นผลจับต้องได้