สมชัย จิตสุชน: ความเป็นไปได้ของสวัสดิการสังคม-การศึกษา หยุดวงจรความจนและความเหลื่อมล้ำ

สมชัย จิตสุชน: ความเป็นไปได้ของสวัสดิการสังคม-การศึกษา หยุดวงจรความจนและความเหลื่อมล้ำ

ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้ง 2566 ข้อเสนอนโยบายสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นับเป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกพูดถึงบนเวทีดีเบต และเห็นได้ทั่วไปตามป้ายหาเสียง กระทั่งเป็นข้อถกเถียงเอร็ดอร่อยในโลกออนไลน์

หากสังเกตนโยบายด้านสวัสดิการสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทุนการศึกษา เงินประกันรายได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนผูกโยงกับสิทธิที่ประชาชนควรได้รับ และมีจุดประสงค์เพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพ 

คำถามคือ สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้สักกี่มากน้อยหากพิจารณาจากโครงสร้างงบประมาณและโครงสร้างภาษีที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกัน คำสำคัญอย่าง ‘ถ้วนหน้า’ และ ‘สงเคราะห์’ ก็เป็นสองคำที่มีความหมายคัดง้างกันเสมอเมื่อมีประเด็น ‘สวัสดิการ’ เป็นตัวตั้งของบทสนทนา

เพื่อไขข้อสงสัยข้างต้นและเพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราคุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI)

ดร.สมชัย จิตสุชน

ในช่วงเวลาเข้าคูหากาบัตรที่ไล่งวดเข้ามา สิ่งที่ ดร.สมชัย ชวนมองคือ ขณะนี้สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) สัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นย่อมกระทบกับรายได้-รายจ่ายของรัฐบาล นั่นจึงทำให้ระบบสวัสดิการ ระบบการศึกษา และการพัฒนาทักษะของเยาวชน ตลอดจนการศึกษาวิจัยต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายด้านสวัสดิการ อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยพยุงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า การมีรัฐสวัสดิการ ต้องเปลี่ยนชุดความคิดของคน เพื่อให้คนไทยเห็นคุณค่าของความเท่าเทียมกันมากกว่านี้ ในปัจจุบัน mindset เกี่ยวกับสวัสดิการของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าสังคมไทยยังมี mindset บางอย่างที่อาจจะไม่เอื้อต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ เริ่มจาก mindset ที่ว่า การช่วยคนจนคือการสงเคราะห์ เขาน่าสงสาร ก็เลยต้องช่วย พอคิดแบบนี้ก็ช่วยแบบเล็กๆ น้อยๆ ช่วยเพื่อความสบายใจ หรือช่วยเมื่อมีโอกาส ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะถ้าเป็นรัฐสวัสดิการหรือระบบคุ้มครองทางสังคม จะต้องไม่ใช่การช่วยเหลือเป็นครั้งคราว แต่จะต้องเป็นไปทั้งระบบ ซึ่งต่างจากคอนเซปต์การสงเคราะห์หรือให้ทาน แต่เป็นหลักของการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข หมายความว่า เมื่อทุกข์ก็ช่วยกัน เมื่อสุขก็ร่วมสุขด้วยกัน เช่น คนที่มีฐานะดีหน่อยก็ต้องพร้อมเสียสละ หรือพร้อมที่จะจ่ายภาษีมากขึ้น แล้วรัฐบาลก็เอาเงินภาษีนั้นไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาส สิ่งนี้คือการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข

สมมุติว่า คนด้อยโอกาสสามารถผลักตัวเองให้เป็นชนชั้นกลางได้ ก็ต้องยินดีที่จะเสียภาษีเช่นกัน แล้วก็ต้องช่วยในเรื่องที่ตนช่วยได้ สิ่งนี้คือกลไกภาษี อีกหนึ่งตัวอย่างคือกลไกประกันสังคม เช่น มาตรา 33 ที่ลูกจ้างต้องจ่ายเบี้ยประกันให้สำนักงานประกันสังคม นายจ้างเองก็ต้องจ่ายด้วย แล้วรัฐบาลก็สมทบอีกส่วนหนึ่ง อันนี้คือการเอาเงินมาอุดหนุนกัน เพื่อรับประกันว่า หากเจ็บป่วย หรือลาออกจากงาน หรือเกษียณ ผู้ประกันตนก็สามารถเอาเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายได้ 

คำถามคือ mindset ของสังคมเปลี่ยนไปบ้างไหม ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ ถ้าดูจำนวนคนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีมากขึ้นนะ แต่ก็ช้าเกินไป ที่มากขึ้นเพราะมีเด็กจบใหม่ พอจบใหม่ก็ไปทำงาน พอทำงานก็เข้าสู่ระบบโดยอัตโนมัติ แต่ถามว่าจริงๆ เจ้าตัวอยากเข้าระบบไหม เขาอาจไม่อยากเข้าก็ได้ (หัวเราะ) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของทัศนคติว่า เขาเห็นคุณค่าของระบบนี้มากน้อยขนาดไหน

ส่วนคนนอกระบบจะเข้าระบบประกันสังคมด้วยก็ได้ เช่น มาตรา 40 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคนไม่ค่อยเข้าใจมาตรา 40 ในแง่หนึ่งก็สะท้อนทัศนคติที่คนยังคงมองเรื่องนี้แบบสงเคราะห์ และถ้าโยงกับนโยบายสวัสดิการของแต่ละพรรคการเมือง ก็จะพบว่ามีการลดแลกแจกแถมเยอะไปหมด ซึ่งคอนเซปต์ก็ยังเป็นการสงเคราะห์อยู่ดี ซึ่งสะท้อนออกมาในนโยบายหาเสียง

ผมยังไม่ค่อยเห็นพรรคการเมืองไหนบอกว่าจะปรับปรุงระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น แต่ก็มีบางพรรคที่พูดว่าจะทำให้เป็นระบบประกันสังคมเป็นแบบถ้วนหน้า ซึ่งฟังดูดี อีกทัศนคติหนึ่งคือการที่คนชนชั้นกลางมีมุมมองลบต่อคนจน ในแง่ที่ว่า จนเพราะไม่รักดี ติดเหล้าติดยา ไม่ยอมทำงานหรือขี้เกียจ ทัศนคติแบบนี้ไม่ดีต่อการสร้างสังคมสวัสดิการ แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่ยินดีที่จะเสียภาษี เพราะรู้สึกว่ารัฐบาลเอาเงินไปช่วยคนจนซึ่งไม่รักดี มันเป็นทัศนคติที่ไม่ถูก คนจนส่วนใหญ่เขาจนเพราะจำเป็นต้องจน เพราะเขาไม่มีโอกาส เขาเป็นคนจนที่ยังรักดีอยู่ พยายามทำงานทำการ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจน

รูปแบบของระบบสวัสดิการสังคมสามารถผสมผสานกันได้ไหม โดยไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างสงเคราะห์หรือถ้วนหน้า 

มันแล้วแต่เรื่อง ถ้าเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานหรือเรื่องที่ให้ไปแล้วได้ประโยชน์กลับมาก็ใช้แบบผสมผสานได้ เช่น ถ้ารัฐให้เงินช่วยเหลือเด็กทุกคน เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ เงินที่รัฐจ่ายไปได้คืนแน่นอน เพราะสุดท้ายเด็กเหล่านั้นก็จะจ่ายภาษีคืนให้กับระบบเอง นี่คือสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่มีบางคนบอกว่า คุณก็ช่วยเฉพาะเด็กยากจนสิ เพราะเด็กที่รวยอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องได้รับ เพียงแต่จะมีปัญหาเชิงเทคนิคว่า ถ้าคุณมีคอนเซปต์ที่จะช่วยเฉพาะเด็กยากจน ก็ต้องมีกระบวนการคัดกรองว่าใครจนหรือไม่จน ซึ่งกระบวนการคัดกรองมักพลาดเสมอ แล้วพอพลาดก็จะมีเด็กรวยได้สิทธินั้นด้วย ส่วนเด็กที่จนจริงๆ กลับไม่ได้สิทธิ ระบบแบบนี้จึงมี error อยู่ ซึ่งแก้ยากมาก ไม่ว่าคุณจะปรับวิธีคัดกรองให้ดูดียังไง สุดท้ายก็ยังมีข้อผิดพลาดอยู่

สิทธิด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ รัฐควรทำให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ถึงแม้ว่าลูกคนรวยจะได้ประโยชน์ไปด้วยก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเด็กยากจนตัวจริงก็จะไม่ตกหล่น ซึ่งการตกหล่นแม้แต่คนเดียว จะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ฉะนั้น วาทกรรม ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เหมาะจะใช้กับเด็กมาก กระทั่งการทิ้งเด็กไว้คนเดียวก็เป็นต้นทุนแล้ว พอเราบอกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มันก็ต้องเป็นถ้วนหน้า ส่วนสิทธิบางเรื่องอาจจะยังไม่ต้องทำแบบถ้วนหน้าก็ได้ คือทำแบบคัดกรอง อาจมีผิดพลาดบ้าง ก็ต้องยอมรับกันไป

ในช่วงใกล้เลือกตั้ง หลายพรรคพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า เงินเด็กแรกเกิด สิทธิลาคลอด ฯลฯ คำถามคือ งบประมาณประเทศจะเพียงพอต่อการทำตามนโยบายไหม

ไม่น่าจะมีเงินพอ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ถ้าให้ทุกคนก็จะอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท และงบส่วนนี้จะต้องเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะคนแก่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่ง 500,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 6 ของงบประมาณทั้งหมด ถ้าบวกค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ก็อาจจะเพิ่มเป็นหลักล้านล้านบาท ซึ่งไม่มีทางจะทำได้หรอก งบประมาณรัฐบาลทุกวันนี้ก็ขาดดุลอยู่แล้ว หนี้สาธารณะก็มีอยู่ แล้วที่ขาดดุลทุกวันนี้ก็ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก ถ้ารัฐมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ยอดขาดดุลก็จะยิ่งมากขึ้น หมายความว่าถ้ารัฐจ่ายเพิ่มขึ้น 1 บาท ยอดขาดดุลก็เพิ่มขึ้น 1 บาท หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นอีก 1 บาท ในแง่นี้นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ก็ไม่น่าจะไหว

ถ้าจะทำระบบสวัสดิการจริงๆ ก็ต้องดูว่าจะลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นได้ยังไง บางพรรคอาจเสนอว่าให้ลดงบกองทัพ หรืออีกวิธีคือขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีที่เก็บจากคนรวย เพราะได้สองเด้ง หนึ่ง-เอาเงินมาช่วยคนจนได้ และสอง-ลดความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งประเทศไทยมีคนรวยแบบกระจุกและจ่ายภาษีน้อยเกินไป

สรุปคือ นโยบายต่างๆ จะทำได้จริง มี 2 วิธี หนึ่ง-ขึ้นภาษี สอง-เกลี่ยงบใหม่

สำหรับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางรายได้ นโยบายแต่ละพรรคการเมืองแตะที่ใจกลางของปัญหาแล้วหรือยัง

หลายนโยบายเป็นการแจกเงิน แต่ก็มีศักยภาพที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ ถ้าเงินไปถึงมือคนจริงๆ สมมุติว่าเบี้ยยังชีพผูสูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ทุกคนมีสิทธิได้เท่ากัน คนรวยที่มีเงินพันล้านได้ไปอีก 3,000 บาท ฐานะก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่คนแก่ซึ่งอยู่ในครอบครัวยากจน ลูกหลานเจียดเงินให้ใช้ได้เดือนละพัน ถ้าได้อีก 3,000 บาท รวมเป็น 4,000 บาทต่อเดือน ชีวิตเขาจะเปลี่ยนเยอะมาก เพราะฉะนั้น มันมีมิติการลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน แต่รัฐอาจจะต้องยอมจ่ายแพง

นอกจากนี้อาจมีนโยบายอื่นที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่า เช่น นโยบายการศึกษา ซึ่งการศึกษาทุกวันนี้ฟรีอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้ฟรีจริง อันนั้นก็ว่ากันไป แต่นอกจากสิทธิเรียนฟรีแล้ว ประเด็นที่ซีเรียสกว่าก็คือ คุณภาพของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่ลูกคนจนเข้าไปเรียนมันแย่มาก ทำให้ความเหลื่อมล้ำส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เด็กที่เป็นลูกคนรวยก็เรียนโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนในเมืองที่มีคุณภาพชั้นดี จบมาก็เป็นคนรวยรุ่นต่อไป เพราะฉะนั้น นโยบายที่จะช่วยตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำคือ จะทำให้คุณภาพการศึกษาเท่ากันทั้งประเทศได้ยังไง อย่างน้อยก็อย่าให้ทิ้งห่างกันเกินไป อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะก็ได้ เพราะงบประมาณด้านการศึกษามีเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องบริหารจัดการใหม่

เส้นแบ่งของนโยบายประชานิยมกับสวัสดิการถ้วนหน้าคืออะไร

ผมอธิบายด้วยการขยายความถึงคำว่า ‘ประชานิยม’ ก่อนก็แล้วกัน คำว่า ‘ประชา’ กับ ‘นิยม’ หลายคนอาจมองในแง่ลบ เพราะมีคำถามตามมาว่า ‘ประชา’ คือใคร และนโยบายนี้จะเป็นที่ชื่นชอบสำหรับประชาชนบางกลุ่ม ไม่ใช่ทุกคน หรือก็คือฐานเสียงของตัวเอง เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกร และไม่ใช่คนไทยทุกคนจะเป็นเกษตรกร แต่ที่เขาออกแบบนโยบายแบบนี้ก็เพราะได้เสียงเป็นกอบเป็นกำ 

ถ้าเทียบกับนโยบายสวัสดิการหรือนโยบายความคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้า คำว่า ‘ถ้วนหน้า’ ก็บอกอยู่แล้วว่าทุกคนต้องได้ประโยชน์ ซึ่งต่างกับจำนำข้าวหรือประกันราคาสินค้าเกษตร ดีไม่ดีถ้ารัฐประกันราคาสูงเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ข้าวจะราคาแพง แล้วคนที่ไม่ใช่ชาวนาก็จะเดือดร้อน โอเค มันไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะรัฐบาลใช้กลไกอุดหนุนราคา แต่การอุดหนุน รัฐบาลก็ใช้ภาษีประชาชน หมายความว่า ถ้าเงินมันหายไปเพราะเหตุนี้ เงินก้อนที่ควรทำประโยชน์ให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เกษตรกรก็จะหายไปด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นประชานิยมจึงเป็นการทำนโยบายซึ่งบางคนได้บางคนเสีย แต่ถ้าเป็นสวัสดิการคือถ้วนหน้า ทุกคนได้หมด นี่คือความต่างที่สำคัญ

ส่วนคำว่า ‘นิยม’ ที่มีภาพ negative เพราะว่ามันเป็นการ ‘นิยม’ ชั่วครั้งชั่วคราว คือเป็นผลประโยชน์ระยะสั้น แต่ถ้าเป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้า การออกแบบของระบบนี้มักจะคิดถึงระยะยาว คือได้ประโยชน์และยั่งยืน แต่ถ้าเป็นนโยบายกลุ่มประชานิยมจะประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็หมดไป

แต่หลายประเทศที่มีรัฐสวัสดิการคุณภาพก็กำลังประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุ จนต้องมาทบทวนสวัสดิการกันใหม่?

ทุกประเทศที่เขาให้สวัสดิการกันเยอะๆ มันถึงจุดที่เขาต้องเริ่มทบทวนว่า งบประมาณพอไหม เช่น เงินอุดหนุนเด็กของอังกฤษที่เคยให้ถ้วนหน้ามาตลอด ตอนหลังเขาเปลี่ยนเป็นการคัดกรอง เพียงแต่ว่าวิธีของเขาฉลาดกว่าไทย ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าจนจริงๆ ถึงจะได้สิทธิ จนทำให้เกิดการตกหล่น ส่วนอังกฤษ แทนที่จะคัดกรองคนจนเข้า เขาใช้วิธีกรองคนรวยออก เริ่มจากการให้ทุกคนมีสิทธิก่อน แล้วจึงไปดูว่าใครบ้างที่รวยอยู่แล้ว เช่น มีบ้านใหญ่โต มีเงินฝาก มีหุ้น มีที่ดิน มีอะไรต่างๆ พอแน่ใจว่าคนนี้รวยแน่ ก็หมดสิทธิ ไม่ได้เงิน ช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ ซึ่งการคัดกรองแบบนั้นแม่นยำกว่าการกรองความยากจน เพราะคนรวยมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว เช่น หุ้น เงินฝากธนาคาร ที่ดินต่างๆ นี่คือการปรับตัวของระบบสวัสดิการ

แล้วก็มีการปรับตัวด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น เคลื่อนย้ายงานให้หน่วยงานนอกภาครัฐเป็นคนทำแทนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการบริหารงานลดลง หรืออย่างระบบประกันการว่างงาน ถ้าคุณตกงานก็ยังได้เงิน แต่ถ้าคุณให้เงินชดเชยดีเกินไป เขาก็จะไม่กลับไปทำงาน เพราะฉะนั้นจึงมีการออกแบบระบบที่ผลักให้คนกลับมาหางานใหม่เร็วขึ้น บางกรณีจะใช้วิธีลดเงินประกันลง เขาจะได้รู้สึกว่าต้องรีบกลับไปหางาน หรืออาจใช้วิธีให้เงิน 3 เดือนแรกดี แต่หลังจากนั้นก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณพักงาน 3 เดือน เดือนที่ 4 คุณต้องรีบหางานแล้วนะ เป็นต้น

ขณะที่สังคมญี่ปุ่นสูงวัยอย่างรุนแรง เมื่อสังคมสูงวัยอย่างรุนแรง รายได้เข้าภาครัฐก็จะลดลง เพราะคนทำงานน้อยลง รัฐบาลก็ต้องปรับตัว ฉะนั้น การปรับตัวของระบบสวัสดิการจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา 

ในฐานะที่คุณจับประเด็นเด็กนอกระบบด้วย ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานรายได้ของครอบครัวที่ไม่เพียงพอ เด็กจึงอยู่ในระบบการศึกษาไม่ได้ และทำให้เด็กคนนั้นมีรายได้น้อยลงตามวุฒิการศึกษาที่ไม่สูงมาก จึงถ่ายทอดความจนรุ่นสู่รุ่น คำถามคือ จะหยุดวงจรความจนนี้อย่างไร

มันแก้ได้ แต่ต้องตั้งใจแก้นะ วิธีแก้คือต้องช่วยทั้งตัวเด็กและครอบครัว เช่น ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ยากจน เพราะไม่มีงานหรือมีงานทำแต่รายได้ไม่ดี หรือเป็นเกษตรกรซึ่งมีรายได้ไม่แน่ไม่นอน ก็ต้องมีมาตรการด้านเศรษฐกิจไปช่วยครอบครัวและตัวเด็ก เช่น ช่วยผ่านเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด บางพรรคบอกว่าให้เพิ่มเป็น 1,200 บาทต่อหัวต่อเดือน หรือมากกว่านั้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ควรทำ และควรเป็นแบบถ้วนหน้า เพราะถึงแม้ว่าพ่อแม่รายได้เท่าเดิม แต่ถ้ารัฐบาลเข้ามาช่วยตรงนี้ก็สามารถหวังได้ว่า พ่อแม่จะมีเงินส่งลูกเรียนหนังสือได้ดีขึ้น ไปหาหมอได้ง่ายขึ้น กินอาหารได้ดีขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น ที่สำคัญเด็กอาจไม่ต้องออกจากโรงเรียน ซึ่งสาเหตุที่พ่อแม่เอาลูกออกจากโรงเรียน ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีเงินส่ง แต่อยากให้ออกมาช่วยกันทำมาหากิน เพราะฉะนั้นถ้ามีการช่วยเหลือ 1,200 บาท หรือ 3,000 บาทต่อเดือน ก็อาจช่วยให้เด็กเรียนต่อได้ อันนี้คือมิติทางเศรษฐกิจ

สำหรับมิติสังคม ตัวอย่างคือ เด็กอาจรู้สึกว่าครอบครัวไม่อบอุ่น พอไม่อบอุ่นก็รู้สึกไม่ดี เด็กก็อาจจะเกเร เมื่อเกเรก็ไม่อยากเรียน ในกรณีนี้พ่อแม่อาจจะมีเงิน แต่ลูกไม่อยากเรียนแล้ว จึงต้องมีมาตรการหลากหลายรูปแบบ

นอกจากนั้น ครอบครัวอีกลักษณะที่สำคัญคือ ครอบครัวแหว่งกลาง คือครอบครัวที่เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ประเด็นแรกคือ ครอบครัวแหว่งกลางมักจะเป็นครอบครัวยากจนด้วย และยังมีมิติอื่นเพิ่มเติมอีก เช่น การที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วย อาจทำให้ครอบครัวไม่อบอุ่น แล้วปู่ย่าตายายก็มี generation gap เป็นช่องว่างระหว่างวัย สมมุติเด็ก 4-6 ขวบ ดูยูทูบ (Youtube) ปู่ย่าตายาจะรู้ไหมว่า หลานดูอะไรอยู่ มันเป็นผลดีหรือเป็นผลเสียของหลานกันแน่ เพราะฉะนั้นเด็กก็อาจเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

การมีสวัสดิการจะทำให้สถานการณ์บรรเทาขึ้นได้ จากเดิมมีเด็กหลุดออกจากระบบเทอมละ 30 คน อาจลดเหลือ 20 คน เพราะมีสวัสดิการมาช่วยผ่อนคลายทางด้านเศรษฐกิจ กระทั่งทางสังคม เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด สิ่งที่เราเจอคือ เงินที่ส่งให้คนเป็นแม่ จะทำให้แม่ได้รับความนับถือในครอบครัวมากขึ้น ในครอบครัวที่แม่ถูกพ่อดูถูกดูแคลนหรือตบตี ก็จะได้รับความเคารพมากขึ้น หมายความว่าครอบครัวจะอบอุ่นขึ้น ภาพที่เด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันก็จะน้อยลง เป็นต้น มิติประเภทนี้จะช่วยเรื่องการเรียนของเด็กในทางอ้อมด้วย

ถ้าเด็กคนหนึ่งได้รับสวัสดิการหรือสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เขาเติบโตได้อย่างมีคุณภาพแล้ว อะไรคือทักษะสำคัญที่เขาควรมีติดตัวในโลกที่หมุนเร็วขนาดนี้

โดยทั่วไปคนจะแยกเป็น hard skill เช่น ความรู้ทางช่าง นักบัญชี ทนาย ฯลฯ ซึ่งก็ไปทำมาหากินได้ ส่วน soft skill ก็จะมีหลายเรื่อง เช่น ความเป็นผู้นำ การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การทำงานเป็นทีม ในช่วงหลังยังมีการพูดถึง digital skill เช่น คุณใช้มือถือเป็นไหม ใช้แท็บเล็ตได้หรือเปล่า เสิร์ชข้อมูลเป็นหรือเปล่า ใช้ประโยชน์จาก chatGPT เป็นไหม

แต่ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับ socio-emotional skill ก็คือทักษะที่มุ่งเน้นอารมณ์กับสังคม คุณเข้าพวกได้ไหม คุณเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นไหม ถ้าเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ก็หมายความว่าคุณจะเรียนรู้ได้ต่อเนื่อง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามและผมคิดว่าสำคัญ

เพื่อให้เข้าใจได้กระจ่าง สมมุติเราเปรียบเทียบว่า EQ กับ IQ อย่างไหนสำคัญกว่า คนก็จะบอกว่า สำคัญทั้งคู่ แต่ถ้าถามผม EQ สำคัญกว่า IQ ด้วยซ้ำ ถ้าคุณเป็นคนมีทัศนคติที่ดี ต่อให้คุณไม่ได้ฉลาดนัก แต่คุณเป็นคนซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนที่คนอื่นรู้สึกอยากจะคุยด้วย EQ ประเภทนี้จะทำให้คนไปได้ไกลกว่า สุดท้ายจะเป็นเรื่องของเงินเดือนที่จะได้กลับมาด้วย คือควรมี skill ทุกอย่างแหละ เพียงแต่ว่าบางเรื่องที่มักถูกมองว่าไม่สำคัญ ก็อยากให้กลับมาเน้นมากขึ้น เช่น เรื่อง EQ หรือ socio-emotional skill เป็นต้น

ในฐานะนักวิจัย เครื่องมือการวิจัยจะช่วยแก้ไขความเหลื่อมล้ำอย่างไรได้บ้าง

ในฐานะนักวิจัย เรารู้ว่าทักษะทุกอย่างมันใช่หมด แต่ผมอยากรู้ว่ามันใช่แค่ไหน ทักษะไหนที่เป็นอันดับหนึ่ง คือถ้าคุณมีทักษะนี้แล้ว รายได้คุณเพิ่มแน่ๆ ซึ่งลิสต์ทักษะลำดับ 1-4 ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน โจทย์วิจัยคือ ค้นหาทักษะสำหรับเด็กเล็กผู้หญิง อายุไม่เกิน 5 ขวบ ซึ่งสมองซีกซ้ายอาจทำงานดีกว่าสมองซีกขวา แล้วทักษะที่เขาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดจนเป็นเบอร์หนึ่งของเขาคืออะไร ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นเด็กผู้ชาย สมองซีกขวาทำงานดี ทักษะของเขาอาจเป็นอีกแบบหนึ่ง เด็กคนแรกอาจเป็นนักคณิตศาสตร์ คนหลังอาจเป็นนักวาดรูป คือทักษะเบอร์หนึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน ใช้ประโยชน์สูงสุดต่างกัน 

ขยับไปเรื่องอื่น ถ้าไล่ทุกกลุ่มอายุไปจนถึงคนอายุ 60-70 ปี ผมคิดว่าก็ควรจะฝึกทักษะใหม่ๆ ได้ คำถามที่ตามมาคือ ทักษะที่เหมาะกับคนแก่อายุ 70 ปี ควรจะเป็นอะไร เพราะฉะนั้นทักษะใดที่จะเป็นประโยชน์ก็ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่ด้วย สมมุติคุณมี digital skill ดีมาก แต่ว่าพื้นที่นั้นไม่มีเครื่องมือให้ใช้ ทักษะนั้นก็อาจจะไม่สำคัญก็ได้ ตัวอย่างคือ ถ้าคนแก่มีเวลาว่างและรักความสะอาดมากกว่าคนหนุ่มสาว ทักษะการแยกขยะเพื่อนำไปขายต่อ ก็อาจจะเหมาะกับคนแก่ก็ได้

ทั้งหมดคือ เราควรจะมีงานวิจัยที่พัฒนามาเป็น tools ที่บอกได้ว่า นาย ก นาย ข นาย ค ควรจะมีทักษะอะไร อะไรเป็นเบอร์หนึ่งของเขา อะไรเป็นเบอร์สอง อะไรเป็นเบอร์สาม ถ้าทำตรงนั้นได้ เราก็สามารถมีนโยบายเกี่ยวกับ upskill, reskillซึ่งนำไปใช้กับระดับบุคคลได้

ขณะนี้งานวิจัยมีมากเพียงพอต่อการหยิบไปใช้ไหม

มีงานวิจัยอยู่ระดับหนึ่ง เพราะเราทำกันมาตลอด สะสมมาเรื่อยๆ แต่ถามว่าต้องทำต่อไหม ทำแน่นอน 

งานวิจัยหนึ่งที่ค้างคาในใจผมก็คือ เราจะมีแนวทางในการปรับเพิ่มภาษีอย่างไร ให้คนไทยยอมรับได้ ผมทำวิจัยเรื่องนี้มา แต่ก็ยังไม่รู้คำตอบนะ หมายความว่า ต้องทำวิจัยเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์ว่าจะต้องผลักดันนโยบายอย่างไร จนให้แน่ใจว่า สังคมยอมรับ ผ่านสภาได้ เพราะถ้าจะแก้ความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบสวัสดิการ ก็จะมีองค์ประกอบย่อยๆ ที่เราต้องรู้ ต้องทำวิจัยเพิ่ม เพื่อให้แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วจะนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

อยากเสริมว่า อีกมิติหนึ่งของการทำวิจัยซึ่งน่าทำคือ การทำเรื่องที่รู้แล้ว เช่น มีโจทย์ว่าทักษะที่เหมาะสำหรับเด็กหญิงคนหนึ่งคืออะไร สมมุติว่าทำวิจัยเสร็จแล้ว รู้ทักษะนั้นแล้ว แต่แน่ใจได้ยังไงว่าจะมีการออกนโยบายที่เอื้อให้เด็กหญิงได้ฝึกทักษะนั้นจริง ต้องมีการทำวิจัยในแง่ที่ว่า สิ่งนั้นจะนำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ เหมือนการวิจัยในเชิง how to คือทำอย่างไรให้สิ่งที่รู้แล้วเกิดผลได้จริง ซึ่งงานวิจัย how to เป็นสิ่งที่ขาดมากในเมืองไทย

งานวิจัย how to อันหนึ่งที่มีการพูดถึงกันก็คือ นโยบายดีๆ หลายเรื่อง พอเสนอไปที่ภาคราชการ กระทรวง ทบวงกรมต่างๆ เขาก็ทำไม่สำเร็จ หรือเขาไม่ทำ หรือระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ เรื่องประเภทนี้ต้องมีการทำวิจัยเพิ่มเติม

เรามักได้ยินจากหลายเวทีพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า local data ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยกระจายทรัพยากรไปยังท้องถิ่นได้ เช่น การดึงคนกลับภูมิลำเนา และอาจมีผลต่อการอุดช่องว่างของครอบครัวแหว่งกลางด้วย คุณมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร

local data น่าจะดีอยู่ แต่ data อะไรล่ะที่จะใส่เข้าไป ถ้าคุณอยากดึงคนกลับท้องถิ่นจริงๆ ต้องทำ data ให้เขารู้ว่า เขาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในพื้นที่นั้น ตอนนี้มีปัญหาว่า คนไม่อยากอยู่ในพื้นที่ก็เพราะเขาไม่มีงานทำ เขาจึงมาอยู่กรุงเทพฯ และตามหัวเมือง แต่บางคนก็บอกว่า ถ้าคุณอยู่ในพื้นที่จริงๆ จะมีอะไรให้ทำบ้าง แต่ถ้ามี local data ที่ชี้ได้ว่า มีงานอยู่ตรงไหน บริษัทไหนจ้าง คงคล้ายๆ labour market หรือข้อมูลตลาดแรงงาน ก็จะช่วยได้

อีกสิ่งที่ทำได้คือ ถ้าสมมุติว่าไม่ไปเป็นลูกจ้างล่ะ แต่อยากทำกิจการของตัวเองในพื้นที่นั้น ก็ต้องการ data อีกชุดหนึ่ง เช่น ถ้าต้องกู้ธนาคาร กู้ได้ที่ไหน มีวิธีการยังไง เพราะฉะนั้นคอนเซปต์ของ local data มันดีอยู่แล้ว แต่ต้องลงลึกต่อว่า data แบบไหน

จริงๆ วิธีที่ดีที่สุดในการดึงคนกลับท้องถิ่น คือการกระจายอำนาจ ซึ่งอาจหมายถึงกระจายอำนาจการข่าวหรือการเมืองไปสู่ท้องถิ่น เมื่อพื้นที่เจริญขึ้น โอกาสการมีงานทำ โอกาสการทำกิจการของตัวเอง ก็จะมีมากขึ้น

ฉากทัศน์ของเด็กไทยในอนาคต ควรมีลักษณะอย่างไร

หนึ่ง-ต้องเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ สอง-ตื่นตัวต่อปัญหาสังคมและการเมืองไทย สาม-มี socio-emotional skill เพราะ hardskill softskill ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไร กระทั่งหลักสูตรที่ไม่ค่อยดี แต่เด็กก็สามารถหาความรู้ในยูทูบ (Youtube) ได้ ถ้าเด็กใฝ่ดีหรือมี socio-emotional skill คุณไม่ต้องไปเรียนหนังสือยังได้เลย เรียนเองก็ได้

เปิด 3 ข้อเสนอเร่งด่วนจาก กสศ. ในวาระเลือกตั้ง เพื่อเด็กยากจน 2.5 ล้านคน หลุดพ้นจากวงจรยากจนข้ามรุ่น