หนึ่งในข้อเสนอคือ การสร้าง “อาสาสมัครการศึกษา” ที่ทำหน้าที่คล้ายอาสาสมัครสาธารณสุข คือ มีในทุกหมู่บ้าน เรื่องนี้มีการทำบ้างแล้วในการระบาดรอบแรก เช่น จ.ราชบุรี ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ควรขยายให้กว้างขวางขึ้น
ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองหลายประการ ที่สำคัญมีผลกระทบต่อระบบการศึกษาของไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนะการรับมือสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในระบบการศึกษาหัวข้อ “การจัดการ “แผลเป็นด้านการศึกษา” จากโควิด-19 เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
โดยได้กล่าวถึง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการออกแบบอสม.การศึกษาและมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจสมควรนำมาขบคิดพิจารณา โดย ดร.สมชัย ได้เสนอไว้ดังนี้
มีการกล่าวกันมากว่าการระบาดของโควิด-19 จะก่อให้เกิด “แผลเป็น” ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการตอกย้ำแนวโน้มการตกงานของกลุ่มแรงงานที่ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก (ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจมีเกือบประมาณ 40% ของแรงงานทั้งหมด) ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น ครอบครัวที่มีคนแก่ คนพิการ เด็กเล็ก ยากจน ถูกผลกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่นและมีต้นทุนในการปรับตัวเพื่อรับแรงกระแทกน้อยกว่า จนทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและต้นทุนสังคมถูกกัดกร่อนและร่อยหรอจนอาจยากจะฟื้นตัว แต่ละแผลเป็นมีเรื่องให้ต้องขบคิดกันมากว่าจะทำอย่างไรในการป้องกันหรือให้ความช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้บ้าง
อีกหนึ่งแผลเป็นที่คาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่ยาวนานและอาจถาวร คือแผลเป็นด้านการศึกษา โดยจะมองเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสไปพร้อมๆ กัน
ความท้าทายมีหลายประการ อย่างที่ทราบกันดีว่าการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ในช่วงที่มีการระบาดก่อให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างมาก นักเรียนจำนวนมากเรียนรู้จากการเรียนออนไลน์ได้อย่างจำกัดมาก ไม่ว่า จะเป็นเพราะขาดอุปกรณ์ ขาดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ขาดผู้ปกครองที่มีเวลาช่วยแนะนำและกำกับการเรียน ขาดสมาธิ ปัญหาเหล่านี้ยิ่งหนักขึ้นถ้าเป็นนักเรียนยากจน ซึ่งอาจมีเรื่องอื่นเพิ่มเติม เช่น ช่วงเรียนออนไลน์ไม่อยากเปิดวิดีโอเพราะอายสภาพบ้าน ทำให้ปฏิสัมพันธ์ยิ่งน้อยลง และถ้าเด็กยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งมีโอกาสเรียนรู้ ได้น้อย (มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่าเด็กอนุบาล 3 ของไทยเรียนรู้น้อยลงคิดเป็นประมาณ 4-5 เดือน) ผู้ปกครองเองก็จัดเวลายาก เพราะต้องทำงานไปด้วย ดูแลลูกหลานที่เรียนที่บ้านไปด้วย ครูเองก็ต้องปรับตัวมากในการสอนออนไลน์ บางคนปรับตัวไม่ได้ก็ทำให้ประสิทธิภาพการสอนหย่อนลง
แนวทางการลดผลกระทบก็มีการพูดถึงกันบ้างแล้ว ไม่ว่าการสลับวันเรียน การลดขนาดห้อง การปรับหลักสูตร นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่นที่มีการทำในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษมีการตั้งกองทุนชื่อว่า Education catch-up initiatives เพื่อช่วยสอนเสริมและฟื้นฟูความรู้ให้กับนักเรียนที่เรียนรู้น้อยลงในช่วงออนไลน์ ในอเมริกามีโครงการคล้ายกันคือ Acceleration Academies, High Intensity Tutoring หรือมีการคิดค้นกระบวนการเรียนรู้ที่ง่ายๆ ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวในชุมชน เช่น ในประเทศอินเดียเป็นต้น ดังนั้น จะขอเน้นเรื่องการแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งก็สามารถทำได้หลายประการ กล่าวคือ
ประการแรก : ควรใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดจากกระแสดิจิทัลในกระบวนการเรียนรู้ (digital learning) ที่ถูกบังคับให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่น ในกลุ่มครูและอาจารย์ มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมสมองถึงวิธีการใหม่ๆ ในการสอนให้มีประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ เช่น การใช้การสอนแบบ multi-mode คือไม่ใช่ online หรือ offline อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ผสมผสานกัน ควรมีนโยบาย ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเช่นนี้ให้มีความกว้างขวาง ยิ่งขึ้น หรือในกลุ่มผู้ปกครองก็ควรใช้ประโยชน์จากความรู้ ความเข้าใจถึงแนวทางในการกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกหลานในระหว่างที่ทำหน้าที่กำกับและสนับสนุนการเรียนที่บ้าน แล้วทำการขยายความเข้าใจนี้ไปสู่กลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน กลุ่มครูและอาจารย์ รวมถึงการถ่ายทอดสู่วงกว้างด้วย
นอกจากนั้น ยังอาจต่อยอดแนวโน้มเดิมที่เกิดก่อนการระบาดของโควิด เช่น การเปิดคอร์สเรียนออนไลน์แบบ MOOC (Massive Online Open Course)ที่เริ่มในต่างประเทศและได้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ปัจจุบันมีการจัดตั้ง Platform รวม ชื่อ Thai MOOC (Thailand Massive Online Open Course) และ Thailand Cyber University ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกระดับการศึกษา ทุกอายุ และทุกอาชีพ โดยในช่วงโควิดมีผู้เรียน ต่อวันเพิ่มขึ้นเกือบ 60% และมีเนื้อหาวิชาเกือบ 500 วิชา ผู้เรียนสามารถได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิ หรือกระทั่งโอนหน่วยกิตเพื่อไปรับปริญญาได้
สิ่งที่ควรปรับปรุงในเรื่องนี้ ควรเป็นเรื่องการทำให้แน่ใจว่าหลักสูตรและเนื้อหาที่สอนตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็วของตลาดแรงงาน ซึ่งการสอนแบบ MOOC มีจุดเด่นในเรื่องความยืดหยุ่นของเนื้อหาได้อยู่แล้วจึงควรใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการสอนที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาและอายุของผู้เรียน จึงอยากให้มีการคิดนอกกรอบในเรื่องเนื้อหาด้วย เช่น อาจเป็นเนื้อหาที่เหมาะกับแรงงานที่กำลังจะถูกทอดทิ้งจากตลาดแรงงาน เช่นผู้ที่สูงวัยกว่า 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินประถมหรือมัธยมต้น MOOC ควรใช้ความยืดหยุ่นของเนื้อหาสร้างทักษะให้คนกลุ่มนี้ด้วย โดยอาจไม่ใช่ทักษะที่ไม่มีมูลค่าตลาดก็ได้ เช่น การดูแลเด็กเล็ก การดูแลผู้สูงวัย การรักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น
ประการที่สอง : กระทรวงศึกษาธิการควรปฏิรูปแนวทางการวัดผลการเรียนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในภาวการณ์ใหม่ โดยถือโอกาสนี้ปรับปรุงระบบ KPI ที่ล้าสมัยและไม่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไปพร้อมกัน
ประการที่สาม : ควรยกระดับการใช้กลไกชุมชนในกระบวนการเรียนรู้ เช่น การสร้าง “อาสาสมัครการศึกษา” ที่ทำหน้าที่คล้ายอาสาสมัครสาธารณสุข คือ มีในทุกหมู่บ้าน เรื่องนี้มีการทำบ้างแล้วในการระบาดรอบแรก เช่น จ.ราชบุรี ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงควรขยายให้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งการระดมคนในชุมชนให้ช่วยสร้างอุปกรณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ประการที่สี่ : จากข้อเสนอแนะต่างๆ ข้างต้นผสมผสานกัน น่าจะก่อให้เกิดบริบทของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ด้วย โดยเป็นการร่วมมือกันของภาคีต่างๆ และนำนวัตกรรมต่างๆ ที่ค้นพบและทดลองใช้ในช่วงนี้มาเป็นบทเรียน และอยากให้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเป็นกลุ่มแรงงานที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น ผู้สูงวัยเกิน 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินมัธยมต้นที่กล่าวถึงข้างต้น
ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีเรื่องใหม่ๆ อีกหลายประการที่เกิดขึ้นในกระบวนการศึกษาช่วงนี้ที่ควรเอามาสกัดเป็นบทเรียนและใช้ประโยชน์ในระยะยาวได้