“ไข่ตุ๋น” เปลี่ยนเมนูพื้นฐานประจำบ้าน สู่เครื่องมือการเรียนรู้ทรงพลัง ​ช่วง “ล็อกดาวน์” ​

“ไข่ตุ๋น” เปลี่ยนเมนูพื้นฐานประจำบ้าน สู่เครื่องมือการเรียนรู้ทรงพลัง ​ช่วง “ล็อกดาวน์” ​

ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการเรียนการสอนแบบ “ออนไลน์” ​ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไหนจะต้องหาวิธีให้จูงใจเด็ก ๆ มีสมาธิสนใจอยู่ที่หน้าจอช่วงที่ครูกำลังสอน​ ไหนจะต้องปรับเนื้อหาและรูปแบบให้เหมาะสมกับการเรียนนอกห้องเรียน รวมไปถึงการออกแบบการบ้าน ใบงานที่เหมาะสมเสริมกับการเรียนรู้ในช่วงที่เด็กต้องอยู่บ้าน 

ที่สำคัญ ยิ่งเรียนออนไลน์ด้วยรูปแบบเดิม ๆ นานเท่าไหร่ เด็ก ๆ จะเริ่มกระตือรือร้นน้อยลง ประเด็นนี้ทำให้คุณครูและผู้บริหารโรงเรียนวัดพังยอม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช หันมามาระดมสมองและปรับแผนการเรียนการสอน จนได้แนวทางที่ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ดังจะเห็นจากที่เด็ก ๆ กลับมาสนุกกับการเรียนรู้อีกคร้ัง

ด้วยเคล็ดลับสำคัญคือการหยิบเอาเมนูยอดฮิตทีทำจาก “ไข่” มาเป็นสื่อการสอน ที่รวมเนื้อหาและตัวชี้วัดของแต่ละวิชาเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ด้วยรูปแบบที่เด็กไม่ต้องทำงานเยอะชิ้น แต่ได้เนื้อหาสาระครบถ้วน

สร้างความสนุกให้บทเรียนออนไลน์
บูรณาการ สาระ – ตัวชี้วัดแต่ละวิชาเข้าด้วยกัน

ณัฐพัชร เพชรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพังยอม เล่าให้ฟังว่า เดิมทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ พร้อมกับนำใบงานให้นักเรียน​ไปทำที่บ้าน และมีคู่มือสำหรับผู้ปกครองในการช่วยดูแลบุตรหลาน โดยจัดตารางสอนช่วงเช้าถึง 11.30 น. ครูจะมาคุยกับนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่วนตอนบ่ายจะเป็นช่วงวิชาทักษะชีวิตที่แล้วแต่ว่าจะกำหนดให้ทำอะไร ในขณะที่เด็กประมาณ 28 คน ที่ไม่มีอุปกรณ์สามารถเรียนออนไลน์ได้ ก็จะใช้วิธีให้มารับใบงานไปทำในแต่ละสัปดาห์ 

“แต่ปัญหาคือ เด็กเรียนออนไลน์ทุกวัน ถ้าครูสั่งงานพร้อมกันทุกวิชา​ เด็กก็ทำไม่ได้ทั้งหมด และจากที่สอนออนไลน์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน เด็ก ๆ เริ่มมีอาการเบื่อ ครูจึงมา PLC คิดกันว่าจะออกแบบการสอนแบบบูรณาการกันอย่างไรดี จนครูเสนอเรื่องไข่ขึ้นมาเป็นตั้ง เพราะเป็นของที่มีอยู่ทุกบ้าน จากนั้นก็มาแยกว่าแต่ละชั้นจะทำอะไร เช่น เรียนรู้จากไข่ต้ม ไข่เจียว ไข่ตุ๋น แล้วบูรณาการเนื้อหาแต่ละสาระวิชาและตัวชี้วัดที่จะผสมผสานของแต่ละวิชาเข้าไว้ด้วยกัน เรียนเสร็จก็จะมีการสอบประเมินตัวชี้วัดว่าเด็กได้เรียนรู้ตามที่วางไว้หรือไม่” 

อีกปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ ความร่วมมือจากผู้ปกครอง ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสนับสนุนการเรียนของเด็ก ๆ ให้เกิดขึ้นในช่วงที่อยู่บ้าน ดังจะเห็นว่าผู้ปกครองหลายคนให้การสนับสนุน ทั้งช่วยอธิบาย ช่วยสอน ถ่ายคลิปส่งคุณครู เกิดการประสานสร้างความร่วมมือผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ

การเรียนรู้เกิดขึ้นได้แม้จะช่วงโควิด-19
หากมีรูปแบบการเรียนการสอนที่ดี

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนชั้น ป.6 จะเรียนรู้เรื่อง “ไข่ตุ๋น” เริ่มจากภาษาอังกฤษ ที่เด็กจะได้รู้จักคำศัพท์ และการเขียนอธิบายการทำไข่ตุ๋นเป็นข้อ ๆ ในรูปแบบภาษาอังกฤษ เชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์ ที่เด็กจะได้รู้จักการคำนวณหาเส้นรอบวง และพื้นที่ของไข่แดง ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ เรื่องความรู้เรื่องสารอาหาร ตลอดจนการได้ลงมือปฏิบัติทำไข่ตุ๋นของจริงว่ามีกระบวนการอย่างไร เจอปัญหาและต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้ดีขึ้น รวมทั้งในส่วนของภาษาไทยที่เชื่อมโยงไปถึงเนื้อหาเรื่อง “ข้อเท็จจริง” และ “ข้อคิดเห็น” 

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กคือ เด็กสนุก มีการพัฒนาที่ดีขึ้น เห็นได้จากใบงานที่เด็กเขียนส่งมาต่างจากการสอนแบบเก่า ซึ่งพอปรับการสอน เด็กก็มีรูปแบบความคิดที่หลากหลายขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออก รู้จักคิดวิเคราะห์ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้โควิด-19 จะเป็นอุปสรรค แต่ถ้ามีรูปแบบการเรียนการสอนที่ดี ก็ยังสามารถทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้”​

ทั้งนี้ แม้อาจจะไม่สามารถเทียบเท่ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งนักเรียนได้เรียนกับครูโดยตรง ได้ลงมือปฏิบัติทดลอง แต่ช่วงเวลาที่เด็กจะต้องอยู่กับบ้าน การจะไปหาอุปกรณ์เครื่องมือทดลองที่มีเหมือนในโรงเรียนคงเป็นไปได้ สิ่งที่พอจะหาได้ก็คือสิ่งที่มีอยู่ในแต่ละบ้านหรือในชุมชน และหยิบมาเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างการเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคุณครูได้เริ่มวางแผนกันแล้วว่า หากเรียนเรื่องไข่เสร็จแล้ว จะเปลี่ยนไปสร้างการเรียนรู้จาก “มะพร้าว” ซึ่งหาได้ง่ายในชุมชน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน สามารถทำอาหาร ทำขนม และประกอบอาชีพได้กว้างขวาง​

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่าย TSQP
เติมเต็มประสบการณ์ระหว่างโรงเรียน

โรงเรียนวัดพังพยอมเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาการเรียนการสอน 

ผอ.โรงเรียนวัดพังพยอมระบุว่า รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น เป็นสิ่งที่คุณครูในโรงเรียนช่วยกันคิด โดยรวบรวมปัญหา วิเคราะห์เพื่อออกแบบการเรียนรู้ บูรณาการทุกกลุ่มสาระวิชา นำความรู้และทักษะชีวิต กิจวัตรประจำวันของนักเรียนมาสร้างให้เกิดกการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

ช่วงที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดประชุมกันระหว่างครูและผู้บริหารโรงเรียนในโครงการ TSQP เพื่อให้แต่ละโรงเรียนได้สะท้อนแนวทางการจัดการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และสามารถนำไปเป็นแนวทาง หรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนตัวเองได้ 

ทั้งหมดเป็นความพยายามที่จะช่วยกันออกแบบการจัดการเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้านเพื่อให้นักเรียนสามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในข้อจำกัดที่เป็นอยู่