แรงงานจากภาคอาชีวศึกษานับเป็นบุคลากรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และจะเป็นอีกำลังสำคัญที่จะประเทศเพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แต่ปัจจุบันยังมีคนที่เรียนในสายอาชีวศึกษาค่อนข้างน้อย จำเป็นที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนส่งเสริม ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาเรียนในสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งให้การสนับสนุนพัฒนาการเรียนการสอนในสายอาชีวศึกษาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละประเทศทั่วโลกมีแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมอาชีวศึกษาด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งหลายแนวทางที่ตอบโจทย์บริบทของประเทศตัวเอง
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้เราต้องปรับทิศทางเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้มีศักยภาพสูงขึ้นในแต่ละเซ็คเตอร์ ทั้ง การท่องเที่ยว แพทย์ ดิจิทัล โลจิสติกส์ แต่ที่ผ่านมาโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงยังมีข้อจำกัด ดังนั้นจึงถึงเวลาทที่ต้องพัฒนากำลังคนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจะก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางจะต้องสร้างกำลังคน ซึ่งส่วนที่สำคัญคือระดับอาชีวศึกษาเพื่อให้ไปเชื่อมต่อระหว่างฝ่ายบริหารระดับสูงกับคนทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าบุคลากรทางอาชีวศึกษายังมีน้อย คนที่จบ ปวช.เพียงประมาณ 6 แสนกว่าคน จบปวส. 3.6 แสนคน และจบปริญญาตรีประมาณ 1 หมื่นคน ดังนั้นภาครัฐจะต้องมีกลไกสนับสนุนส่งเสริม ยิ่งในวันที่มีนักศึกษาออกกลางคัน 8 หมื่นคน ต่อปี รัฐจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจทำให้เขามีทางเลือก เพราะในวันที่เขาเลือกมาเรียนในวันที่จบมัธยมแทนที่จะออกไปทำงาน ย่อมทำให้เขาขาดรายได้ ดังนั้นต้องพยายามทำให้เขามีรายได้ระหว่างเรียน เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบตรงนี้มากขึ้น อีกทั้ง สถานศึกษาสายอาชีวะมีอยู่ 429 แห่งซึ่งถือว่าไม่น้อย และมีความหลากหลายพร้อมที่จะพัฒนาคนอยู่ที่เราจะดึงดูดคนเข้ามาได้อย่างไร
“การที่เขามีการศึกษาสูงขึ้นย่อมทำให้เขาได้รับผลประโยชน์มากขึ้นในอนาคต เราจึงต้องส่งเสริมให้คนมีศักยภาพ เดินต่อไปเพื่อให้มีโอกาสในอนาคตสูงขึ้น เงื่อนไขอยู่ที่ประเทศจะตัดสินใจเลือกลงทุนสร้างคนแบบนี้อย่างไร รูปแบบจากต่างประเทศมีหลายแบบ ทั้งการให้แบบเหวี่ยงแหที่จะไม่ทำให้ไม่ได้เด็กที่มีคุณภาพ ผลประโยชน์ก็จะลดลง ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเลือกคนที่มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีความผสมผสาน และทำให้ความเสมอภาคมากขึ้นตรงตามวัตถุประสงค์ของกสศ.”
ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ในต่างประทศมีตัวอย่างเช่น ทุน PROGRESA ของแมกซิโก และ บราซิล ที่ให้แบบเหวี่ยงแห ทำให้เกิดการใช้เงินแบบไม่เหมาะสม สุรุ่ยสุร่าย ผลสัมฤทธิ์ทางสุขภาพไม่ดีจนต้องมีการปรับรูปแบบกองทุน มีระบบกำกับติดตามทำให้ผ่านไป 18 เดือน สถานการณ์ดีขึ้น รวมทั้งมีการสร้างแซนด์บอกซ์เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโครงการ ขณะที่ The Roma Education Fund ที่มีความหลากหลาย ทั้งทุนภาคประชาสังคม ทุนให้สถานศึกษา ขยายโอกาส ยกระดับผลการเรียน เพิ่มโอกาสจ้างงาน มอบทุน ปริญญาตรี โท ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่ กสศ. ทำเราเริ่มเห็นผลคือการขยายโอกาส ยกระดับการศึกษา
เปลี่ยนภาพลักษณ์ “อาชีวศึกษา” ดึงภาคธุรกิจร่วมสนับสนุนการพัฒนา
นอกจากนี้ กสศ. ยังมีทุนอื่นเช่นทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่ลงทุนเพื่อจะทำให้เด็กได้เรียนต่อสายอาชีพในระดับที่สูงขึ้นเพื่อ ให้เขามีโอกาสมีอนาคต มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และผลที่ได้ไม่ใช่เกิดกับเด็กแต่ยังเกิดกับประเทศ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ลดอัตราการเกิดอาชญากรรม ครอบครัวชีวิตดีขึ้น ซึ่งจากการคำนวณแล้วทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงปีแรกจะช่วยให้ผลตอบแทนหลายร้อยล้านสำหรับสิ่งที่ต้อง ต่อไปก็คือ การเพิ่มปริมาณคุณภาพ และขยายผล การออกแบบทุนการศึกษาเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ซึ่งนวัตกรรมที่ กสศ.ทำมาทั้งหมดนั้นช่วยได้ และ สุดท้ายคือขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
“สิ่งที่ กสศ. ทำถือว่ามาถูกแล้ว ที่ต้องทำให้เกิดความตระหนักให้เห็นความสำคัญของอาชีวศึกษา วันนี้ภาพอาชีวะคนยังหวาดกลัวอาจต้องสร้างภาพใหม่ให้สายอาชีพ เป็นกระบวนการสำคัญไปจนถึงการนำภาคเอกชนเข้ามา ตลอดจนการทำความร่วมมือ นำองค์ความรู้ไปต่อยอดเชิงธุรกิจ เพิ่มมูลค่า หรืออีกหน่อยอาจจะพัฒนารูปแบบทุนไปเป็นฮิวแมนคอนแทรคท์ ที่ให้ภาคธุรกิจมาร่วมกับกสศ. ให้ทุน ฟูมฟักนักศึกษา เหมือนให้เขามาซื้อตัวเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในสถาบันการศึกษา เด็กก็จะมีความภักดีต่อองค์กร เกิดการต่อยอดทำงานร่วมกันกับองค์กรตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้เด็กมีความฝันตอบโจทย์ของตัวเอง” ผศ.ดร.ศุภชัยกล่าว