“เด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่ากำลังเจอกำแพง
เราต้องทำลายกำแพงให้เด็กรู้ว่าข้างหน้าไม่ใช่ทางตัน มันมีทางเดินที่จะไป”
โรงเรียนนิคมพัฒนวิทย์เป็นโรงเรียนมัธยมแห่งเดียวในตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ตั้งอยู่บนเขา ไกลจากตัวอำเภอ เดินทางสัญจรได้ยากลำบาก เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับ ม.1- ม.6 ปัจจุบันมีนักเรียนอยู่ 45 คน
หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ครอบครัวของเด็กๆ หลายคนต้องประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษา บางคนต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีเงินมาโรงเรียน บางคนต้องหยุดไปช่วยที่บ้านทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว
ในฐานะ “ครู” ที่เป็นด่านหน้า อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด ย่อมไม่อาจปล่อยให้เด็กๆ ต้องหลุดไปจากระบบการศึกษา ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึง “โอกาส” ที่จะมีอาชีพการงาน รายได้ที่มั่นคงในอนาคต
ยอดตัวเลขเด็กหลุดจากระบบเป็น “ศูนย์”
ไม่ใช่ลงไปครั้งเดียวแล้วจะแก้ปัญหาได้ทันที
ปัจจุบันเด็กหลุดจากระบบการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์ ครูเข็ม-ชัญญานุช แย้มไสว ครูประจำชั้น ม.4 โรงเรียนนิคมพัฒนาวิทย์ หัวหน้าระบบดูแบบเด็ก กำลังสำคัญของโรงเรียนที่ทุ่มทำงานทุกด้านเพื่อหาทางช่วยเหลือไม่ให้เด็กๆ ต้องก้าวพ้นไปจากรั้วโรงเรียนอย่างน่าเสียดาย อธิบายว่า เด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน การจะพาพวกเขากลับเข้ามาเรียนต้องลงไปดูปัญหา ไปช่วยเขาแก้ปัญหา และไม่ใช่ลงไปครั้งเดียวแล้วแก้ได้ทันที
ยกตัวอย่าง “น้องหนึ่ง” พี่น้องฝาแฝดกับ “น้องสอง” ปัจจุบันน้องสองเรียนอยู่ชั้น ม.4 ในขณะที่ “น้องหนึ่ง” ครูเข็มช่วยแก้ปัญหานานหลายเดือน สุดท้ายยอมกลับมาเรียนซ้ำชั้น ม.2 อีกครั้ง ซึ่งเป้าหมายก็คืออยากให้เขาเรียนจนจบ ม.3 ให้ได้ แต่ตอนนี้ก็ทำไปทีละขั้น ลุ้นให้จบ ม.2 ให้ได้ก่อน อย่างน้อยจบ ม.6 ก็ได้งานที่ดีกว่ารับจ้างทั่วไป
“น้องหนึ่งหายไปครั้งแรกตอนเทอม 2 ปีที่แล้ว ครูที่ปรึกษามาบอกเรา เราก็ไปตามดูที่บ้าน รอบแรกเขาบอกว่าไม่อยากเรียนแล้ว อยากออกไปทำงาน ซึ่งก็เป็นงานรับจ้างทั่วไป ขณะที่พี่น้องฝาแฝดก็แต่งตัวมาเรียนทุกวัน รอบสองเราก็ไปคุยกับพ่อแม่ว่าอยากให้ลูกกลับมาเรียน ตอนนั้นรู้ว่ามีปัญหา น้องเขาติด 0 ติด ร. หลายวิชา เราก็ไปคุยกับครูแต่ละวิชาว่า ถ้าให้น้องเขากลับมาเรียนต่อ จะให้ทำงานส่ง สอบซ่อมอย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายน้องหนึ่งก็บอกว่าเหลืออีกแค่ 3 เดือนจะหมดเทอม คงทำไม่ทัน
“รอบสามไปใหม่อีกครั้งช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กำลังจะเปิดเทอมใหม่ ตอนนั้นโควิดระบาด งานรับจ้างก็ไม่ค่อยมี เลยไปหว่านล้อมให้เขากลับมาเรียนซ้ำ ม.2 ใหม่ จนเขายอมกลับมาเรียน ในหมู่บ้านเป็นภูเขา ตัวเขาเองก็ไม่เคยออกไปเจอโลกภายนอก อย่างน้อยจบ ม.6 ก็จะสร้างภูมิต้านทานดีกว่านี้ ยังพอหางานเป็นอาสารักษาดินแดน (อส.) ถ้าจบ ม.2 ก็ทำได้แค่รับจ้างทั่วไป ทำงานวันต่อวันเพื่อให้ได้เงินเท่านั้น”
ทุนจาก กสศ.สนับสนุนให้เด็กได้กลับมาเรียนต่อ
“ทุนเสมอภาค” จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กกลับมาเรียน ครูเข็มเล่าให้ฟังว่า เวลาลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก ก็จะพูดกับผู้ปกครองว่ามีทุนจาก กสศ. ที่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้ปกครองอยากส่งลูกหลานกลับมาเรียน
เคส “น้องเวฟ” เป็นนักเรียนชั้น ม.4 ตอนแรกติด 0 บางวิชา ไม่อยากเรียนต่อ คิดว่าออกไปทำงานหาเงินดีกว่า เพราะน้องอยากออกมาช่วยยายหาเงิน พอมีทุนจาก กสศ.เข้ามาให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ครูเข็มก็ลงพื้นที่ไปคุยกับยายว่าน่าจะมาสมัคร เพราะจะได้เรียนต่อ มีอนาคตที่ดีขึ้น อีกสองปีจบ ม.6 ก็จะหางานดีๆ ง่ายขึ้น ไม่ต้องมาลำบากในอนาคต จนยายให้หลายมาสมัครเรียนต่อ
“นอกจากการสอนปกติแล้ว การต้องลงพื้นที่ไปตามเด็กกลับมาเรียนด้วย มันก็ทำให้เราเหนื่อยกว่าเดิม แต่ก็ทำเพราะสงสารเด็ก ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ใครจะทำ ทุกวันนี้เราเห็นเขาได้กลับมาเรียน เราก็ภูมิใจ ได้ส่งให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้น ได้เห็นแสงสว่างในชีวิตมากขึ้นอีกนิด ไม่มากก็น้อย แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว”
ทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ต่อเนื่องแก้ปัญหาทันท่วงที
ครูเข็มอธิบายว่า ตอนไปประชุมกับทีมงานของ อบจ.ยะลา เสร็จก็ต้องกลับมาถ่ายทอดให้ครูที่โรงเรียนฟังว่าเราต้องทำงานเชิงรุก ต้องติดตามไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญหาเศรษฐกิจ บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนมีปัญหาเรื่องการเรียน ก็ต้องหาทางแก้ไขหลายวิธี
“ตอนนี้ก็ต้องติดตามต่อเนื่อง รอบแรกลงพื้นที่แบบเจอตัวไปแล้ว ตอนนี้ก็ลงพื้นที่รอบสองแบบออนไลน์ วิดีโอคอลไปพูดคุยกับผู้ปกครองว่าเขาอยู่กันอย่างไร มีปัญหาอะไรที่อยากให้ช่วยเหลือ เรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ติดขัดตรงไหน ตรงนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าเขาติดอะไร จะได้หาทางแก้ไข เป็นการสำรวจว่าเด็กคนไหนกำลังเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา และหาทางช่วยเหลือไม่ให้พวกเขาหลุดไปอย่างน่าเสียดาย
“ล่าสุดตอนนี้พบกลุ่มเสี่ยงเพิ่มอีก 3 คน เป็นเด็ก ม.6 จำนวน 2 คน และเด็ก ม.5 อีก 1 คนที่หายไป ไม่เคยทำงานส่งครูเลย หายไปสองเดือน ครูที่ปรึกษาก็ตามไม่ได้ มาแจ้งเราในฐานะครูแนะแนว เราก็เริ่มติดตาม รู้ว่าเขาไปรับจ้างตัดทุเรียน แต่หมดหน้าทุเรียนแล้วก็ยังไม่กลับมาเรียน สุดท้ายเจอเพื่อนเขาก็ฝากบอกไปว่าให้ติดต่อกลับมาหาครูหน่อย เขาก็ติดต่อกลับมา เราบอกว่าครูกำลังจะไปหา แต่ยังติดเรื่องโควิดในพื้นที่ เขาก็บอกว่าไม่ต้องมา เดี๋ยวเขากำลังจะกลับมาเรียนแล้ว”
ต้องช่วยทำลายกำแพงให้เขาเห็นว่าข้างหน้าไม่ใช่ “ทางตัน”
ยิ่งช่วงโควิดต้องดูแลมากขึ้น อย่างเด็กที่โรงเรียนมีอยู่ 2 คนพี่น้อง ยายติดเชื้อ ถูกรับไปรักษาตัว ต้องอยู่บ้านกันเอง มีข้าวสารกับไข่ คนแถวบ้านก็ผลัดกันทำกับข้าวให้กิน ครูลงพื้นที่ก็ซื้อมาม่าไปให้
“เด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนเขาคิดว่าเขากำลังเจอกำแพง เราต้องทำลายกำแพงให้เด็กรู้ว่าข้างหน้าไม่ใช่ทางตัน มันมีทางเดินที่จะไป อย่างน้อยก็ให้เขามีทางเลือกว่าจะเดินไปอย่างไรต่อ ไม่ใช่มองไปทางไหนก็เป็นทางตันไปหมด อยากฝากไปถึงครูคนอื่นๆ ที่กำลังทำหน้าที่ตรงนี้ อย่าท้อ หน้าที่ตรงนี้คือการเสียสละ เป็นสะพานบุญ ให้เขาได้รับการศึกษาที่ดี อย่าไปคิดว่าเป็นงานหนัก แต่เราต้องมองให้เห็นว่าความสำเร็จที่อยู่ปลายอุโมงค์ วันหนึ่งที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วเขาได้นึกย้อนกลับมาขอบคุณเราที่ทำให้เขามีวันนั้นได้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”