ครูนูรฟาติน สีเดะ (ครูนุช) ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ และเป็นครูประจำชั้น ป.1 กล่าวถึงหน้าที่การคัดกรองเด็กรับทุนเสมอภาคว่า
“ก่อนโควิดเราลงไปบ้านนักเรียน เพราะว่าต้องมีการเยี่ยมบ้าน เราเอากิจกรรมเยี่ยมบ้านบวกกับคัดกรองเด็กไปพร้อมกัน ก็สัมภาษณ์ผู้ปกครองและถ่ายรูปตามปกติค่ะ แต่พอเจอโควิด เราก็ไปไม่ได้ เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย อาศัยโทรศัพท์หรือไม่ก็ติดต่อทางไลน์ ถ้าผู้ปกครองที่สะดวก มีโทรศัพท์ เขาจะถ่ายรูปบ้าน สื่อสารทางโทรศัพท์ได้ ถ้าไม่มีโทรศัพท์ เราอาศัยครูในพื้นที่หรือขอให้ผู้ปกครองบ้านใกล้เคียงกันช่วยเขียนข้อมูลส่งมา”

ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ และเป็นครูประจำชั้น ป.1
ครูนุชเล่าถึงปัญหาที่พบขณะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กว่า “หนึ่ง ความยากจน ปัญหานี้เป็นกันหมดทุกบ้าน สอง ปัญหาเด็กนักเรียนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่อยู่กับคุณตาคุณยาย สาม ปัญหานักเรียนบางคนยากจนจริง ๆ แต่ไม่เคยได้รับทุนตั้งแต่ ป.1 – 5 ก็รู้สึกเสียดายตรงนี้ค่ะ ยังมีปัญหาผู้ปกครองบางคนไม่ให้ความร่วมมือ เพราะผู้ปกครองเคยให้ข้อมูลไปแล้ว แต่เด็กเขาไม่เคยได้ เขาก็อาจน้อยใจ ไม่อยากให้ข้อมูลอีก”
ครูนุชเล่าว่า ส่วนใหญ่ครูในโรงเรียนต้องการช่วยเด็กนักเรียนทุกคน พอถึงเวลาคัดกรองก็ทำกันอย่างเต็มที่ ทำให้เสร็จก่อนเวลา เพราะกลัวว่าถ้าทำไม่ทันจะเป็นการตัดโอกาสของเด็กนักเรียนไป พอรวบรวมและส่งต่อข้อมูลเด็กให้แก่ กสศ. ครูนุชก็คอยประสานงานจนส่งมอบทุนเสมอภาคให้เด็กเรียบร้อย

“ผู้ปกครองที่มีลูกเยอะ ตอนยังไม่ได้ทุน พ่อแม่ก็ส่งเสียลูกไม่ทัน พอได้ทุนก็ได้ทั้งครอบครัว เราก็ขอให้ที่บ้านช่วยดูแลเรื่องการเรียน พ่อแม่ก็ดูแลเด็กนักเรียนมากขึ้น เด็กแต่ก่อนที่ไม่ค่อยมาเรียน พอได้ทุนก็ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
“มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งตอนนี้อยู่ ป.5 เขามีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นโรคลมชัก หอบหืด ครอบครัวก็ยากจนลำบาก ทางโรงเรียนคัดกรองส่งชื่อเด็กไปขอรับทุนเสมอภาค แต่ในช่วง 2 ปีแรกเด็กยังไม่ได้ทุน กสศ. เพิ่งได้เมื่อปี 2563 ในตอนที่เด็กไม่สบาย ทางคณะครูและผู้อำนวยการก็ไปเยี่ยมที่บ้าน สอบถามว่าอยากให้โรงเรียนช่วยอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าต้องการเรื่องทุนการศึกษา โรงเรียนก็คัดกรองส่งชื่อเด็กคนนี้ทุกปีทุกเทอม ก็พยายามช่วยอย่างเต็มที่ จนได้รับทุนในเทอมนี้ พอได้ทุน เด็กก็มีค่ารักษา ผู้ปกครองก็ดีใจมากที่ได้ทุน ตอนนี้เด็กก็เป็นปกติแล้ว มาเรียนในเทอมนี้ได้”

ครูนุชเล่าด้วยน้ำเสียงดีใจที่เด็กคนนี้ได้ทุน และยังยกตัวอย่างกรณีเด็กคนอื่นให้ฟังด้วยว่า
“มีเด็กอีกคนที่ยากจน พ่อแม่มีลูกหลายคน พ่อไม่มีงานทำ มีแต่คุณแม่ที่ตัดเย็บเสื้อผ้า จึงมีรายได้ทางเดียว ลูกชายซึ่งอยู่ ป.5 ก็ขาดเรียนบ่อย ไม่มาเรียนหนังสือ เพราะไม่มีเงิน คุณแม่เด็กอยากให้ช่วยจัดการเรื่องเงินทุน พอเราคัดกรองชื่อเด็กส่งไป เขาก็ได้รับเงินทุน ทางผู้อำนวยการมอบหมายให้ครูประจำชั้นให้เงินเด็กเป็นรายวัน จากนั้นเด็กก็กลับมาเรียนทุกวัน เราก็คอยช่วยอบรมสั่งสอนให้เขามีพฤติกรรมที่ดีนะ เราให้เงินพร้อมกับให้การอบรมไปด้วย เขาก็มาเรียนบ่อยมากขึ้น พฤติกรรมที่เคยมีปัญหาก็ค่อย ๆ ดีขึ้น

“มีนักเรียนอีกคนค่ะ เป็นเด็กดี ชอบช่วยเหลือคุณครู เป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ อาศัยอยู่กับญาติ นักเรียนคนนี้นำทุนที่ได้ไปซื้อของเพื่อนำมาขายขนมในโรงเรียน ทางโรงเรียนก็อนุญาต เพื่ออยากให้นักเรียนเห็นคุณค่าของเงิน”
ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ช่วงโควิดแม้มากมีปัญหา แต่ครูนุชก็ค่อย ๆ แก้ไป รวมถึงเรื่องการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการสอนแบบ On-hand คือ ให้เด็กมารับใบงานที่โรงเรียนทุกวันจันทร์

“ที่ กสศ.ให้ทุนเป็นเรื่องที่ดีนะ ก่อนหน้านี้ กสศ.ให้ทุนทั้งโรงเรียนและตัวเด็ก ครูคิดว่าแบบนี้จะดีกว่า เพราะให้ทุนแก่ตัวเด็ก เงินอาจไม่ถึงมือเด็กนักเรียนโดยตรง เพราะผู้ปกครองต้องนำไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ อยากให้ทำเหมือนเดิมคือ แบ่งทุนให้ทางโรงเรียนและแบ่งให้เด็กนักเรียนด้วย ถ้าแบ่งให้โรงเรียนจะได้ทำกิจกรรม จะเวิร์กกว่า โรงเรียนจะได้จัดการ ทำเป็นค่าอาหารเช้า พอ กสศ.ไม่ได้ให้โรงเรียน ก็ต้องตัดอาหารเช้า เสียดายอาหารเช้า นักเรียนจะได้ตรงนั้นเยอะมากค่ะ มาโรงเรียนตอนเช้าก็ได้กินข้าวที่โรงเรียน

“นอกจากนี้เงินทุนที่สนับสนุนสถานศึกษาจาก กสศ. ปี 2561 – 2562 ทางโรงเรียนได้นำเงินส่วนนั้นไปสร้างทักษะอาชีพให้เด็ก คือที่โรงเรียนมีต้นย่านดาโอ๊ะ ทางโรงเรียนก็นำใบไม้สีทองจากต้นย่านดาโอ๊ะมาทำเป็นกรอบรูป โดยนำงบประมาณตรงนั้นไปซื้อกรอบรูปและของตกแต่ง เพื่อมาสอนให้เด็กตกแต่งทำเป็นกรอบรูปที่สวยงาม เป็นผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน และจัดส่งเข้าประกวด ก็ได้รางวัลมาค่ะ
“ครูรู้สึกดีใจมากที่ได้ช่วยสนับสนุนเด็กๆ ทำให้เด็กกลับมาเรียนหนังสือกับเพื่อนได้ อะไรที่ครูช่วยได้จะพยายามช่วยเหลือเต็มที่ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ กสศ.มาช่วยเสริมเรื่องการสร้างทักษะอาชีพเพื่อให้เด็กนำไปต่อยอดได้ ถ้าทาง กสศ.มาขอความร่วมมือกับโรงเรียน โรงเรียนจะดีใจมาก”

ครูนุชทิ้งท้าย และย้ำว่าจะยังคงเฝ้าปฏิบัติหน้าที่เปิดประตูแห่งโอกาสให้กว้างขึ้นสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน เพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับอนาคตของชาติต่อไป
จังหวัดปัตตานี ปีการศึกษา 2/2563
• มีนักเรียนทั้งหมด 74,295 คน
• เป็นนักเรียนยากจน 7,475 คน นักเรียนยากจนพิเศษ 37,793 คน
• รวมนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 45,268 คน คิดเป็น 60.93 % ของนักเรียนทั้งหมด
• รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 977.61 บาท
• จำนวนสมาชิกเฉลี่ยต่อครัวเรือน 5 คน