กลับมาเป็นครูสอนเด็กที่บ้านเกิด ทลายกำแพงทาง “ภาษา” ในพื้นที่ห่างไกล

กลับมาเป็นครูสอนเด็กที่บ้านเกิด ทลายกำแพงทาง “ภาษา” ในพื้นที่ห่างไกล

สำหรับพื้นที่ห่างไกล ความแตกต่างทางด้านภาษานับเป็นหนึ่งใน “อุปสรรค” ที่ฉุดรั้งการเรียนรู้  เด็กหลายคนกลัวที่จะสื่อสารกับครูจากต่างพื้นที่  ซึ่งไม่เข้าใจภาษาถิ่น ทำให้ไม่กล้าตอบ ไม่กล้าถาม สุดท้ายก็ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง

จากจุดเล็กๆ บางครั้งลุกลามจนทำให้เด็กๆ ไม่สนใจการเรียน หรือถึงขั้นไม่อยากมาโรงเรียน กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตการศึกษาอย่างน่าเสียดาย

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้อุ้ม-ญารัชณี​ จุติ มุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นครู  เพื่อทลายกำแพงภาษา ช่วยการเรียนรู้ของเด็กๆ  ปัจจุบันเธอเป็นนักศึกษาครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในฐานะนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ซึ่งกำลังสะสมความรู้และประสบการณ์  เพื่อกลับไปสอนหนังสือ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป

“หนูรู้ตัวว่าอยากเป็นครูตั้งแต่มัธยมต้น  ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองชอบสอนเด็ก ถ้าได้สอนหนังสือแล้วจะมีความสุข ตั้งใจว่าอยากจะไปสอนเด็กไร้สัญชาติ เด็กที่ไม่มีนามสกุล ให้เขาได้มีอนาคตที่ดี  ที่ผ่านมาครูส่วนใหญ่เป็นครูจากต่างพื้นที่ เด็กเล็กๆ บางคนก็จะมีปัญหาการสื่อสาร เพราะในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อยู่บ้านก็ยังพูดภาษากระเหรี่ยง ภาษามอญ เวลามาโรงเรียนก็ยังสื่อสารกับครูได้ไม่เต็มที่ การเป็นครูในพื้นที่ย่อมทำให้เด็กเข้าใจได้มากขึ้น”

หลังเรียนจบ ญารัชณีจะกลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเกิด ซึ่งเธอบอกว่าเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กมอญ เด็กอนุบาลบางคนยังพูดไทยได้ไม่คล่อง การที่สามารถสื่อสารกับเด็กก็จะช่วยทำให้เด็กเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาษา แต่รวมถึงเรื่องวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ บริบทชุมชนทั่วไปอีกด้วย  “ข้อดีของการเป็นครูที่มาจากชุมชนทำให้ไม่ต้องปรับตัวมาก เรารู้จักเด็กในชุมชนอยู่แล้ว คุ้นเคยเป็นกันเอง ภาษาท้องถิ่นเราก็พูดกับเด็กได้เข้าใจ ตอนนี้ก็พยายามตั้งใจเรียน เก็บความรู้ประสบการณ์ ต้องทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเรา เวลากลับไปบรรจุเป็นครู ก็หวังว่าเด็กๆ จะมองเราเป็นเหมือนคนในครอบครัวของพวกเขา”

ครูรัก(ษ์)ถิ่นเปิดโอกาสให้คนไม่มีเงินได้เรียนต่อ

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เส้นทางความฝันที่อยากเป็นครูของญารัชณีเกือบต้องสะดุด เพราะฐานะทางบ้านไม่ดี จนกระทั่งมีประกาศรับสมัครโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำให้ความฝันกลับมาเป็นจริงได้อีกครั้ง

“ตอนนั้นหากไม่ได้ทุนก็คงไปกู้ กยศ. พอมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นก็สนใจ เพราะจะได้กลับมาบรรจุเป็นครูที่บ้าน ได้อยู่กับแม่ ไปปรึกษาครูประจำชั้นก็บอกว่าดี เพราะจบมาจะได้บรรจุเลย ก็เลยไปสมัครจนได้รับเลือก ทุนนี้ทำให้เราไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนได้เรียน ถึงหนูจะไม่มีเงินก็ยังได้เรียนต่อ”

ร่วมทำงานแก้ไขปัญหากับชุมชน

อีกจุดเด่นที่สำคัญของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือ การทำงานเชื่อมกับชุมชน ก่อนหน้านี้ญารัชณี ได้ลงไปหาผู้นำชุมชน เพื่อเก็บข้อมูล ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม อาชีพ  นำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนกลับไปเป็นครูในอนาคต

“ครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เรียนต่อ และกลับมามีส่วนผลักดันการพัฒนาชุมชน ให้ทุกคนในสังคมได้ตระหนักว่าชุมชนเป็นอย่างไร โรงเรียนเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง และร่วมกันแก้ไขปัญหา  เมื่อวันหนึ่งหนูเรียนจบ  ก็จะกลับมาบรรจุเป็นครูของชุมชนโดยตรง ร่วมแก้ไขปัญหากับชุมชน”

หนึ่งในปัญหาที่พบเวลานี้ก็คือเรื่องของเด็กเกเร ไม่อยากเรียนหนังสือ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย รอว่าที่ครูญารัชณีไปแก้ไข ​โดยแนวทางที่คิดไว้มีหลายวิธี ทั้งการออกแบบกิจกรรมให้น่าสนใจเพื่อดึงดูดให้เด็กอยากมาเรียน ไปจนถึงการพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อให้เห็นความสำคัญและช่วยกันกระตุ้นให้เด็กมาเรียน 

“บางครอบครัวยากจน ไม่มีเงินส่งบุตรหลานมาเรียน ก็อาจต้องช่วยหาทุนมาสนับสนุน ควบคู่กับการลงพื้นที่  ไป​ชักจูงให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการศึกษา ดีกว่าให้ลูกหลานออกไปทำงานตอนนี้ เพราะหากเรียนจบสูงๆ ก็จะทำให้เขามีอาชีพในอนาคตที่ดีขึ้น”