ครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กบนดอย​กล้าฝันไกลขึ้น

ครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กบนดอย​กล้าฝันไกลขึ้น

โรงเรียนบ้านแจ่มหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนดอยสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,090 เมตร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 150 กม. การเดินทางค่อนข้างลำบากต้องใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงครี่งเพราะเป็นทางลาดชันและแคบต้องคอยระวังรถสวนกัน  โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.3  นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่านับถือศาสนาคริสต์ 99% มีครูทั้งหมด 22 คน

หนึ่งในปัญหาที่พบคือการโยกย้ายของคุณครูต่างถิ่นที่มาบรรจุครบ 4 ปีก็จะย้ายออก   ไม่ต่างจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอื่น ๆ นำมาสู่แนวทางการแก้ปัญหาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ ค้นหาและคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่ที่มีฐานะยากลำบากแต่มีความรู้ความสามารถความมุ่งมั่นมาบ่มเพาะความรู้ประสบการณ์และกลับไปบรรจุเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิดเมื่อเรียนจบ

สอนหนังสือในพื้นที่บ้านเกิด
แก้ปัญหาการโยกย้ายครูในพื้นที่ห่างไกล

ดนุพล ใจอ้าย ครูชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแจ่มหลวง เล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนเคยเจอปัญหาครูย้ายพร้อมกัน 5 คน ​กว่าจะทำเรื่องรับมาบรรจุใหม่ก็เป็นปี ระหว่างนี้ครูที่เหลืออยู่ต้องทำหน้าที่สอนแทน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนของเด็ก ๆ  บางครั้งตำแหน่งครูคณิตศาสตร์หายไปสองปี ก็ยิ่งส่งผลกระทบกับการเรียนของเด็ก ๆ โดยเฉพาะกับวิชาเฉพาะทางอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ  ทำให้เด็กพื้นที่ห่างไกลที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วยิ่งด้อยโอกาสเสียเปรียบโรงเรียนในเมืองกว่าเดิม

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นทำให้เด็กในพื้นที่ได้ไปเรียนและกลับมาสอนหนังสือที่บ้านตัวเองเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องครูโยกย้ายได้ ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะย้ายไปที่อื่นเพราะเป็นคนในพื้นที่ และยังทำให้การเรียนการสอนดีขึ้นเพราะเขาสามารถมองเห็นบริบทของโรงเรียน ชุมชนทั้งหมดเพราะเขาอยู่มาตั้งแต่เกิด เวลาคิดโครงการ แผนงานพัฒนาโรงเรียนก็ไม่ต้องมาศึกษา เขาสามารถสร้างแผนพัฒนาการศึกษาในพื้นที่บนพื้นฐานความเข้าใจทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ค่านิยม สภาพเศรษฐกิจ ได้เป็นอย่างดี”

ส่งต่อแรงบันดาลใจจากตัวอย่างความสำเร็จ

สำหรับโรงเรียนบ้านแจ่มหลวงในอีก 4 ปี ข้างหน้าจะมีครูจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาบรรจุเป็นครู ซึ่งเธอเคยเป็นนักเรียนของโรงเรียนนี้และผ่านการเลือกจากคณะกรรมการที่มาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนปลายทาง เขตพื้นที่การศึกษาและกำนันผู้ใหญ่บ้าน 

ที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างตัวอย่างให้กับรุ่นน้องในพื้นที่ได้เห็นเป็นแบบอย่าง ซึ่งจะไปช่วยสร้างแรงจูงใจให้เด็ก ๆ  ตั้งใจเรียนและหวังว่าจะได้รับโอกาสเหมือนกับรุ่นพี่ของเขาบ้างในอนาคต  เพราะจากที่อยู่ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนามากว่า 20 ปี ปัญหาที่เห็นในตัวเด็กคือเด็กขาดแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นอีกการช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ได้ตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือสังคม วันหนึ่งเขาก็อาจจะเป็นอย่างรุ่นพี่ของเขาได้

“สำหรับเด็กบนดอยผลสอบคะแนนโอเน็ตไม่ได้มีความหมายเหมือนกับเด็กในเมืองที่ต้องการทำคะแนนดี  ๆ เพื่อจะได้ไปเรียนต่อโรงเรียนดี ๆ  แต่เด็กบนดอยเขาไม่รู้ว่าผลสอบคะแนนโอเน็ตมีผลกับชีวิตเขาอย่าไงร เพราะเขาก็ยังเรียนต่อที่โรงเรียนใกล้บ้าน ไปสอบรู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้างก็กามั่วได้คะแนนมาก็หัวเราะ เด็บนดอยเป็นแบบนี้ เพราะไม่คิดว่าจะต้องไปโรงเรียนดี ๆ ในเมืองแต่ตอนนี้พอเขาเริ่มเห็นตัวอย่างว่าถ้าตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบ ก็จะเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเหมือนรุ่นพี่ของเขาจบมาเป็นครูในพื้นที่ได้”

ตัวอย่างเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กบนดอยจากแต่ก่อนเขาไม่เคยคิดว่าว่าจะมีรุ่นพี่ไปเป็นวิศวกร หมอ พยาบาล ครู เขาก็ไม่รู้จะตั้งใจเรียนทำไม แต่พอเรากระตุ้นถามถึงความฝันเดิมเขาก็แค่บอกว่าอยากเป็นตำรวจ ทหาร แต่พอเขาเห็นตัวอย่างมากขึ้นเขาเริ่มฝันได้ไกลขึ้นหลายคนอยากเป็นนักบิน เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่จะทำให้เขามุ่งมั่นเดินตามหาความฝัน มีความพยายามมุมานะที่ไปจะไปสู่จุดที่มุ่งหวัง

เปิดโอกาสโรงเรียนปลายทาง ร่วมคัดเลือก
ได้ตัวจริงที่เหมาะสมเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น

อีกจุดเด่นของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือการเปิดให้โรงเรียนปลายทางได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกนักศึกษาที่จะมาเรียนครูเพื่อกลับไปบรรจุที่โรงเรียนปลายทางเมื่อเรียนจบ ทำให้ได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องการของทางโรงเรียนและสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี

รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแจ่มหลวง มองว่า ข้อดีของการให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกครูคือทำให้ได้บุคลากรที่ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด หากให้คณะกรรมการจากส่วนกลาเป็นผู้เลือกฝ่ายเดียวอาจทำให้มีคนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดหลุดรอดเข้ามาได้ เช่น บางคนไม่จนจริง แต่ถ้าให้คนในพื้นที่ช่วยคัดกรองก็จะได้คนที่เป็นตัวจริงเข้ามมาในโครงการนี้

“เราเป็นคนในพื้นที่รู้จักแต่ละครอบครัวเป็นอย่างไร เด็กคนนี้พ่อแม่เขามีรถกี่คัน ตอนที่คณะกรรมการลงพื้นที่ไปตรวจสอบเขาเอารถไปซ่อน เราก็ไปบอกได้ว่าคนนี้ไม่ได้จนจริงถือเป็นการช่วยกันตรวจสอบเพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งการได้มีส่วนร่วมสัมภาษณ์คัดเลือกทั้งสามรอบก็จะเห็นข้อมูล ความคิด ทัศนคติ ว่าเขามีความพร้อม ไม่พร้อมจะมาเป็นครูอย่างไร มีอะไรที่จะพัฒนาปรับปรุง”

ทั้งหมดเป็นกระบวนการพัฒนาครูที่จะสร้างโอกาสให้กับเด็กในพื้นที่ในหลายมิติที่จะนำไปสู่การพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน​