ครูรัก(ษ์)ถิ่น ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญสำหรับการพัฒนาครูในระบบปิด ด้วยการลงไปค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกเด็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีความยากลำบาก แต่มีความพร้อมและความมุ่งมั่นอยากเป็นครู มาเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะตามบริบทในแต่ละพื้นที่ เพื่อออกไปเป็นครูที่มีความพร้อมสำหรับพื้นที่นั้นๆ ควบคู่ไปกับการฝึกฝนให้ครูที่จบออกมาต้องสามารถเป็นนักพัฒนาชุมชน ไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่สอนหนังสืออย่างเดียว
ชมพู่-จุฑารัตน์ กิ่งนอก นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในฐานะนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 เล่าให้ฟังว่า หลังเรียนจบจะกลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านหนองใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่บ้านเกิด
“ตอนเด็กๆ หลังคุณแม่เสียก็มีคุณป้าคอยดูแล และได้คุณครูที่โรงเรียนช่วยดูแลหนูมาเป็นอย่างดี ช่วยหาทุนการศึกษาให้ ช่วยดูแลทุกอย่าง โอกาสที่ได้รับในตอนนั้นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้หนูตั้งใจอยากเป็นครู เพื่อส่งต่อโอกาสนี้ไปให้กับเด็กๆ คนอื่นต่อไป”
แต่เส้นทางสู่ความเป็นครูก็ไม่ได้ง่าย เพราะฐานะทางบ้านที่ไม่ดีนัก ทำให้ชมพู่คิดว่าอาจต้องหยุดเรียน หรือเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จนกระทั่งมีประกาศรับสมัครโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งได้ทั้งทุนเรียน ค่าใช้จ่าย และยังได้กลับมาบรรจุเป็นครูที่บ้านเกิดด้วย
กระบวนการค้นหา คัดกรอง เพื่อคัดเลือกคนที่เหมาะสมเป็นครู
กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกหลายขั้นตอน ตั้งแต่การสอบสัมภาษณ์ การเข้าค่ายเพื่อไปเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกและไม่เคยรู้มาก่อนว่า การสอนเด็กปฐมวัยมีรายละเอียดมากมาย การมาเข้าค่ายยิ่งทำให้มั่นใจว่าตัวเองอยากเป็นครูมากขึ้น
“ก่อนที่จะเริ่มเรียน อาจารย์ให้พวกหนูแต่ละคนไปลงพื้นที่ชุมชนของตัวเอง ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน คุณครูที่โรงเรียนที่พวกหนูจะไปบรรจุ เพื่อหาข้อมูลเบื้องต้นก่อน เช่น ในพื้นที่มีปัญหาอะไร จะได้นำไปวางแนวทางแก้ปัญหาต่อไป”
เพิ่มช่องทางเข้าถึงการศึกษา
ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกล
ปัญหาที่พบก็คือเรื่องการขาดสื่อการเรียนการสอน เด็กๆ ส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีคนช่วยสอนการบ้าน เด็กๆ ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะคิดว่าเรียนจบไปก็ต้องกลับมาทำไร่ ทำสวนอยู่ดี
เบื้องต้นจึงคิดว่า ถ้ากลับไปเป็นครูก็จะช่วยพัฒนาสื่อการเรียนการสอน โดยนำสิ่งของรอบตัวที่มีอยู่ในชุมชนมาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ รวมทั้งพยายามหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เพียงพอกับเด็กๆ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเข้าถึงการศึกษา เพราะข้อมูลทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือหรือครูเล่าให้ฟังเท่านั้น อีกทั้งช่วงโควิด-19 การเรียนออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางการเรียนรู้ หากทำให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ตาม
“ตอนนี้ก็พยายามตั้งใจเรียนเพื่อเก็บความรู้ประสบการณ์ไปสอนเด็กให้ได้มากที่สุด อย่างที่ผ่านมาได้เรียนทั้งการเรียนการสอนแบบวอล์ดอฟ (Waldorf) มอนเตสซอรี (Montessori) ที่มีประโยชน์มาก สามารถนำไปปรับใช้พัฒนาการเรียนการสอนของเด็กๆ ต่อไปในอนาคตได้ สิ่งที่สำคัญคือ การที่เด็กต้องได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ต้องถูกบังคับให้เรียน มองย้อนกลับไปตอนเราเป็นเด็ก เราก็ไม่อยากให้ใครมาบังคับเรา หนูตั้งใจว่าจะสอนเด็กโดยเน้นไปที่ความสนใจของเขา เพราะหากเขาสนใจก็จะเรียนรู้ได้ดีขึ้น อยากมาโรงเรียน และสนุกไปกับการเรียน”