เสริมทักษะวิชาการ เพิ่มทักษะชีวิต เตรียมความพร้อมครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่พื้นที่ห่างไกล

เสริมทักษะวิชาการ เพิ่มทักษะชีวิต เตรียมความพร้อมครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่พื้นที่ห่างไกล

ครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ใช่เพียงแค่โครงการที่ลงไปค้นหาเด็กในพื้นที่ห่างไกล มีความสามารถพร้อมความมุ่งมั่นตั้งใจอยากเป็นครู แต่อีกด้านหนึ่งยังเป็นความพยายามสร้าง “ต้นแบบ” การพัฒนาครูระบบปิด ​ทั้งการจัดหลักสูตรและกิจกรรมเสริมเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นที่จะจบออกไป ให้มีทั้งความรู้ด้านวิชาการและทักษะการเป็นนักพัฒนาชุมชน

ข้อดีของการมี ​“ปลายทาง” ทำให้กระบวนการพัฒนาครูมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะออกแบบ “ครู” ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ได้อย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกล  

เตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ
เริ่มต้นทำงานในพื้นที่ได้ทันที​

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เป็นหนึ่งในสถาบันที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ​ นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนในคาบเรียนทั่วไปแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังได้ออกแบบกิจกรรม “การดูแลทักษะชีวิตและทักษะวิชาการผ่านกิจกรรมหอพัก” เพื่อเตรียมความพร้อมผ่านกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับนักศึกษาที่จะจบไปเป็นครูในพื้นที่ห่างไกลเพิ่มเติมอีกด้วย

​ดร.สุพจน์ ดวงเนตร อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า ทางคณะจะออกแบบกิจกรรมในช่วงเย็นของแต่ละวันเพื่อเป็นการเตรีมพร้อมความพร้อมให้กับนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นในมิติต่างๆ เมื่อเวลาจบไปเป็นครูจะได้พร้อมทำงานในพื้นที่ได้ทันที 

หอพักแห่งการเรียนรู้ : Book Club เป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้นักศึกษาเลือกอ่านหนังสือที่ชอบและมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในช่วงเย็นวันพุธ เมื่อถึงช่วงปลายภาคเรียนก็จะให้เขาเขียนสรุปเรื่องราวในหนังสือ ซึ่งจะเป็นการฝึกทั้งทักษะการอ่านและการเขียน

เรียนรู้การสร้างวินัย​-บริหารจัดการตัวเอง
ปูพื้นฐานงานธุรการ การเงิน ​

กิจกรรมการสร้างวินัยและการบริหารจัดการตัวเอง เริ่มตั้งแต่การทำข้อตกลงเวลาอยู่ด้วยกันที่หอพัก การแบ่งหน้าที่ เช่น การเก็บขยะ ที่จะสอนให้เขารู้จักวินัยเพื่อจัดการตัวเอง และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น

มาจนถึงเรื่องทักษะงานธุรการ เช่น การทำหนังสือราชการ การออกประกาศ คำสั่ง การรับหนังสือ เดินหนังสือ ไปจนถึงเรื่องการเงิน การใช้โปรแกรมเอ็กเซลจัดการวิเคราะห์ข้อมูล คำนวณเกรดนักเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริงเมื่อจบไปเป็นครู ไม่ต้องไปเริ่มเรียนรู้ใหม่

รวมทั้งได้วางแผนกิจกรรมเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบใบประกอบอาชีพ ทั้งเรื่องเทคนิคการสอบใบประกอบวิชาชีพ การเสริมความรู้เรื่องกฎหมายการศึกษา รวมทั้งภาษาอังกฤษ เพื่อยกระดับภาษาเพิ่มเติมจากหลักสูตรปกติ เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมในการออกไปเป็นครู

“กิจกรรมเสริมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องเข้าร่วม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เพิ่มเติมขึ้นมานอกจากหลักสูตรปกติในชั้นเรียน ซึ่งออกแบบให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้งานได้จริง อย่าง Book Club นักศึกษาจะได้รู้จักการอ่านและจับประเด็น เวลาไปสอนหนังสือเด็กๆ ก็จะสามารถเรียบเรียง ถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีขึ้น หรือกิจกรรมการสร้างวินัยและบริหารจัดการตัวเอง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เขาจะต้องรู้จักบริหารตัวเองก่อน ถึงจะสามารถปรับตัวอยู่กับผู้อื่น หรือสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันกับเด็กๆ ต่อไปในอนาคต”

พัฒนาทักษะความสามารถพิเศษ
เรียนรู้ เชื่อมโยงจากเพื่อนต่างพื้นที่

รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาทักษะความสามารถพิเศษ ที่พบว่านักศึกษามาจากต่างพื้นที่ หลายคนมีทักษะความสามารถพิเศษที่แตกต่างกัน จุดนี้สามารถจะนำมาแลกเลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยเฉพาะทักษะที่มาจากต่างพื้นที่ เช่น บางคนทอเสื่อได้ก็จะให้มานำเสนอเรื่องราว จากนั้นค่อยให้เขาเริ่มถ่ายทอดให้เพื่อนๆ และขยับไปยังรุ่นน้อง เวลาเขาไปเป็นครูก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์

บางคนเป็นนักกีฬาฟุตบอล ก็ให้เขามาสอนเพื่อนๆ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง วันข้างหน้าเขาก็สามารถนำไปถ่ายทอดสอนเด็กเล่นกีฬาในชั่วโมงพลศึกษาได้

“สิ่งที่คาดหวังจากกิจกรรมเหล่านี้นอกเหนือจากวิชาการที่เรียนคือ เขาสามารถนำไปใช้งานได้จริง เช่น งานธุรการที่ไม่ต้องมาเริ่มเรียนรู้ใหม่ หรือทักษะชีวิตที่จะต้องรู้จักเสียสละ ดูแลตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เวลาที่เขาจบไปเป็นครูที่โรงเรียนและเห็นจุดด้อยต่างๆ เขาก็จะนำจุดด้อยเหล่านั้นไปสู่การพัฒนา รวมทั้งการสร้างระเบียบวินัยที่จะติดตัวเขาไป ซึ่งไม่มีสอนในตำราเรียน เขาสามารถนำไปปรับใช้เวลาอยู่โรงเรียน ทำงานร่วมกับชุมชนได้เลย​“​ ดร.สุพจน์กล่าวทิ้งท้าย