การศึกษาเพื่อเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 : เอาชนะความกลัวและปรับตัวสู่ New Normal
โดย : ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการภาคประชาสังคม กสศ.

การศึกษาเพื่อเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 : เอาชนะความกลัวและปรับตัวสู่ New Normal

การเปิดเรียนสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเอาชนะเรื่องความหวาดกลัว ความหวาดระแวงของผู้ปกครอง ไปสู่ระบบการเรียนรู้ซึ่งเป็นชีวิตจิตใจของเด็ก

จากการทำงานภาคสนามก่อนเปิดเทอม พบว่าเด็กมีอาการเครียดเงียบสะสม ความรู้ถดถอย มีปัญหาเรื่องโภชนาการและความเสี่ยงต่อการออกจากระบบการศึกษา ปีที่ผ่านมาการปิดเทอม 90 วัน ส่งผลเสียมากกว่าผลดี การเปิดเทอมครั้งนี้จึงต้องออกแบบการเรียนให้เป็น New Normal

การถดถอยทางการศึกษามีประมาณ 20 – 50 เปอร์เซ็นต์ ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ขึ้นอยู่กับบริบทและจำนวนวันที่หยุด เด็กสามารถอ่านเป็นคำหรืออ่านเป็นประโยคได้ลดลง เด็กประถมวัยมีอาการกล้ามเนื้อถดถอย ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการมีปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นของเด็กถอยหลังลงมาก

การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนในศตวรรษที่ 21 คือ เรียนรู้จาก Project based learning

การจัดการการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ของไทยยังยืนอยู่กับการเรียนรู้รูปแบบ 5-On ซึ่งถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ต่างประเทศมีความเป็นห่วงเด็กและพลเมืองของประเทศที่จะเติบโตในอนาคต หากเกิดภาวะการถดถอยทางการศึกษาจะส่งผลกระทบกับตลาดแรงงาน ค่า GDP และคุณภาพของประชากรในภาพรวม 

หลายประเทศจึงมีเรื่องอาสาสมัครทางการศึกษา กองทุน การออกแบบการเรียนรู้หรือสื่อการสอนที่ทำให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น

การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนในศตวรรษที่ 21 คือเรียนรู้จาก Project based learning หรือการเรียนการสอนแบบโครงงาน เด็กจะได้ลงมือปฏิบัติ มีทัศนคติที่ดี มีเพื่อน มีการขึ้นโจทย์ ทุกประเทศควรปรับตัวไปในแนวทางนี้

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการภาคประชาสังคม กสศ.

ฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ

  1. ฐานครอบครัว ในช่วงโควิด-19 เด็กต้องอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีในการทำ Home based learning ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้อยู่กับพ่อแม่และสามารถสร้างเสริมลักษณะนิสัยให้กับลูกของตนเองได้ 
  2. ฐานโรงเรียน มีส่วนสำคัญในการสร้างบูรณาการ ขึ้นโจทย์ ขึ้นโครงงาน ครูมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นโค้ช เป็น Facility factor การออกแบบการเรียนรู้ที่เด็กจะได้เรียนรู้อยู่ที่บ้านและมาพูดคุยปรึกษาที่โรงเรียนเป็นครั้งคราว 
  3. ฐานชุมชน ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ภาคปฏิบัติเรื่องศิลปวัฒนธรรมอาชีพ ที่สามารถพาเด็กลงสู่การเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงได้ เพื่อไม่ให้เด็กเรียนอยู่ในห้องอย่างเดียว การพบปะผู้คนในลักษณะนี้ทำให้โอกาสในการติดโควิด-19 ลดลง เนื่องจากไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในห้องเรียน
  4. ฐานระบบไอที จากการวิจัยพบว่าประเทศไทยไม่ประสบผลความสำเร็จในการใช้ระบบไอทีกับการเรียนรู้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยเสริม โดยดึงข้อมูลจากแอปพลิเคชันต่างๆ มาออกแบบการเรียนรู้บนฐานระบบโครงงานเพื่อบูรณาการทุกวิชาเข้าด้วยกัน จึงจะแก้การถดถอยของระบบการศึกษาได้

การทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ต้องให้ผู้กำหนดนโยบายส่วนกลางกำหนดทิศทาง แต่เวลาลงไปสู่การปฏิบัติจริงนั้นต้องทำอย่างที่อธิบายไปข้างต้น ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทและพื้นที่เพื่อให้เป็น Active learning ที่ตอบโจทย์เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ได้

เด็กไทยอยู่ในภาวะยากจนพิเศษถึง 1.1 ล้านคน

เด็กประมาณ 10 – 15% ของประเทศหรือ 1,100,000 คน อยู่ในภาวะยากจนพิเศษ และมีจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสเสี่ยงหลุดจากรอยต่อระบบการศึกษา เพราะปัญหาภาวะยากจนจากการที่พ่อแม่ตกงานซ้ำซาก 

มีรายได้ประมาณ 1,044 บาท ต่อเดือน แต่ค่าใช้จ่ายในการศึกษาโดยเฉลี่ย ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายกลับสูงถึง 4,000 – 9,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าเดินทาง พ่อแม่ต้องให้ลูกออกจากระบบโรงเรียนไปหางานทำ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายส่วนนั้นไป

นโยบายของรัฐบาล เช่น แอปพลิเคชันเป๋าตังสามารถช่วยแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เด็กในชุมชนแออัด กทม. ยังโชคดีที่มีการช่วยเหลือจากสังคมภายนอก เช่น Thai PBS ในการระดมบริจาคเครื่องอุปโภคและบริโภค แต่สำหรับเด็กต่างจังหวัดเป็นเรื่องยากกว่ามาก

กสศ. จึงได้เข้าไปมอบถุงยังชีพและเงิน 3,000 บาทต่อคน ทั้งยังทำงานร่วมกับผู้ปกครองด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องความสำคัญทางการศึกษาของเด็กๆ เพื่อให้ผู้ปกครองตัดสินใจให้ลูกอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปด้วยการช่วยเหลือประคับประคองจาก กสศ.

เราอยู่ในระบบการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่ทุกคนวิตกกังวล แต่อย่าวิตกจริตมากเกินไป ทุกคนเห็นปัญหา ทุกคนวิตกกังวล แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กได้รับโอกาสและการเรียนรู้ที่ดี 

เราต้องเชื่อมั่นว่าการทำงานประสานกันหลายกระทรวงในปัจจุบันจะทำให้โรงเรียนปลอดภัย

เรียบเรียงจาก “จัดระเบียบ วางระบบการศึกษา รับเปิดเทอม”
พูดคุยกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนเสวนาโดย พิชญาพร โพธิ์สง่า 
ใน The Active Podcast Ep.38 วันที่ 20 มิถุนายน 2564