แม้ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าจัดการศึกษาได้ดีที่สุดในโลก ยังต้องใช้เวลานับทศวรรษในการปฏิรูปเปลี่ยนผ่าน เพื่อวางแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตของเด็กเยาวชนในประเทศ รวมถึงความผันแปรจากกระแสการพัฒนาของโลกซึ่งเคลื่อนที่ไปไม่หยุดยั้ง
มาดูกันว่าประเทศอย่างฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ที่มีแนวทางการจัดการศึกษาคุณภาพสูง ผ่านเส้นทางการผลักดันกฎหมาย และจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษามาอย่างไร ระบบการศึกษาถึงมีรากฐานมั่นคงแข็งแรง จนสามารถกระจายความเสมอภาคไปถึงเด็กเยาวชนในทุกพื้นที่ได้เช่นทุกวันนี้
ขณะที่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้อยู่ในบรรยากาศของการตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการมาถึงของสถานการณ์โควิด-19 ที่เผยให้เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำซึ่งนับวันยิ่งถ่างขยายออกไปมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องระดมงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ให้กระจายไปยังทุกพื้นที่ เพื่อให้เด็กเยาวชนที่ไม่ว่าจะเกิดหรืออาศัยอยู่ที่ใดก็ตามในประเทศไทย สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ประคองตัวอยู่ในระบบการศึกษาจนถึงปลายทาง และใช้การศึกษาหยุดวงจรความยากจนที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้สำเร็จ
พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
Sanna Takala ที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟินแลนด์ กล่าว ว่าประเทศฟินแลนด์ได้ดำเนินการเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษามาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างระบบการกระจายอำนาจจากส่วนกลางถึงระดับท้องถิ่น โดยแต่ละท้องถิ่นจะพัฒนาหลักสูตรขึ้นเองเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ควบคุมกำกับโดยส่วนกลางให้มีมาตรฐานเป็นไปในทางเดียวกันทั้งประเทศ
“นิยามความเสมอภาคของการปฏิรูปการศึกษาฟินแลนด์ คือระบบการศึกษาของเราจะไม่มีทางตัน หมายถึงไม่ว่าเด็กเลือกจะเรียนอะไรในแต่ละช่วงชั้น เขาต้องมีช่องทางไปถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้ตลอดเวลา และต้องเป็นการศึกษาที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกอย่างฟรีหมดตลอดการศึกษาภาคบังคับในช่วงวัย 7-18 ปี ค่าเล่าเรียนไม่เสีย มีอาหารกลางวัน มีรถโรงเรียนรับ-ส่ง อุปกรณ์การเรียนเพียงพอ
“นอกจากนั้นยังมีปัจจัยช่วยสนับสนุนในส่วนประกอบอื่น ๆ ของการศึกษา มีระบบช่วยเหลือสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักสูตรได้ 100% หมายถึงไม่จำเป็นว่าเด็กทุกคนต้องเรียนในระดับเดียวกัน แต่เขาต้องได้ไปถึงความสามารถสูงสุดที่ตัวเองทำได้ ขณะเดียวกันยังมีระบบดูแลกลุ่มเด็กต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เช่นเด็กจากครอบครัวผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาด้านภาษา หรือกลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ พิการ โดยทุกกลุ่มจะมีครูผู้ชำนาญเฉพาะทาง (assistant support) มาช่วยดูแลใกล้ชิดเป็นรายบุคคล”
Sanna กล่าวว่า ฟินแลนด์เริ่มกระบวนการวางหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2008 หลังการหารือในระดับเทศบาลและสถานศึกษา เพื่อวางแนวทางปฏิบัติทั้งในและนอกห้องเรียน โดยระบบจะเอื้อให้ครูสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กได้ทันทีที่พบเค้าลางปัญหา
จากแนวทางที่นำมาใช้ ทำให้ตั้งแต่ปี 2010 ฟินแลนด์มีเด็กที่ได้รับการสนับสนุนพิเศษเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ด้วยข้อมูลรายคนจากครู ส่งต่อถึงการดูแลร่วมจากทีมสหวิชาชีพ อาทิ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล ฯลฯ ขึ้นอยู่กับช่วงวัยและความต้องการของเด็ก โดยจะมีการวัดประเมินความสามารถเด็กในด้านวิชาการ ก่อนวางแผนช่วยเหลือตั้งแต่ในห้องเรียนเป็นลำดับ
ในส่วนของงบประมาณทางการศึกษา แน่นอนว่าจำนวนของเด็กที่ได้รับการสนับสนุนพิเศษที่เพิ่มขึ้น หมายถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหักลบกับงบประมาณที่ใช้ในการจัดการศึกษาซึ่งลดลงแล้ว ถือว่าการสนับสนุนการเรียนรู้เป็นรายคน สามารถดำเนินไปได้ โดยไม่กระทบกับการจัดสรรงบประมาณการศึกษารายปี และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
“หลายปีมานี้ เราได้เห็นแล้วว่าเมื่อเทียบในระดับนานาชาติ นักเรียนของฟินแลนด์มีผลการเรียนที่โดดเด่น เมื่อมองลึกในระดับโรงเรียน โรงเรียนทุกแห่งของเรามีความแตกต่างกันน้อยมาก ซึ่งทำให้เด็กได้คุณภาพการศึกษาในระดับเดียวกัน ที่สำคัญกว่านั้นคือการศึกษาของประเทศเรามุ่งไปที่การสร้างความพอใจในชีวิต ละลายความแตกต่างห่างกันทั้งในเรื่องของเพศ วิชาที่เลือกเรียน หรือพื้นฐานอาชีพซึ่งเด็กเลือกที่จะทำ อีกทั้งการพัฒนาด้านการศึกษาคือสิ่งที่จะไม่มีวันยุติ เพราะความเสมอภาคเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลา ด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลง เด็ก ๆ ที่เปลี่ยนไป
“อย่างในสถานการณ์โควิด-19 ฟินแลนด์พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ปิดโรงเรียน และปล่อยให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้นานที่สุด ด้วยความท้าทายที่เราทราบว่าเมื่อเด็กหยุดเรียน จะกระทบทั้งเรื่องวิชาการความรู้ รวมถึงระดับความสามารถในการเข้าสังคมของนักเรียนที่ถดถอยตามมา ซึ่งหลังจากนี้ เราต้องนำแง่มุมมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาพิจารณา เพื่อถอดบทเรียนมาปรับปรุงให้การศึกษาคุณภาพดำเนินต่อไปได้ในทุกสถานการณ์”
‘ดัชนีความเสมอภาค’ ช่วยจัดสรรงบตามความต้องการจริง
John Brooker ผู้จัดการกลุ่มการลงทุนด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้มีบทบาทดูแลเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์หลายด้านของประเทศนิวซีแลนด์ รวมถึงการกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณ ด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปีในเรื่องนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการของนิวซีแลนด์ ได้รณรงค์ผลักดันงบประมาณบนเส้นทางที่ยาวไกล โดยต้องใช้เวลา 5-6 ปี ในการพัฒนาแนวทาง และกว่าการจัดสรรงบประมาณจะทำได้จริง ก็ต้องรออีกเป็นเวลา 4-5 ปีถัดมา
การพยายามเพิ่ม ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’ คือสิ่งที่ต่างไปจาก ‘ความเท่าเทียม’ เพราะเราทราบดีว่าเด็กทุกคนในระบบโรงเรียน มีต้นทุนชีวิตแตกต่าง มีระดับความสามารถไม่เท่ากัน ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายในระดับเดียวกัน เราต้องสนับสนุนเพิ่มเติมพิเศษสำหรับผู้เข้าไม่ถึงทรัพยากร เพื่อให้มีกำลังในการพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น
แนวทางของนิวซีแลนด์คือเน้นทรัพยากรลงไปที่เงินเดือน สวัสดิการ และงบประมาณในการหนุนเสริมการปฏิบัติการของครู อีกส่วนหนึ่งคืองบที่นำไปลงทุนด้านความเสมอภาค โดยเฉพาะการดูแลสถาบันการศึกษาและชุมชน
“เราเสริมงบให้โรงเรียนผ่านระบบ Design System ที่ครอบคลุมทั้งชุมชน โดยคำนึงถึงปัจจัยเศรษฐกิจสังคมที่ลงลึกไปถึงขนาดของบ้าน จำนวนห้องในบ้าน หรือระดับการศึกษาผู้ปกครอง เป็นต้น ปัจจัยปลีกย่อยทั้งหมดนี้ คณะทำงานจะจัดทำเป็นค่าสถิติแห่งชาติในช่วง 5 ปี แล้วนำมากำหนดหลักเกณฑ์จัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนทุกแห่ง
“การเก็บข้อมูลดังกล่าว จะทำให้สามารถจัดกลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงมองเห็นการเคลื่อนไหวหรือเส้นทางการกระจายของทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีผังร่วมกันว่าเด็กจัดอยู่ในกลุ่มไหน พื้นที่แบบใด เราก็จะรู้ว่าต้องใช้ทรัพยากรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หมายความว่าโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ประชากรส่วนใหญ่ยังได้รับการศึกษาไม่สูงนัก เราก็จะมีดัชนีชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่าเกิดจากอุปสรรคอะไร มีปัจจัยทางสังคมหรือเศรษฐกิจใดที่ทำให้การศึกษาไม่ไปถึงเป้า แล้วถ้าจะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น จำเป็นต้องเติมทรัพยากรลงไปตรงไหนหรือใช้นวัตกรรมใด”
John กล่าวว่า มีปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างน้อย 37 หัวข้อ ที่เป็นตัวชี้วัดดัชนีความเสมอภาคของประชากรได้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยตัวแปรเหล่านี้ถือว่ามีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ความสำเร็จด้านการศึกษาด้วย ทั้งนี้ตัวเลขข้อมูลต่างๆ จะมีการเก็บเพิ่มเติมและอัพเดทให้ทันสภาพความเป็นจริงที่เลื่อนไหลตลอดเวลา และข้อมูลชุดนี้เองจะเป็นตัวแปรที่ใช้ชี้วัดว่าประชากรกลุ่มไหนหรือโรงเรียนใดควรได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ
“การให้ความช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าหรือ target founding ทำให้รัฐบาลมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการวางงบประมาณ และแน่ใจว่าเงินอุดหนุนหรือโปรแกรมต่างๆ ที่ลงไปสู่เด็ก สามารถแจกแจงได้ถูกต้องและแม่นยำเพิ่มขึ้น
“ดัชนีเกี่ยวกับความเสมอภาคเป็นแนวคิดตั้งต้น ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จากการประเมินพบว่าหลังผ่านระยะเริ่มดำเนินการมาแล้ว 3-5 ปี มีโรงเรียนถึง 90% ที่ได้ประโยชน์จากการนำดัชนีเสมอภาคมาใช้ เพราะอย่างไรก็ตาม การวางแนวทางที่เริ่มจากบ้าน ชุมชน เพื่อขยายผลไปสู่ระดับประเทศ เป็นงานที่ต้องใช้เวลา จำเป็นต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจมีบ้างที่บางโรงเรียนต้องเผชิญปัญหาจากการเพิ่มขึ้นและลดลงของงบประมาณ แต่ในระยะยาวแล้วจะช่วยในเรื่องการปรับสมดุลงบประมาณ และการกระจายความเสมอภาคที่เห็นผลเป็นรูปธรรมในที่สุด”
องค์กรอิสระที่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องการกระจายความเสมอภาคทางการศึกษา ‘ตัวเร่ง’ ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าประเทศไทยต้องใช้เวลากว่า 8 ปี ในการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา ถือเป็นงานสำคัญที่ใช้เวลายาวนาน ด้วยเกี่ยวพันกับการจัดสรรงบประมาณทุกด้าน อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการย้อนทบทวนข้อบัญญัติและแนวทางต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้สอดรับกับความต้องการของประชากรทุกกลุ่มที่รับผลกระทบ
“ประเทศไทยมีประชากรด้อยโอกาสที่เป็นเด็กวัยเรียนราว 3 ล้านคน ขณะที่ในปัจจัยด้านการศึกษา เราประสบปัญหาเรื่องมาตรฐานคุณภาพโรงเรียนที่มีความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กจากครอบครัวรายได้น้อยมีอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ รัฐบาลไทยจึงออก พ.ร.บ. สนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายสนับสนุนงบประมาณ และสร้างกระบวนการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น”
“ขณะที่ กสศ. เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นผ่าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ด้วยมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ในการจัดสรรทุนการศึกษา และระดมการทำงานร่วมกับภาคีทุกระดับทั้งในประเทศและนานาชาติ เพื่อสร้างระบบช่วยเหลือดูแลผู้ด้อยโอกาส ให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง”
ลักษณะพิเศษของ กสศ. คือการระดมทุนสาธารณะเพื่อกระจายความเสมอภาค โดยลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคเงินเข้ากองทุน มีการทำงานอย่างเป็นอิสระภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งบอร์ดบริหารของ กสศ. ได้ประกอบไปด้วยสมาชิกหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“การทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เราสามารถจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ และการพัฒนาด้านวิชาชีพที่จะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับความเสมอภาคที่ยั่งยืน ด้วยการทำงานวิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ รวมถึงประสบการณ์ ที่จะนำมาช่วยส่งเสริมวาระต่างๆ ให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาในประเทศของเรา”
“เรามีการลงทุนเชิงนวัตกรรมที่หลากหลาย ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ มีคณะทำงานที่ตระเวนไปในทุกพื้นที่ตลอดทั้งปี เพื่อให้เห็นปัญหาหน้างาน พร้อมเก็บข้อมูลของเด็กและครอบครัว แล้วนำกลับมาพิจารณาออกแบบความช่วยเหลือที่เหมาะสมเป็นรายคน การลงพื้นที่หน้างานทำให้เข้าใจว่าอะไรคือรากของปัญหา และค้นพบวิธีการการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้แม้บริบทของพื้นที่มีความแตกต่างกัน”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กว่าที่กฎหมายเกี่ยวกับความเสมอภาคจะออกมาได้ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี แต่เมื่อ กสศ. ทำงานมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี ก็ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญขององค์กรหรือหน่วยงานอิสระ ที่เป็นตัวเร่งสู่ความเปลี่ยนแปลง
แม้ช่วงเวลาสิบปีก่อนใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเคยมีการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาขึ้นสองเท่า แต่ผลที่ได้กลับบ่งชี้ว่ายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีน้ำหนักมากพอ ดังนั้นรัฐจึงมุ่งมั่นในการยกระดับความเสมอภาค ผ่านการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหาที่หวังผลได้มากขึ้น
“วันนี้การทำงานของ กสศ. ได้แสดงให้เห็นว่าทั้งชุมชนระดับท้องถิ่น หรือประชาคมโลก ต่างมีความสำคัญในการยกระดับความสามารถในการพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาไปด้วยกัน
“ด้วยข้อมูล ประสบการณ์ และงานวิจัยต่างๆ ที่ กสศ. รวบรวมไว้ จะไม่ได้มีประโยชน์เพียงในระดับประเทศ หากยังขยายเครือข่ายของรูปแบบการทำงาน ทั้งในฐานะโมเดลเต้นแบบ และการแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาไปยังพื้นที่อื่นๆ ผ่านงานประชุมวิชาการนานาชาติที่จัดต่อเนื่องเกือบทุกปี”
และไม่เพียงแค่งานด้านการศึกษา แต่ กสศ. ยังมีความห่วงใยทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาค โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น การทำงานเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนในทุกสังกัดในช่วงล็อคดาวน์ จะช่วยระบุชี้กลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ในรูปแบบของการเชื่อมโยงทรัพยากร ซึ่งจะเน้นวางเป้าหมายในช่วงเวลา 1-5 ปีข้างหน้า ที่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการข้ามผ่านการศึกษาช่วงชั้นรอยต่อของนักเรียนที่ขาดแคลนโอกาส อันมีข้อมูลสถิติยืนยันว่าเป็นช่วงชั้นที่มีเด็กเยาวชนหลุดออกไปจากระบบการศึกษามากที่สุด เพื่อให้เกิดการทำงานระหว่างหน่วยงาน ระหว่างสถาบันการศึกษา จนถึงภาคธุรกิจเอกชน ที่จะช่วยรองรับเด็กเยาวชนทุกกลุ่มให้มีเส้นทางอนาคตต่อไป