ด้วยภารกิจหลักของ กสศ. คือส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะการทำให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้รับความช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตรอบด้านให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนด้านการศึกษาจำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าไกลกว่าเพียงความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน กสศ. จึงออกแบบทุนซึ่งมุ่งไปที่การช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับสูงในสาขาวิชาชีพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ จนเกิดเป็น ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ซึ่งมอบให้กับนักศึกษาสายอาชีพปีละ 2,500 ทุน ต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการพัฒนา ‘คน’ ที่มี ‘ศักยภาพ’ แต่ขาดซึ่ง ‘โอกาส’ ให้สามารถก้าวขึ้นไปเป็นบุคลากรชั้นนำของประเทศในสายอาชีพนั้น จำเป็นต้องเดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง หมายถึงการผลักดันให้ ‘คน’ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ได้รับการศึกษาจนสุดทางตามศักยภาพของแต่ละคน ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ จึงเกิดขึ้นตามมา
โดยทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็นทุนที่ กสศ. ออกแบบขึ้นเพื่อเชื่อมโยงการศึกษาสายอาชีพเข้ากับการแก้ปัญหาของประเทศ ในด้านการสร้างความเข้มแข็งทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการพาประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุในรัฐธรรมนูญ
ทำไมต้องหนุนถึงปริญญาเอก ทั้งที่หลักสำคัญของสายอาชีพคือการพัฒนาทักษะ?
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ ปี 2564 กล่าวถึงการออกแบบทุนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบพัฒนากำลังคนสายอาชีพ เพื่อนำประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางว่า การจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมมูลค่าสูง มีนวัตกรรมที่จะช่วยขยับค่าแรงในประเทศให้สูงขึ้น หมายถึงประเทศไทยต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง ต้องสร้างแรงงานที่มีทักษะเพื่อการพัฒนาการวิจัยในระดับที่เหนือไปกว่าเป็นฐานการผลิต ซึ่งนี่คือความหวังที่ทำให้ กสศ. สร้างทุนนี้ขึ้นมา ในอีกทางหนึ่ง ทุนนี้จะเป็นต้นแบบแนวทางของการสร้างเยาวชนในสายอาชีพให้ก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศ ที่จะทำให้เกิดโครงการอื่นๆ ตามมาในอนาคต
ในประเทศที่พัฒนาด้วยแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรม จะมีระบบการศึกษาสายอาชีพที่ทัดเทียมกับสายสามัญ มีการสนับสนุนให้สายอาชีวะได้เรียนถึงระดับปริญญาเอก เนื่องจากนักศึกษากลุ่มนี้คือกำลังคนที่จะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นบุคลากรสายอาชีพจึงต้องมีทั้งความรู้ ทักษะ และมีแนวคิดที่หลากหลายในเชิงสร้างสรรค์
ตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาด้วยกลไกเช่นนี้คือเยอรมนี ซึ่งมีระบบการศึกษาที่เรียกว่า Fachhochschulen (English: Applied Science) ที่ช่วยดึงศักยภาพของบุคลากรสายอาชีพออกมาได้เต็มที่ ด้วยความยืดหยุ่นของมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสายอาชีพ หรือเรียกว่า ‘สายทักษะ’ เรียนถึงระดับปริญญา โดยปัจจุบัน เยอรมนีมีบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีที่มาจากสายทักษะถึง 55% ขณะที่สายสามัญมีเพียง 45%” ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้จะเปิดให้นักศึกษาสายอาชีวะเรียนถึงระดับปริญญาโท และเมื่อจบแล้วสามารถไปต่อระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยปกติได้
ที่กล่าวมาคือตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาด้วยอุตสาหกรรม ซึ่งมีระบบการศึกษาที่พัฒนาบุคลากรสายอาชีพให้เข้าไปมีบทบาทมากมาย ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยของเรายังใช้ศักยภาพจากทรัพยากรบุคคลกลุ่มนี้ได้ไม่เต็มที่
‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ ปฏิรูประบบพัฒนากำลังคนสายอาชีพ
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ กล่าวว่า โครงการ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ มีเป้าหมายเพื่อสร้างบุคลากรชั้นนำในสายอาชีพ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือโดยสถาบันการศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่มีหลายสิ่งเข้ามาพลิกโฉมสังคมไปมาก การศึกษาเองก็มีความเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัวตาม กสศ. จึงมองเห็นว่าการหนุนให้นักศึกษาสายอาชีพได้เรียนถึงระดับปริญญาเอก จะเป็นการผลิตบุคลากรที่มีคุณสมบัติแตกต่าง และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์การพัฒนาประเทศในปัจจุบัน
“ที่ผ่านมานับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียงสองประเทศคือเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่สามารถหลุดจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ นั่นเพราะสองประเทศนี้มีการสร้างนวัตกรรมและมีอุตสาหกรรมมูลค่าสูงเป็นตัวขับเคลื่อน และนี่คือเหตุผลที่เราต้องเร่งผลิตคนสายอาชีพที่มีแนวคิด งานวิจัย และความสร้างสรรค์ที่แตกต่างออกไป เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรม แล้วเมื่อเรามีอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ค่าจ้างแรงงานต่อหัวก็จะสูงขึ้น และจะดึงให้ภาคเกษตรกรรมมีมูลค่าสูงตามไปด้วย ทุนนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในระยะยาวคือหนุนให้คนจากภาคอาชีวศึกษาเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
“ในสาขาที่เปิดให้ทุน เรามุ่งไปที่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง(S-Curve) อุตสาหกรรมใหม่(New S-curve) และเทคโนโลยีดิจิทัล นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังกับโครงการ ว่าจะเป็นการยกระดับและสร้างความสนใจเรื่องอาชีวศึกษาให้ขยายออกไป โดย กสศ. จะคอยประสานงานเพื่อทำให้ระบบการศึกษาสายอาชีพในภาพใหญ่มีความคล่องตัวขึ้น และถ้าในอนาคตจะมีโครงการที่ใหญ่กว่าเข้ามาสานต่อในเรื่องเดียวกัน หน่วยงานนั้น ๆ ก็จะมีแนวทางว่าต้องทำอย่างไร เพื่อการพัฒนาคนสายอาชีพและระบบการศึกษา ให้ผลิตคนที่จะมีส่วนร่วมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตได้ และนี่เองจะเป็นคำตอบที่ยืนยันได้ถึงความคุ้มค่าที่สุดของโครงการ” ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ กล่าวสรุป