ณ โรงเรียนบ้านทุ่ม(ทุ่มประชานุเคราะห์) จ.ขอนแก่น หนึ่งในโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP รุ่น 1 โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทลายเส้นแบ่งของคำว่า ‘เด็กหน้าห้อง’ กับ ‘เด็กหลังห้อง’ เรียบร้อยแล้ว เมื่อคำว่า “ไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ถูกจัดวางให้เป็นเป้าหมายของการเรียนรู้
ที่นั่น สร้างพื้นที่ให้คุณครูได้ฝึกฝนและทดลอง เพื่อยกระดับเป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ เปลี่ยนแปลงนักเรียนให้เป็น ‘นักเรียนรู้’ ผ่านบทเรียนรอบตัว ด้วยการตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ จนเกิดการบ่มเพาะประสบการณ์เฉพาะบุคคล ที่ทำให้เด็กทุกคนในชั้นเรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ไปด้วยกัน
ห้องเรียนพัฒนาตนเอง ณ โรงเรียนบ้านทุ่ม(ทุ่มประชานุเคราะห์) ทลายเส้นแบ่งระหว่าง ‘เด็กหน้าห้อง’ กับ ‘เด็กหลังห้อง’ ให้หมดไป ด้วยวิธีการ ‘Open Approach’ การจัดการเรียนรู้ที่ครูใช้ปัญหาปลายเปิดมาขับเคลื่อนการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน ร่วมด้วย ‘Lesson Study’ ที่มี ‘ทีมครู’ ร่วมสังเกต บันทึกชั้นเรียน และสะท้อนผลร่วมกันเป็นรายสัปดาห์ ทำให้บทสนทนาสามารถพาเด็กไปสู่การคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง จนเกิดองค์ความรู้เฉพาะตัวที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อยอดสู่การเรียนรู้ขั้นสูงได้
บทความนี้ กสศ. ขอชวนทุกท่านเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษา ‘ต้นแบบห้องเรียนลดความเหลื่อมล้ำ’ ในสาระวิชาสังคมศึกษากับหน่วยการเรียนรู้ ‘ขยะลด หมดปัญหา’ ที่แสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่มีข้อจำกัด
ในห้องเรียนยุคใหม่การท่องจำความรู้คือสิ่ง ‘ล้าสมัย’
ก่อนไปศึกษาชั้นเรียนต้นแบบ หรือ ‘Showcase’ มาทำความรู้จักโรงเรียนบ้านทุ่ม(ทุ่มประชานุเคราะห์) พอสังเขป เพื่อเข้าใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โรงเรียนขนาดกลางเนื้อที่ 24 ไร่ ที่มีครู 38 คนคอยดูแลนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ถึง ป.6 รวม 728 คน ตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม มีการจัดการเรียนการสอนที่ล้ำหน้า ถึงสามารถเปลี่ยนผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ที่เคยอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยต่ำกว่าระดับประเทศ ให้ขยับมาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สูงกว่าระดับประเทศได้ใน 3 ปีการศึกษา ทั้งยังมีผลทดสอบ O-net ที่สูงขึ้นด้วย
ตั้งแต่ปี 2562 โรงเรียนบ้านทุ่ม(ทุ่มประชานุเคราะห์) ได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ ‘TSQP’ รุ่นที่ 1 โดยการสนับสนุนของ กสศ. ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กราว 700 กว่าแห่งในสังกัด สพฐ. ให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ (Whole School Approach) ทั้งด้านระบบบริหารจัดการ และการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในภาคี กสศ. ผู้นำการพัฒนาวิธีการสอนเพื่อเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กมาใช้ กล่าวว่า โรงเรียนบ้านทุ่มใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘Open Approach’ ซึ่งคือการจัดการเรียนรู้ที่ครูใช้ปัญหาปลายเปิดมาขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ร่วมด้วยวิธี ‘Lesson Study’ ที่จะมีทีมครูร่วมสังเกตและบันทึกชั้นเรียน เพื่อไปสู่กระบวนการสะท้อนผลร่วมกัน หรือเรียกว่า ‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’ (PLC) เป็นรายสัปดาห์
“การเรียนการสอนแบบเดิมที่ใช้วิธีท่องจำความรู้กำลังล้าสมัย เพราะคุณภาพการศึกษายุคใหม่ เด็กต้องคิด วิเคราะห์ รู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่จะไปให้ถึงตรงนั้นได้ เราต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหรือทรัพยากรมหาศาล เพียงแค่มีรูปแบบวิธีการที่เหมาะสม และได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากบุคลากรทุกระดับในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนในโครงการ TSQP แสดงให้เห็นแล้วว่าผลสำเร็จเกิดขึ้นได้
“ที่สำคัญคือกระบวนการนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับโรงเรียนทุกระดับ ทุกขนาด ช่วยลดความต่างความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาในเมืองกับในพื้นที่ห่างไกลได้ จึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่ กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำมาใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนในโครงการ ฯ”
เปิดห้องเรียนชั้น ป.5 ดูหน่วยการเรียนรู้ ‘ขยะลด หมดปัญหา’
เมื่อเห็นภาพโครงการ TSQP แล้ว ครูกรรณิการ์ เกศคำขวา กลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนบ้านทุ่มฯ จะพาไปดูชั้นเรียนของน้อง ๆ ชั้น ป.5 กับหน่วยการเรียนรู้ ‘ขยะลด หมดปัญหา’ ที่มีจุดประสงค์ให้เด็ก ๆ รู้วิธีลดปริมาณขยะ สามารถเลือกวิธีจัดการขยะที่เหมาะสม และเห็นความสำคัญของการลดปริมาณขยะ
ครูกรรณิการ์ย้ำว่า Open Approach คือการ ‘เปลี่ยนวิธีการสอน’ จากเดิมที่ครูเคยถ่ายทอดความรู้ไปที่เด็กตรง ๆ ให้เป็นกระบวน 4 ขั้นตอน คือ 1.สร้างโจทย์ที่พบเห็นได้ในชีวิตจริงและเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้เรียน 2.นำโจทย์ปัญหาสู่ชั้นเรียนและให้ผู้เรียนเรียนรู้หาวิธีแก้ไขโจทย์ด้วยตนเอง 3.ครูสังเกตแนวความคิดของเด็กต่อวิธีการในการแก้ปัญหา และ 4.ผู้เรียนต้องนำวิธีการการแก้ปัญหาที่ค้นพบมาอภิปรายและสรุปผล ให้ออกมาเป็น ‘บทเรียนการเรียนรู้’
ในชั้นเรียนนี้ ครูกรรณิการ์เริ่มด้วยการกล่าวทักทายเด็ก ๆ ในหัวข้อสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม แล้วให้เด็ก ๆ ช่วยกันบอกว่ามีเพื่อนคนไหนที่ไม่สบายมาโรงเรียนไม่ได้ เพื่อดึงความสนใจมาที่เรื่องใกล้ตัว จากนั้นพาสู่กระบวนการคิดว่าโรคภัยที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นผลจากสิ่งแวดล้อมแย่ลง ถึงตรงนี้จึงถามว่า “เด็ก ๆ จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้น”
เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก คุณครูใช้ภาพสถานการณ์จริงในชุมชนมาเชื่อมโยงให้เห็นปัญหา ว่าท้ายที่สุดผลจากความเปลี่ยนแปลงในโลกจะกระทบไปถึงทุกคนร่วมกัน จากนั้นใช้คำถามตั้งต้น ให้นักเรียนช่วยกันคิดว่าขยะประเภทใดที่สร้างปัญหามากที่สุด พอได้คำตอบ ครูจึงให้เด็กแบ่งออกเป็นกลุ่ม เลือกภาพที่สนใจ แล้วช่วยกันคิดวิธีการลดปริมาณขยะให้ได้หลากหลาย ถูกวิธี โดยแต่ละกลุ่มต้องเลือกเอาวิธีที่ชอบที่สุดออกมาอธิบายเหตุผลหน้าชั้น
“กระบวนการในห้องเรียนจะแบ่งเป็น 6 ขั้นตอน คือ 1.เตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ เตรียมตัวเข้าสู่บทเรียน 2.นำเสนอสถานการณ์ปัญหา 3.ดำเนินการแก้ปัญหา 4.สะท้อนความคิด 5.อภิปรายสรุป 6.ประเมินผล โดยเด็ก ๆ จะเริ่มจากขั้นตอนการคิด ช่วยกันหาข้อมูล ซึ่งในชั้นเรียนนี้เราจะเห็นว่าเด็กหลายคนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวเองเรื่องการจัดการขยะที่บ้านมาบอกเล่าให้เพื่อนฟัง เช่นบางบ้านเอาขยะไปทำปุ๋ย หรือใครที่มีสมาร์ตโฟนก็ช่วยเพื่อนเปิดดูข้อมูล หยิบยกสิ่งที่สนใจมาคุยกัน ถือเป็นเป็นช่องทางที่เปิดไปสู่ความรู้ใหม่ นอกจากนี้เด็ก ๆ จะได้ถกเถียงอธิบายกับเพื่อนในกลุ่ม เรื่องการจัดการขยะที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับประเภท ระหว่างนั้นครูจะคอยสังเกตและบันทึกแนวคิดของนักเรียน พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเปิดมุมมองวิธีคิดให้ต่อยอดไปได้”
เมื่อผ่านการนำเสนอและอภิปรายร่วมกัน ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการประเมินผล เด็ก ๆ จะได้ประเมินผลงานตัวเองว่าอยู่ในระดับใด และพึงพอใจมากน้อยอย่างไร เช่นจากคะแนนเต็มสิบ กลุ่มของตนควรได้เท่าไหร่ จากนั้นครูจะประเมินผลงานของนักเรียนจากที่แต่ละกลุ่มเขียนข้อความบอกเล่า ใช้ภาพวาดหรือสัญลักษณ์และอธิบายขั้นตอนการแก้ปัญหา ร่วมกับเทคนิคการนำเสนอหน้าชั้น และการแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างองค์ความรู้ร่วมกันในกลุ่ม ก่อนถึงการประเมินขั้นสุดท้ายเรื่องคุณลักษณะอันพึงประสงค์และสมรรถนะของผู้เรียน
ครูกรรณิการ์ กล่าวสรุปกระบวนการเรียนรู้ว่า “ด้วยขั้นตอนการเรียนรู้ที่ให้ทุกคนได้คิด วิเคราะห์ ใคร่ครวญ ระดมความคิด อธิบาย และประมวลผลด้วยตัวเอง จะทำให้บทเรียนที่ผ่านการคิดร่วมกันและหยิบยกมานำเสนอ กลายเป็นสำนึกติดตัวเด็ก ๆ ทั้งยังช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับวิธีการจัดการและคัดแยกขยะ ที่นำเอาไปใช้ในชีวิตจริงและสื่อสารกับคนในครอบครัวได้ด้วย”
ไม่ว่าโรงเรียนตั้งอยู่ที่ไหน ต้องไม่มีข้อจำกัดในการพัฒนา
ก่อนชั่วโมงศึกษาห้องเรียนต้นแบบจะจบลง สันติ มุ่งหมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่มฯ ได้กล่าวเสริมถึงหัวใจสำคัญของชั้นเรียน Open approach ว่าคือการ ‘แปลง’ (Transform) วิธีการ ‘Teaching’ ให้เป็น ‘Learning’ เพื่อให้การเรียนรู้นำไปสู่การพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาด้วยตัวเองสำหรับเด็ก และพัฒนาการจัดเรียนรู้ของครูไปพร้อมกัน เนื่องจากโจทย์ของโรงเรียนพัฒนาตนเอง คือความซับซ้อนของแต่ละห้องเรียน ทำให้ต้องมีวิธีการทำงานและการแก้ปัญหาต่างไป บุคลากรโรงเรียนต้องเข้าใจร่วมกัน ว่าการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น มีการปรับปรุงและประยุกต์บทเรียนให้บูรณาการเข้ากับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา เราไม่ได้ทำเพื่อให้ได้ ‘ห้องเรียนที่ดีที่สุด’ แต่เรากำลังเปลี่ยนห้องเรียนเป็นพื้นที่ให้ครูทดลองพัฒนาการจัดการเรียนรู้ และเปลี่ยนผู้เรียนให้เป็นนักเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ เพื่อสั่งสมประสบการณ์เฉพาะที่จะเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้
ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. กล่าวว่า การศึกษาชั้นเรียนต้นแบบที่โรงเรียนบ้านทุ่มฯ ทำให้เห็นว่าแม้โครงการ TSQP สิ้นสุดลง แต่งานยกระดับคุณภาพการศึกษาที่หยั่งรากลงแล้วกำลังเติบโตขึ้น นี่คือตัวอย่างของวัฒนธรรมการขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยในแนวราบ ที่มีครู ผู้บริหาร โรงเรียน หน่วยงานในพื้นที่ และชุมชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมอุดมการณ์ของทุกฝ่าย ได้แสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่มีข้อจำกัด แล้วความหลากหลายของนวัตกรรมและเครือข่ายการศึกษาที่พร้อมเรียนรู้ทำงานร่วมกันอย่างไม่รู้จบ จะเป็นตัวอย่างบทเรียนที่สำคัญ ให้โรงเรียนในพื้นที่อื่นของประเทศหยิบไปใช้พัฒนาตามบริบทของตัวเองได้
เพราะเป้าหมายปลายทางการทำงานโครงการ TSQP ของ กสศ. คือค้นหาโมเดลหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายบริบท เพื่อถอดบทเรียนและสร้างเครื่องมือ ‘เปลี่ยนแปลงการศึกษา’ ที่ทุกโรงเรียนในประเทศไทยนำไปใช้ได้ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าต่อไปนี้เด็กทุกคนในทุกชั้นเรียน จะมีพัฒนาการการเรียนรู้ในระดับใกล้เคียงกัน ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเป็นการยืนยันว่า ‘การเรียนรู้นั้นไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าโรงเรียนจะตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งใดของประเทศ’