โรงเรียนโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่สามารถพัฒนาการเรียนการสอนจนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยได้ทีมงาน สพป.สุรินทร์ เขต 2 มาเป็นทีมโค้ช ชวนคุณครู ผู้บริหาร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันตั้งเป้าหมายของโรงเรียน (School Goals) เพื่อกำหนดเป็นทิศทางให้ทุกคนเห็นว่าจะต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้อย่างไร โดยมีเป้าหมายดังนี้
“นักเรียน” มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน
“ครู” ทุกคนจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning
“โรงเรียน” มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ มีความปลอดภัยทั้งต่อร่างกายและจิตใจ
“ผู้ปกครอง” ให้ความร่วมมือ ดูแลความประพฤติของบุตรหลาน
พัฒนา “วิชาการ” ควบคู่มารยาท คุณธรรม
สุดท้ายเป้าหมายทั้งหมดก็สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคน ตั้งแต่ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยจะเห็นว่าครูทุกคนพัฒนาการสอนมาเป็นแบบ Active Learning ซึ่งเห็นผลชัดเจนว่าทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ยืนยันด้วยคะแนน O-NET ของโรงเรียนที่ดีขึ้น คู่ขนานไปกับมารยาท คุณธรรม ของนักเรียนที่ดีขึ้น ไม่ต่างจากพัฒนาการด้านวิชาการ
หนึ่งในกระบวนการพัฒนาที่สำคัญคือ PLC ทั้งระดับครูกับครู ที่ช่วยกันพัฒนาแผนการสอน ตั้งแต่การวางแผน ไปจนถึงการลงมือสอน และสะท้อนผลว่าเหมาะสมดีหรือยัง หรือควรปรับปรุงแก้ไขส่วนใดบ้าง เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น
Active Learning ทำให้เด็กเรียนรู้ดีกว่าเดิม
ธัญญารัตน์ วรรณพฤติ ครูสอนภาษาไทย โรงเรียนโนนนารายณ์ มองว่า เดิมทีครูเขียนแผนเองคนเดียว ไม่มีการสะท้อนผล ทำให้ไม่เห็นว่ามีจุดไหนที่ยังสามารถพัฒนาได้อีก แต่พอมีครูบัดดี้มาช่วยกันหนุนเสริม ก็ทำให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“แม้แต่วิชาภาษาไทยที่งงว่าจะทำเป็น Active Learning ยังไง ยกตัวอย่างเช่น การใช้เพลงนำเข้าสู่บทเรียน ต่อจากนั้นก็ใช้เกมมาเป็นเครื่องมือ แบ่งกลุ่มนักเรียนให้ออกมาทำกิจกรรมจำแนกคำหน้าชั้นเรียน ออกมานำเสนอหน้าชั้นเป็นกลุ่ม สรุปคะแนน มีคูปองให้สะสม ท้ายเทอมมีรางวัลให้ เด็กก็เรียนแบบมีความสุข สนุกขึ้น บางครั้งก็ร้องเพลงคาราโอเกะ ซึมซับคำจากเนื้อเพลง”
ที่สำคัญคือกระบวนการ PLC ทำให้การสอนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ครูบัดดี้อาจจะมาเสริมว่า เวลาเลือกเพลงอย่าใช้แค่เพลงที่สนุกอย่างเดียว น่าจะใช้เพลงที่แฝงคุณธรรมด้วย หรือมีจุดไหนที่เด็กยังไม่สนใจต่อเนื่อง ก็จะช่วยกันพัฒนาให้สมบูรณ์กว่าเดิม
ต่อจากนั้นจะมีการ PLC ระดับชั้น ระดับโรงเรียน ที่ครูทั้งโรงเรียนช่วยกันสะท้อนผลและให้คำแนะนำปรับปรุงแผนการเรียนของแต่ละคนให้ดีขึ้น เพื่อให้เห็นภาพรวมของโรงเรียนร่วมกัน และบทเรียนตัวอย่างจากครูคนอื่น ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
โครงงานคุณธรรม รางวัลเหรียญทองระดับประเทศ
นอกจากเรื่องการเรียน สิ่งสำคัญที่โรงเรียนพยายามปลูกฝังให้เด็กคือเรื่องคุณธรรม ที่ได้พัฒนาเป็นโครงงานคุณธรรม สร้างจิตอาสาพัฒนาการอ่านเขียนให้เด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่องหรือ (Learning Disability: LD) ที่มีอยู่จำนวน 13 คน โดยประชาสัมพันธ์หาจิตอาสามาช่วยเหลือดูแลเพื่อนๆ น้องๆ ในการทำกิจกรรมต่างๆ
“พอถึงเวลาเที่ยงทุกคนก็จะมาเจอกันที่ห้องนี้ ร่วมกันทำกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวกับภาษาไทย การทำสมาธิ ศิลปะ เน้นความสนุก ผ่อนคลาย ไม่ให้ตึงเครียดเกินไป ครูจะคอยสังเกตว่าเด็กเป็นอย่างไร หากไม่อยากเรียนศิลปะก็พาทำสมาธิ ทำสื่อการสอนเล็กๆ น้อยๆ หรือทำแบบฝึกหัด ทักษะบันได 6 ขั้น การอ่านเขียน ตั้งแต่เรื่องคำจนถึงการแต่งประโยคเป็นเรื่องราว”
เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนเด็ก LD จากที่ต้องปลีกตัวออกไปจากเพื่อนๆ ไปอยู่ตัวคนเดียว แต่พอมีเวทีให้เขาได้แสดงออก เขาก็ค่อยๆ ทำได้ ทั้งงานศิลปะ สมาธิ คัดลายมือ แต่งประโยค หากอ่านคำไหนไม่ออก บัดดี้ก็จะช่วยเป็นที่ปรึกษา คอยแนะนำช่วยเหลือ
ความสำเร็จของโครงงานคุณธรรมทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลศิลปหัตถกรรม เหรียญทองระดับประเทศ และรางวัลชนะเลิศเขตพื้นที่การศึกษา แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การได้สร้างนักเรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
TSQP ทำให้ผลลัพธ์การพัฒนาดีขึ้นทุกด้าน
ครูธัญญารัตน์เล่าให้ฟังว่า ไม่เพียงแค่กลุ่มน้อง LD ที่เกิดการพัฒนา แต่จิตอาสาที่มาช่วยพัฒนาการอ่านเขียนก็ได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ ความเป็นผู้นำ รู้จักการนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูล และคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทยก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่การจัดการเรียนการสอนที่ดี ก็สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ได้
“โครงการ TSQP ของ กสศ. เป็นโครงการที่ดี สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียน มีสภาพบริบทแวดล้อมที่ดีขึ้น ทำให้นักเรียนมีมารยาท สัมมาคารวะ ทำให้ครูได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โรงเรียนมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้และการทุ่มเททำงานของทุกคนก็ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นในทุกด้าน” ครูธัญญารัตน์กล่าว