ทำความรู้จักกับ​ นวัตกรรมกรรม PBLSI จาก โรงเรียนบ้านหนองหิน
ซ่อมเสริมความรู้การอ่านออกเขียนได้ ​ช่วงหลังล็อกดาวน์

ทำความรู้จักกับ​ นวัตกรรมกรรม PBLSI จาก โรงเรียนบ้านหนองหิน

เปิดเทอมหลังโควิดหลายโรงเรียนเริ่มกลับมาทำการสอนออนไซต์ได้ตามปกติ ปัญหาที่พบแทบไม่แตกต่างกันคือเรื่องของ “ความรู้ถดถอย” ช่วงล็อกดาวน์ที่เด็ก ๆ ต้องปรับไปเรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ และ ออนดีมานด์

ทางแก้ไขเบื้องต้นในช่วงนี้คือมาตรการซ่อมเสริมความรู้ที่หายไปควบคู่กับการเริ่มต้นเนื้อหาในบทเรียนใหม่ โดยเฉพาะกับเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของเด็กเล็ก ที่ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการศึกษาในระยะยาว ทำให้หลายโรงเรียนรีบหาแนวทางสกัดความรุนแรงของปัญหาไม่ให้บานปลายกว่าที่เป็นอยู่

โรงเรียนบ้านหนองหิน จ.พิษณุโลก เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบเรื่องความรู้ถดถอย และได้คิดค้นนวัตกรรม PBLSI ขึ้นมาซ่อมเสริมความรู้เรื่องการอ่านออกเขียนได้ของเด็กเล็ก ด้วยการนำ “จิตศึกษา” มาผนวกกับทักษะการอ่านเขียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากง่ายไปหายากตามแต่ละขั้นตอน

ราตรี  เงื่องจันทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหิน เล่าให้ฟังว่า  เรื่องการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญ แต่จากที่สำรวจผู้ปกครองไม่สามารถสอนเรื่องการอ่านออกเขียนได้ให้กับบุตรหลายได้ บางคนสอนคณิตศาสตร์พอได้แต่พอเป็นภาษาไทยสอนไม่ได้ ทำให้เด็กมีความรู้ถดถอย โดยเฉพาะเรื่องการอ่านที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่รุนแรงขึ้น จนทางโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการอ่านการเขียนที่จะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ในช่วงนี้

สำหรับนวัตกรรม PBLSI เป็นนวัตกรรมที่จะประกอบไปด้วย 

P Psychoeducation เรื่องเล่าจิตศึกษา : ที่ใช้นิทานมาเป็นตัว “ชง -เชื่อม -ใช้” ให้เด็กได้คิดตามเนื้อหาจากนิทานไปสู่การคิดต่อยอดที่จะนำมาใช้ในเรื่องอื่นต่อไป   

B Basicword  พัฒนาปัญญาด้วยการอ่านคำพื้นฐาน : เริ่มจากการนำคำศัพท์ง่ายในเรื่องมาสอนเด็ก ค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละคำและค่อยๆ เพิ่มความยากไปเรื่อยๆ

L Literature ภาษาไทยผ่านวรรณกรรมสุขสันต์หรรษา : พัฒนาการเรียนรู้ ทั้งเรื่องคำศัพท์ การอ่าน พื้นฐานของคำ ชนิดของคำ ผ่านเนื้อเรื่องจากนิทาน ที่จะได้เห็นภาพชัดเจน และไม่น่าเบื่อกว่าการเรียนคำศัพท์อย่างเดียว

S Sentences & Words จินตนาการจากประโยคและคำ : เริ่มให้เด็กแต่งประโยคจากคำศัพท์ด้วยตัวเอง 

I Imagination เสริมปัญญาตามจินตนาการ  :  ต่อยอดให้เด็กนำคำศัพท์และประโยคมาแต่งเป็นเรื่องราวของตัวเองสั้น ๆ และ ค่อยพัฒนาให้มีเนื้อหารายละเอียดเพิ่มมากขึ้นตามจินตนาการ

อีกด้านหนึ่งทางโรงเรียนบ้านหนองหิน ยังจัดโครงการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กอนุบาลด้วยการใช้รูปแบบของจิตศึกษาผนวกเข้ากับรูปแบบของห้องสมุด โดยทำเป็นห้องนิทานสำหรับเด็ก โดยมีเป้าหมายให้ผู้ปกครองมาอ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วงที่มารับมาส่งซึ่งได้จัดหนังสือดี ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก จะนั่งอ่านด้วยกันหรือยืมกลับไปอ่านที่บ้านก็ได้

“ตอนนี้ช่วงเช้า ช่วงเย็นเริ่มมีผู้ปกครองมาอ่านหนังสือนิทานกับลูกมากขึ้น บางคนยืมกลับไปอ่านที่บ้าน เป็นสิ่งที่เห็นแล้วก็ปลื้มใจ หรืออย่างเด็กอนุบาลสาม ที่ครูเคยเอานิทานไปอ่านให้ฟัง ช่วงทำบอดี้แสกน จิตศึกษา ช่วงที่ครูยังไม่เข้าห้องเราก็เห็นเด็กเขาหยิบหนังสือมานั่งเปิดดูกันเองก่อนที่ครูจะเข้ามา บางคนก็เปิดดูคนเดียว บางทีก็จับกลุ่มกันสองสามคนทำให้เห็นว่ามาตรการที่นำมาใช้กำลังได้ผลได้เราก็ดีใจ” ผอ.ราตรีกล่าว

ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นของความพยามแก้ปัญหาความรู้ถดถอยโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องการอ่านออกเขียนได้ที่จะเป็นหัวใจสำคัญไปสู่การเรียนรู้อย่างอื่นต่อไปในอนาคต