“เมื่อก่อนเป็นการสอนแบบจี้ ยัดเยียดความรู้ให้กับเด็ก แต่ปัจจุบันครูให้เด็กเป็นคนดำเนินการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็น Active Learning โดยครูใช้จิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน PBL และ PLC ที่ทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น”
พิเชษฐ ศรีระวัตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์เอน จังหวัดกำแพงเพชร เริ่มต้นฉายภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและนักเรียน หลังจากเข้าร่วม “โครงการโรงเรียนพัฒนาตัวเอง” (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมเป็นโค้ช สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
“เมื่อก่อนเราไม่ได้มองว่าเด็กรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ต้องทำ เราตีกรอบให้เด็กต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เคยถามเด็กว่ารู้สึกอย่างไร จนเรามาเปลี่ยนเป็นการรับฟัง ให้เด็กได้สะท้อนความรู้สึก ครูรับรู้และยอมรับ ส่งผลให้สัมพันธภาพดีขึ้น เป็นความสัมพันธ์แนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่ง การเรียนรู้ของเด็กก็ดีขึ้นตามไปด้วย เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก ได้แสดงมุมมองสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้มากกว่าเดิม”
เด็กมาโรงเรียนเช้าขึ้นเพราะ PBL
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์เอนขยายความว่า ก่อนหน้านี้เด็กไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาเรียนแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร แต่พอจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงกิจกรรม ดนตรี กีฬา ศิลปะ งานฝีมือที่เด็กต้องการ ก็ทำให้เขาอยากเรียนมากขึ้น
“เด็กอยากมาโรงเรียนมากขึ้น เช่น เด็ก ป.6 คนหนึ่ง ตอนเขาอยู่ ป. 5 มาโรงเรียนสายทุกวัน มาแล้วก็ร้องไห้ทุกวัน จนโรงเรียนปรับการสอน เขาเริ่มมาโรงเรียนเช้าขึ้น เริ่มไม่ร้องไห้ จากที่ไม่ค่อยพูดกลายเป็นคนที่สื่อสารโต้ตอบกลับเราได้ โดยไม่ต้องถามเขาก่อนเลย พอเราไปคุย เขาก็บอกว่าชอบเรียน PBL ครูใจดี”
จิตวิทยาเชิงบวก กระตุ้นเด็กให้สำรวจตัวเอง
อีกประเด็นที่สำคัญคือการใช้จิตวิทยาเชิงบวก โดยครูจะไม่ต่อว่า ไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง ไม่ใช้การลงโทษ แต่จะใช้จิตศึกษา มีการตั้งวงพูดคุย ตั้งคำถาม ประวิงเวลา ทำให้เด็กกลับมาสำรวจตัวเอง
สำหรับรูปแบบการเรียนการสอน จะเปลี่ยนเป็นตอนเช้าสอนตามสาระหลัก 3 วิชา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ส่วนสาระวิชาที่เหลือ จะบูรณาการเป็น PBL เน้นเรียนแบบ Active Learning ให้เด็กค้นหาความรู้และลงมือสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยตัวเอง
“เด็กก็มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น เขาไม่ต้องเรียนจากครูที่สอนหน้ากระดาน แต่ได้แสดงความคิดเห็น ทำงานเป็นกลุ่ม ได้แชร์กับเพื่อน นำเสนอหน้าชั้น ไม่ใช่แค่คอยรับความรู้อย่างเดียว”
ครูถือเป็นกำลังสำคัญที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง โดยครูทุกคนพร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่กระบวนการและรูปแบบการเรียนครูถือเป็นกำลังสำคัญที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง โดยมีมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาเป็นตัวอย่าง เมื่อศึกษาแล้วก็ปรับเข้ากับบริบทของโรงเรียนว่า หน่วยการเรียนจะเชื่อมโยงสาระวิชาอะไร มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง จากนั้นก็นำไปสู่กระบวนการ PLC ที่ครูแต่ละคน จะมาช่วยกันเติมเต็มแผนให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
เปลี่ยนผู้ปกครองเป็นครูที่บ้าน
กลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาการเรียนคือผู้ปกครอง ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุยรับฟังว่าเส้นทางการสอนจากนี้จะเป็นอย่างไร และไม่ใช่แค่คอยดูอยู่ข้างนอกเท่านั้น แต่สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เช่น บางวิชาผู้ปกครองสามารถร่วมเป็นวิทยากร บางคนมาช่วยสอนทำขนมเด็กอนุบาล
“ผู้ปกครองจะไม่ใช่แค่คนดูอีกต่อไป เขาจะเข้าใจครูมากขึ้น เข้าใจการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ว่ารูปแบบใหม่นี้ไม่เหมือนเดิมที่เราเคยสอนบนกระดาน แต่เราให้ผู้ปกครองเข้ามาร่วมออกแบบการเรียนรู้ ได้เข้าใจบุตรหลาน ได้เตรียมอุปกรณ์ ได้ช่วยเป็นครูที่บ้านให้นักเรียน”
เปิดพื้นที่ให้ครูสอนสิ่งที่เด็กอยากเรียน
แม้แต่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ต้องปิดโรงเรียนและเปลี่ยนเป็นการสอนแบบออนไลน์ ในส่วนของชั้นอนุบาล ป.3 และ ป.6 ที่ใช้การสอนแบบ PBL ก็สร้างการเรียนรู้ทางออนไลน์ได้ดีกว่าการสอนออนไลน์แบบปกติ
PBL ทำให้เด็กที่เรียนออนไลน์สนใจการเรียนมากขึ้น มีทั้งให้ผู้ปกครองร่วมทำงานกับเด็ก ผู้ปกครองช่วยถ่ายคลิปส่งกลับมาในไลน์กลุ่ม
“ผมถวายหัวแล้วกับการจัดการศึกษารูปแบบนี้ ครูรุ่นใหม่เขาสะท้อนในวง PLC ให้เห็นว่า เขาเคยอยู่ในระบบเก่า เขาอึดอัดที่ต้องโดนตีกรอบ แต่ตอนนี้เขามีพื้นที่สำหรับสอนความรู้สึกเด็ก จากแต่ก่อนเมื่อถึงเวลาก็ต้องสอนสิ่งที่เตรียมมา แต่ตอนนี้เขาได้สอนสิ่งที่เด็กอยากรู้ เด็กเกิดความรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง” ผอ.พิเชษฐกล่าวทิ้งท้าย