โรงเรียนวัดดอนพุดซา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซ่อมเสริมความรู้ที่หายช่วงล็อกดาวน์

โรงเรียนวัดดอนพุดซา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซ่อมเสริมความรู้ที่หายช่วงล็อกดาวน์

“กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้” อุดช่องว่างเรียนออนไลน์ช่วงล็อกดาวน์

ภาวะความรู้ถดถอยหรือการเรียนรู้ที่ไม่เต็มประสิทธิภาพในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ กำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

โรงเรียนวัดดอนพุดซา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในโรงเรียน ที่พบเห็นปัญหาจากการที่นักเรียนเข้าเรียนออนไลน์ได้เพียงแค่ 10% ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องปรับรูปแบบไปสู่การเรียนออนแฮนด์ควบคู่กับ “กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้” ซึ่งบรรจุอุปกรณ์สำหรับต่อยอดสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้าน 

“ช่วงนี้กลับมาเปิดเรียนได้ตามปกติ ที่โรงเรียนจะเห็นว่าเด็กถดถอยลงไปพอสมควร ตอนนี้เด็กเล็ก ป.1 ป.2 มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ 50% คือลืมสิ่งที่เคยเรียนไป ต้องกลับมาหัดอ่านกันใหม่ ยิ่งการเขียนนี่ลืมไปเลย เด็กเล็กๆ จะเรียนออนไลน์ไม่ได้ และที่โรงเรียนเรียนออนไลน์ได้แค่ 10% ออนแฮนด์ก็มีงานกลับมา แต่ถ้าดูงานเราก็จะรู้ว่าทำเองบ้าง ไม่ได้ทำเองบ้าง และสถานการณ์ก็ทำให้ไม่สามารถลงไปพื้นที่ได้”

โรงเรียนวัดดอนพุดชาเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตัวเอง (TSQP) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีทีมโค้ชจากมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมเป็นพี่เลี้ยง ที่เน้นเรื่อง Active Learning และกระบวนการ STEAM Design Process ที่สอดแทรกเข้าไปอยู่ในวิชาต่างๆ เพื่อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ สามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

สำหรับสื่อการสอน ทางโรงเรียนได้ต่อยอดจาก “เลิร์นนิ่งบอกซ์” ของสตาร์ฟิช มาเป็น “กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้” โดยสีแดงเป็นสีประจำโรงเรียน และประยุกต์วัสดุ อุปกรณ์ข้างในให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ ในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์ เด็กได้ใช้กระเป๋านี้ไปช่วยอุดช่องว่างสำหรับเด็กที่เรียนออนไลน์ไม่ได้ ทำให้การเรียนรู้แบบออนแฮนด์มีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยครูจะออกแบบการสอนให้เด็กส่งงานทุกสัปดาห์ 

พบปัญหาเด็กลืมอ่าน-เขียน-คำนวณ​

ดร.สุนิสา คงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนพุดชา เล่าให้ฟังว่า ​ตั้งแต่เปิดเรียนวันที่ 15 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ครูแต่ละชั้นจะสำรวจว่าสถานการณ์ความรู้ถดถอยของเด็กเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้  ไม่ใช่แค่เรื่องอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องดูทั้งหมด ทั้งเรื่องเนื้อหาการเรียนไปจนถึงเรื่องความรับผิดชอบ เพื่อจะได้จัดการวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบด้าน 

เบื้องต้นทางโรงเรียนวางแผนสอนซ้ำเนื้อหาในช่วงที่ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เช่น ส่วนของเด็กเล็ก การอ่านออกเขียนได้ก็จะนำหลัก “บันไดสี่ขั้น” ของทุ่งสักอาศรม เน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ก่อน เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ ​

“ส่วนเด็กชั้นที่โตขึ้นมาหน่อย ก็มีปัญหาช่วงเรียนออนไลน์เหมือนกันหมด ครูต้องมาเริ่มสอนกันใหม่ ที่เห็นชัดเจนคือเด็กลืมเนื้อหาที่เคยเรียนไปก่อนหน้านี้  เช่น ป.3 ป.4 เด็กก็ลืมสูตรคูณที่เคยท่อง จำไม่ได้แล้ววิธีคูณยังไง หารยังไง ดังนั้นทุกชั้นก็ต้องคอยไปสำรวจแล้วสอนเสริมให้เขากลับมาให้ได้ก่อน จากนั้นจึงจะค่อยเดินหน้าหลักสูตรเนื้อหาใหม่ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งงงและเรียนไม่รู้เรื่อง”

อีกด้านหนึ่งทางโรงเรียนได้พัฒนาเรื่องหลักสูตรอาชีพเสริม หลังจากได้ประชุมร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครอง ชุมชน โดยบริบทของโรงเรียนเป็นโรงเรียนขยายโอกาส นักเรียนจบชั้น ม.3 ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนต่อ แต่ออกไปเรียน กศน. รออายุครบเกณฑ์เพื่อจะได้ไปทำงานโรงงานหรือรับจ้างที่อื่น ดังนั้นโรงเรียนจึงจัดหลักสูตรปูพื้นฐานอาชีพให้เขาสามารถนำไปสร้างรายได้ช่วงรอยต่อ เช่น ทำอาหาร ทำขนม ช่างเสริมสวย ตัดผม

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้การศึกษาสามารถตอบโจทย์ชีวิตจริงของนักเรียนให้ได้นั่นเอง