“ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปิดโอกาสเด็กเรียนต่อมหาวิทยาลัย”

“ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปิดโอกาสเด็กเรียนต่อมหาวิทยาลัย”

ข้อมูลจาก World Inequality Database เผยผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ‘ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ที่ส่งผลต่อโอกาสเข้าถึงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา’ โดยข้อเท็จจริงชี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยของเด็กในประเทศฝรั่งเศส ตามระดับรายได้ผู้ปกครอง พบว่าครอบครัวผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเพียง 35% ขณะที่ครอบครัวที่ฐานะดีกว่ามีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยถึง 90%

งานวิจัยชิ้นนี้คือหนึ่งในหลักฐานสำคัญ ที่ยืนยันผลการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ‘รายได้ของครอบครัว’ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดระดับการศึกษา ขณะที่ระดับการศึกษามีผลต่อระดับรายได้ เมื่อมองในระยะยาว การขาดโอกาสทางการศึกษาจึงเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้วงจรความยากจนข้ามชั่วคนดำเนินต่อไป

ผู้วิจัยได้ประเมินถึงผลลัพธ์ของการจัดสรรงบประมาณต่อการศึกษาในระดับสูง รวมถึงเครื่องมือวิธีการ และนโยบายด้านภาษีซึ่งจะส่งผลต่อการกระจายรายได้ของครอบครัวที่มีรายได้น้อย เมื่อจำแนกสัดส่วนของบุคคลอายุระหว่าง 18-21 ปีในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาตามระดับรายได้ครอบครัว (ข้อมูลประเทศสหรัฐ ฯ อิงตัวเลขจาก Chetty et al.(2020) โดยข้อมูลของประเทศฝรั่งเศสเป็นผลรวมของรายได้ครัวเรือนก่อนหักภาษีของพ่อหรือแม่ในปี 2014 มาคำนวณ แล้วหาร 2 กรณีที่ครอบครัวนั้น ๆ มีรายได้จากทั้งพ่อและแม่ ส่วนข้อมูลของสหรัฐอเมริกา จะนำรายได้ก่อนหักภาษีทั้งหมดในครัวเรือนตั้งแต่ปี 1996-2000 มาบวกกัน โดยจะหารด้วย 10 หรือ 5 หากครอบครัวมีรายได้จากพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว

ผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อในระดับสูงของเด็กเยาวชนในครอบครัว ถือเป็นภาระค่อนข้างหนักสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จึงจำเป็นต้องได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐโดยตรง เช่นการลดหย่อนภาษี เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้เด็กเยาวชนจากครอบครัวกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน การลงทุนทรัพยากรมนุษย์ให้ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา จะเป็นการเปิดโอกาสให้ครอบครัวรายได้น้อยได้หลุดพ้นวงจรความยากจน และเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม

‘โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่แตกต่าง ส่งผลต่อโอกาสในการเข้าถึงทุนจากภาครัฐ’

นอกจากโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ต่างกันที่อัตรา 35% ต่อ 90% ระหว่างครอบครัวรายได้น้อยกับครอบครัวระดับบนในประเทศฝรั่งเศส รายได้ครัวเรือนยังส่งผลต่อโอกาสในการเข้าถึงหลักสูตรพิเศษ และการศึกษาในระดับปริญญาโท โดยผู้มาจากครอบครัวรายได้น้อยมีโอกาสเรียนต่อไม่ถึง 5% ขณะที่ครัวเรือนฐานะดีกว่ามีโอกาสเข้าถึงหลักสูตรพิเศษและปริญญาโทสูงถึง 40%

นอกจากนี้ ระดับรายได้ที่เหลื่อมล้ำยังมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพและระดับการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาระบุว่า ครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาที่ดีจะยิ่งมีรายได้สูง และส่งผลถึงความสามารถในการสนับสนุนบุตรหลานให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และระดับการศึกษาขั้นที่สูงกว่า ส่วนครอบครัวที่พ่อแม่การศึกษาน้อย รายได้จะยิ่งน้อยแปรผันตามกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาในระดับสูงของเด็กเยาวชนในครอบครัวตามไปด้วย

โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่แตกต่างกัน ยังส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมของค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐใช้ ในการศึกษา ระดับอุดมศึกษา โดยเมื่อเปรียบเทียบพบว่า 30 % ของผู้มีอายุระหว่าง 18-24 ปีที่มีรายได้น้อย จะได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระหว่าง 7, 000-8, 000 ยูโร ส่วนในครอบครัวผู้มีรายได้สูง จะได้ทุนสนับสนุนการศึกษาจากภาครัฐ 18, 000 ยูโร ซึ่งถ้ารวมกับอีก 9,000 ยูโร ที่เป็นค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง จะเท่ากับว่าเด็กจากครอบครัวรายได้สูงมีทุนสนับสนุนถึง 27, 000 ยูโร

ทั้งนี้ ความไม่เท่าเทียมกันในค่าใช้จ่ายของภาครัฐ มีความเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา มากกว่าการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของครอบครัวผู้เรียนอยู่ที่ราว 70%  

ผลวิจัยยังระบุถึงความเหลื่อมล้ำด้านเพศสภาพ โดยแม้ผู้หญิงจะได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้น แต่สัดส่วนของนักศึกษาหลักสูตรพิเศษและระดับปริญญาโทยังมีจำนวนน้อยกว่าหากเทียบกับเพศชาย ในครอบครัวรายได้ระดับบนสุดของสังคม มีสัดส่วนผู้หญิงอายุ 18-21 ปีเรียนในหลักสูตรพิเศษในอัตรา 1:2 เท่านั้น เมื่อเทียบกับนักศึกษาชาย และยิ่งน้อยกว่าในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น การใช้จ่ายของภาครัฐที่ลงทุนในการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับนักเรียนหญิง จึงมีน้อยกว่านักเรียนชายตามไปด้วย

ในแง่ของการคำนวณภาษีที่แต่ละครัวเรือนจ่าย เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา เมื่อเทียบระหว่างครอบครัวรายได้น้อยกับครอบครัวระดับชั้นบนสุดของสังคม พบว่าไม่มีผลต่อการลดหย่อนภาษี ส่วนการเพิ่มรายจ่ายสาธารณะอื่น ๆ เช่น ทุนการศึกษาตามความต้องการ ผลประโยชน์ที่อยู่อาศัย ผลประโยชน์การว่างงาน ผลประโยชน์ของครอบครัว หรือการหักภาษี ฯลฯ ก็ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบของการกระจายรายได้ กล่าวคือ แม้ผู้มีรายได้น้อยจะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนโดยภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้มีรายได้มากจะได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมากกว่า

ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเข้าไปในการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนทั้งหมด จำนวนเงินที่ได้สำหรับผู้ที่มาจากครอบครัวที่ผู้ปกครองมีรายได้สูง จะมากขึ้นถึง 2.5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มาจากครอบครัวที่ผู้ปกครองรายได้น้อย

แนะ ‘ทุนการศึกษา’ ช่วยเพิ่มสัดส่วนประชากรให้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง

ผู้วิจัยได้ประมวลข้อสรุปผลการศึกษาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ และคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาในระดับสูงของประเทศฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ที่สนใจ โดยเริ่มจากอ้างอิงฐานข้อมูล Fack & Grenet(2015) ซึ่งมีข้อพิสูจน์ว่า การเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียน สามารถเพิ่มสัดส่วนการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนที่ได้รับทุนได้เป็น 2 ใน  3 ของจำนวนประชากร ซึ่งครอบคลุมชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง

ต้องมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น เกี่ยวกับการแนะแนวทางด้านทางเลือกของการศึกษา เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าใช้จ่ายในแต่ละหลักสูตร, อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรในช่วงเวลา 1 ปี 5 ปี และ 10 ปี, อัตราเงินเดือน(จำแนกตามเพศ) และค่าใช้จ่ายสาธารณะของแต่ละหลักสูตร โดยทั้งหมดเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรรวมไว้ในแพลตฟอร์มส่วนกลางสำหรับการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาในฝรั่งเศส(Parcoursup) เพื่อให้นักเรียนมัธยมมีข้อมูลในการตัดสินใจที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของตนเอง

ต้องแก้ไขเกณฑ์การคัดสรรผู้เรียนของโครงการหลักสูตรการศึกษาพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้การรับสมัครมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และปัจจัยด้านเพศสภาพ

ต้องลดความเหลื่อมล้ำของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาระหว่างหลักสูตรสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันในการลงทุนด้านการศึกษาของภาครัฐ

ต้องมีการสนับสนุนทักษะอาชีพเพิ่มเติม ตั้งแต่ในการศึกษาก่อนระดับมหาวิทยาลัย โดยทักษะความรู้ด้านงานอาชีพ จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และช่วยเปิดโอกาสและทัศนคติ ให้ผู้เรียนมองเห็นทางเลือกหรือเส้นทางต่อยอดการศึกษาในระดับสูงต่อไปได้

เรียบเรียงจาก : World Inequality Database – UNEQUAL ACCESS TO HIGHER EDUCATION


*ผลสำรวจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) พบว่า โอกาสศึกษาต่อของเด็กเยาวชนจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยเด็กที่เกิดปีเดียวกันที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ(รายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 3, 000 บาทต่อคน/เดือน) จะมีคนที่ได้เรียนต่อชั้น ม.ต้น 80 % ถึงระดับมัธยมปลายได้เรียนต่อ 52.9% และได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าเพียง 5% หรือราว 8, 000 คน ต่อรุ่น ขณะที่หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของเด็กเยาวชนทั้งประเทศ อัตราของเยาวชนที่ได้เรียนในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า จะอยู่ที่ 30% หรือเท่ากับช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ห่างกันอยู่ราว 6-7 เท่า