“สร้างพื้นที่แห่งความหวัง” แหล่งเรียนรู้ของเด็กทุกชุมชนที่เข้าถึงง่ายและตอบโจทย์ความหลากหลาย จากการทำงานกว่า 10 ปีของ “ครูอ๋อมแอ๋ม”
โดย : ศิริพร พรมวงศ์ โครงการคลองเตยดีจัง

“สร้างพื้นที่แห่งความหวัง” แหล่งเรียนรู้ของเด็กทุกชุมชนที่เข้าถึงง่ายและตอบโจทย์ความหลากหลาย จากการทำงานกว่า 10 ปีของ “ครูอ๋อมแอ๋ม”

“พอเข้าไปในชุมชนจะเห็นเด็กทำบทบาทสมมติเล่นขายประเวณี มีแม่เล้าเป็นเด็ก 6 ขวบ หรือเด็กอยากเป็นโจร เด็กไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร แต่เขารับรู้จากวิถีชุมชนจากการเล่าของครอบครัวที่เด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว เรากำลังทำกิจกรรมวาดรูปกับเด็ก เขาเห็นพ่อถูกตำรวจจับขึ้นรถมอเตอร์ไซต์แต่เด็กกลับเฉย ๆ และระบายสีต่อ เพราะเป็นเรื่องเคยชินของพวกเขา”

และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาพเหล่านี้ก็เป็นภาพจำของใครหลายคนที่มีต่อคน 60,00 ชีวิตในพื้นที่ 2,000 ไร่ ณ ชุมชนคลองเตย พื้นที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แต่จะทำอย่างไรให้คุณภาพการศึกษาของเด็กในชุมชน ปลุกความหวังเพื่อให้ภาพจำเหล่านี้ทะลายลง

ระดมแนวคิดจาก 6 คนทำงานการศึกษา เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพมหานครให้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษาที่เข้าถึงเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ในเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายผ่านหัวข้อ  ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 

ครูอ๋อมแอ๋ม” ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง นำประสบการณ์ที่ทำงานกับเด็กในชุมชนแออัดมากว่า 10 ปี ที่เริ่มจากเด็กในช่วงประถมศึกษาตอนปลายจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น แต่พบว่าการปลูกฝังเด็กได้จริงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก แต่ในศูนย์เด็กเล็กของชุมชนกลับไม่มีบุคคลากรที่มีคุณภาพมาทำงาน ซึ่งครูอ๋อมแอ๋มเห็นว่าเด็กช่วงนี้ต้องเป็นส่ิงที่รัฐควรให้การสนับสนุนมากที่สุด

ส่วนเด็กที่มีความเปราะบางในชุมชนแม้จะเข้าถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่พวกเขามักพบปัญหาตั้งแต่ในครอบครัว เช่น มียายติดเตียง แม่ติดยา ทำให้พออายุ 15 ปี ก็ต้องออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจากการทำงานของตนกับเด็ก 100 กว่าคน พบว่ามีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้เด็กที่เรียนดีแค่ไหนหรืออยากเรียนต่อขนาดไหนก็ไม่สามารถทนต่อความยากจนนี้ได้ แม้กระทั่งหลักสูตรการศึกษาเองก็เป็นอุปสรรคเพราะมีสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ส่งเสริมทักษะที่พวกสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

“ตอนแรกเราแก้ปัญหาด้วยการผลักเด็กให้กลับเข้าไปในระบบ แต่สุดท้ายเด็กก็ออกมาอีกเพราะเขาไม่มีความสุข งานที่พวกเราทำก็คือ on the job learning หมายถึง เราทำเรื่องสร้างอาชีพรวมกับเรื่องการศึกษา เรามีหลักสูตรเรื่องการทำงานพร้อมกับวิชาที่จำเป็นต่อเด็ก” 

จึงทำให้เกิดแนวคิดการตั้งศูนย์การเรียนตาม พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 12 ที่พัฒนาจากโฮมสกูล มาก่อตั้งเป็นศูนย์การเรียนไร่ส้ม โดยมีเด็กชายขอบที่มาเรียนอยู่ประมาณ 130 คน โดยชุมชนเป็นผู้ระดมงบประมาณในการจัดการเรียนรู้ทั้งหมดเอง ซึ่งมีการเรียนรู้เหมือนกับโรงเรียนในระบบที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และได้วุฒิการศึกษาเหมือนกัน แต่วิธีคิด การสอนที่เน้นการทำกิจกรรมกับเด็ก และการวัดคุณภาพของเด็กจะแตกต่างออกไป 

“เรากำลังจัดศูนย์การเรียน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 12 ที่มีโฮมสกูลและศูนย์การเรียนโดยชุมชนเป็นคนจัดการ แต่ล่าสุดยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งที่มติ ครม. ออกนโยบายเรียบร้อยแล้ว  ทุกอย่างพร้อมออกวุฒิการศึกษาได้และถูกรับรอง แต่ไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐ”

“เราตอบคำถามเด็กไม่ได้ว่าทำไมสนามบาสของเขาถึงสำคัญน้อยกว่าเสาโฆษณา”

แม้มีความพยายามของประชาชนในชุนชนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนของเขาเอง โดยการขอพื้นที่รกร้างในกทม.มาใช้ แต่มักถูกปฏิเสธ แม้กระทั่งสนามบาสในชุมชนคลองเตยก็ถูกยุบไป 1 แห่งเพื่อเป็นที่ตั้งเสาโฆษณา เพราะฉะนั้นการที่เด็กไม่มีพื้นที่เขาก็สร้างพื้นที่ตนเองอย่างร้านเกม หรือรวมตัวหลังชุมชนต้มน้ำกระท่อม 

ข้อเสนอของครูอ๋อมแอ๋มคือรัฐต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็ก โดยต้องให้เด็กมีพื้นที่เหล่านี้ที่เข้าถึงได้ง่ายในทุกชุมชน ทั้งนี้รัฐเองควรดึงทุกภาคส่วนมาทำงานในพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับประชาชน ภาคเอกชน และสนับสนุนในด้านงบประมาณ

ครูอ๋อมแอ๋มทิ้งท้ายข้อเสนอที่สำคัญข้อหนึ่งที่นำไปสู่การปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั่งคือบทบาทของภาครัฐ ที่ต้องลดอำนาจในการตัดสินใจมาให้กับชุมชน และเพิ่มบทบาทในการเป็นตัวกลางดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน 

“รัฐควรจะเล็กและไม่ต้องทำเองแต่มีกระบวนสร้างความร่วมมือกับประชาชน และเป็นเจ้าภาพในการจัดหางบประมาณมาเพื่อการทำงานของภาคประชาชนด้วย รัฐต้องลดระบบโครงสร้างที่จับผิด ลดอำนาจของผู้บริหารมาให้ครู ลดอำนาจของครูมาให้นักเรียน เพิ่มอำนาจให้ประชาชนทำงานร่วมกัน”