ระดมแนวคิดจาก 6 คนทำงานการศึกษา เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพมหานครให้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษาที่เข้าถึงเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ในเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายผ่านหัวข้อ กรุงเทพ : เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565
เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สะท้อนปัญหาพื้นที่การเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานที่ต้องรับผิดชอบแผนงานการส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้หรือ Learning Space ที่ลงพื้นที่สำรวจทั่วทั้งประเทศจำนวน 66 พื้นที่ ใน 24 จังหวัด ทำให้พบสภาพปัญหาในเด็กทั้งภาวะโภชนาการ, พัฒนาการ, การเรียนรู้ และการเลี้ยงดู เช่น 85% ของเด็กที่แม้เข้าถึงสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย แต่ไม่มีหนังสือนิทานหรือของเล่น จนทำให้พบเด็กที่มีปัญหาอ่านออกเขียนได้ หรือกว่า 50% ที่พบการใช้ความรุนแรงในครอบครัวจากทุกช่วงอายุ
“เราเรียกร้องกับทางกทม.มากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อขอพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นพื้นที่ลานกิจกรรม เพื่อเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กในกรุงเทพฯ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุน และจะเห็นได้ว่าพื้นที่การเรียนรู้ในกรุงเทพฯ อยู่ห่างไกลจากชุมชน ต้องเสียงเงินทั้งในเรื่องการเดินทางและค่าบริการ อย่างสวนรถไฟแม้เด็กไม่ต้องเสียเงินค่าเข้ามาก แต่กลับเก็บเงินพ่อแม่เพิ่มขึ้น ทำให้เด็กยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้” เชษฐากล่าว
พื้นที่เรียนรู้ที่มีคุณภาพมีความจำเป็นต่อเด็กในชุมชน ที่เน้นการมีเด็กเป็นศูนย์กลาง มีการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำ การเสริมสร้างประสบการณ์ ทำให้เป็นพื้นที่สร้างความสุข สร้างโอกาส อบอุ่น และปลอดภัย แต่สำหรับกรุงเทพฯ แม้พบว่ามีพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายแต่บางส่วนไม่เหมาะสมตามช่วงวัย เช่น เด็กเล็กในชุมชนอยากจะเข้าไปเล่นในลานกีฬา แต่มีเด็กโตหรือผู้ใหญ่ใช้พื้นที่อยู่
“เด็กไทยเกิดน้อยลง 500,000 ต้น ๆ ทำให้ประชากรวัยแรงงานลดลง ผู้สูงวัยก็จะเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น และยังมีปัญหาซุกใต้พรม เช่น ศูนย์ย่ายายที่เลี้ยงเด็กกันแค่ 4-5 คนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ตามแฟลตเอื้ออาทร ก็อยู่ในห้องเล็ก ๆ มีอาสาสมัครมาดูแล เลี้ยงดูกันแบบตามมีตามเกิดตามศักยภาพเงินทองที่มีอยู่” เชษฐา ย้ำสภาพปัญหาที่ทำให้เห็นภาพมากขึ้น
บริบทข้างต้นทำให้เห็นว่าพื้นที่การเรียนรู้ของกรุงเทพฯ ที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ นั้น มีสภาพปัญหาและข้อจำกัด 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
ส่วนที่ 1 พื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่หลักๆส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพอยู่ในเมืองและเข้าถึงยาก แล้วก็ไม่กระจายตัวพื้นที่ลงไปในชุมชนต่างๆ รวมทั้งพื้นที่การเรียนรู้ไม่ตอบโจทย์แต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน
ส่วนที่ 2 กระบวนการ ที่ขาดแกนนำในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม, ขาดกระบวนการที่จะนำไปสู่ทักษะที่หลากหลายของทั้งตัวเด็ก ผู้ปกครองและต่อชุมชน, ขาดการเห็นปัญหาแบบองค์รวมว่าจริงๆแล้ววิธีการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร และขาดการบูรณาการในพื้นที่
ส่วนที่ 3 รูปแบบและกิจกรรม ที่ยังไม่เน้นการสัมพันธ์ของผู้เรียน, ยังไม่เห็นความหลากหลายที่สามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน,ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการและ trend สำคัญของยุคนี้ และขาดการบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น ศิลปะ เทคโนโลยี การสื่อสารเพื่อให้เกิดเป็น NFT
ปัญหาทั้ง 3 ส่วนจึงทำให้เกิดแนวคิดนโยบาย Smart City หรือปลุกพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ที่จะตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ทั้งเด็ก เยาวชน และครอบครัวทั่วกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนชุมชนให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์ และสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มรวมความรู้ ความร่วมมือกันของคณะทำงานภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะทำได้จริงเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กได้เสนอแนวคิดไว้ดังนี้
ด้านกายภาพ ทำให้พื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์จะต้องดึงดูดความสนใจ ต้องมีรูปแบบที่หลากหลายเข้าถึงได้ง่าย และเน้นการกระตุ้นจินตนาการของเด็ก โดยสร้างพื้นที่กายภาพร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ปรับสภาพแวดล้อม เอื้อต่อการเรียนรู้ ใช้ศิลปะวัฒนธรรมหรือการท่องเที่ยวมาผสาน เอาโครงการดี ๆ ที่มีอยู่เดิมมาสานต่อ และยกระดับพื้นที่เรียนรู้หลายรูปแบบ
ด้านกระบวนการ เปลี่ยนเยาวชนหรือคนในชุมชน เป็นนักสร้างการเรียนรู้หรือ Play Worker เอื้อต่อการเรียนรู้แต่ละช่วงวัย จนกลายเป็นอาชีพในชุมชน
แก้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ Platform เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน เพราะถ้า Eco System เกิดขึ้น เยาวชนจะลุกขึ้นมาเป็นผู้สร้างสรรค์ พัฒนาเปลี่ยนแปลงชุมชน, ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้น มีพื้นที่สานสายใยระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ และชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีความเป็นเจ้าของและร่วมกันออกแบบสร้างสรรค์ ชุมชน มีรายได้สร้างเศรษฐกิจให้กับครัวเรือน
สร้างคณะทำงานร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงาน กทม. เอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ที่ขึ้นตรงกับผู้ว่าและปฏิบัติงานได้จริง
“เพียง 50 เขต 50 พื้นที่การเรียนรู้ ขอมีพื้นที่เรียนรู้ที่มีคุณภาพเขตพื้นที่ละ 1 แห่งก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดมีในทุกชุมชน” ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวทิ้งท้าย