เรียนฟรี เรียนดีอย่างมีคุณภาพ เป็นคำที่คนไทยได้ยินกันมาหลายรุ่น แต่มิอาจยืนยันได้เลยว่าคำกล่าวนั้น เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็ได้กล่าวไว้อีกว่า
กำหนดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
ก็คล้ายว่าจะส่งผลไปในทางตรงกันข้าม เพราะยังมีเด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่ทุกปี ทำให้ในงานเสวนา ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส จึงจัดขึ้นเพื่อระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565
เวทีที่ดึงตัวแทนและผู้สมัครชิงชัยตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร มาระดมข้อเสนอ แนวคิดและไอเดีย การแก้ไขการศึกษาของเมืองหลวง ที่นอกจากจะช่วยให้เกิดความคิดใหม่ ๆ แล้ว ยังได้ร่วมหาทางออกได้อย่างตรงจุด จากผู้ที่คลุกคลีในแวดวงการศึกษา
“งบการศึกษาของกรุงเทพมหานครปี 62 อยู่ที่ 1,249 ล้านบาท ปี 64 อยู่ที่ 900 ล้านบาท ปี 65 เหลือที่ 780 ล้าน งบประมาณอันดับหนึ่งลงไปกับงานโยธาและระบายน้ำ แต่การศึกษานั้น กลับต่างกันถึงสิบเท่า”
ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ตัวแทนจากทีมนโยบายของผู้สมัครเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าผู้แข็งแกร่งอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ขยายภาพกว้างให้เห็นในงานเสวนา ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา โดยสิ่งที่ ดร.ยุ้ยกล่าวมานั้น ก็ทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้เชื่ออย่างเต็มร้อยว่าเป็นความจริง
“ห้องแอร์ คอมพิวเตอร์ ไม่สามารถสู้ความเป็นครูได้ ถ้าไม่มีความเป็นครูอยู่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร โจทย์ของความเหลื่อมล้ำ ต้องมองจากข้างล่างขึ้นบน ทำอย่างไร เราถึงจะมีคนที่เป็นครู ที่สามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง”
คำถามใหญ่ของ ดร.ยุ้ย ยิ่งได้ขยายภาพให้เห็นอีกว่า ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้กรุงเทพมหานคร จะมีอำนาจในการกำหนดตัวเองทุกอย่าง แต่ระบบการศึกษาของเมืองหลวง กลับถูกละเลย ไม่มีความสำคัญเท่ากับการก่อสร้าง ซ่อมแซมถนนและทางเท้า ดังที่คนที่อาศัยในมหานครนี้ สามารถพบเจอได้ทุกสัปดาห์ โดย ดร.ยุ้ยยังได้ยกตัวอย่างบ้านรับเลี้ยงเด็ก ที่มีศักยภาพในการดูแลครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยผลักดันให้เป็นแรงหนุนสำคัญ ในการทำให้เด็กไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา
“เอ่ยถึงครอบครัว เวลาไม่มีกิน มันยากที่จะคิดว่าจะให้เรียนหรือหาเงินก่อน ถ้ามีลูกแล้วลำบาก ก็ต้องคิดว่าเมืองจะตอบโจทย์ผู้คนอย่างไร ถ้าเรามีสถานรับดูแลเด็กแบบบ้านครูส้ม ที่ค่าใช้จ่ายตามกำลังทรัพย์ ดูแลเด็กและสนับสนุนให้คนที่หลุดจากระบบกลับไปเรียน ถ้าเรามีแบบนี้เยอะ ๆ มันจะช่วยได้ดีมาก”
ความหลากหลายทางพื้นที่ ก็ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาตลอด และแม้กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีพื้นที่เพียง 1,500 กว่าตารางกิโลเมตร แต่ละเขต ก็มีอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันไป และ ดร.ยุ้ย ก็ได้ชูเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายที่จะต้องผลักดัน
“ชุมชนคือโลกของพวกเด็ก ๆ ตื่นมาก็ต้องเจอโลกใบนั้นแล้ว ถ้าชุมชนมันแย่ มันก็จะหล่อหลอมให้เขาโตมาแบบนั้น ถ้าเราปรับชุมชนต่าง ๆ ให้มีสถานที่ที่ดี เช่น ห้องสมุด ให้เด็กไปนั่งอ่านหนังสือ เล่นเกมออนไลน์ หรือทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ มันจะช่วยทำให้เด็กเติบโตมาดี” ดร.ยุ้ยกล่าว
ถือเป็นการชูโรงจากทีมนโยบายของนักการเมืองผู้แข็งแกร่งและทรงพลัง ที่สามารถตั้งคำถามกับปัญหา พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขออกมาให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ทำให้ศึกเลือกตั้งผู้ว่านครหลวงครั้งนี้ มีความคึกคักผสมกับความหวัง ที่ประชาชนจะได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ ที่พัฒนามากขึ้น โดยเริ่มจากเมืองนี้เป็นที่แรก ก่อนที่จะกระจายไปยังเมืองอื่น ๆ
แต่กระนั้น โจทย์เรื่องการแก้ไขระบบการศึกษา จะไม่ได้จบลงที่นโยบายของผู้ชนะจะถูกนำไปปรับใช้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนได้มารวมตัว ชี้ถึงปัญหาและร่วมแก้ไขให้ดีขึ้นไปด้วยกัน
“โจทย์ของเราไม่ใช่การทำเอกสารให้สวย แต่โจทย์เราคือทำอย่างไร ให้เด็กพัฒนาตัวเองได้ดี ถ้าโรงเรียนดี เด็กก็จะดีตาม และโรงเรียนในทุกเขตจะต้องโดดเด่นไปตามพื้นที่นั้น ๆ โรงเรียนต้องเป็นอนาคต” ดร.ยุ้ยกล่าวทิ้งท้าย