หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกล่าสุด ที่ยังคงมีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้สถานการณ์ในชุมชนหลายแห่งที่มีประชากรจำนวนมากอาศัยร่วมกันอยู่ในพื้นที่แออัดมีความน่าเป็นห่วงในหลายด้าน โดย ‘ชุมชนคลองเตย’ นับว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีจำนวนผู้อาศัยมากกว่า 1 แสนคน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ความเป็นไปได้ของการระบาดของเชื้อ COVID-19 ดำเนินอย่างรวดเร็วแล้ว ความน่าเป็นห่วงที่สำคัญไม่แพ้กันคือเมื่อประชาชนทุกคนจำเป็นต้องกักตัวอยู่กับบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงตามมาตรการของรัฐ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยราว 18,000 ครัวเรือน ที่กว่า 70% มีอาชีพรับจ้างรายวันต้องขาดรายได้ คนในชุมชนเกือบทั้งหมดจึงตกอยู่ในภาวะรอความช่วยเหลือทั้งจากรัฐและหน่วยงานเอกชนต่างๆ
ในยามที่คนทั้งสังคมกำลังร่วมต่อสู้กับวิกฤตไปพร้อมกันนี้ มีน้องๆ เยาวชนนอกระบบในชุมชนคลองเตยกลุ่มหนึ่ง ได้อาสาเข้ามาทำงานเพื่อดูแลช่วยเหลือคนในชุมชน ในการเฝ้าระวังเรื่องสาธารณสุข และเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการสิ่งของต่างๆ ทั้งน้ำดื่ม อาหาร ยา หรือสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ให้กระจายไปถึงมือของสมาชิกชุมชนอย่างทั่วถึง รวมถึงยังมีเยาวชนในชุมชนที่พร้อมมอบรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อร่วมสมทบทุน ด้วยหวังให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคลี่คลายในเร็ววัน
เมื่อ ‘ได้รับ’ แล้วเราต้อง ‘ให้’
‘เปรม’ ชลนที เฝือกระโทก อายุ 24 ปี หนึ่งในเยาวชนที่ได้รับโอกาสการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และ มูลนิธิรวมน้ำใจ(คลองเตย)ในการทำกิจกรรมที่นำน้องๆ ในพื้นที่มาเรียนรู้ ฟื้นฟูทัศนคติ และนำประสบการณ์ชีวิตที่ผ่าน มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและน้องๆ รุ่นต่อไป จนวันนี้ที่เปรมนำทุนตั้งต้นซึ่งได้รับจากโครงการ มาต่อยอดด้วยการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลากัด และพร้อมจะส่งต่อและแบ่งปันกลับไปยังชุมชนที่เติบโตขึ้นมา
เปรมกล่าวว่า คลองเตยในตอนนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีคนที่ต้องตกเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ขณะที่ความช่วยเหลือ การตรวจคัดกรอง การรักษา หรือการนำรถพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือผู้คนยังทำได้ไม่ทั่วถึง
“ผมทราบดีว่าการนำความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง เพราะเป็นชุมชนที่มีคนอยู่กันเยอะ และการเข้าไปให้ถึงข้างในจริงๆ ทำได้ไม่ง่าย สิ่งที่เห็นทำให้เราคิดว่าที่นี่คือบ้านของเรา ชุมชนของเรา เราต้องทำทุกอย่างท่าที่ทำได้ ดังนั้นเท่าที่ผมพอมีกำลังทรัพย์อยู่บ้าง เลยตั้งใจเอาเงินที่ได้ส่วนหนึ่งจากการพาะพันธุ์ปลากัดไปซื้อสิ่งของ ซื้ออาหาร ซื้อยา ไปร่วมบริจาคให้พี่น้องในชุมชน ในโครงการ ‘คลองเตยไม่ทิ้งกัน’ ที่ศูนย์พักคอยวัดสะพาน
“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดเสมอคือเมื่อ ‘ได้รับ’ แล้วเราต้อง ‘ให้’ ผมได้รับโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิต จากการเข้าโครงการ ทำให้มีความรู้ ได้ปรับความคิดในการดำเนินชีวิต และได้ทุนตั้งต้นมาต่อยอดเป็นอาชีพ ซึ่งช่วยให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้ที่ผมค่อนข้างเกเร แต่พอได้มาเลี้ยงปลา ก็รู้สึกว่ามีกิจกรรมที่ทำให้ใช้เวลาเป็นประโยชน์มากกว่าเมื่อก่อน ส่วนสำหรับตอนนี้ สิ่งที่ผมคาดหวังคือขอแค่ให้สถานการณ์มันดีขึ้น ให้ชุมชนเราได้รับความช่วยเหลือเต็มที่ แค่นั้นผมก็ดีใจแล้วครับ” เปรมกล่าว
“ถ้าชุมชนดีขึ้น คนติดเชื้อน้อยลง ครอบครัวเราก็จะปลอดภัยไปด้วย”
ทางด้าน ‘น้องหมอก’ วิทวัส กรสวัสดิ์ อายุ 15 ปี หนึ่งในกลุ่มเยาวชนอาสาพื้นที่ชุมชนคลองเตย เผยว่าสถานการณ์ในชุมชนตอนนี้ได้มีการจัดทำสถานที่กักตัวชั่วคราว โดยตั้งขึ้นที่วัดสะพาน เพื่อให้เป็นที่รองรับผู้ติดเชื้อก่อนส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาล โดยน้องหมอกระบุว่า การแยกผู้ติดเชื้อเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดความกังวลและความเสี่ยงของคนในชุมชนได้มากยิ่งขึ้น
เวลาที่มีคนติดเชื้อแล้วยังอยู่ในชุมชนมันสร้างความกังวลให้ทั้งตัวผู้ป่วยและคนในชุมชนไปพร้อมกัน ขณะที่ทุกคนต้องอยู่ด้วยความเครียด การมีจุดพักสำหรับผู้ป่วยถือว่าช่วยได้มากทั้งในเรื่องการแพร่ระบาดและสภาพจิตใจของทุกคน ส่วนงานที่เข้าไปทำตอนนี้คือช่วยจัดการเรื่องของกินของใช้ น้ำดื่ม เจลแอลกอฮอล์ ยา และสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับบริจาคเข้ามา ให้ทั้งคนที่ติดเชื้อและคนที่กักตัวในชุมชนได้รับ
“ผมเป็นคนในพื้นที่ มาทำงานช่วยครูสอนดนตรีและทำกิจกรรมต่าง ๆ กับน้อง ๆ พอเกิดการระบาดก็ตัดสินใจว่าจะต้องทำในสิ่งที่จำเป็น คือช่วยคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด จุดที่ผมอยู่มีพวกเรา 4-5 คนมาช่วยกัน ยอมรับว่ามีความกังวลบ้างแต่ไม่ได้กลัวกับการติดเชื้อ เพราะเรารู้ว่าพอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเต็มที่ ที่อาสาเข้ามาทำเพราะว่าอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น ให้มีคนติดเชื้อน้อยลง และคนที่ติดอยู่ในชุมชนไม่ต้องลำบากมากไปกว่านี้
“กับสิ่งที่ทำผมรู้ว่ามันค่อนข้างมีความเสี่ยง แต่ผมมองว่าคนในชุมชนเขาก็เป็นเหมือนครอบครัวของเรา ถ้าแม่หรือยายผมต้องมาอยู่อย่างนี้บ้าง ผมก็คงอยากให้เขาได้รับการช่วยเหลือดูแลที่ดี เลยอยากทำให้ดีที่สุด เพราะคนที่ติดเชื้อก็เหมือนญาติ เป็นคนรู้จักของเราทั้งนั้น สุดท้ายผมคิดว่าผลที่ได้กลับมาก็ตกอยู่ที่เราเอง ถ้าทุกคนดีขึ้น ติดเชื้อน้อยลง ผมและครอบครัวก็จะปลอดภัยไปด้วย” น้องหมอกกล่าว
ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น
‘น้องดั๋ง’ พรพรรณ บุญจันทร์ อายุ 16 ปี อีกหนึ่งเยาวชนจิตอาสาชุมชนคลองเตย กล่าวถึงสถานการณ์ในชุมชนพัฒนาใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุมชนคลองเตยว่า การที่บ้านหลังหนึ่งมีผู้อาศัยหลายคน เมื่อใครคนใดคนหนึ่งติดเชื้อ การแพร่ระบาดก็ไปต่อได้ไวมาก
“หลายครอบครัวในชุมชนมีลูกเยอะ อยู่กันในพื้นที่เล็กๆ พอมีคนติดเชื้อจากข้างนอกเข้ามาก็จะติดกันไปหมด เพราะไม่มีที่ให้ใครแยกตัวได้เลย”
น้องดั๋งกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือเข้ามาช่วยชุมชนในเรื่องการรับของบริจาค แล้วแพคส่งเข้าไปให้คนที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน เพราะหลายคนที่มีคนในครอบครัวติดเชื้อและกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงมีจำนวนเยอะมาก ซึ่งพวกเขาขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งจำเป็นต่างๆ ทั้งยังไม่สามารถออกจากพื้นที่เพื่อไปทำงานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่คนในชุมชนจะต้องมาช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปให้ได้
“หนูอาสาเข้ามาทำงานนี้เพราะอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นได้บ้าง เพราะว่าสถานการณ์ทุกด้านของบ้านเมืองเราไม่ดีเลย ยิ่งมาเจอวิกฤตไวรัสโคโรนาซ้ำอีกระลอก คนในชุมชนก็ยิ่งเดือดร้อน ไปทำงานก็ไม่ได้เพราะเขากังวลว่าจะทำให้คนอื่นๆ ต้องเสี่ยงไปด้วย สิ่งที่หนูเห็นจากงานจิตอาสาครั้งนี้คือ คนในชุมชนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในเรื่องความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย ตอนนี้คือคนทั้งชุมชนไม่มีใครออกไปทำงานได้ ต้องกักตัวอยู่บ้าน ไม่มีรายได้ ไม่มีอาหาร ไม่มีสิ่งของจำเป็นใดๆ เลย หนูคิดว่าทุกคนพยายามมาก ๆ แล้วที่จะให้ความร่วมมือและไม่กระจายความเสี่ยงออกไปนอกชุมชน ทั้งที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรหลังจากนี้ หากว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น” น้องดั๋งกล่าว
ยิ่งสถานการณ์วิกฤต ก็ยิ่งเผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ศิริพร พรมวงศ์ หรือ ‘ครูแอ๋ม’ ผู้รับผิดชอบโครงการ ‘Freeform Learning Project’ หรือ ‘โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย’ ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างทางสังคมที่หยั่งลึกยาวนาน ได้เผยตัวให้เห็นเด่นชัดขึ้นหลังเกิดวิกฤตจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ชุมชนคลองเตยซึ่งเป็นพื้นที่พักอาศัยของกลุ่มประชากรที่ส่วนใหญ่มีรายได้วันต่อวัน จึงกลายเป็นคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่ความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของเชื้อ เนื่องจากหลายครอบครัวต้องอาศัยรวมกันในพื้นที่จำกัด การขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมไปถึงการขาดรายได้จากการหยุดงานเพื่อกักตัว
“ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดใหญ่ ความที่คนในชุมชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอนทำให้พวกเขาต้องทุ่มเทหารายได้เลี้ยงครอบครัวแม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาหลายครอบครัวต้องรับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐออกมาเพื่อรับมือกับปัญหาการระบาดเช่นการล็อคดาวน์ หรือการจำกัดจำนวนคนต่อพื้นที่ ทำให้รายได้ของพวกเขาลดน้อยลง หรือบางคนต้องตกงานเป็นเวลานาน”
“นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในตอนนี้ชุมชนเกิดปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ค่อนข้างรุนแรง โดยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นราว 40-50 คนต่อวัน ส่วนคนที่ยังไม่ติดเชื้อก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่สามารถออกจากชุมชนไปทำงานได้ ตอนนี้จึงมีทั้งปัญหาในเรื่องของการดูแลผู้ติดเชื้อ และการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคในครอบครัวส่วนใหญ่”
เยาวชนอาสาพร้อมทุ่มเทช่วยเหลือชุมชน
ครูแอ๋มกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ทุกคนในชุมชนทำได้แค่ตั้งรับ ยังมีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมเข้ามาทำหน้าที่จิตอาสาช่วยเหลือคนในชุมชนเท่าที่กำลังของพวกเขาจะทำได้ โดยร่วมมือกับแกนนำชุมชนในการบริหารจัดการสิ่งของบริจาค เพื่อให้แต่ละครอบครัวได้รับสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
น้องๆ กลุ่มนี้คือผลผลิตจากโครงการ ‘โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย’ โดย ‘กลุ่มคลองเตยดีจัง’ ได้ทำงานร่วมกับ กสศ. ในการใช้ศิลปะและดนตรีเข้ามาพัฒนาเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ จนเมื่อเยาวชนกลุ่มนี้เติบโตขึ้น จึงเกิดเป็นกลุ่มอาสาสมัครสอนดนตรีให้กับน้องๆ รุ่นถัดไป และกำลังจะก้าวไปสู่กระบวนการฝึกและสร้างอาชีพในชุมชน จนมาเกิดวิกฤตจากไวรัสโคโรนาขึ้น โครงการจึงต้องพักไว้ ขณะที่เยาวชนกลุ่มนี้ได้อาสาเข้ามาช่วยงานชุมชนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“ตั้งแต่เกิดการระบาดรอบนี้ ทีมงานของโครงการเราได้เข้ามาช่วยเรื่องเซ็ตระบบดูแลชุมชน ส่งตัวผู้ติดเชื้อ จัดหาสิ่งต่างๆ ให้คนในชุมชน โดยทำงานร่วมกับ กทม. เราก็ได้เด็กกลุ่มนี้ที่อยู่กับโครงการมาตั้งแต่แรกที่เขาอาสาเข้ามาช่วยเรื่องแพคถุงยังชีพ จัดสรรของบริจาคให้กระจายไปถึงคนทั่วชุมชน
“เด็กๆ กลุ่มนี้เขามีใจอยากเข้ามาช่วย เขาอยากดูแลชุมชนของเขาเท่าที่ทำได้ แต่ด้วยสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ทางเราก็พยายามให้เขาได้ทำงานในพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย ยังไม่มีการแพร่ระบาดมากเท่าไหร่ และให้คอยเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายของกลุ่มเสี่ยง แต่พื้นฐานคือทุกคนต้องคอยดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ครูแอ๋มกล่าวว่า เยาวชนกลุ่มนี้เป็นคนในชุมชนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการ จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านโดยเฉพาะสิ่งที่สะท้อนออกมาในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ว่าพวกเขามีทั้งความรับผิดชอบ มีสำนึกต่อสังคมในด้านการทำงานจิตอาสา มีความเป็นผู้นำ ซึ่งหลายเรื่องสามารถจัดการงานแทนผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่อยู่ในวัยแค่ 15-17 ปี ทำให้การบริหารจัดการเรื่องการส่งของและการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนในชุมชนได้
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค