กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘โอกาส Open House: สร้างโอกาสทางการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่’ ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2566 เปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมภายใต้การดูแลของกรมพินิจฯ ได้แสดงออกถึงศักยภาพ ความสามารถ และความสนใจตามที่ตนเองถนัด พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่า การหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูบำบัดเด็กและเยาวชนให้กลับคืนสู่สังคมและไม่หวนกลับมากระทำผิดซํ้า โดยได้รับเกียรติจาก พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจฯ และศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ร่วมกล่าวเปิดงาน
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมร้านไอศกรีม ‘โอกาสรวมมิตร’ เติมโอกาสชีวิต กิจกรรมการแข่งขันทักษะดนตรีรอบชิงชนะเลิศ ‘DJOP Music Contest 2023: ลานเปล่งแสงแสดงดนตรี’ กิจกรรมสาธิตการทำอาหารและการชงกาแฟจากเชฟและบาริสตามืออาชีพ กิจกรรม Movie Event ‘เรียนผ่านหนัง’ ชวนดูหนังตั้งวงคุยกับ กสศ. และ doc club และกิจกรรมที่สำคัญที่สุดคือ ห้องเปิดโอกาส Talk Event ‘Wayfinder: เส้นทาง-โอกาส-จุดเปลี่ยน’ กับแขกรับเชิญคนพิเศษ ผู้เคยกระทำผิดและอยู่ในกระบวนการยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ให้โอกาสเด็กและเยาวชน ร่วมแชร์ประสบการณ์การได้รับโอกาสจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ เยาวชนในกระบวนยุติธรรม เพื่อเปิดโอกาสและเส้นทางชีวิตใหม่โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หรั่ง พระนคร : จาก ‘นักโทษชั้นเลว’ ผู้ได้รับโอกาสจนเห็นคุณค่าในตัวเอง
การเสวนาเริ่มต้นจากการบอกเล่าเรื่องราวที่ตรงไปตรงมาของ อัครินทร์ ปูรี หรือ ‘หรั่ง พระนคร’ ช่างทำกีตาร์มือฉกาจ ที่มีอดีตจากการเป็นนักโทษชั้นเลวที่เคยมองว่า ‘คุกคือบ้าน’ เพราะเขากระทำผิดซํ้าซากจนต้องติดคุก 9 ครั้ง และกลายเป็น ‘ขาใหญ่’ โดยเป็นการเข้าสถานพินิจฯ 7 ครั้ง และเรือนจำ 2 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด
เวทีวันนี้เป็นการพูดถึงโอกาสและเส้นทางชีวิต หรั่งจึงขอยกคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งในเรือนจำว่า “โอกาสเปรียบเสมือนไอศครีม ถ้าไม่รีบกินเดี๋ยวมันละลาย”
สำหรับเขาแล้ว โอกาสเพียงอย่างเดียวคงไม่รอด โอกาสต้องมาพร้อมกับกำลังใจ เปลี่ยนตัวเองทั้งความคิดและจิตใจไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นการได้รับอิสรภาพอาจไม่มีความหมาย ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เร้าอยู่จะนำพาพวกเขากลับไปยังเรือนจำอีกครั้ง ดังนั้น หากโอกาสที่เกิดขึ้นในศูนย์ฝึกหรือสถานพินิจฯ ไม่สามารถที่จะช่วยเขาได้ ทางเดียวที่เขาจะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้คือ โอกาสจากคนข้างนอก
หรั่งบอกเล่าประสบการณ์ว่า เขาเคยสิ้นหวังภายในเรือนจำ ถึงขนาดเขียนจดหมายถึงญาติว่าจะไม่กลับบ้านแล้ว เนื่องด้วยเขาเป็นขาใหญ่ในเรือนจำ เขาจึงถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในเรือนจำ เพราะเจ้าหน้าที่กลัวว่าเขาจะก่อเรื่อง ถูกตีตราไปแล้วว่าเลว ซึ่งการถูกปิดกั้นเช่นนี้จะทำให้ ‘สมองตาย’ ไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่เลย
การกระทำผิดเปรียบเสมือนการแสดงตัวตนและสร้างการยอมรับแบบหนึ่ง “แต่การแสดงตัวตนในด้านดีนั้นมันเห็นช้า เขาจึงเลือกไปทำตัวตนในด้านไม่ดี สีดำมันเห็นเร็ว เพราะต้องการการยอมรับ” หรั่งกล่าว
ในท้ายที่สุด หรั่งหลุดออกจากวงโคจรเช่นนี้จากการได้รับโอกาสใหม่จาก ‘บ้านพระพร’ ที่สอนให้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตด้วยการฝึกฝนอาชีพ แต่การเปลี่ยนความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้เขารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง หรั่งได้กล่าวเน้นยํ้าว่า “ชีวิตคนจะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อเราได้ให้โอกาสเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
โอกาสต้องเริ่มจากตัวเรา และหลายครั้งมันเริ่มจากโอกาสเพียงเล็กๆ ที่จะไปจุดไฟในตัวของเขาให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง
จิตติมา กระสานติ์กุล : เรื่องเล่า ‘แง่งาม’ ของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม
จิตติมา กระสานติ์กุล หรือ ‘ครูยอด’ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี แม่คนที่ 2 ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก ได้แบ่งปันเรื่องเล่าจากประสบการณ์ 20 ปี ถึง ‘แง่งาม’ ของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเอง
“เราอาจคิดว่าเขากระทำผิดและยากที่ปรับปรุงแก้ไข แต่พวกเขาก็ได้แสดงความงดงามทางจิตใจของเขาออกมาอย่างไม่คาดคิด”
จิตติมาเล่าประสบการณ์สมัยที่อยู่ในบ้านเกิดของตนเองคือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ซอยข้างบ้านซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ค้ายาเสพติดเป็นจำนวนมากจนเป็นเรื่องปกติ กระทั่งจิตติมาได้เริ่มทำงานในตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติของสถานพินิจฯ ซึ่งต้องรับผิดชอบคดียาเสพติดของเด็กซอยข้างบ้าน จิตติมากล่าวว่า เธอเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่เด็กเป็น ทำให้พบว่าเด็กคนนี้เติบโตในครอบครัวยากจนครอบครัวใหญ่ที่ขายยาบ้า “หากคนหนึ่งนอน อีกคนจะลุกขึ้นมาขาย”
จนวันหนึ่งเด็กคนนี้ขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดที่หน้าบ้านของจิตติมา ได้กล่าวทักทายและช่วยงานที่ร้านขายของของครอบครัวจิตติมา จนพี่สาวของเธอที่เคยกลัว เกิดความเอ็นดูและผูกพันกับเด็กเหล่านี้
เรื่องเล่าเรื่องที่ 2 จิตติมาได้เล่าเรื่อง ‘ดอกปีบ’ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่จิตติมาทำงานอยู่ในสถานพินิจฯ ลำปาง ซึ่งมีเด็กชาวพม่าชื่อ ‘ฮัสซัน’ เก็บดอกปีบมาวางไว้ที่โต๊ะทำงานของเธอทุกวันในช่วงที่ดอกปีบบาน และฮัสซันก็ถูกปล่อยตัวไปพร้อมกับฤดูกาลของดอกปีบที่หมดลง แต่แล้ววันหนึ่งก็มีดอกปีบมาวางบนโต๊ะของเธออีกครั้ง ใจหนึ่งเธอก็ภาวนาขออย่าให้เป็นฮัสซันเลย จึงได้ไปสอบถามเจ้าหน้าที่รายอื่นว่าใครเป็นผู้เอามาไว้ จนได้คำตอบว่า เป็นเด็กชาวพม่าอีกคนที่ฮัสซันเคยบอกเขาไว้ว่า จิตติมานั้นชอบดอกปีบ
เรื่องที่ 3 คือ ‘ก้าวพลาด’ เรื่องราวของ ‘คิง’ นักเลงหัวไม้ที่ชอบเอาเท้าขยี้หน้าคู่อริ คิงมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่เขาคือคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งแม่เพื่อขายของที่ตลาดตอนตี 4 เป็นคนที่เรียกแทนตัวเองว่า ‘หนู’ กับผู้ใหญ่ที่สนิทและนอนหนุนตักแม่ตอนดูโทรทัศน์ แต่จิตติมาเกิดคำถามว่า ทำไมคิงถึงต้องเอาเท้าขยี้หน้าคู่อริตลอด จนได้คำตอบว่า คิงเลียนแบบพ่อ ตอนที่พ่อลงมือทำร้ายร่างกายแม่ด้วยการเอาเท้าเหยียบหน้า
เรื่องที่ 4 คือ ‘เข้มแข็ง’ เรื่องเล่าของ ‘ป๊อป’ เด็กเทคนิคฯ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากคดีทะเลาะวิวาทและพกพาอาวุธปืน แต่ครูนักจิตวิทยาพบว่า ป๊อปเป็น ‘เด็กจีเนียส’ ทั้งที่เขามีเกรดเฉลี่ยเพียง 1.9 เท่านั้น ซึ่งจิตติมาไม่เชื่อเมื่อทราบจากครูนักจิตวิทยา จากการสืบประวัติไปยังผู้ปกครองพบว่า แม่ของป๊อปมีอาการผิดปกติ ต่อมาแม่ของเขาได้รับการรักษา แต่ด้วยอาการทางจิตเวชทำให้ลูกชายของเธอซึ่งเป็นเด็กจีเนียสไม่เปล่งประกายส่องแสงออกมา
ด้วยเรื่องเล่าทั้งหมดนี้ มักจะนำมาสู่ข้อสรุปแบบเดิมๆ ว่าทำไมเด็กเหล่านี้ถึงก้าวพลาด เช่น ปัญหาครอบครัว การเลี้ยงดู ตัวเด็กเอง เป็นต้น จิตติมายํ้าว่า “หากเรามองในจุดที่ใช้ใจมอง ปัญหาของเด็กที่กระทำความผิด ก็คือปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคม ดังนั้นต้องให้โอกาสพวกเขาให้ได้เปล่งแสงออกมา ให้พวกเขามีที่ยืน”
พร้อมยํ้าว่า สิ่งที่จะทำให้พวกเขาเข้มแข็งคือ ‘โอกาส’ และนำข้อดีของเขามาพัฒนาต่อ ที่สำคัญจิตติมาชี้ว่า “action ต้องเท่ากับ reaction ถ้าครูอยากให้เด็กๆ อ่อนโยน ครูก็ต้องอ่อนโยนกับเด็กๆ ซึ่งหมายความว่าครูจะต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเขา”
นอกจากนี้ จิตติมายังได้ยกโมเดลของกรมพินิจฯ ขึ้นมาคือ Good Life Model หรือ GLM ที่ทางกรมพินิจฯ อยากให้เด็กๆ มีครอบครัวที่ดูแลพวกเขาได้ มีการศึกษา ที่อยู่อาศัย ชุมชนดี การประกอบอาชีพ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และมีสุขภาพจิตที่ดี แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้น จึงมีเพียง ‘โอกาสที่ดี’ ที่เราจะให้ได้ เพื่อให้พวกเขาเข้มแข็ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่ดี ซึ่งสุดท้ายแล้วสังคมจะต้องให้โอกาส
ร้อยตรีจิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต : โอกาสควรเป็นของทุกคน
ร้อยตรีจิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต นายทหารปฏิบัติการจิตวิทยา กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ได้แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้ก้าวพลาด จากการกระทำผิดร่วมกันมียาเสพติดให้โทษเป็นยาบ้า 218,000 เม็ด และเฮโรอีน 58 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการกระทำผิดร้ายแรงตอนอายุ 17 ปี 11 เดือน เพียงเพราะคิดว่าเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี ไม่ต้องเข้าเรือนจำ ซึ่งเป็นกฎหมายข้อเดียวที่เขารู้ และด้วยกฎหมายข้อเดียวข้อนี้ ทำให้เขาต้องเข้าสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน
ร.ต.จิรัฎฐ์ เล่าว่า ชีวิตในวัยเด็กของเขาขาดโอกาสหลายอย่าง ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ การเงิน และการศึกษา ด้วยความยากจนเขาจึงต้องออกจากระบบการศึกษาหลังจบชั้นมัธยมต้น และต้องทำงานหลังจากนั้น จนถูกเพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่าชักจูงไปในทางที่ผิด ขาดทักษะในการปฏิเสธและเกรงใจ เพราะความอยากได้อยากมี
อย่างไรก็ตาม เขาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเพียง 3 ปีเท่านั้น จากทั้งสิ้น 12 ปี เพราะได้รับโอกาสในระหว่างอยู่ที่ศูนย์ฝึกฯ ทำให้เขาได้พัก คิด ลุกขึ้นใหม่ จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จนทำให้เขาได้กลับมาเรียนต่ออีกครั้งจนถึงระดับปริญญาตรีระหว่างที่ยังใช้ชีวิตในศูนย์ฝึกฯ และจากรายงานความประพฤติ ทำให้ศาลตัดสินลดโทษการคุมขัง และสามารถสอบบรรจุรับราชการทหารได้ในที่สุด
ร.ต.จิรัฎฐ์ เน้นยํ้าถึงการมองเห็นคุณค่าในตนเองว่า “โอกาสต่างๆ ที่เราได้รับมา ทำให้ผมมีวันนี้นะครับ ไม่ใช่เพียงแค่โอกาสจากทุกคนที่มอบให้เรา แต่มันเป็นโอกาสที่เรามองเห็นว่า เราไม่ใช่คนที่ไม่ดี เป็นโอกาสที่เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้เราสามารถวางแผนชีวิต ตั้งเป้าหมาย เพื่อก้าวข้ามจุดนั้นได้”
สุดท้ายนี้ ร.ต.จิรัฎฐ์ ฝากไว้ว่า “ไม่ว่าใครที่เคยพลาด ไม่ว่าใครที่ยังอยู่ข้างนอก ไม่ว่าใครที่อาจจะไม่เคยเข้าสถานพินิจฯ แต่ผมมองว่าโอกาสไม่ควรมีเฉพาะแค่ผม แต่โอกาสควรเป็นของคนทุกคน”
มะลิวัลย์ บุญฤทธิ์ : Life = Water
มะลิวัลย์ บุญฤทธิ์ พนักงานภาคพื้น สายการบินนกแอร์ ได้แชร์เรื่องราวชีวิตของเธอที่เคยหลงผิดด้วยการเปรียบเทียบชีวิตเป็นเหมือนดั่งนํ้า Life = Water
มะลิวัลย์เล่าว่า เธอเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ มีคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องรับผิดชอบพี่น้องของตนรวมอีก 3 ชีวิต และแม่จำเป็นต้องทำงานตลอดเวลา พี่น้องจึงต้องดูแลกันเอง ในช่วงชีวิตวัยรุ่นของเธอเป็นชีวิตที่พึ่งพาเพื่อน จนนำไปสู่การก้าวพลาดในชีวิตจากความอยากรู้อยากลองยาเสพติด
ชีวิตที่วนลูปหลงผิด ทำให้ชั่วขณะหนึ่งเธอมีความปรารถนาที่อยากจะออกจากวงจรเช่นนี้ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง ขอเพียงแค่โอกาสอะไรก็ได้ จนกระทั่งเธอพลาดพลั้งกระทำความผิดและต้องเข้าศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในที่สุด สิ่งที่เธอฝันมาตลอดคือ ทางเลือกในการรับการศึกษา ฝึกอาชีพ และการอยู่ในสังคมแวดล้อมที่ดี ทำให้เธอมองเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น มีความฝันที่อยากสื่อสารภาษาอังกฤษและทำงานเป็นแอร์โฮสเตส ภายใต้การสนับสนุนของครูที่ปรึกษาในศูนย์ฝึกฯ เธอจึงได้ย้ายจากศูนย์ฝึกฯ ออกไปฝึกอาชีพภายนอกด้วยการเป็น ‘พี่เลี้ยงเด็ก’ ของมูลนิธิต่างชาติ ทำให้เธอรู้สึกว่า โอกาสที่เธอได้รับช่วยเติมเต็มความฝันในการสื่อสารภาษาอังกฤษได้มากขึ้น นอกจากนี้ ทำให้เธอรู้สึกรักในงานบริการ จนได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับ ปวช. และปริญญาตรี
ความรักในงานบริการและทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษจากการได้รับโอกาส ทำให้เธอได้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการภาคพื้นของสายการบินนกแอร์ การได้งานนี้เป็นเพราะหัวหน้างานได้มองเห็นศักยภาพงานบริการในตัวของมะลิวัลย์
มะลิวัลย์เปรียบเทียบตนเองเป็นดั่งนํ้าว่า “ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพแบบไหน นุ่นจะเปรียบตัวเองเป็นนํ้า เพราะว่านํ้ามีสถานะเป็นของเหลว เราสามารถเลือกภาชนะได้ ว่าเราอยากอยู่ในภาชนะแบบไหน ถ้าสมมติเปรียบเป็นตัวนุ่นเอง นุ่นเลือกที่จะอยู่ในสังคมแบบนี้ ก็เลยเป็นคนแบบนี้ แต่นุ่นสามารถเลือกเส้นทางให้กับตนเองได้”
มะลิวัลย์ทิ้งท้ายว่า “นุ่นไม่เคยรู้สึกด้อยค่าตัวเอง ไม่ว่าครอบครัวของเราจะเป็นแบบไหน สังคมที่เจอมาจะเป็นแบบไหน นุ่นก็รู้สึกไม่เคยเสียใจเลย แต่กลับยินดีด้วยซํ้าที่ตัวเองมีทุกวันนี้ได้ และเลือกเส้นทางให้กับตัวเองได้”
แพท พาวเวอร์แพท : โอกาสเริ่มต้นที่ตัวเรา
วรยศ บุญทองนุ่ม หรือ ‘แพท พาวเวอร์แพท’ นักร้องยุค Y2K ผู้มีพรสวรรค์ทางดนตรีและประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้เคยก้าวพลาดในชีวิตจากคดีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพ จนทำให้อนาคตในวงการบันเทิงของเขาต้องจบสิ้นเพียงชั่วพริบตา แต่เมื่อได้รับโอกาสทำให้เขากลับตัว เดินทางบนเส้นทางชีวิตใหม่ เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เดินทางไปบรรยายสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้กระทำผิดในเรือนจำและสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ
แพท พาวเวอร์แพท เป็นลูกคนเดียวของครอบครัว เขารู้สึกว่าตนเองเป็นคนเก็บตัว แปลกแยก แตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่เด็ก จนทำให้ไม่มีเพื่อน เขาจึงเอานักดนตรีเพลงร็อกเป็น ‘ไอดอล’ โดยลืมคิดถึงเป้าหมายและข้อดีจากพวกเขา แต่กลับเอาด้านลบของพวกเขามาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ทั้งที่รู้ว่าไอดอลร็อกส่วนใหญ่มีจุดจบจากยาเสพติดแทบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการมองแค่ภาพฉาบฉวยเท่านั้น และด้วยความที่เขาไม่มีเพื่อน เขาจึงเห็นยาเสพติดเป็นเพื่อนเวลาเหงา
แพท พาวเวอร์แพท เสพยาเสพติดแทบทุกประเภทจนทำให้อนาคตของเขาในวงการบันเทิงดิ่งลงเหว ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ งานหดหาย ทั้งยังถลำลึกเข้าไปในสังคมอันดำมืดที่ชักจูงให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดโดยไม่รู้ตัว จนถูกจับกุมในที่สุดและเป็นข่าวใหญ่โต
นับตั้งแต่วันที่แพทเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ ชีวิตของเขาเท่ากับศูนย์ ชื่อเสียง ทรัพย์สินหมดสิ้น ทั้งยังต้องโทษจำคุก 50 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ครอบครัวต้องเดือดร้อนเจ็บปวด เขาจึงคิดทบทวนตัวเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ถ้าเราต้องการที่จะไม่เดินยํ่าซํ้ารอยเดิม… เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง” และต้อง “ให้โอกาสตัวเองในการเปลี่ยนแปลง ในการเป็นคนใหม่ ในการทำสิ่งดีๆ”
เมื่อแพท พาวเวอร์แพท คว้าโอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อจะกลับบ้านได้ไวกว่า 50 ปี เขาได้ลงเรียนในระดับปริญญาตรีภายในเรือนจำ นอกจากการศึกษาที่เรือนจำมีแล้ว ในเรือนจำยังมีกิจกรรมอื่นให้ได้ทำ เขาสนใจในการวาดรูป เพราะรักในศิลปะ จึงเริ่มฝึกฝนในเรือนจำ สามารถสอบทักษะการเขียนรูปได้ในระดับต้นๆ และได้เข้าเรียนกับครูและผู้มีประสบการณ์ด้านศิลปะอีกด้วย การเขียนรูปยังมีส่วนช่วยให้เขามีสมาธิ ลืมเรื่องราวที่บั่นทอนชีวิตภายในเรือนจำ ไม่ได้หายใจทิ้งไปวันๆ และการเขียนรูปก็เป็นประโยชน์กับตนเองด้วย
แพท พาวเวอร์แพท ทิ้งท้ายการแชร์ประสบการณ์ว่า “ผมเชื่อในใจตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อถึงวันหนึ่งมันจะต้องมา แต่ระหว่างทางก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ก่อนที่จะได้รับโอกาส เราต้องเปิดโอกาสให้ตนเองครับ เปิดโอกาสเพื่อจะได้ทำสิ่งดีๆ เปิดโอกาสที่จะฝันและคิด และเชื่อมั่นในสิ่งนั้น”
แพท พาวเวอร์แพท ปิดท้ายการแชร์ประสบการณ์ของตนเองด้วยการร้องเพลง ในเพลงที่ชื่อ ‘ต้องคำสาป’ ที่ถ่ายทอดชีวิตของตนเองในเรือนจำอีกด้วย
ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรมห้องเปิดโอกาส Talk Event ‘Wayfinder: เส้นทาง-โอกาส-จุดเปลี่ยน’ ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ขึ้นกล่าวขอบคุณและแลกเปลี่ยนว่า จากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับอธิบดีกรมพินิจฯ งานในวันนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของกรมพินิจฯ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนก่อน อีกทั้งยังสะท้อนความสำเร็จจากตัวอย่างเรื่องเล่าของแขกรับเชิญผู้เคยพลาดพลั้ง ซึ่งจะพบว่า นอกจากการให้โอกาสแล้ว การให้กำลังใจก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ มนุษย์ควรปฏิบัติในสิ่งที่สมควรต่อกัน และให้โอกาสต่อกัน เพื่อให้พื้นที่ทุกๆ แห่งเต็มไปด้วยโอกาสและความหวัง