พฤษภาคมนี้ ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก จำนวน 327 คนจะเริ่มสำเร็จการศึกษาจาก 11 สถาบันอุดมศึกษาผลิตและพัฒนาครูชั้นนำ จะขยับสถานะจากนักศึกษาฝึกสอนเป็นครูเต็มตัว กระจายไปอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล มีทั้งโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนอื่นได้ราว ๆ 1,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนเผชิญสถานการณ์ครูขอย้ายบ่อย การแก้จุดเจ็บที่สะสมมายาวนานนี้คือสร้างเยาวชนในพื้นที่ให้มาเป็นครูโดยการให้ทุนเต็มจำนวนทั้งค่าเทอมและค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน
และแน่นอน โรงเรียนปลายทางหลายโรงเรียนที่ไม่เคยได้จัดงานเกษียณอำลาเพราะครูย้ายออกเสียก่อน ยินดีต้อนรับว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น ด้วยความเต็มใจ เพราะนอกจากจะเป็นลูกหลานในชุมชนแล้ว ยังมั่นใจได้ว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นจะอยู่ทำหน้าที่ครูของชุมชนไปอย่างน้อย 6 ปีโดยไม่ย้ายไปไหน ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขผูกพันของทุน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนติดตามและเป็นกำลังใจให้ว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก ก่อนที่ครูเหล่านี้จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็น “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” ในสังกัด สพฐ. ผ่านซีรีส์ ‘Welcome Teachers: สวัสดีคุณครูรัก(ษ์)ถิ่น‘ ที่จะพาผู้อ่านนั่งรถออฟโรดไปหาครูรัก(ษ์)ถิ่น ไปเจอเด็ก ๆ ของครู และบุคคลสำคัญในโรงเรียนปลายทาง ผ่านภาพถ่ายและเรื่องเล่าต่าง ๆ จากการพูดคุยต่อหน้า สนทนาสบตา พาไปดูนิเวศน์ทั้งหมดตั้งแต่หลักสูตร ผู้อำนวยการ ภารโรง มื้อกลางวัน ยันสนามหญ้า เพื่อให้เห็นว่า การสร้างครูให้เด็กแม้เพียง 1 คน ทั้งหมดคือจิ๊กซอว์สำคัญ
ทุกคนทำความเคารพ… สวัสดีคุณครู
6 ปีถือเป็นเวลานาน ที่ค่อนข้างเป็นโจทย์หนักและท้าทายว่าที่คุณครูรัก(ษ์)ถิ่นพอสมควร
“สองอาทิตย์แรกที่ได้มาอยู่ที่นี่ ร้องไห้ทุกวันค่ะ วันละรอบ ส่วนหนึ่งก็เพราะคิดถึงบ้าน อีกส่วนคือความลำบากของที่นี่”
‘ครูนุช’ ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ รุ่นพี่ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก เล่าถึงการปรับตัวครั้งแรกให้เราฟัง จากคนที่บอกว่าตัวเองติดมือถือ สู่การฝึกสอนที่โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน กลางอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อำเภอทองผาภูมิ ในเขตหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี ที่บางครั้งก็อับสัญญาณอินเทอร์เน็ต และบางครั้งกำลังไฟฟ้าก็เข้าไม่ถึง
นุชเล่าจนเราเห็นภาพเลย ว่า แม่เธอเคยส่งน้องชายขี่รถขึ้นมาตามหา เพราะไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ ร่วมๆ สองอาทิตย์ บางวันนุชต้องตื่นมาส่งงานตั้งแต่ตีสาม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครแย่งใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต และแบตเตอรี่ของโน๊ตบุ๊กเป็นสิ่งที่ต้องชาร์ตเตรียมพร้อมไว้เสมอ เผื่อจู่ๆ หมู่บ้านเกิดไฟฟ้าดับขึ้นมากะทันหัน
“แกจะมานั่งร้องไห้อย่างนี้ 6 ปีเลยหรอ” เป็นคำถามที่นุชคุยกับตัวเองบ่อยมาก มากจนได้คำตอบให้ตัวเองว่า “เราอยู่ให้มันสนุกดีกว่า”
อย่างน้อยความสุขเล็กๆ ของนุช นอกจากจะได้กลับมาเป็นครูของท้องถิ่นที่กลับมาช่วยพัฒนาชุมชน คือได้พูดคุยภาษากะเหรี่ยงกับลุงๆ ป้าๆ ในพื้นที่ และได้เดินออกไปชมธรรมชาติที่ห้วยหลังบ้านพัก
โรงเรียนของเราน่าอยู่ ♫ คุณครูขอย้ายทุกคน ♫ เด็กๆ ก็ย่อมซุกซน แต่เราทุกคนชอบไปโรงเรียน ♫
โรงเรียนปลายทางของครูรัก(ษ์)ถิ่น คือ โรงเรียนบนพื้นที่สูง โรงเรียนตามแนวชายขอบ โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะแก่ง และโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้่นที่เสี่ยงภัย
ทั้งหมดเป็นลักษณะของโรงเรียนที่กำลังขาดแคลนครูจำนวนมาก อัตราครูที่ส่งใบสมัครก็ว่าน้อยแล้ว แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบยิ่งกว่าคือ การทำเรื่องขอย้ายของครูในโรงเรียน
“ผมอยู่ที่นี่ ก็ได้ส่งเพื่อนครูย้ายเกือบทุกปีนะ ยังส่งครูเก่า ต้อนรับครูใหม่อยู่ตลอด เด็กบางคนก็ต้องปรับตัวกัน”
‘ครูต้อง’ นพดล หม่องสาย อดีตภารโรงโรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ผู้เปลี่ยนหมวกมาเป็นครูสอนเด็กๆ ที่นี่ เล่าให้เราฟังจากประสบการณ์กว่า 15 ปีของการเป็นคนในโรงเรียนพื้นที่สูง
โรงเรียนอยู่สูงแค่ไหน ก็เรียกได้ว่าใช้เวลาเดินทางขึ้นเขากว่า 2 ชั่วโมงจากตัวอำเภอเมืองทองผาภูมิ ซึ่งยังไม่นับรวมเวลาหลงทาง เพราะไม่สามารถเปิดดูแผนที่บนจอโทรศัพท์มือถือได้เมื่อผ่านเขตอับสัญญาณ รวมถึงความลำบากในการเดินทางบนถนนลูกรัง ที่เมื่อขับรถผ่าน ถึงกับต้องมองหาธงของนีล อาร์มสตรอง (เพราะนึกว่ากำลังอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์)
“เคยมีครูสองคนจะเข้ามาบรรจุที่นี่ แต่เขาเห็นเส้นทางแล้วเลี้ยวรถหันกลับไปเลย ไม่มาแล้ว”
ว่าที่ร้อยโทเจนกวี ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน เล่าให้เราฟัง
แต่เพราะปัญหาครูขาดแคลน และเสียงหัวใจของครูต้องที่อยากเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเด็กๆ ทำให้ ‘ครูต้อง’ ตัดสินใจเริ่มเดินทางสายครู โดยใช้เวลากว่า 11 ปี ที่รวมทั้งเรียนและสอบบรรจุ จนสำเร็จ ระหว่างทำงานภารโรงไปด้วย
ปัจจุบันครูต้อง คือ ครูที่ไม่เพียงมีความรู้ทางด้านวิชาการ แต่ยังมีทักษะฝีมือช่าง ที่ช่วยพัฒนาโรงเรียน รวมถึงสอนควบหลายวิชาตั้งแต่คณิต ไทย อังกฤษ และสังคม
“ผมวางแผนจะอยู่ที่นี่ไปตลอดแหละครับ ใครจะย้ายก็ย้าย แต่ครูจะอยู่ จะเป็นครูเกษียณรุ่นแรกของที่นี่”
ครูครับ ครูคะ หนูมีเรื่องจะปรึกษากับคุณครูนะ
ครูที่ทำเรื่องขอย้ายบ่อย คือ ครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา ครูกลุ่มนี้จึงไม่เคยมีจำนวนเพียงพอกับชั้นเรียน จึงเป็นที่มาของอีกเงื่อนไขผูกพันของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือ ศึกษาในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สาขาประถมศึกษาและปฐมวัย
เด็กๆ ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล จะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าบ้าน พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างจึงมองว่าโรงเรียนเป็นที่ที่เขาสามารถฝากลูกไว้ได้อย่างสนิทใจ
“เด็กเล็กหลายคนมาโรงเรียนแต่เช้า ต้องรีบมากับรถรับส่ง ข้าวก็ไม่ได้กิน เราต้องเตรียมขนมปังกับนมไว้ให้ เพราะกว่าเค้าจะได้กินอีกทีโน่น 11 โมง” เกศฤทัย คำษร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจันเดย์ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี บอก
ครูจึงเป็นมากกว่าครู สำหรับเด็กเล็ก
“บางทีเค้าก็เข้ามากอดเรา ครูทัชขาหนูกอดหน่อย แล้วก็ให้มินิฮาร์ตทุกวัน ทอนหนูด้วยนะคะ เราก็จะทอนด้วยมินิฮาร์ตกลับไป มันเป็นสิ่งที่ดี ที่เค้ารักเรา”
‘ครูทัช’ วรรณกร บวรวัชรเดชา นักศึกษาฝึกสอนโรงเรียนบ้านจันเดย์ ว่าที่คุณครูรัก(ษ์) ถิ่นรุ่น1 เล่าให้ฟัง
ความสนิทสนมระหว่างเขากับเด็กๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่โรงเรียนเท่านั้น เพราะพวกเขายังได้เจอกันที่บ้านเด็กๆ ในวันที่ทัชเดินสำรวจพื้นที่ชุมชนด้วย
ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น นอกจากการสร้างครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล แล้ว ยังมุ่งเน้นไปถึงพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่นักศึกษาทุกคนต้องลงพื้นที่สำรวจชุมชนแล้วนำมาชิ้นสร้างผลงานก่อนเรียนจนอีกด้วย โดยจุดประสงค์หลักๆ เพื่อเป็นนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและพัฒนาครู (Systems change) ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ
ความรักที่สะท้อนมาจากดวงตาใสแจ๋วเด็กนักเรียน บอกให้รู้ถึงความเชื่อใจเหมือนพ่อแม่คนที่สอง แม้แต่คนที่แต่ก่อนไม่เปิดใจกับเด็กเล็กอย่างทัช ก็อดไม่ได้ที่จะใจอ่อน และตกหลุมรักเด็กเหล่านี้
ฯลฯ เรื่องราวอีกมากมาย Next Station to be continued….
เส้นทางออฟโรดของเราไม่ได้มีเพียงเท่านี้…นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
ณ ตอนนี้คุณยังอยู่แค่จุดสตาร์ต จอดรถรอเติมน้ำมันให้เต็มถัง
และเรื่องราวที่เล่าไปข้างต้นเป็นแค่ใบปลิวเรื่องราวสั้นๆ ที่เราแจกให้ผู้อ่าน เปรียบดั่งผู้ร่วมทริปได้ดูเพียงคร่าวๆ
โปรดรัดเข็มขัดให้แน่น เตรียมยาแก้เมารถให้พร้อม แล้วติดตามทริปการเดินทางไปดูเรื่องราวของครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกไปด้วยกัน
ขอสปอยล์ก่อนเล็กน้อยว่าระหว่างทางไม่ได้มีแค่ครู กับเด็ก แต่ยังพาไปดูภาพรวมใหญ่ๆ ของโรงเรียน และคนหลังรั้วการศึกษา ไปจนถึงชะโงกหน้าดูกล่องข้าวกลางวัน และแวะทักทายเจ้าตูบในโรงเรียน
พร้อมแล้วออกเดินทางได้!
ติดตามเรื่องราวของซีรีส์ ‘Welcome Teacher : สวัสดีครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ได้เร็วๆ นี้ ที่เพจและเว็บไซต์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)