‘รวมกำลัง-ลงมือทำ หวังให้สถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น’
ลึกเข้าไปในตรอกซอกซอยของชุมชนต่าง ๆ ที่หลังคาบ้านเรือนนับร้อยเรียงติดเป็นพืด บนอาคารที่พักอาศัยแนวสูงที่มีห้องหับนับพัน กระจัดกระจายในพื้นที่กว่า 50 เขตของกรุงเทพมหานคร
ในหลืบลับตาอันเป็นจุดอับของเมืองหลวงที่ไม่มีใครเดินผ่าน ณ สถานที่เหล่านี้รวมไว้ด้วยผู้คนที่รอคอยความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก บ้างมีผลทดสอบเชื้อโควิด-19 เป็นบวก แต่ยังไม่มีอาการ บ้างปอดเริ่มขาดออกซิเจน ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน หรือบ้างก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่กักตัวลำพังอยู่กับความหิวโหย ขาดแคลนปัจจัยดำรงชีวิต
“คนเหล่านี้ต้องการการรักษา ต้องการผลตรวจยืนยันการติดเชื้อ ต้องการน้ำดื่มและอาหารประทังชีวิต ต้องมียาบรรเทาให้อาการป่วยไข้สาหัสทุเลาลง
“ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง พวกเราไม่อยากเห็นภาพสังคมในสภาวะเช่นนี้ต่อไปอีกแล้ว เหมือนเราตื่นขึ้นมาทุกวันเพื่อพบว่าทุกอย่างย่ำอยู่กับที่ ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นไม่หยุด ทางเดียวที่ทำได้คือเราต้องรวมกำลังกันลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่าเขายังมีที่พึ่ง ให้สถานการณ์ไม่แย่ลงกว่าที่เป็นอยู่”
จักรกฤษณ์ เต็มเปี่ยม หรือ ‘แฮม’ ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตคลองเตย และประธานสภาเด็กกลุ่มเขตกรุงเทพฯ ใต้ เผยสาเหตุในการนำกลุ่มเยาวชนลงพื้นที่ทำงานอาสาสมัคร ร่วมกับทีมแพทย์ชนบท เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มเส้นด้าย และศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต กสศ.
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เครือข่ายอาสาสมัครได้ลงพื้นที่ตั้งจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ติดอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“7 วันที่ตั้งจุดตรวจ มีคนเข้ามาใช้บริการเยอะมาก หลายแห่งมีผู้ติดเชื้อน้อย สถานการณ์ไม่น่าห่วง แต่บางพื้นที่ถือว่าหนักหนาสาหัส เช่น คลองเตยที่เราตั้งจุดตรวจอยู่ 4 วัน พบว่าทุกวันมียอดผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 200 คน คือตรวจออกมาแทบจะเป็นผลบวกทุกคน แต่ยังดีว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอาการไม่มาก สามารถดูแลแบบ Home Isolation ได้”
เยาวชนอาสากลุ่มนี้จะมีหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนทีมแพทย์และเภสัชกรในการแจกยา สมุนไพรฟ้าทะลายโจร รวมถึงประสานนำความช่วยเหลือจากภายนอกเข้าไปให้ถึงคนข้างใน ร่วมกับกับอาสาสมัครของแต่ละชุมชน โดยเฉพาะการจัดหาจัดหาถุงยังชีพ เสบียงอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ
ร่วมกับ กสศ. นำปัจจัยดำรงชีวิตกระจายไปยังคนที่รอคอยความช่วยเหลือทุกหนแห่ง
นอกจากลงพื้นที่จุดตรวจ น้อง ๆ เยาวชนอาสากลุ่มนี้ยังเปิดช่องทางรับแจ้งคำร้องขอความช่วยเหลือต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน Facebook ชื่อ Ham Jak ในนามของสภาเด็กและเยาวชนเขตคลองเตย แฮมบอกว่าพวกเขา ‘พร้อมไปทุกที่ที่ผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงรอคอยความช่วยเหลืออยู่’
เพราะพ้นไปจากพื้นที่ประจำย่านชุมชนคลองเตย ประธานสภาเด็กฯ คนนี้ได้พาทีมงานไปช่วยบรรเทาความสิ้นหวังขาดที่พึ่งพิงของผู้คนมาแล้วทั่วสารทิศ ตั้งแต่ลาดกระบัง รัชดา ห้วยขวาง จตุจักร หนองจอก เขาพบว่ามีคนรอความช่วยเหลืออยู่ทุกหนทุกแห่ง ในแฟลต อพาร์ตเมนต์ ในบ้านที่มีแค่คนชราหรือเด็กประถมตัวเล็กถูกทิ้งเอาไว้ ในห้องเช่าเล็กแคบที่แรงงานต่างด้าวสักคนนอนซมในพิษไข้ หรือในสายโทรศัพท์ที่เปิดรับคำร้องตลอดทั้งคืน ดึกดื่นตี 1 ตี 2 มีผู้ติดเชื้อต้องการคำปรึกษาเรื่องอาการป่วยหรือการกินยา จะใด ๆ ก็ตามที่บ่งบอกว่าความทุกข์ร้อนใจส่งมาถึง ทีมงานก็จะช่วยกันเยียวยาหาทางออกให้ทันที
แฮมเล่าว่ากลุ่มเยาวชนอาสาไม่ได้แค่ทำงานตั้งรับในที่มั่น แต่พวกเขายังตระเวนบนถนนเส้นพระราม 4 ถึงสะพานพุทธฯ โดยประสานความร่วมมือกับ กสศ. นำถุงยังชีพและหน้ากากอนามัยไปมอบให้กับกลุ่มคนไร้บ้านที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ โดยหวังว่าพวกเขาจะได้มีปัจจัยประทังชีวิต ให้รอดพ้นจากโมงยามวิกฤตไปได้
“พวกเราทำในสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่ นอกจากคิดถึงว่าคนในชุมชนหรือคนในสังคมของเราไม่ควรต้องรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว ก็อยากให้งานของเราช่วยสร้างแรงบันดาลใจกับคนอื่น อยากให้คนที่พร้อมกว่าโตกว่าพวกเราเห็นว่าถึงเป็นแค่เด็ก แต่เราไม่นิ่งเฉย พร้อมลงมือทำเพื่อให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น
“มีคนที่เราได้ดูแลตั้งแต่เขาโทร.มาขอความช่วยเหลือวันแรก ติดเชื้ออยู่ในที่พักคนเดียว ก็หาข้าวหายาเข้าไปให้ ติดตามตลอดจนอาการดีขึ้น บางคนหายเป็นปกติแล้ว เคสเหล่านี้ต้องอยู่กันเป็นเดือน พอเห็นว่าพวกเรามีส่วนช่วยให้เขาผ่านช่วงเวลาลำบากมาได้ ก็รู้สึกมีกำลังใจ คิดว่าสิ่งที่เราทำอย่างน้อยให้คนที่เขาลำบากไม่มีที่พึ่งได้กินอิ่มเพิ่มขึ้นอีกสักมื้อ มีแรงสู้กับวิกฤตต่อไป แค่นี้ก็ดีใจแล้วครับ”